การจัดการความรู้ในสังคมยุคใหม่


การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเรียนการสอน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะและกระบวนการให้กับผู้เรียน

การจัดการความรู้ในสังคมยุคใหม่

 

โดย

นางสาวพยอม นาคนางรอง รหัสนักศึกษา 54D0103209

นางสาวพิชญกานต์ บำรุงกลาง รหัสนักศึกษา 54D0103211

 

          ปัจจุบันด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้โลกที่กว้างใหญ่เป็นโลกไร้พรมแดนแห่งการเรียนรู้ โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของมนุษย์ทั่วโลกก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน สังคมโลกมีทั้งการแข่งขันและการร่วมมือกันมากขึ้น ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผู้เรียนจำเป็นต้องมีทักษะการเรียนรู้เพิ่มขึ้นหลายประการ เช่น ทักษะทางภาษา ทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ทักษะในการใช้เทคโนโลยีและสื่อสารสนเทศต่างๆ รวมทั้งทักษะในการปรับตัว ทักษะในการแก้ปัญหาต่างๆ

          ในยุคของการปฏิรูปการศึกษา ทั่วโลกต่างก็เร่งพัฒนาการศึกษา โดยมุ่งให้การศึกษาไปพัฒนาคุณภาพของคน เพื่อให้คนไปช่วยพัฒนาประเทศ นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับการลงทุนทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ในขณะเดียวกันต่างมุ่งสร้างสังคมใหม่ให้เป็นสังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐาน (Knowledge Based Society) ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จึงเป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพสูงในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา เช่น ช่วยนำการศึกษาให้เข้าถึงประชาชน  ส่งเสริมการเรียนรู้ต่อเนื่องนอกระบบโรงเรียน และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ช่วยจัดทำข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารและจัดการ ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและแม่นยำในการจัดทำข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล การเก็บรักษา และการเรียกใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในงานจัดการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเรียนการสอน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะและกระบวนการให้กับผู้เรียน เพื่อที่จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนได้รับทักษะที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมในการวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงที่ซับซ้อนมากขึ้น จึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ครูผู้สอนจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน จากเดิมจะเป็นการบอกถ่ายทอดความรู้จากครูไปสู่ผู้เรียน มาเป็นการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้

        ภายใต้บริบทสังคมโลกใหม่ การศึกษาไทยยุคใหม่มีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้

  1. เป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างคน สร้างงาน และสร้างชาติ เป็นการศึกษาแบบองค์รวมและบูรณาการ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา และการเมือง เพื่อพัฒนาประเทศยั่งยืน
  2. ต้องมุ่งสั่งสมทุนปัญญาไทยและทุนปัญญาโลก
  3. ต้องเน้นผลต่อผู้เรียน ทั้งในระดับนโยบายและระดับการเรียนการสอน โดยกำหนดนโยบายการศึกษาที่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวิถีที่ถนัดและสนใจ เรียนอย่างสนุก เล่นให้ได้ความรู้ และมีความสุขกับการเรียนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ เกิดความเชื่อมั่นในตนเองและมีความสุขกับการทำงา
  4. ต้องมุ่งยกระดับงาน ให้เป็นแรงงานคุณภาพ (knowledge workers) ที่เข้มแข็งและพร้อมแข่งขัน

         ในมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ยึดหลักสามประการในการจัดการศึกษา คือเป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรา 9 ได้กำหนดหลักการสำคัญในการจัดระบบโครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษาไว้ 6 ประการ คือ

  1. มีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในการปฏิบัติ
  2. มีการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นการศึกษา สถานศึกษา และองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น
  3. มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษา และจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับ และประเภทการศึกษา
  4. มีหลักการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และการพัฒนาครูคณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
  5. ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา
  6. การมีส่วนร่วมของบุคคลครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น.

 

         หลักการจัดการศึกษาในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 สอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษายุคใหม่ ซึ่งมุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นคนไทยยุคใหม่ที่มีคุณภาพ คุณธรรม และคุณค่าแก่สังคมไทย และสังคมโลก มีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ซึ่งการพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้พร้อมต่อกระแสโลกาภิวัตน์ได้นั้น จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในสถาบันการศึกษา สนับสนุนการวิจัยเพื่อการศึกษา และสร้างเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษารองรับกระแสโลกาภิวัตน์ และต้องมีการจัดกระทำอย่างรอบคอบ ต่อเนื่องในเชิงระบบโดยนำเอาฐานการคิดและประสบการณ์ของการจัดการศึกษาที่ผ่านมาในอดีตเป็นตัวตั้งแล้วกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทเป็นตัวเสริมเพื่อสร้างกระบวนทัศน์หรือรูปแบบของการบริหารจัดการศึกษาที่เหมาะสมภายใต้บริบทดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อนำมาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุดของระบบการศึกษาท่ามกลางภาวการณ์ของการแข่งขันกับนานาชาติในปัจจุบัน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 475295เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2012 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การจัดการศึกษาในยุคใหม่ครูต้องคอยชี้แนะให้คำปรึกษา นักเรียนจะเรียนตามอัธยาศรัย มีการศึกษาตลอดชีวิต โดยการอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอน และการจัดการเรียนยุคใหม่ต้องได้รับการการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ซึ่งเป็นไปตามกฎรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท