"โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๙) : อาทิตย์ดับที่บ้านเหนือคลอง (คนดีไม่มีวันตาย)


อัตชีวประวัติของคุณครู "โกมล คีมทอง" ดำเนินมาจนถึงบันทึกสุดท้ายแล้ว

บันทึกสุดท้ายสิ้นลมหายใจของคุณครู "โกมล คีมทอง" และคุณครู "รัตนา สกุลไทย"

 

 

 

โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน

 

ตอนที่ ๙ ... อาทิตย์ดับที่บ้านเหนือคลอง (คนดีไม่มีวันตาย)

 

อาทิตย์ดับที่บ้านเหนือคลอง


กันยา ปรีชา ภรรยาของเสรีเล่าว่า วันนั้น คือ วันจันทร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ ทั้งสามคนออกเดินทางจากโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาประมาณเที่ยงวันหลังโรงเรียนเลิก

“เขารู้จักกันในงานวันเปิดป้ายโรงเรียน [วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๓--ผู้เขียน] เสรีไปเป็นโฆษก ก็ชวนกันว่าว่าง ๆ ไปเที่ยวเหนือคลองด้วยกัน วันนั้นครูโกมลแวะมากินข้าวมื้อสุดท้ายที่บ้าน ป้าตำน้ำพริกกับแกงเลียงผัก ครูโกมลบอกว่าดูแล้วไม่น่าจะอร่อย แต่พอกินแล้วรู้สึกว่าอร่อยดี กินกันจนอิ่ม แล้วก็ขึ้นไป ตอนนั้นถนนไปบ้านเหนือคลองเป็นลูกรัง ยังไม่ราดยาง พอไปถึงโรงเรียนที่เหนือคลอง ชาวบ้านเขาบอกให้กลับ กลุ่มที่ไปด้วยบอกว่าไม่ได้ไปทำอะไร แค่ถ่ายรูป แต่พวกข้างบนกลัวว่าจะถูกทางนายซัก เลยฆ่าปิดปาก”

 

สมจิตร ศักดิ์ยิ่งยง หญิงชาวบ้านส้อง ซึ่งสมัยนั้นเธออายุ ๑๘ ปี และมีบ้านอยู่ใกล้บ้านพักครูของโกมล เล่าว่า

“วันนั้นฝนตกด้วย ตอนเย็นใกล้หัวค่ำ แกตากเสื้อผ้าไว้เต็มเลย ลมพัดเสื้อผ้าหล่นหมด เสื้อผ้าเปียกกระจายอยู่เต็มใต้ถุน น้องคนเล็กมาถามแม่ว่าครูโกมลครูรัตนาไปไหน แม่ถามว่าลูกเก็บเสื้อผ้าให้หรือเปล่า มันบอกว่าไม่กล้าเก็บ ตอนนั้นยังเล็กอยู่ ตอนเช้าจึงรู้ว่าแกตาย ตอนเย็นยังไม่รู้”

 

ส่วน นิยม รักมาก คนงานก่อสร้าง บอกว่า ตอนนั้นกำลังทำงานอยู่ที่โรงเรียนสามัคคีอนุสรณ์ ประมาณ ๔ โมงเย็น มีคนมาบอกว่ามีคนยิงกันบนควนนี้ ก็เป็นห่วงคนที่บ้าน เลยปั่นจักรยานมา แต่ตอนนั้นบนควนมันลื่น พอมาถึงก็เกือบล้มเหยียบศพที่นอนอยู่ (หนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นลงข่าวว่า คนข้างบนหามลงมาวางไว้บริเวณทางแยกหมู่บ้านทุ่งคา)

 

เวลานั้นค่ำแล้ว ชาวบ้านแถวนั้นทราบเรื่องครูถูกยิงบ้างแล้ว แต่ที่เหมืองยังไม่มีใครรู้ รุ่งขึ้นอีกวันจึงรู้กันทั่ว พวกผู้ชายซึ่งเป็นผู้ใหญ่ไปเอาศพลงมา พวกเด็ก ๆ ไม่กล้าขึ้นไป ตอนนั้นยังไม่มีรถเข้าถึง ต้องเอาศพวางบนไม้กระดานคนละแผ่น คลุมด้วยใบกล้วย ผูกเชือกคล้ายเปลหามกันลงมา เพราะตอนกลางคืนไม่มีใครกล้าขึ้นไปเอา

 

ครูโกมลของเด็ก ๆ ๔๐ คนที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขามีโอกาสใช้ชีวิตเป็นครูตามปณิธานแห่งชีวิตในถิ่นทุรกันดารแห่งนั้นได้ไม่ครบปีดี ก็ถูกยิงเข้าทางด้านหลังจนเสียชีวิต ขณะที่มือของรัตนาเองก็ยังกำหญ้าแน่น บ่งบอกถึงความเจ็บปวดที่เธอได้รับ โดยทั้งคู่อายุเพียง ๒๕-๒๖ ปีเท่านั้น บรรยากาศของเย็นวันนั้น จึงเย็นเยือกและมืดมนไปทั่วบ้านส้อง

 

บ่ายวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ศพถูกหามมาตั้งไว้บนร้านสูงข้างถนน บริเวณปากทางเข้าบ้านเหนือคลอง ซึ่งเป็นบ้านของเสรีเอง โดยพ่อค้าขายยาแผนโบราณและโฆษกเวลามีหนังกลางแปลงมาฉายคนนี้เคยคิดไว้ว่าจะทำเป็นร้านชำไว้ขายของ หลังจากอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อย จึงนำศพไปไว้ที่วัดบ้านส้องในตอนเย็น โดยชาวเมืองช่วยกันต่อโลงไม้อัดให้ และทางเหมืองและวัดช่วยจัดพิธีกรรมให้ ๑ คืน กับอีกครึ่งวัน

ประมาณเดือนสองเดือนหลังจากนั้น มีเครื่องบินของฝ่ายรัฐบาลมาโปรยใบปลิวในป่าบริเวณนั้นให้ชาวบ้านเก็บไปดู โฆษณาทำนองว่าไปยิงครูโกมลทำไม และหลังจากนั้นไม่นาน พวกในป่าก็ออกโปสเตอร์เผยแพร่ โดยยอมรับว่าเป็นผู้สังหารคนทั้งสามเอง เนื่องจากคิดว่าเป็นสายลับให้แก่ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด

 

ศพของทั้งคู่ถูกส่งมาทางรถไฟ ถึงกรุงเทพฯ ในวันศุกร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ในสภาพที่ไม่ได้ฉีดยากันเน่า อาจารย์สุลักษณ์ไปรับนำมาไว้ที่วัดประยุรวงศาวาส ฝั่งธนบุรี จัดงานสวดอีก ๗ วัน แล้วบรรจุศพเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม จนกระทั่งวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๔ เวลา ๑๗.๐๐ น. จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ณ เมรุของวัดเดียวกันนั้น

ในงานนั้น กัลยาณมิตรของโกมลได้ช่วยกันรวบรวมจดหมายและข้อเขียนของเขา รวมถึงประวัติ คำไว้อาลัย และข่าวการตายที่ปรากฏในสื่อมวลชนขณะนั้น จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกงานสังสการศพ ใช้ชื่อว่า จดหมายและข้อเขียนของโกมล คีมทอง ได้หนังสือหนากว่า ๕๐๐ หน้า โดยไม่ได้แจกจ่ายตามธรรมเนียมดังหนังสืองานศพทั่วไป แต่นำมาตอบแทนแก่ผู้สมทบทุนขั้นต้นเพื่อใช้ก่อตั้งมูลนิธิโกมลคีมทองซึ่งตั้งตามนามของเขา

 

อาจารย์สุลักษณ์เขียนไว้ในคำนำหนังสือที่ระลึกในงานศพเล่มดังกล่าวว่า ต้องการมุ่งที่จะให้เป็นอนุสรณ์แด่ชีวิต เท่า ๆ กับเป็นอนุสรณ์แก่การตายของโกมล โดยเชื่อว่าจะมีพลังส่งมาถึงคนรุ่นใหม่ต่อไปอีกนานแสนนาน ตราบที่คนไทยยังเห็นคุณค่าของคนที่มีอุดมคติ ซึ่งเลือกดำรงชีวิตอย่างเสียสละเพื่อส่วนรวมยิ่งกว่าเพื่อส่วนตัว

 

“สิ่งซึ่งโกมลก่อไว้ จักไปจุดไฟในดวงใจของคนอื่น ๆ ให้ลุกโพลงเป็นอุดมการณ์ตามเยี่ยงอย่างเขาได้”

 

คงต้องกล่าวในที่นี้ว่า หนังสืองานศพซึ่งทำอย่างประณีตด้วยฝีมือของนักทำหนังสือมืออาชีพเล่มดังกล่าว ประกอบกับข้อเขียนอันทรงพลังของโกมล ซึ่งช่วยกระตุ้นมโนธรรมสำนึกให้เกิดขึ้นกับผู้อ่าน ภายหลังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจทางด้านอุดมคติให้แก่คนรุ่นหลังอีกจำนวนไม่น้อย จนอาจกล่าวได้ว่า ผลจากการตายของเขา และกิจกรรมอันเกิดขึ้นภายหลังของมูลนิธิอันเนื่องมาจากชื่อของเขานั้น มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ขึ้น และสืบเนื่องมาถึง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ รวมทั้งเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ อีกด้วย

 

ส่วนเหมืองนั้น ต่อมาประสบกับภาวะขาดทุน เจ้าของเหมืองบอกว่า แร่พลวงถูกชาวบ้านขโมย ครอบครัวคนงานก็เริ่มแยกย้ายกันไปหากินที่อื่น โรงเรียนจึงเริ่มถูกตัดโครงการช่วยเหลือ จนราวปี ๒๕๑๗ โรงเรียนเหมืองห้วยในเขาจึงย้ายไปสังกัดสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี และย้ายที่ตั้งไปยังสถานที่แห่งใหม่ ซึ่งไม่ไกลจากเดิมนัก ทั้งยังคงใช้ชื่อโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาเช่นเดิม

 

หากลองนับระยะเวลาที่โกมลทำหน้าที่เป็นครูตามปณิธานแห่งชีวิตของเขา ตั้งแต่เริ่มตกลงรับงานในเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๓ เขาก็ทำหน้าที่ครูได้ไม่ถึง ๑๐ เดือนดี แต่ความจริงแล้ว วิญญาณความเป็นครูของเขา สืบทอดมาโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัวมานานแล้ว โดยเริ่มปรากฏชัดในสมัยเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๑ ซึ่งนับว่าแปลกและหาได้ยากยิ่งในบรรดาเพื่อนครูที่เรียนในรุ่นเดียวกัน

 

โกมลมีเพื่อนมาก เพราะเขามองคนในแง่ดีเสมอ เขาหวังดีต่อเพื่อนทุกคน กลุ่มเพื่อน ๆ ก็มักจะมีทัศนะที่ใกล้เคียงกับเขา คือสนใจในงานทางปัญญาและความเสียสละ เช่น กลุ่มปริทัศน์เสวนา กลุ่มค่ายอาสาพัฒนา กลุ่มสัมมนาของจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ เป็นต้น แต่ทุกกลุ่ม ทุกคนมักจะยอมรับกันเสมอว่า เขาเป็นคนที่มีความคิดความอ่านดี มีหัวก้าวหน้า และมีลักษณะผู้นำ

“โกมลมิได้เป็นชายหนุ่มธรรมดาหรอกหรือ เขาเป็นชายหนุ่มธรรมดา แต่ที่เขาผิดจากคนอื่นอยู่บ้างก็ตรงที่เขามีลักษณะสัตบุรุษเต็มตัว เขาไม่หวั่นไหวต่อสังคมมากนัก ไม่ตื่นเต้นในสังคมมากเกินควร เขาพยายามสละความอยากได้ใคร่ดีเสีย หมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ สมดังลักษณะของสัตบุรุษที่มีกล่าวไว้ในสุภาษิตร้อยบทของภรฺตฺฤทรีว่า "ไม่ยินร้ายคราวประสบอนิฏฐารมณ์ ไม่ยินดีในคราวประสบอิฏฐารมณ์ หมั่นสนทนากับท่านนักปราชญ์ มีความกล้าหาญในยุทธกาล รักษาเกียรติยศของตน ขยันอ่านพระเวท เหล่านี้เป็นคุณสมบัติประจำสันดานของสัตบุรุษ" และเช่นนี้เองที่คนโดยมากแม้ไม่ค่อยชอบเขา แต่ก็มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้มีคนอย่างเขามาก ๆ ในสังคมไทย” จากข้อเขียนบางส่วนในหนังสือ ประวัติครู ๒๕๑๕ โดย สุมน อมรวิวัฒน์

 

คงไม่เป็นการพูดที่เกินเลยหากจะบอกว่า โกมลเป็นทั้งนักคิดที่หมั่นตรวจสอบพิจารณาตนเอง นักการศึกษาที่มองคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา นักปฏิบัติที่เอาจริงเอาจัง และนักเขียน โดยเฉพาะในประเด็นหลัง ถ้ามีโอกาสได้อ่านงานเขียนของเขา เราจะพบความมีเสน่ห์ในข้อเขียนของเขา โดยเฉพาะจดหมายที่เขาเขียนถึงบุคคลอื่น แม้ว่าข้อคิดและคำคมต่าง ๆ ที่เขาเขียนนั้นอาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากข้อเขียนหรือจากบุคคลต่าง ๆ ที่เขาให้ความสนใจ หรือให้ความเคารพก็ตาม ลองพิจารณาดูว่า คนในวัยเพียง ๒๕ ปี แต่กลับมีงานเขียนปรากฏอยู่มิใช่น้อย และข้อเขียนของเขาจำนวนหนึ่งมีคุณค่าสาระ แฝงข้อคิดทางธรรม ท้าทายมโนธรรมสำนึกของผู้อ่านอยู่กลาย ๆ

 

 

ดอกผลแห่งอุดมคติ

 

“น ปุปฺผคนฺโธ ปฏิวาตเมต

น จนฺทนํ ตครมลฺลิกา วา

สตญฺจ ธมฺโม ปฏิวาตเมติ

สพฺพา ทิสา สปฺปุริโส ปวายติ”

 

“กลิ่นดอกไม้หอม อันได้แก่ ไม้จันทน์ กฤษณา และมะลิซ้อน ไม่อาจทวนลมได้ แต่กลิ่นหอมของสัตบุรุษผู้ประพฤติธรรมย่อมไปได้ทุกทิศ”

 

 

พุทธภาษิต

 

พระพุทธเจ้าสอนว่า การเกิดเป็นมนุษย์มีค่ายิ่ง ขณะเดียวกันก็ไม่ควรเกรงกลัวความตาย พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และพึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ขณะที่ใครหลายคนเห็นว่า การมีชีวิตอยู่และทำงานเสียสละหลาย ๆ อย่างที่คนส่วนมากไม่ทำ ย่อมมีคุณค่ากว่าการตายอย่างนักเสียสละเพื่ออุดมคติ อุดมการณ์ แบบใด ๆ ทั้งนั้น ยกเว้นเมื่อจำเป็นจริง ๆ

ต่อมา เพื่อนและผู้ใหญ่หลายท่าน ที่รัก เข้าใจ และตระหนักถึงความเสียสละของเขา ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิของสามัญชนตามชื่อของเขาขึ้น เพื่อสืบสานปณิธาน ความคิด และเป็นเสมือนแบบอย่างแห่งความเสียสละของคนหนุ่มผู้สนใจใฝ่รู้ มีความเคารพต่อคนท้องถิ่น อ่อนน้อมถ่อมตนอย่างจริงใจ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในบุคลิกของคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน

 

เปลวเพลิงชมพูที่ครูเล็ก ๆ ของแผ่นดินคนนี้จุดไว้ แม้ยังไม่ฉายฉาน แต่ก็จะไม่มีวันดับ มันจะคอยเผาผลาญอวิชชาให้มอดสิ้นไป เพราะกระสุนอาจฆ่าชีวิตเขาได้ แต่ไม่อาจทำลายอุดมการณ์และผลงานของเขาได้

 

อุดมคติของโกมลจึงเป็นดั่งเทียนซึ่งเผาตนเอง เพื่อให้แสงส่องทางแก่ผู้อื่น และการเผยแพร่อุดมคติของเขาก็เป็นดั่งการต่อเทียนด้วยเทียน คือ ง่าย ช้า แต่งดงาม

 

ถึงใครหลายคนจะสงสัยว่า อุดมคติและปณิธานของโกมล คีมทอง ณ พ.ศ.นี้ จะยังยั่งยืนคงทนต่อการทดสอบ ท้าทายจากสังคม และผู้คนรอบข้างอย่างไร และแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม อิฐก้อนแรกที่ถมลงไปเพื่อส่วนรวมก้อนนั้น ยังคงสามารถดำรงคุณค่า ความดีงาม และเป็นเสมือนแรงบันดาลใจอันงดงามแก่คนหนุ่มสาวรุ่นต่อ ๆ มา นับจากบัดนั้นจนถึงบัดนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย

 

แม้ครูโกมล คีมทองจะตายไปแล้ว แต่ดอกตูมในวันนี้จากผลงานของเขา จักผลิบานขึ้นในดวงใจของเราในวันพรุ่ง


 

 

 

พจน์ กริชไกรวรรณ ... ผู้เรียบเรียง

ตีพิมพ์ ณ นิตยสารสารคดี ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

 

.....................................................................................................................................................

ช่องไฟส่วนตัว ...

 

คุณครู "โกมล คีมทอง" และคุณครู "รัตนา สกุลไทย" ยังไม่ตายไปจากใจของคนที่ยังมีอุดมการณ์ที่ทำให้สังคมและประเทศชาติของเราเจริญงอกงามเช่นดอกบัวที่บานอย่างเปล่งปลั่ง

 

คนดีไม่มีวันตาย

แม้ไม่มีใครรู้ แต่เรารู้
รู้ว่าเรานั้นทำเพื่อใคร
ไม่ว่าวันพรุ่งนี้มันจะเป็นเช่นไร
ก็จะไม่เสียใจกับสิ่งที่เราได้ทำ

ฟ้าและดินไม่เห็นไม่เป็นไร
ไม่ได้หวังให้ใครจดจำ
แม้ยากเย็นแค่ไหนไม่เคยบ่นซักคำ
ไม่มีใครจดจำ แต่เราก็ยังภูมิใจ

จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
จะยอมรับโชคชะตาไม่ว่าดีร้าย
ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าถึงเวลาก็ต้องไป
เหลือไว้แต่คุณงามความดี

ขอเทิดทูนศักดิ์ศรียิ่งสิ่งใด
แม้แต่ลมหายใจก็ยอมพลี
โลกยังไม่สิ้นหวัง ถ้ายังมั่นในความดี
ศรัทธาไม่เคยหน่ายหนี คนดีไม่มีวันตาย




 

คนดีไม่มีวันตาย

 

 

(http://www.youtube.com/watch?v=4YhERN6YGm0)

 

 

ด้วยจิตคารวะ

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

......................................................................................................................................................

แหล่งข้อมูล

พจน์ กริชไกรวรรณ.  ประวัติครูโกมล.  http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=34&s_id=4&d_id=4 (๙ มกราคม ๒๕๕๕).

 

......................................................................................................................................................

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

หมายเลขบันทึก: 475090เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2012 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

คนดีไม่มีวันตาย ผมเคยไปที่บ้านซ้องด้วยครับ แต่หลังจากครูโกมล เสียชีวิตแล้ว

อันชีวิตดีดีนี้แสนสั้น

ที่มุ่งมั่นปันกายใจไม่ตายเปล่า

เป็นแบบอย่างนำทางแก่พวกเรา

เหมือนหลักเสาของเถาวัลย์นิรันดิ์เอย

 

นงนาท สนธิสุวรรณ

๑๘ มกราคม ๒๕๕๕

ขอบคุณบันทึกที่สมบูรณืแบบพร้อมช่องไฟส่วนตัว

..

อ่านแล้วรู้สึก

สังคมเรายกย่องคนดี คนเสียสละ ที่เป็นคนธรรมดาๆ..น้อยไป

บันทึกในซีรีย์นี้ คงสร้างแรงบันดาลใจให้คนธรรมดาๆ ทำดีต่อไปนะคะ

ขอบคุณค่ะ

คุณหมอบางเวลา ป. กุ้งเผาครับ ;)...

มันรู้สึกเหมือนว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบยังไงก็ไม่รู้ว่า ต้องเผยแพร่ชีวิตของคุณครู "โกมล คีมทอง" และคุณครู "รัตนา สกุลไทย"

อยากให้มีคนรุ่นใหม่แบบครูทั้งสองท่านมาก ๆ ในประเทศนี้ครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

หวังว่าเช่นนั้นนะครับ อาจารย์ ...ปริม ทัดบุปผา... ;)...

แรงบันดาลใจสามารถสร้างได้ทันที การทำความดีก็เช่นกันนะครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

มรดกที่คนดีคนหนึ่งให้ไว้..มีคุณค่ายิ่ง และไม่มีวันตายไปจากใจกัลยาณมิตร

เราไม่เคยลืม...ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากครับ อ.นุ ;)...

เราจะทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมและโลกของเราเช่นกันนะครับ

คนดีไม่มีวันตาย...

อ่านแล้วเศร้าๆ เสียดายคนดีๆเนอะคะ อาจารย์เทวดา ^  ^

"คนเราเกิดมาเพื่อทำความดี" หากเราเช่นนี้แล้ว คุณครู "โกมล คีมทอง" ท่านได้ทำหน้าที่ของท่านแล้วครับ นางฟ้า ชาดา ;)...

ขอบคุึณมากครับ ;)...

๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔

...ขอบคุณบันทึกสุดท้าย...

คนดี...ไม่มีวันตาย...

... ครูของแผ่นดิน...

... ครูในดวงใจ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท