วัฒนธรรมอินเทอร์เน็ท วัฒนธรรมหลักหรือวัฒยธรรมย่อย


วัฒนธรรมไซเบอร์

วัฒนธรรมอินเตอร์เน็ท: วัฒนธรรมหลักหรือวัฒนธรรมย่อย   ตอนที่ 4

โดย  ถนัด  เหมโส

 

ตามที่ได้กล่าวมาไว้ในตอนแรกแล้วว่า วัฒนธรรมไซเบอร์ ก็คือวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ทเนื่องจากทั้งสองคำนี้มีความหมายที่อยู่ในทิศทางและกรอบเดียวกันคือ ไซเบอร์หมายถึง   ข่ายงานคอมพิวเตอร์ เช่น อินเตอร์เน็ต (cyberspace) สื่ออิเลคทรอนิคส์ซึ่งมีการติดต่อสื่อสารออนไลน์เกิดขึ้น  Collin English Dictionary ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ศาสตร์ที่เกี่ยวกับอิเลคทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์ เอลิสเซนดา อาร์เดวอล ( Elisenda Ardevol,2005) ได้ให้คำจำกัดความของ cyber ในงานวิจัยของเธอ  เรื่อง  Cyberculture:Anthropological perspective of the internet. ว่า ไซเบอร์เป็นคำเสริมหน้า (prefix) ที่อ้างอิงถึงกิจกรรมและความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นโดยผ่านอินเตอร์เน็ต เช่น กิจกรรมทางสังคมต่างๆ ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต (cybercafé) หรือ ศิลปะไซเบอร์ เป็นต้น  และต่อมา ในแวดวงทางวิชาการ   ได้มีการอภิปรายกันว่า วัฒนธรรมอินเตอร์เน็ทสมควรที่จะเป็นวัฒนธรรมหลักหรือวัฒนธรรมย่อย นักวิชาการส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า ถึงแม้จะมีการระบุว่าอินเตอร์เน็ทมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมย่อย(Subculture) ซึ่งมันอาจจะจริงในระดับท้องถิ่น ระดับภาค หรือระดับชาติที่มีคนส่วนน้อยใช้อินเตอร์เน็ท แต่วัฒนธรรมย่อยของกลุ่มคนที่ใช้เหล่านี้ภายหลังมารายล้อมพันกันเพื่อก่อตัวเป็นวัฒนธรรมใหญ่หรือ อภิวัฒนธรรม ( superculture) ซึงขยายขอบเขตคลอบคลุมโลกทั้งหมด และในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะมีผู้คนเข้าใช้อินเตอร์เน็ทอย่างทั่วถึงทั้งโลก

     ถึงแม้ว่าคนทุกคนจะไม่ได้มีส่วนในการสร้างหรือพัฒนาวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ท แต่อย่างน้อยก็เกือบทุกคนได้ได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากอินเตอร์เน็ทในขณะที่คนที่มีส่วนร่วมในวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ทได้รับผลประโยชน์โดยตรงอย่างต่อเนื่องเช่น การส่งหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รูปภาพ ข้อมูลตัวเลขและภาพวิดีโอต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกันในทุกๆแห่งบนโลกนี้ทั้งสิ้น

กลุ่มที่มีแนวคิดนี้กล่าวว่า  เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่มีวัฒนธรรมเดียว (single culture) ซึ่งวัฒนธรรมนั้นคือวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ท ตัวอย่างของวัฒนธรรมโลกครั้งแรกเช่น การที่ผู้คนจำนวนมากต้องการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่พบมากที่สุดในอินเตอร์เน็ทและผู้คนต้องการที่จะเข้าใจข้อมูลข่าวสารที่ดีขึ้นจากอินเตอร์เน็ท ส่งผลให้ผู้คนทุกวันนี้เข้าใจภาษาอังกฤษมากขึ้นกว่าที่เคยมีมา ถึงแม่ว่าคนที่ไม่ได้มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอ เว็บไซด์ต่างๆก็สามารถแปลข้อความจากภาษาอังกฤษเป็นอีกภาษาหนึ่งได้อย่างอัตโนมัติ เพียงแต่ผู้ใช้ คลิ้ก ไม่กี่ครั้งเท่านั้น อีกทั้งวัฒนธรรมโลกวัฒนธรรมนี้ยังยินยอมให้ผู้คนทั่วโลกเข้าไปเป็นสมาชิกเพื่อเรียนรู้ได้อย่างง่ายดายอย่างมีประสิทธิผลโดยปราศจากข้อจำกัด

      นอกจากได้ชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมโลกแล้ว วัฒนธรรมอินเตอร์เน็ทยังเป็นวัฒนธรรมที่มีการเจริญเติบโตได้เร็วกว่าวัฒนธรรมใดๆในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีความพยายามอย่างที่สุดในการที่จะคาดการและประมาณการว่าในแต่ละปีมีผู้คนเข้าร่วมในการใช้อินเตอร์เน็ทจำนวนเท่าใดเพื่อแสดงให้เห็นถึงความกว้างใหญ่และความหลากหลายในตัวมันเพื่อการยอมรับว่าผู้คนสามารถพบทุกๆสิ่งในอินเตอร์เน็ทรวมทั้งการพัฒนาที่เร็วกว่าวัฒนธรรมอื่นๆ ดังนั้น อินเตอร์เน็ทจึงเป็นเบ้าหลอมรวมวัฒนธรรมที่แตกต่างทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่ผู้คนสามารถใช้วัฒนธรรมร่วมกันได้  ( เรียบเรียงจากบทความเรื่อง The First Worldwide Culture is the Internet จากเว็บไซด์  Phil For Humanity)

       อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมหลักหรือวัฒนธรรมย่อย สาระสำคัญอยู่ที่การใช้วัฒนธรรมนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเรามากน้อยเพียงใด มีความเหมาะสมกับสภาพสังคม ค่านิยมทางสังคม รวมทั้งบรรทัดฐานทางสังคมของเราเพียงใด เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้ เพื่ออำนวยการสะดวกคนในการดำรงชีวิตในแต่ละยุคแต่ละสมัยและ อินเตอร์เน็ทก็เป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 474793เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2012 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท