Economic impacts of alcohol


Economic impacts of alcohol

Economic impacts of alcohol

วันที่ 22 ธันวาคม 2554
ผศ.ดร.สุชาดา  ภัยหลีกลี้

การบริโภคเครื่องดื่ม  ที่มีแอลกอฮอล์มีผลต่อทั้งสุขภาพของบุคคลและสังคม จากการรวบรวมผลของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาวะจากงานวิจัยต่างๆ แสดงให้เห็นว่าแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์ในด้านการเป็นสาเหตุกับโรคเรื้อรัง ปัญหาการบาดเจ็บ ปัญหาทางสังคมทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ผลกระทบของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเกิดจากองค์ประกอบที่สำคัญ 2 อย่างคือวิธีการดื่ม (pattern of drinking) เช่น ดื่มประกอบการกินอาหาร หรือดื่มเพื่อสังคม ดื่มฉลองในเทศกาล ฯลฯ และปริมาณที่ดื่ม (average volume of consumption) ผลของทั้ง 2 องค์ประกอบรวมกันทำให้มีผลต่อสุขภาพแยกได้ 3 ลักษณะ ได้แก่

                1. ผลกระทบด้านชีวภาพ มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ในด้านบวก คือ ถ้าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลาง (moderate dringking) จะช่วยลดการเกาะของ plague ในเส้นเลือด ป้องกันการอุดตันและช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือดหรือทำให้เลือดที่แข็งตัวละลายลง มีผลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ในด้านที่เป็นลบ ทำให้ความดันโลหิตสูง มีพิษโดยตรงกับ Acinar cell กระตุ้นให้เกิดการทำลายของตับอ่อนและมีผลต่อการทำงานของฮอร์โมน

                2. การเป็นพิษ (intoxication) เป็นผลอย่างเฉียบพลันของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อระบบประสามส่วนกลาง (central nervous system) ผลที่ตามมา เช่น อุบัติเหตุโดยเฉพาะการจราจร ความรุนแรงในครอบครัวและสังคมจากการทะเลาะวิวาท และลงท้ายด้วยการบาดเจ็บ พิการหรือเสียชีวิต นอกจากนี้การดื่มอย่างหนักในครั้งเดียวนอกจากจะมีผลต่อการสูญเสียการควบคุมตนเองก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือความรุนแรงต่างๆ แล้ว ยังอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวโดยเฉียบพลันได้

                3. การติดสุรา (alcohol dependence) มีผลต่อร่างกายทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง และมีผลทางสังคมตามมา เช่น ปัญหาการทำงาน ครอบครัวและเพื่อนฝูง

                ซึ่งผลการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานผล “การสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2546-2547” ซึ่งดำเนินการสำรวจโดย สำนักงานการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัย ภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและได้รับงบประมาณสนับสนุนการสำรวจ จากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข

                พบว่า ผู้ที่ไม่เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยในรอบปีที่ผ่านมา มีร้อยละ 65 ในหญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปและมีเพียงร้อยละ 27 ในชายวัยเดียวกัน โดยชายอายุ15 ปีขึ้นไปร้อยละ 16.6  และหญิงร้อยละ 2.1 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตราย  ชายและหญิงในเขตเทศบาลดื่มในระดับอันตรายมากกว่าผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาล หญิงในกรุงเทพฯมีความชุกของการดื่มในระดับอันตรายมากกว่าภาคอื่นๆ และชายในภาคเหนือมีการดื่มในระดับอันตรายมากกว่าในภาคอื่นๆ คือ ชาย 51.8 กรัม/วัน และหญิง  7.9  กรัม/วัน สำหรับการดื่มอย่างหนักในครั้งเดียว (binge drinking)พบว่ามีมากที่สุดในชายอายุ 15 – 29 ปี ประมาณ 13 ครั้งในรอบ 12 เดือน หรือเดือนละประมาณ 1 ครั้ง และในชายที่เคยดื่มสุราทุกกลุ่มอายุมีร้อยละ 57 ที่เคยดื่มอย่างหนักในครั้งเดียวมาแล้ว และในหญิงที่ดื่มสุรามีร้อยละ 19 ที่เคยดื่มอย่างหนักในครั้งเดียว โดยในเขตเทศบาลมีสัดส่วนของกลุ่มที่ดื่มอย่างหนักมากกว่านอกเขตเทศบาล ชายในภาคกลางที่ดื่มสุรามีสัดส่วนของผู้ที่ดื่มอย่างหนักในครั้งเดียว มากกว่าภาคอื่นๆทั้งหมด แต่ในหญิงคือกลุ่มที่อยู่ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ในทุกเขตสาธารณสุขจะมีความชุกของผู้ที่ดื่มอย่างหนักในครั้งเดียวมากกว่าร้อยละ 50 ในเพศชายและมากกว่าร้อยละ 10 ในเพศหญิงที่ดื่มสุราในรอบปีที่ผ่านมา โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นิยมดื่มมากที่สุด ในทั้งชายและหญิง คือ เบียร์ รองลงมาคือวิสกี้

 

 ข้อมูลเพิ่มเติมจาก : สำนักพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ

คำสำคัญ (Tags): #Economic impacts of alcohol
หมายเลขบันทึก: 474429เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2012 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท