ความร่วมมือทางศาลเกี่ยวกับการบังคับตามคำพิพากษาต่างประเทศ


ความร่วมมือทางศาลเกี่ยวกับการบังคับตามคำพิพากษาต่างประเทศ

ก่อนที่จะกล่าวถึงแนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศนั้น ในเบื้องต้นควรที่จะรู้ความหมายของการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเสียก่อน
การบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศ หมายถึง การที่ศาลของประเทศที่ได้รับคำร้องขอ ต้องดำเนินการในการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศโดยอาศัย หลักเกณฑ์และวิธีการของศาลที่ได้รับคำร้องขอให้มีการบังคับ เพื่อให้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศบังเกิดผล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หมายความถึงการนำผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศหนึ่งไปขอให้ศาลอีกประเทศหนึ่งบังคับตามให้ ทั้งนี้ บุคคลที่ร้องขอให้นำผลของคำพิพากษาของศาลประเทศหนึ่งไปขอให้ศาลอีกประเทศหนึ่งบังคับตามให้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและต้องการให้มีการบังคับตามคำพิพากษานั้น เช่น โจทก์ เป็นต้น มิใช่เป็นบุคคลอื่น 
1. แนวความคิดที่สนับสนุนต่อการบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศ
แนวความคิดพื้นฐานที่นำมาสนับสนุนหลักการในเรื่องการบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศ ซึ่งจะนำมาพิจารณาดังต่อไปนี้ คือ หลักอัธยาศัยไมตรีระหว่างประเทศ และหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติตอบแทนระหว่างกัน (Comity and Reciprocity), หลักแห่งพันธกรณี (Doctrine of Obligation), หลักความเป็นที่สุดและเสร็จเด็ดขาดของคำพิพากษา (final and conclusive judgment)
1.1 หลักอัธยาศัยไมตรีระหว่างประเทศ และหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติตอบแทนระหว่างกัน (Comity and Reciprocity) 
ปกติโดยทั่วไปแล้ว รัฐจะมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง กล่าวคือ รัฐจะไม่ยอมให้มีการก้าวก่ายอำนาจข้ามรัฐกัน ซึ่งการไม่ยอมหรือไม่อนุญาตเช่นนี้เป็นการล่วงการพัฒนาเจริญเติบโตทางด้านการค้าเป็นอย่างมาก ดังนั้น หลักอัธยาศัยไมตรีระหว่างประเทศ และหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติตอบแทนระหว่างกันนี้เป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการบังคับตามพิพากษาศาลต่างประเทศ กล่าวคือ หากรัฐหนึ่งยอมลดอำนาจอธิปไตยของตนลงมา เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ตนยอมรับอำนาจอธิปไตยของอีกรัฐหนึ่ง โดยการยอมบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศให้ และในขณะเดียวกันรัฐที่ยอมรับก็หวังที่จะให้รัฐที่มีคำพิพากษานั้นยอมรับบังคับตามคำพิพากษาของรัฐตนด้วย ซึ่งทั้งหมดอาศัยพื้นฐานจากหลักการในเรื่องอัธยาศัยไมตรีโดยพิจารณาจากความช่วยเหลือในการปฏิบัติตอบแทนซึ่งกันและกัน จากความสัมพันธ์ฉันท์มิตร ดังนั้น กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศทั้งสองหรือหลายประเทศต่างต้องยอมรับบังคับตามคำพิพากษาของกันและกัน ในลักษณะที่เหมือนกันและเท่าเทียมกัน
แนวความคิดนี้ เป็นแนวความคิดดั้งเดิมของประเทศอังกฤษ โดยศาลอังกฤษเชื่อว่า ศาลของประเทศหนึ่งมีพันธะหรือข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องให้ความช่วยเหลือยังศาลของอีกประเทศหนึ่ง และยังเกรงว่าหากคำพิพากษาต่างประเทศไม่ได้รับการยอมรับบังคับให้ในประเทศอังกฤษแล้ว คำพิพากษาของอังกฤษเองก็จะไม่ได้รับการบังคับตามในต่างประเทศด้วยเช่นกัน โดยอาศัยหลักอัธยาศัยไมตรี และหลักปฏิบัติตอบแทนระหว่างกัน แต่การที่จะยึดถือตามหลักนี้อย่างเคร่งครัดแล้ว ก็เท่ากับว่า ศาลอังกฤษยอมรับบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศอย่างเต็มที่ โดยไม่มีเงื่อนไขอย่างอื่นใด (full faith and credit) ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น หากคำพิพากษานั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือขัดต่อหลักแห่งความยุติธรรม ซึ่งตามกฎหมายอังกฤษถือเป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้ศาลอังกฤษไม่ยอมบังคับตามคำพิพากษานั้นให้ปัญหาดังกล่าวจึงนำไปสู่แนวทางตามหลักแห่งพันธะกรณี (Doctrine of Obligation) 
หลักการนี้ยังได้รับการสนับสนุนว่า ประเทศใดจะยอมรับและบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศนั้น ย่อมอาศัยหลักอัธยาศัยไมตรีระหว่างประเทศ (Comity) โดยเป็นการยอมรับตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศโดยสมัครใจของประเทศนั้น มิใช่ยอมรับเพราะหน้าที่หรือพันธกรณีระหว่างประเทศแต่อย่างใด
นอกจากนั้นแล้ว หลักการดังกล่าวยังได้รับการยอมรับจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ ประเทศญี่ปุ่นจะยอมรับและบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ โดยอาศัยหลักการปฏิบัติต่างตอบแทนตาม มาตรา 118 (4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งศาลญี่ปุ่นจะยอมรับและบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ก็ต่อเมื่อศาลต่างประเทศที่ทำการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ตัวบทกฎหมายของศาลแห่งประเทศนั้นก็ดี คดีของศาลแห่งประเทศนั้นก็ดี คำวินิจฉัยของศาลแห่งประเทศนั้นก็ดี ได้ยอมรับและบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแห่งประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นแล้ว เงื่อนไขในการยอมรับและบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลญี่ปุ่นในต่างประเทศนั้น จะต้องเป็นเงื่อนไขที่เทียบเท่าหรือมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าเงื่อนไขการยอมรับและบังคับคดีตาม คำพิพากษาของศาลต่างประเทศในประเทศญี่ปุ่น
หลักอัธยาศัยไมตรีระหว่างประเทศ และหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติตอบแทนระหว่างกัน (Comity and Reciprocity) จะพบเห็นได้จากการทำความตกลงระหว่างประเทศในรูปของสนธิสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ
1.2 หลักแห่งพันธกรณี (Doctrine of Obligation) 
หลักแห่งพันธกรณีนี้ก็มีแหล่งกำเนิดในประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1842 โดยผู้พิพากษา Baron Park ได้กล่าวไว้ในคดี Russell v. Smyth มีหลักการที่สำคัญ คือ ศาลต่างประเทศซึ่งมีเขตอำนาจศาลเหนือจำเลย ย่อมวินิจฉัยตัดสินคดีโดยกำหนดจำนวนเงินเพื่อให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือเป็นการกำหนดหน้าที่หรือความรับผิดในการที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ไว้ ซึ่งหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวย่อมกลายเป็นพันธะทางกฎหมายอันอาจจะถูกบังคับชำระหนี้โดยประเทศอื่นได้ กล่าวคือ คำพิพากษาของศาลซึ่งมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีย่อมที่จะกำหนดหน้าที่หรือภาระหนี้ให้แก่ตัวจำเลยได้ เพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษานั้น ซึ่งศาลในประเทศอื่นๆ ก็ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องบังคับตามหนี้แห่งคำพิพากษานั้นด้วย นอกจากนั้นยังได้รับการยืนยันซึ่งปรากฏอยู่ในคดี Williams v Jones และคดี Schibsby v Westenholz
จากหลักดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อศาลทุกศาลตัดสินคดีแล้ว ก็จะเกิดหน้าที่หรือความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษานั้น (Obligation) เป็นหน้าที่หรือความผูกพัน ที่ยอมรับกันทั่วไป โดยถือว่าคำพิพากษามีความศักดิ์สิทธิ์ต้องปฏิบัติตาม จึงเกิดหลักการเป็นรูปแบบเดียวกันและเข้ากันได้หมดในทุกประเทศ ทั้งนี้ การนำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้บังคับในประเทศอื่นนั้น จะต้องนำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาฟ้องขอให้ศาลในอีกประเทศหนึ่งยอมรับและบังคับให้ (Action on Judgment) โดยถือว่าคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเป็นมูลคดี (Cause of Action) เพื่อเรียกร้องหนี้แห่งคำพิพากษาของศาลต่างประเทศนั่นเอง
1.3 หลักความเป็นที่สุดและเสร็จเด็ดขาดของคำพิพากษา (final and conclusive judgment) 
เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นคู่กรณีมักจะนำเรื่องขึ้นสู่ศาล เพื่อให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี และในที่สุดก็นำไปสู่การมีคำพิพากษาตัดสินคดี ซึ่งถือว่าคำพิพากษาในข้อพิพาทนั้นเป็นที่ยุติได้ เพราะศาลได้ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีโดยผ่านขั้นตอนการกลั่นกรองและไตร่ตรองในการพิพากษาคดีด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยปราศจากอคติ ด้วยเหตุนี้คำพิพากษาของศาลจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่คู่ความในคดีหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีจะต้องยอมรับและปฏิบัติตาม โดยคู่ความจะถูกห้ามมิให้โต้แย้งในคำพิพากษานั้น แต่ทั้งนี้ หากคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลล่าง คู่ความก็อาจโต้แย้งคำพิพากษาของศาลล่างต่อศาลสูงได้ ถ้าไม่เข้ากรณีที่กฎหมายห้ามไว้ และเมื่อศาลสูงตัดสินคดีเป็นอย่างไรแล้ว คู่ความก็ต้องยอมรับและปฏิบัติไปตามนั้น จะโต้แย้งอีกไม่ได้
หลักความเป็นที่สุดแห่งคำพิพากษานี้ (Res Judicata) มีลักษณะทำนองเดียวกับหลักเกณฑ์ในเรื่องฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักกฎหมายปิดปาก (estoppel) กล่าวคือ ห้ามมิให้คู่ความนำคดีมาฟ้องร้องอีก หากเข้าหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ 
(1) คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดในคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว 
(2) คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในคดีก่อนกับคู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในคดีหลังต้องเป็นคู่ความเดียวกัน 
(3) ประเด็นในคดีหลังต้องเป็นประเด็นเดียวกันกับประเด็นในคดีก่อน ซึ่งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ก็ได้มีการนำหลักความเป็นที่สุดและเสร็จเด็ดขาดของคำพิพากษา (final and conclusive judgment) นี้มาใช้เป็นแนวทางเดียวกัน คือ หากโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในประเทศหนึ่งโดยอาศัยมูลคดีเดิมจำเลยสามารถที่จะยกคำพิพากษาศาลต่างประเทศเป็นข้อต่อสู้ได้ เช่น คำพิพากษาศาลต่างประเทศได้ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วนตามที่เรียกร้อง และจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาต่างประเทศแล้ว แต่โจทก์ก็ยังไม่พอใจจึงได้นำคดีโดยอาศัยมูลคดีเดิมมาฟ้องร้องในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งจำเลยมีทรัพย์สินอยู่ และเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ในกรณีนี้จำเลยก็สามารถที่จะอ้างคำพิพากษาต่างประเทศเป็นข้อต่อสู้ได้
ในทางตรงกันข้าม โจทก์ก็สามารถที่จะฟ้องจำเลยในอีกประเทศหนึ่งได้โดยอาศัยมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศนั้นได้ เพื่อให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ทั้งนี้ ศาลในประเทศที่โจทก์นำคดีไปฟ้องถือว่า คำพิพากษาของศาลต่างประเทศเป็นคำพิพากษาของศาลที่มีอำนาจเหนือคู่ความในคดีนั้นแล้ว โดยศาลในประเทศที่โจทก์นำคดีไปฟ้องจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องของคำพิพากษานั้นอีก เพราะถือว่าคดีนั้นได้มีการต่อสู้และวินิจฉัยในด้านสาระหรือเนื้อหา (merits) ของคดีมาแล้ว หากคู่ความฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา คู่ความฝ่ายนั้นก็สามารถที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ คำพิพากษานั้นในประเทศที่มีคำพิพากษาเอง คำพิพากษานั้นจึงถือว่ามีความเสร็จเด็ดขาด (conclusive) ในอีกประเทศหนึ่ง ระหว่างคู่ความเดียวกันในคดีที่ได้มีคำพิพากษาในต่างประเทศนั้นแล้ว ฉะนั้น จำเลยจึงไม่อาจโต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับความถูกต้องของคำพิพากษา ถึงแม้จำเลยจะพิสูจน์ให้ศาลในประเทศที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเห็นว่า ศาลต่างประเทศที่ได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษานั้น วินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายผิดพลาดไปก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม ศาลในประเทศที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจะยอมรับบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในการยอมรับบังคับคดีของประเทศนั้น
การรับรองและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในประเทศไทย
ปัจจุบันนานาประเทศได้เห็นถึงความสำคัญของการรับรองและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ โดยรัฐต่างๆ มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ใช้บังคับทั้งกฎหมายภายในประเทศและมีความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศในการจัดทำสนธิสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการรับรองและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ เช่น อนุสัญญาบรัสเซลล์ว่าด้วยเขตอำนาจศาล และการรับรองและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
สำหรับหลักเกณฑ์ของประเทศไทยเรื่องการรับรองและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ประเทศไทยยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเฉพาะ ในบทบัญญัติเรื่องกฎหมายขัดกัน หรือในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เคยมีคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยมีข้อพิจารณาโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ กล่าวคือ คำพิพากษาฎีกาที่ 585/2461
ข้อเท็จจริงตามฎีกา นางฟามทีเลียนฟ้องนายตรันวันเตียว ต่อศาลเมืองไซง่อน ฐานผิดสัญญาซื้อขาย ศาลเมืองไซง่อนพิพากษาให้นายตรันวันเนียว ชดใช้ค่าเสียหายให้นางฟามทีเลียน ต่อมานายตรันวันเตียวได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร นางฟามทีเลียนจึงมอบอำนาจให้นายเวียนนำยอเป็นโจทก์ ฟ้องนายตรัยวันเตียวเป็นคดีต่อศาลแพ่ง คดีขึ้นสู่ศาลฎีกา โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาประการหนึ่งคือ คำพิพากษาเมืองไซง่อนที่โจทก์อ้างนั้น จะเป็นคำพิพากษาที่ศาลไทยควรรับบังคับให้เพียงใด ซึ่งประเด็นนี้ศาลไทยได้วางหลักเป็นเงื่อนไขในการบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศไว้ด้วยกัน 2 ประการ กล่าวคือ 
1. การจะยอมรับบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศนั้น จะต้องพิจารณาว่า ศาลที่พิพากษาคดีนั้นมีอำนาจพิจารณาคดีหรือไม่ ตามข้อเท็จจริงโจทก์และจำเลยเป็นคนในบังคับของเมืองไซง่อน ศาลเมืองไซง่อนจึงมีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าว 
2. คำพิพากษาต้องเป็นคำพิพากษาที่เสร็จเด็ดขาด คือ ไม่อาจรื้อร้องขึ้นฟ้องเป็นคดีกันได้อีก ในคดีนี้ ข้อเท็จจริงจำเลยแพ้คดีโดยจำเลยขาดนัด โจทก์ต้องเป็นฝ่ายนำสืบว่าการแพ้คดีโดยขาดนัดของจำเลยเป็นไปในลักษณะที่เสร็จเด็ดขาดแล้ว จำเลยไม่อาจยกคดีให้ศาลไซง่อนพิจารณาใหม่ได้ แต่กรณีนี้โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ ศาลไทยจึงกล่าวว่า กรณีไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลไทยจะรับบังคับและดำเนินการให้ โจทก์จะอ้างคำพิพากษาเป็นมูลฟ้องร้องยังมิได้
ข้อสังเกต จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ศาลไทยใช้หลัก 2 ประการเป็นข้อพิจารณาการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ อันได้แก่ หลักความถูกต้องของเขตอำนาจศาล และ หลักความเป็นที่สุดของคำพิพากษาคือคดีต้องเสร็จเด็ดขาด
ข้อพิจารณาประการหนึ่งคือ การรับรองและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเป็นหลักที่นานาประเทศให้การยอมรับ มีสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องนี้ในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระดับโลก ได้แก่ อนุสัญญากรุกเฮกว่าด้วยการรับรองและการบังคับตามคำพิพากษาต่างประเทศในทางแพ่งและพาณิชย์ ในระดับภูมิภาค เช่น อนุสัญญากรุงบรัสเซลล์ เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลและการบังคับตามคำตัดสินในทางแพ่งและพาณิชย์ (สำหรับสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป) แต่ประเทศไทยมิได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาใดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี กฎหมายภายในก็ไม่มีบัญญัติไว้โดยตรง คงมีแต่เพียงคำพิพากษาบรรทัดฐานที่กล่าวมาเท่านั้น การที่ประเทศไทยนิ่งเฉยกับเรื่องดังกล่าวย่อมไม่ส่งผลดีกับประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อไทยต้องการจะพัฒนาเศรษฐกิจในระดับระหว่างประเทศ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ประเทศไทยมีกฎหมายรองรับการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ แต่เหตุใดการรับรองคำพิพากษาศาลต่างประเทศจึงไม่มีปรากฎในบทบัญญัติของกฎหมายไทย ควรจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะหันมาสร้างหลักเกณฑ์เรื่องการรับรองและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศให้มีความชัดเจน โดยมีข้อที่ต้องพิจารณา คือ หลักเกณฑ์ควรมีอะไรบ้าง และ กฎหมายเกี่ยวกับการรับรองและบังคับตามคำพิพากษาควรจะอยู่ในรูปแบบใด
หลักเกณฑ์ของการรับรองและบังคับตามคำพิพากษาสำหรับประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไรนั้น อาจศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ ทั้ง ระบบซีวิลลอว์ และ คอมมอนลอว์ เช่น หลักความถูกต้องของเขตอำนาจศาล หรือ หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

หมายเลขบันทึก: 474484เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2012 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท