โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (23) นักเรียนชาวนานักวิจัย


โรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจง

นักเรียนชาวนานักวิจัย : โรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจง

     ตั้งแต่ช่วงกลางปีถึงสิ้นปี ๒๕๔๘ ที่พึ่งจะผ่านมานี้ นักเรียนชาวนาของโรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจงได้ร่วมกันวางแผนการเรียน ซึ่งได้พิจารณาดูจากช่วงฤดูกาลทำนา แผนการเรียนจะรวมเอาทั้ง ๓ หลักสูตรของโรงเรียนชาวนามาผสมผสานในช่วงเวลาเดียวกัน อันประกอบไปด้วย เรื่อง แมลง ดิน และการพัฒนาพันธุ์ข้าว ทั้งนี้ก็เป็นไปตามข้อจำกัดในเรื่องสภาพแวดล้อมของชุมชนที่สามารถทำนาได้ปีละครั้งและเป็นนาน้ำฝน (พื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน)

     กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาในครั้งนี้ จะผลักดันให้นักเรียนชาวนาเป็นนักวิจัย โดยฝึกให้นักเรียนชาวนาสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของต้นข้าว ซึ่งจัดเงื่อนไขสถานการณ์ที่แตกต่างกัน รวม ๘ สถานการณ์ เปรียบเทียบให้เห็นเชิงประจักษ์ในแต่ละกรณี

     กิจกรรมการเรียน ให้นักเรียนชาวนาแบ่งกลุ่มกัน กลุ่มละ ๓ คนบ้าง ๔ คนบ้าง รวมทั้งหมด ๘ กลุ่ม นักเรียนชาวนาแต่ละกลุ่มจะต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องต้นข้าวตามเงื่อนไขสถานการณ์ต่างๆ ที่กำหนดให้

 

ภาพที่ ๑๑๔ – ๑๑๕ ต้นข้าวในการทดลองตามเงื่อนไขสภาพต่างๆ

     เงื่อนไขในการทดลองในครั้งนี้ จะนำอายุของต้นข้าวเป็นตัวแปรสำคัญ ส่วนเงื่อนไขสถานการณ์จะเป็นเรื่องของการบำรุงดินด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งแต่ละสภาพมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

     กลุ่มที่ ๑ ปลูกข้าวอายุ ๑๒ วัน ใช้เงื่อนไข คือ ไม่ต้องปรับปรุงบำรุงดิน

     กลุ่มที่ ๒ ปลูกข้าวอายุ ๑๒ วัน ใช้เงื่อนไข คือ บำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ

     กลุ่มที่ ๓ ปลูกข้าวอายุ ๑๒ วัน ใช้เงื่อนไข คือ บำรุงดินโดยใช้น้ำจุลินทรีย์

     กลุ่มที่ ๔ ปลูกข้าวอายุ ๑๒ วัน ใช้เงื่อนไข คือ โดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ + น้ำจุลินทรีย์

     กลุ่มที่ ๕ ปลูกข้าวอายุ ๒๐ วัน ใช้เงื่อนไข คือ ไม่ต้องปรับปรุงบำรุงดิน

     กลุ่มที่ ๖ ปลูกข้าวอายุ ๒๐ วัน ใช้เงื่อนไข คือ บำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ

     กลุ่มที่ ๗ ปลูกข้าวอายุ ๒๐ วัน ใช้เงื่อนไข คือ บำรุงดินโดยใช้น้ำจุลินทรีย์

     กลุ่มที่ ๘ ปลูกข้าวอายุ ๒๐ วัน ใช้เงื่อนไข คือ ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ + น้ำจุลินทรีย์

     แต่ละกลุ่มมีข้อสมมติฐานที่แตกต่างกันออกไป ไม่เงื่อนไขอายุของต้นข้าว ก็เงื่อนไขการบำรุงด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำจุลินทรีย์ หรือไม่ต้องใช้เลย ในการทดลองครั้งนี้ไม่ได้นำเรื่องของสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

    ตลอดช่วง ๒๒ สัปดาห์ของการเรียน นักเรียนชาวนาต่างตื่นเต้นที่ได้ทำการทดลองภายใต้เงื่อนไขสภาวการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งในทุกชั่วโมงเรียน (สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง) แต่ละกลุ่มจะต้องสังเกตพัฒนาการของต้นข้าว และจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ นำข้อมูลที่ได้มานำเสนอในชั้นเรียน

    นักเรียนชาวนาได้ฝึกสังเกตอะไรบ้าง

    ภาพที่ ๑๑๖ นักเรียนชาวนาแต่ละกลุ่มสังเกตและเก็บข้อมูลต้นข้าวที่ทดลอง

     แต่ละกลุ่มจะมีหน้าที่สังเกตเปลี่ยนแปลงของดิน ต้นข้าว ระบบรากของต้นข้าว ซึ่งพิจารณาจากเงื่อนไขที่ควบคุมไว้ ได้แก่ ปริมาณดิน น้ำ ปุ๋ย จุลินทรี ชนิดของพันธุ์ข้าว อายุต้นกล้า เป็นต้น

     ข้อมูลที่แต่ละกลุ่มได้นำเสนอในชั้นเรียน จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบ นักเรียนชาวนาจำต้องขบคิดอย่างแยบยลว่า จากสภาพต่างๆ มีสิ่งใดขึ้นบ้าง

     ผลที่ได้แต่ละครั้ง นักเรียนชาวนาจะร่วมกันวิเคราะห์ ในระหว่างการวิเคราะห์ในแต่ละประเด็น คุณอำนวยก็ได้สอดแทรกเนื้อหาส่วนวิชาการให้กับคุณกิจไปด้วย มีการทบทวนความรู้ต่างๆ ที่เคยเรียนผ่านไปแล้ว และเพิ่มเติมความรู้ใหม่ให้

     เนื้อหาความรู้เดิมที่เคยเรียนผ่านมาแล้ว แล้วต้องทบทวน ได้แก่

    • การตรวจและวัดคุณภาพของดิน

    • ธาตุอาหารสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช

    • ระบบนิเวศน์ในแปลงนา เรื่องแมลงในแปลงนา (แมลงดี แมลงร้าย)

    • สมุนไพรที่สำคัญสำหรับการเกษตร และการทำสมุนไพรเพื่อจัดการแมลงกับในแปลงนา

    • การปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี

ส่วนเนื้อหาใหม่ ที่เป็นการเติมความรู้ให้ ได้แก่

    • การคัดข้าวกล้องที่มีคุณภาพ

    • วิธีการเพาะต้นกล้าจากข้าวกล้อง

    • การดำนาต้นเดียว

    • การผสมพันธุ์ข้าว

 

ภาพที่ ๑๑๗ – ๑๑๘ นักเรียนชาวนาแต่กลุ่มกำลังนับเมล็ดข้าวที่เก็บได้จากรวงจากต้น

     พอระยะเวลาผ่านไป ๑๘ สัปดาห์ นักเรียนชาวนาเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ และข้อมูลในเชิงปริมาณ นักเรียนชาวนาได้บันทึกข้อมูลเป็นสถิติได้ดังนี้

กลุ่ม (สภาพเงื่อนไข)

พันธุ์ข้าว

อายุ

ต้นกล้า

(วัน)

จำนวน

ต้นกล้า

(ต้น)

เฉลี่ยจำนวน

รวง / เมล็ด

หลังการเก็บเกี่ยว

เมล็ดข้าว

ที่คัด

ข้าวกล้อง

๑. ไม่บำรุง

มะลิแดง

๑๒

๑๖

๑๗ / ๙,๓๗๓

๒,๑๖๕

๒. ปุ๋ยหมักชีวภาพ

มะลิแดง

๑๒

๑๖

๒๔ / ๙,๙๔๒

๔,๑๒๐

๓. น้ำจุลินทรีย์

มะลิแดง

๑๒

๑๖

๑๙ / ๘,๘๖๐

๑,๒๐๐

๔. ปุ๋ยหมักชีวภาพ + น้ำจุลินทรีย์

มะลิแดง

๑๒

๑๖

๒๐ / ๗,๖๐๖

๑,๕๔๓

๕. ไม่บำรุง

มะลิขาว

๒๐

๑๖

๑๕ / ๖,๙๔๗

๑,๕๓๙

๖. ปุ๋ยหมักชีวภาพ

มะลิขาว

๒๐

๑๖

๒๐ / ๖,๘๗๔

๔,๐๒๕

๗. น้ำจุลินทรีย์

มะลิขาว

๒๐

๑๖

๑๓ / ๕,๘๖๓

๑,๕๗๘

๘. ปุ๋ยหมักชีวภาพ + น้ำจุลินทรีย์

มะลิขาว

๒๐

๑๖

๑๕ / ๗,๘๕๔

๓,๕๓๓

     เมื่อพิจารณาดูข้อมูลตามตารางข้างต้นนี้ ใน ๔ กลุ่มแรก (กลุ่มที่ ๑ – ๔) ที่ปลูกด้วยข้าวพันธุ์มะลิแดง อายุ ๑๒ วัน จำนวนต้นกล้า ๑๖ ต้น ตามเงื่อนไขต่างๆ จึงทำให้แต่ละกลุ่มมีผลผลิตที่ได้ต่างกัน กลุ่มที่ได้ผลผลิตมากที่สุด คือ กลุ่มที่ ๒ มีการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ได้ข้าวถึง ๒๔ รวง และได้เมล็ดหลังการเก็บเกี่ยวถึง ๙,๙๔๒ เมล็ด

     ส่วนอีก ๔ กลุ่ม (กลุ่มที่ ๕ – ๘) ปลูกข้าวด้วยข้าวพันธุ์มะลิขาว อายุ ๒๐ วัน จำนวนต้นกล้า ๑๖ ต้น ตามเงื่อนไข ๔ สภาพ ทำให้แต่ละกลุ่มได้รับผลผลิตที่แตกต่างกัน กลุ่มที่ได้ผลผลิตมากที่สุด คือ กลุ่มที่ ๖ มีการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ได้ข้าวถึง ๒๐ รวง และได้เมล็ดหลังการเก็บเกี่ยวถึง ๖,๘๗๔ เมล็ด

     จากสถิติตัวเลขดังกล่าวนี้ จึงพอสรุปในเบื้องต้นนี้ได้ว่า การปลูกข้าวกล้องอย่างมีการบำรุงดินด้วยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพนั้น จะทำให้นักเรียนชาวนาได้ผลผลิตที่สูงกว่าเงื่อนไขอื่นๆ

    ส่วนสรุปในเชิงคุณภาพ เป็นข้อสรุปเบื้องต้นจากการสังเกตและวิเคราะห์ สรุปได้ว่า

    • ต้นกล้าข้าวที่ผ่านการคัดข้าวกล้องที่สมบูรณ์ สามารถเพาะปลูกได้จริง และได้ผลิต โดยพิจารณาจากต้นกล้า จำนวน ๑๖ ต้น ซึ่งนำมาจากเมล็ดข้าวกล้อง จำนวน ๑๖ เมล็ดที่นักเรียนชาวนาช่วยกันคัดทีละเมล็ด

    • การบำรุงรักษาภายในเงื่อนไขทั้ง ๘ สถานการณ์ ส่งผลให้การเจริญเติบโตของต้นข้าวมีความแตกต่างกัน และนอกจากนี้ ยังทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินมีความแตกต่างกันไปอีกด้วย จากการทดลอง พบว่า การบำรุงด้วยน้ำหมักชีวภาพจะทำให้ต้นข้าวออกรวงและให้ปริมาณของเมล็ดมากกว่าการบำรุงในลักษณะอื่นๆ ทั้งนี้นักเรียนชาวนาได้พิจารณาและวิคราะห์จากข้าวเปลือก

    • ผลผลิตข้าวที่ได้ จากการสังเกตลักษณะทางกายภาพของเปลือกนอก (เปลือกข้าว) ยังไม่สามารถชี้ชัดความอุดมสมบูรณ์ของเมล็ดข้าวได้ โดยจะต้องพิจารณาดูจากข้าวกล้องเป็นหลัก

    • เมื่อได้ผลผลิตแล้ว ในครั้งแรกได้ข้าวเปลือกในปริมาณที่มาก แต่เมื่อเป็นข้าวกล้องแล้ว ได้ข้าวกล้องที่มีความสมบูรณ์ตามเงื่อนไข โดยได้ในปริมาณที่น้อยลง

    • ข้าวกล้องที่ได้มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่แตกหัก หรือไม่ลีบ มีความสวยงามเหมือนแม่พันธุ์ที่คัดจากข้าวกล้องในครั้งแรก

    • เมื่อพิจารณาปลายรวงข้าว จากครึ่งรวงในส่วนท่อนบน เมล็ดข้าวจะยาว มีน้ำหนักดี เมล็ดสวย แกร่งกว่าครึ่งท่อนล่างของรวง

    • เมล็ดข้าวออกรวงไม่พร้อมกัน คุณภาพข้าวที่ได้จึงแตกต่างกัน

    • พันธุ์ที่จะใช้เป็นพันธุ์หลักจำเป็นต้องคัดทุกปี เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์ที่สุด

    • เห็นลักษณะความอุดมสมบูรณ์ของดินจากการปรับปรุงบำรุงดินในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แต่พบว่า เมื่อดินได้รับการบำรุง ทั้งจากปุ๋ยหมักชีวภาพหรือจุลินทรีย์ ในช่วงของการทดลอง พบว่า มีความแตกต่างจาก่อนบำรุงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ดินมีความเป็นกลาง นิ่มขึ้น มีสิ่งมีชีวิต เช่น มีแหนปกคลุมหน้าดินเพิ่มขึ้น

 

ภาพที่ ๑๑๙ โรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจงศาลากลางทุ่งนา

 

ภาพที่ ๑๒๐ นักเรียนชาวนา โรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจง กับการรู้เรียนอย่างไม่จำกัดวัย

หมายเลขบันทึก: 47528เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2006 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทำยังไงครับบอกผมหน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท