KM00086 : คำขวัญวันเด็ก (ที่ผู้ใหญ่ควรนำไปปฏิบัติ)


มีคนเคยถามผมว่า "คำขวัญวันเด็ก" มีไว้ทำไม ผมก็ลองคิดๆ ดู จึงบอกไปว่า "เอาไว้ให้เด็กท่องเพื่อรับของรางวัลในวันเด็ก" เพราะเท่าที่เห็นก็ไม่มีอะไรไปมากกว่านี้
มีคนเคยถามผมว่า "คำขวัญวันเด็ก" มีไว้ทำไม ผมก็ลองคิดๆ ดู จึงบอกไปว่า "เอาไว้ให้เด็กท่องเพื่อรับของรางวัลในวันเด็ก" เพราะเท่าที่เห็นก็ไม่มีอะไรไปมากกว่านี้ สำหรับคำขวัญวันเด็กปีนี้ (๒๕๕๕) ก็น่าสนใจเหมือนทุกๆ ปี "สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี" ซึ่งเท่าที่ผมลองค้นดูก็น่าจะเป็นคำขวัญที่ยาวลำดับต้นๆ แต่ก็มีความคล้องจองดี เด็กๆ จึงท่องได้ไม่ยากเกินไป
"สามัคคี" ถ้าแปลง่ายๆ ให้เด็กฟังก็น่าจะหมายถึง ให้รักกัน ไม่ทะเลาะกัน รวมกลุ่มกันไว้เพื่อทำในสิ่งที่ดี เด็กเล็กๆ อาจค่อยเข้าใจความหมายเพราะอาจไม่ถนัดเรื่องการรวมกลุ่ม โตขึ้นมาหน่อยก็มีการรวมกลุ่ม รวมแก๊งกัน แต่ก็อาจถือว่าเริ่มมีความสามัคคีในกลุ่ม แต่อาจเริ่มมี "ไม่สามัคคีระหว่างกลุ่ม" เพราะอาจมีความคิดเห็นต่างกัน สิ่งสำคัญ "ผู้ใหญ่" ควรต้องแสดงให้เห็น ว่าความเห็น "ต่างกัน" แต่ไม่ควร "ขัดแย้ง" และยังคงสามัคคีกันได้ เพราะความ "ไม่สามัคคึ ของผู้ใหญ่" น่ากลัวกว่าเด็ก สุดท้ายขอยกพระบรมราโชวาสของในหลวงในเรื่องความสามัคคีมาให้ "ผู้ใหญ่" อ่าน

 

"...ความสามัคคีนี้ หมายถึงว่ามีสิ่งใดที่อาจขัดแย้งซึ่งกันและกันบ้าง ก็ต้องปรองดองกันเสีย และหาทางออกโดยที่ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน  เพราะความสามัคคีเป็นกำลังอย่างสูงสุดของหมู่ชน..." (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่กลุ่มชาวไร่ หมู่บ้านตัวอย่าง โครงการไทย-อิสราเอล จังหวัดเพชรบุรี ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๑๓)
"มีความรู้ คู่ปัญญา" คำนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะต้องไปคู่กัน "ปัญญา" หมายถึง ความฉลาด ความรอบรู้ ความเข้าใจชัดในสิ่งต่างๆ ผู้มีปัญญาจึงย่อมต้องรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักเหตุผล ดังนั้นเมื่อมี "ความรู้จึงต้องใช้ควบคู่ไปกับปัญญา" เพราะไม่อย่างนั้นอาจ "ใช้ความรู้ไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน" เช่นเดียวกับความว่าสามัคคี เด็กๆ อาจไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง "ปัญญา" แต่ทั้ง "ความรู้และปัญญา" เด็กๆ อาจได้จากการ "เรียนรู้" จากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จึงต้องมีหน้าที่ "สร้างการเรียนรู้ให้เด็กเกิดปัญญา" ทั้งแหล่งเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม สนามเด็กเล่น พิพิธภัณฑ์ ศูยน์การเรียนรู้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ "ผู้ใหญ่ได้สร้างไว้เพียงพอหรือไม่" ส่วนแหล่งเรียนรู้ที่เป็นนามธรรม ก็คือการปฎิบัติตัวของผู้ใหญ่ วันนี้เราได้แสดงให้เด็กเห็นแล้วหรือยังว่าเราได้ใช้ "ความรู้คู่กับปัญญา"  ให้เด็กใด้เห็น ปัญญาในทางพุทธศาสนามีแบ่งไว้หลายกลุ่ม แต่ที่น่าสนใจและเราอาจได้ยินบ่อยๆ น่าจะเป็นปัญญาในสังคีติสูตร  ซึ่งกล่าวถึง ปัญญา ๓ คือ   
         
              ๑. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาเกิดจากการคิดเอง ซึ่งอาจต้องอาศัยความรู้ ความสงสัย
              ๒. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง อาจรวมไปถึงการอ่าน การศึกษาเล่าเรียน
              ๓. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการอบรมจิตใจ อาจหมายถึงปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ
              ทั้ง ๓ ข้อนี้ ผู้ใหญ่ควรนำไปปฏิบัติอย่างยิ่งและทำให้เด็กดูเพื่อให้ "เรียนรู้" ตาม
 
"คงรักษาความเป็นไทย" มีคุณหมอท่านหนึ่งเคยคุยกับผมบอกว่า "เราควรเลี้ยงลูกให้เอาตัวรอดแบบฝรั่ง แต่ดำเนินชีวิตแบบไทย" แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่า "เราเลี้ยงลูกให้เอาตัวรอดแบบไทย และดำเนินชีวิตแบบฝรั่ง" ข้อดีของฝรั่ง (ซึ่งคุณหมอไม่ได้บอกว่าฝรั่งชาติไหน) เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของการ "ทำอะไรด้วยตัวเอง" ตั้งแต่เด็ก พ่อแม่เด็กฝรั่งจึงมักปล่อยให้ลูกทำอะไรเอง อยากได้อะไรก็ไปทำงาน เก็บเงินซื้อเอง ตรงข้ามกับเด็กไทยในปัจจุบันที่พ่อแม่มักจะจัดหามาให้แทบทุกอย่าง ทั้งที่จำเป้นและไม่จำเป็น อันนี้ผมเดาว่าอาจเป็นเรื่องของภูมิศาสตร์ของคนตะวันตกที่ธรรมชาติค่อนข้างโหดร้าย มีปัญหาเรื่องการเพาะปลูก ส่งผลถึงอาหารการกิน เลยต้องสอนให้ลูกเอาตัวรอด แต่ก็มี "ข้อเสีย" คือ เด็กมักจะคิดว่าทุกอย่างเกิดจากการกระทำของตัวเอง ความผูกพันธ์ ความสัมพันธ์ของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ผู้มีพระคุณจึงน้อย ตรงนี้เราจึงต้องนำวิถี "แบบไทย" เข้ามาสร้างความสมดุล นั่นคือต้องหมั่นสอนเรื่องความ "กตัญญู กคเวที"  "ความเคารพนบนอบ" ต่อผู้มีพระคุณ ต่อผู้หลักผู้ใหญ่ หากเป็นชาวพุทธก็ควรต้องสอนเรื่อง "กรรมเวร" เข้าไปด้วย และสอนอย่างเดียวคงไม่พอ "ผู้ใหญ่ก็ควรต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง" การดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เคารพยกย่องต่อผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะ "พระมหาราชา" ผู้มีพระคุณต่อแผ่นดิน เราได้แสดงให้เด็กเห็นหรือยัง
"ใส่ใจเทคโนโลยี" คำว่า "เทคโนโลยี"  เด็กเล็กๆ ก็อาจไม่เข้าใจเหมือนกัน (มีคุณหมอท่านหนึ่งอีกเช่นกันบอกว่าเทโนโลยีก็คือโรงเรียนที่ตีกับอาชีวะบ่อยๆ)  แต่เรื่องนี้ไม่น่ากังวลสำหรับเด็ก เพราะน่าจะรู้เรื่องดีกว่าเรา ไม่ว่าจะทักษะ ความชำนาญ  เด็กสมัยนี้มีเหลือล้ำ ทั้งเกมคอมพิวเตอร์ Ipad Iphone BB สารพัดที่ผู้ใหญ่จะสรรหามาให้เด็ก ดังนั้น คนที่ต้อง "ใส่ใจ" จึงน่าจะต้องเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เพราะอาจจะตามเด็กไม่ทันจนไม่สามารถให้คำแนะนำเด็กให้ "ใส่ใจ" ได้ เทคโนโลยีมีทั้ง "คุณและโทษ" จึงต้องใช้ควบคู่กับ "ปัญญา" เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามหากเปลี่ยนได้ผมอยากสอนให้เด็ก "ใสใจผู้อื่น" หรือ "ใส่ใจธรรมชาติสิ่งแวดล้อม" มากกว่า เพราะมีแต่ "ประโยชน์" หามี "โทษ" ไม่ครับ
จากทั้งหมดจึงเห็นได้ว่า "คำขวัญวันเด็ก" ทุกๆ ปี จึงควรเป็น "คำขวัญวันเด็กที่ผู้ใหญ่ควรต้องนำไปปฏิบัติ" ครับ
 
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 474673เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2012 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 01:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาทิตย์อรุณสวัสดิ์ค่ะ

เมื่อวานวันเด็ก ผู้ใหญ่พาเด็กๆ ไปทำกิจกรรม และเห็นด้วยค่ะ ต้องเป็น ตัวอย่างที่ดี

เพราะผู้ใหญ่ในวันนี้ อย่างไร เด็กในวันหน้า ก็คงไม่ต่างกัน แบบอย่างสำคัญกว่าคำสอน

ปล. ชอบเพลงรุ่นเก่า หัวใจอนุรักษ์ หากแต่ ใจ คงมิแปรผันตาม วัย นะคะ สิบอกให้ ขอบคุณค่ะ :)

  • คิดตรงกันค่ะ "คุณคมคิด สเลลานนท์" ในการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างของผู้ใหญ่
  • ขอเชิญแลกเปลี่ยนแนวคิดได้ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/474678 นะคะ
  • ดีจังค่ะกับการขยายความแนวปฏิบัติตามคำขวัญของผู้เกี่ยวข้อง

 

สวัสดีวันอาทิตย์เช่นกันครับ เป็นวันที่มีเวลาเขียนอะไรต่อมิอะไรบ้าง

สวัสดีครับอาจารย์วิไล ก่อนอื่นผมชื่อคิดคมครับ แต่ช่างมันเถอะครับ ชื่อนั้นสำคัญไฉนครับ :) ที่เขียนไปเพราะเป็นห่วงเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก ที่ปัจจุบันผู้ใหญ่มักสร้างการเรียนรู้ที่ไม่ค่อยดีให้เด็กรับรู้มากกว่าเรื่องดีๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท