"โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๓) : เมื่อเป็นครูฝึกสอนและบัณฑิตแท้


บันทึก "โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๑) : ภูมิหลัง และ "โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๒) : ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ปณิธานความเป็นครู ยังคงทำหน้าที่นำเสนอความเป็นครูของคุณครู "โกมล คีมทอง"

ในบันทึกนี้ จะนำเสนอเมื่อคุณครู "โกมล คีมทอง" ออกไปเป็นคุณครูฝึกสอนและเข้าสู่ความเป็นบัณฑิตแท้ ๆ ...

 

 

 

โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน

 

ตอนที่ ๓ ... เมื่อเป็นครูฝึกสอนและบัณฑิตแท้

 

 

เมื่อเป็นครูฝึกสอน

ถึงแม้ปีที่ ๔ ในชีวิตมหาวิทยาลัยนี้ควรจะมีข้อที่ทำให้โกมลภูมิใจหลายอย่างก็ตาม แต่เขาก็รู้สึกผิดหวังมากอยู่อย่างหนึ่ง คือ เรื่องการฝึกสอนนักเรียนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ในช่วงเทอมแรกของปีการศึกษา ๒๕๑๒ เขาพยายามดำเนินการในแบบที่คณะวางไว้และผสมผสานแบบของเขาเอง ชั่วระยะชั่วโมงสอนครั้งหนึ่ง ๆ นั้น เขามีความพอใจมาก เด็กนักเรียนทุกคนชอบเขา เห็นว่าครูโกมลสอนดี มีความรู้ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจมาให้เสมอ ๆ เขาเคยพูดว่าอาจารย์นิเทศก์เคยแนะนำให้เพื่อนนิสิตเอาอย่างเขา แต่เมื่อถึงวันสอบ เขาต้องสอบถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกเขาไม่ดำเนินการตามแบบที่ได้วางไว้ตายตัว แต่พยายามค้นหาสาระและจุดหมายของการสอนครั้งนั้น ผลปรากฏว่าเขาต้องสอบใหม่ ผลการสอบของเขาครั้งนี้ทำให้เขาผิดหวัง และรู้สึกลังเลในระบบวัดผลการฝึกสอน ที่ถือเอาการสอนเพียงครั้งเดียว ชั่วโมงเดียว เป็นเครื่องตัดสินชีวิตคน

ยุทธชัย เฉลิมชัย อดีตลูกศิษย์ของครูโกมล เคยเขียนเล่าบรรยากาศสมัยที่ครูโกมลมาเป็นนิสิตฝึกสอนไว้ในบทความที่ชื่อ "คิดถึงครู" เมื่อ ปี ๒๕๓๙ ว่า

"เคยมีเรื่องกระทบกระเทือนใจครูอยู่ครั้งหนึ่ง เด็กนักเรียนเข้าไปแสดงท่าทางเกี้ยวพาอาจารย์ฝึกสอน คงลามปามจนเกินทน ครูโกมลในฐานะหัวหน้ากลุ่มอาจารย์ฝึกสอนจึงออกปากห้ามปราม เจ้าเด็กอันธพาลกลับฮึดฮัดจะเข้าทำร้ายครู เรื่องถึงโรงเรียน บ่ายวันนั้น หน้าแถวนักเรียนทั้งตึกก่อนขึ้นเรียน อาจารย์ฝ่ายปกครองเฆี่ยนเด็กคนนั้นและให้กล่าวขอขมาแก่ครูโกมล อันธพาลน้อยรายนั้นไม่ได้รู้สำนึกอะไร พูดและยกมือไหว้อย่างขอไปที แต่สิ่งที่เราเห็นคือความรู้สึกเสียใจของครู"

 

และให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า จุดนั้นเองที่ทำให้เขาประทับใจในตัวครูโกมล เพราะ

"ครูโกมลกลับขอโทษนักเรียนคนที่จะมาเตะแก แกร้องไห้ ทำให้นักเรียนพลอยจะร้องไห้ตามไปด้วย เป็นความฝังใจ"

เมื่อถามว่า หากย้อนกลับไปดูบทบาทของครูโกมลที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา จังหวัดสุราษฎร์ธานี คิดอย่างไรบ้าง ยุทธชัยตอบว่า

"ครูโกมลเป็นภาพความเป็นจริงของอุดมคติ ถ้าเราบอกว่า คนหนุ่มสาวคนใดมีอุดมคติ แกก็เป็นตัวจริง ก็ต้องย้อนไปดูว่าแกเติบโตมาอย่างไร ความอ่อนโยนมีเมตตานั้นชัดเจนในตัวครูโกมล จิตใจที่มีให้กับคนอื่นนั้นมีอยู่สูงมาก คงไม่ต่างจากเมื่อเราพูดถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่แกจะมีจุดอ่อนอะไรก็ไม่รู้นะ ตลอดเวลาที่ยืนสอนอยู่หน้าชั้นแกไม่เคยหลุดเลย แกเป็นคนอ่อนไหว และละเอียดอ่อนมาก เช่น เรื่องการขอโทษนักเรียนหน้าชั้น นอกจากนี้แกยังปฏิบัติต่อเด็กไม่ต่างกัน"

ขณะที่อาจารย์สุมนเขียนถึงโกมลในกรณีนี้ว่า

"โกมลภาคภูมิใจในการฝึกสอนของเขามาก เขาบอกกับฉันทุกครั้งที่กลับมาประชุมที่คณะครุศาสตร์ในวันศุกร์ เขาเข้ากับเด็กได้อย่างดี อาจารย์นิเทศก์ชมว่าสอนดี ทั้งยังให้เขาสอนเป็นตัวอย่างแก่นิสิตคนอื่น ๆ ที่สอนไม่เก่ง เมื่อประกาศคะแนนฝึกสอน โกมลผิดหวังค่อนข้างมาก เพราะได้เกรด C แสดงว่าต้องมีข้อบกพร่องค่อนข้างมาก โกมลเขียนจดหมายถึงฉันยาวเหยียดในวันนั้น ฉันจึงต้องอธิบายว่าคะแนนฝึกสอนนั้นประกอบด้วยการวัดผลหลายด้านด้วยกัน ตอนที่โกมลฝึกสอนนั้น โกมลรับหน้าที่สาราณียกรอยู่ด้วย โกมลอาจจะปลีกเวลาไปโรงพิมพ์บ้างก็ได้ ผลที่สุดฉันสรุปว่า ถ้าโกมลวัดผลตนเองเห็นว่าควรจะได้ A ก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง 'ติด' อยู่กับการวัดผลของผู้อื่น สอบได้ก็แล้วกัน โกมลก็ไม่ใช่คนที่ 'ติด' คะแนนนักไม่ใช่หรือ" (ในข้อเขียนไว้อาลัยที่ชื่อ "ฉันคิดถึงโกมล")

ในช่วงนั้น โกมลต้องตรากตรำกับการเรียน การฝึกสอน การทำกิจกรรมกับชมรมปริทัศน์เสวนา และงานสาราณียกรอย่างหนัก แต่สิ่งที่ทำให้เขาวิตกกลับเป็นเรื่องภายในจิตใจของเขาเอง คือกลัวว่าในอนาคตจะกลายเป็นผู้ใหญ่อย่างที่เขาไม่ชอบใจ ดังข้อเขียนของเขาที่ว่า

"ความหวั่นไหวขณะนี้เริ่มก่อตัวขึ้น ความลังเลไม่แน่ใจต่อสภาพที่ต้องเปลี่ยนแปลง และต่อสังคมที่ต้องออกไปเผชิญ ไม่แน่ใจว่าตนเองมั่นคง และเหนียวแน่นเพียงใด ออกไปครั้งนี้ได้ชื่อว่าออกไปทำงาน อยากจะถามตนเองว่าทำเพื่ออะไร หรือเพื่อใคร ข้าพเจ้าก็ยังลังเลที่จะตอบออกมาได้" (ข้อเขียนเรื่อง "เวลาที่เปลี่ยนไป")

และอีกตอนหนึ่งของข้อเขียนเรื่อง "ข้าพเจ้ากลัว" ในหนังสือ เพลิงชมพู ๒๕๑๒ โกมลเขียนไว้ว่า

"ข้าพเจ้ากำลังเกรงอยู่ว่า เมื่อถึงขั้นหนึ่งไปแล้วข้าพเจ้าจะต้องเปลี่ยนแปลง จริงอยู่การเปลี่ยนแปลงเป็นปรกติธรรมดาโลก แต่เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนจุดหมายแห่งชีวิตจากความเริงรื่นสวยสดและเต็มไปด้วยความคิดและปรารถนาดี มาสู่ความอยากได้ ใคร่เด่น ความต้องการมีหน้ามีตา ทั้งคิด พูด และกระทำออกมาเพื่อหาเกียรติยศชื่อเสียงแก่ตัวเอง ดิ้นรนไปมาแต่เท่านี้ ข้าพเจ้ามองไม่เห็นเลยว่าตัวเองได้เจริญขึ้น แต่ตรงกันข้าม ดูจะน่าสมเพชและชวนเวทนาขึ้นมากกว่า ข้าพเจ้ากลัวเหลือเกินจะเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างที่หลายท่านอันเป็นที่เคารพของข้าพเจ้ากำลังหมกมุ่นอยู่ อย่างอุตลุดและไม่คิดชีวิต"




ความเป็นบัณฑิตแท้

 

นอกจากนี้ โกมลยังได้แสดงทัศนะค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับใบปริญญาบัตรตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ดังจดหมายที่เขาเขียนถึง พี่นันทา เนียมศรีจันทร์ ฉบับวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ตอนหนึ่งกล่าวว่า

"ผมจะจบหลักสูตรในหนึ่งเดือนข้างหน้านี้ แต่ผมอาจพูดได้เต็มปากเลยว่าไม่มีความยินดียินร้ายเลย ถ้าจะให้คิดว่าผมกำลังได้ใบปริญญาบัตร ผมไม่ค่อยเห็นคุณค่าข้อนี้ จะเป็นความผิดความถูกอย่างไรไม่ทราบ แต่ตระหนักอยู่ในใจว่า เมื่อได้ใบนี้แล้วสถานที่ที่ผมทำงานเขาเอาไปตีราคาให้เงินเดือน ผมก็ยังรู้สึกได้อย่างเดียวว่า เงิน ๑,๒๕๐ บาทที่ให้ผมนั้นมาเทียบกับค่าแรงผมไม่ได้ นี่คิดถึงเรื่องค่าของใบปริญญาบัตร และจะให้คิดว่าผมจบปริญญาบัตรแล้วมีความรู้แล้ว ความคิดนี้ก็ขัดกับความรู้สึกส่วนลึกที่คอยบอกตัวเองอยู่เวลานี้ว่าผมไม่รู้อะไรเลย ผมยังมีแต่ความลังเล สงสัย ความไม่เข้าใจ และตื่นที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ผมจะไปภูมิใจว่าผมสำเร็จแล้วอย่างไรได้"

และจดหมายถึง นนทิรา ศุภโยธิน เพื่อนรุ่นน้องจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๑๓ ก็ยืนยันความมั่นคงของโกมลที่มีต่อเรื่องนี้

"เรื่องปริญญานั้นอย่างไรเสียก็ต้องได้ ส่วนเรื่องความเป็นบัณฑิตนั้นไม่ใช่ใครจะมาหยิบยื่นให้กันได้ง่าย ๆ แต่เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล เป็นเรื่องของการฝึกฝนอบรมทางจิตใจหรือทางวิญญาณ ยิ่งกว่าที่จะมาวัดกันง่าย ๆ อย่างเช่นการสอบ"

แล้วเขาก็ทำจริงดังที่บอกไว้ คือ ไม่ได้มารับพระราชทานปริญญาบัตร ในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๓ ทั้งที่วันนั้น เขาก็อยู่ที่กรุงเทพฯ คนที่ไม่เข้าใจเขา คงมองเขาไปในแง่ร้าย ว่าเป็นคนหัวรุนแรง

ส่วนเรื่องการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นนั้น โกมลเขียนเล่าไว้ในจดหมายถึงนันทาฉบับเดียวกันนั้นว่า

"แต่เดิมผมคิดว่า จบปี ๔ นี้แล้วจะหาทางอยู่ในกรุงเทพฯ นี้อีกสัก ๒ ปีเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจตัวเองให้มั่นคงขึ้น เข้มแข็งขึ้น แล้วจากนั้นผมจะออกต่างจังหวัด ผมมองเห็นงานของผมอยู่ที่นั้น และจะใช้ชีวิตนี้อยู่ในสภาพเช่นนั้นตลอดไป ส่วนสองปีที่จะอยู่เมืองหลวงนี้ผมจะอยู่อย่างไร ผมก็คิดว่าจะเรียนปริญญาโทต่อ นั่นผมคิดไว้ แต่เวลานี้เกือบล้มความคิดนี้หมดแล้ว เพราะมองดูแล้วเห็นปรากฏเด่นชัดว่า ถ้าลงทำเช่นนั้นผมก็ต้องวิ่งสอนพิเศษ วิ่งมาเรียน หาวิชาที่ง่าย ๆ เรียนพออ่านกันไปเพื่อได้ปริญญาโท ไม่แตกต่างจากคนอื่นเลย วิ่งใฝ่หาเกียรติยศ หาใบรับรองตัวเอง ผมอดทุเรศตัวเองไม่ได้ที่จะเห็นตัวเองอยู่ในสภาพเช่นนั้น และถ้าทำลงไป ผมก็มองเห็นแต่ว่าตนเองจะถูกฉุดให้ต่ำลงด้วยกิเลส ด้วยความกระหายอยาก ด้วยความดิ้นรนใฝ่หาของความทะเยอทะยานอยาก มีแต่จะโง่ลงทรามลง ผมจึงกลับใจเห็นว่าจะไม่เรียนต่อเอาปริญญาโท แต่จะเรียนด้วยตนเองเสียที หาความรู้และความคิดเฉพาะแนวที่สนใจจริง ๆ ไม่วิ่งไม่ไล่ตามสังคมอีกต่อไปละ"

แม้ส่วนลึกแล้ว โกมลก็คงนึกว่าตนเองมีความสามารถเรียนต่อในระดับปริญญาโทได้ แต่เขาก็ต่างจากเพื่อนนิสิตคนอื่นตรงที่ปณิธานในการทำงานตามที่เรียนมานั้นชัดเจนและเข้มข้นยิ่งนัก เห็นได้จากข้อเขียนในจดหมายฉบับเดียวกันนั้น

"จุดมุ่งหมายได้ตั้งไว้แล้วและแจ่มชัด แต่นั่นเป็นงานเพื่อแก่ชีวิตของผม ซึ่งหวังจะไปให้ไกล แต่งานเพื่อแก่ยศและตำแหน่ง สิ่งนี้กำลังมองเป็นศัตรู จะต้องสู้กันหักโค่นกัน แต่งานในหน้าที่ หน้าที่ของผมคือหน้าที่ครูนี้ ผมคิดว่าความกว้างไกลที่ผมจะไม่มีจำกัด และไปถึงได้ไม่ยาก เมื่อคำว่าครูมาลงเอยอยู่ที่คำว่าอบรมสั่งสอนให้มีความรู้ ความคิด วิชาชีพที่จะออกไปอยู่ในสังคมได้มีความสุข หน้าที่ของครูผมก็เห็นอยู่แต่เท่านี้เป็นหลัก"

ส่วนเรื่องการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร อาจารย์สุมนเล่าไว้ในข้อเขียนไว้อาลัยถึงลูกศิษย์คนนี้ว่า

"ไม่ว่าจะมีกิจกรรมทางวิชาการที่ไหน ฉันพบโกมลไปที่นั่น โกมลสนใจในสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นสาระ เขาชอบคิด ชอบแสดงความคิด และแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่น ที่น่าสนใจก็คือ โกมลชอบคิดถึงปรัชญา ควบคู่ไปกับชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมชาติ เมื่อคุยกันถึงการเพิ่มพูนรายได้ของคนไทยในชนบท พูดถึงระบบการจัดการศึกษาเพื่อเขาเหล่านั้น พูดถึงวิถีชีวิตของชาวมหาวิทยาลัยเท่าที่ควรจะเป็น โกมลคิด ข้อคิดที่ดี มีเหตุผล นอกจากจะคิดแล้ว เขายังฝันอีกด้วยว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นย่อมทำได้ เป็นไปได้ ดวงตาที่แจ่มใสของโกมลมีแววจริงจัง ที่ยากจะหาได้ในคนหนุ่มวัยเดียวกัน"

โกมลจึงถือว่าเป็นลูกศิษย์ที่อาจารย์สุมนประทับใจและอยากให้เด็กรุ่นใหม่เป็นอย่างเขา

นอกจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ โกมลยังเข้าร่วมกิจกรรมการสัมมนากับชมรมปาฐกถาและโต้วาที ชุมนุมวรรณศิลป์ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน และอื่น ๆ

ตลอดสี่ปีของชีวิตมหาวิทยาลัย โกมลสร้างและบำเพ็ญบารมีด้วยตัวของตัวเองมาโดยตลอด กลุ่มบุคคล ตลอดจนสถาบันการศึกษาของเขามีส่วนอยู่บ้าง แต่คงพูดได้อย่างไม่เต็มปากว่ามีส่วนอย่างเต็มที่ เพราะถ้าเป็นไปอย่างเต็มที่แล้ว บุคคลเช่นเขาก็คงจะมีปรากฏขึ้นมาก่อน และติดตามหลังมาอย่างมาก แต่นี่เราก็พอจะมองเห็นแล้วว่าเราหาคนอย่างเขาได้มากเพียงใด


 

พจน์ กริชไกรวรรณ ... ผู้เรียบเรียง

ตีพิมพ์ ณ นิตยสารสารคดี ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

 

.....................................................................................................................................................

ช่องไฟส่วนตัว ...

 

ระบบการวัดผลที่ไม่ใช่ ทำให้คุณครู "โกมล คีมทอง" แข็งแกร่งขึ้นจากสิ่งที่อยู่ในจิตใจที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมการศึกษา

เมื่อถึงเวลาที่รับปริญญาบัตร ความสำคัญกลับไม่ใช่กระดาษแผ่นเดียวที่ไม่ได้แสดงความสามารถแท้มากกว่าเกียรติยศที่สังคมมอบให้

การเปลี่ยนแปลงสิ่งใด ๆ ทุกอย่างจึงอยู่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นเรื่องจริงแท้

จักเหลือสักกี่คนหนอ ในปัจจุบัน

บรรยากาศการฝึกสอน รับปริญญา หางานทำ จึงเป็นสิ่งที่บัณฑิตอนาคตจักต้องสัมผัส แต่เส้นทางที่จะเลือกจะไปทางใดนั้น ขึ้นอยู่อุดมการณ์ที่แรงกล้า หรือไม่ีมีแรง ของตนเองนั้นแล

 

ด้วยจิตคารวะ

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

......................................................................................................................................................

แหล่งข้อมูล

พจน์ กริชไกรวรรณ.  ประวัติครูโกมล.  http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=34&s_id=4&d_id=4 (๙ มกราคม ๒๕๕๕).

 

......................................................................................................................................................

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

หมายเลขบันทึก: 474353เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2012 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 01:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

*ขอบคุณค่ะ...เพราะเรามีครูดีๆอย่าง โกมล คีมทอง..เรื่องราวดีๆจึงเป็นตำนานให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เช่นนี้..

*เหมือนเงาจากดอกไม้ช่อนี้...ที่พี่ขอมอบให้แก่เจ้าของบันทึกนี้ ที่นำมาแบ่งปันอย่างมีสาระยิ่งค่ะ

Large_photo135 

...

จักเป็นเงา ครูโกมล คีมทอง
จักประคอง การศึกษา ให้ลุล่วง
จักเดินตาม ความคิด ในแดนสรวง
จักเปิดทรวง ความเป็นครู ให้รู้จริง

...

ขอบคุณมากครับ พี่ นงนาท สนธิสุวรรณ ;)...

สถาบัน ผลการเรียน ฐานะ ตระกูล ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัด ค่าความเป็นคน อยู่ที่ผลงาน และการปฏิบัติตน ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ ดอกไม้ ที่ไปกดแทนให้ค่ะ ตอนนี้ได้แล้ว นำมาตอบแทน

อิ่ม ลำยามค่ำ อันหยังหนอเจ้า ยินดีที่ได้ลิ้มรสฝีมือที่คุ้นลิ้น เน้อเจ้า :)

อยู่ที่ "หัวใจ" ล้วน ๆ ที่นำทางยังสิ่งดี ๆ ในทุกสิ่ง

ขอบคุณมากครับ คุณ Poo ;)...

เมื่อค่ำที่ผ่านมา ทานข้าวนอกบ้านครับ คุณ Poo ;)...

ทางคณะฯ เลี้ยงปีใหม่ ;)...

 

โหอาจารย์ได้ทานข้าวนอกบ้านด้วย  ตอนฝึกสอนผมได้ B งงเหมือนกัน ...

แต่ไม่เป็นไร บางทีการวัดผลไม่ได้ตรงกับที่เราทำในปัจจุบันเท่าไร

ขอให้อาจารย์มีความสุขกับการทำงานครับ...

อ่านเรื่องโกมล นานมาก สงสัยต้องไปอ่านทบทวนใหม่ครับ

 

ผมได้ A แต่เป็นการฝึกงานนะครับ เป็นสายเทคนิคด้านการสอน ภูมิใจนิดหน่อย เพราะเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่งเลย ทำเมื่อทำงานแล้วปรากฎว่า ดีขึ้นครับ

ขอบคุณ อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง มากครับ ;)...

"ภาพความเป็นจริงของอุดมคติ"...อ่านแล้วนึกถึง ท่าน สืบ นาคะเสถียร...ชอบจริง-จริง อุดมการณ์แทนข้าวเนี้ย ..มันไม่อิ่ิมหรอก ... แต่มันมีคุณค่ากะการมีชีิวิตอยู่

ขอบคุณอาจารย์เสือค่ะ วันครูปีนี้จะระลึกถึงท่านอีกคนหนึ่ง

นมัสการพระคุณเจ้า Phra Anuwat ;)...

คุณค่า คือ ความรู้สึกภายใน ที่ยกระัดับจิตใจของตนเองให้สูงขึ้น

ขอบคุณมากครับท่าน ;)...

คุณครู Rinda เชื่อไหมครับว่า ผมลืมวันครูไปเลย แต่พอเริ่มต้นอยากเขียนแล้วก็นึกได้ว่า การเขียนบันทึกของคุณครู "โกมล คีมทอง" ช่างประจวบเหมาะกับ "วันครู" พอดีเป๊ะเลย เหมือนใครมาดลบันดาล ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท