ดำ เด็กข้างบ้าน 6/1 ชาตรี สำราญ


ความคิดสร้างสรรค์ต้องฝึกคิดเนือง ๆ คิดจนเป็นนิสัย เห็นอะไรก็นำมาคิดเชิงบวก คิดพัฒนา คิดรังสรรค์ให้เป็นประโยชน์ ถ้าทำได้อย่างนี้ การเขียนเรื่องก็จะมีคุณค่า น่าอ่าน

จากการสังเกตพฤติกรรมการเขียนคำของดำ ดำจะเขียนตามสำเนียงภาษาที่ดำเปล่งออกมา ดำเป็นเด็กปักษ์ใต้สำเนียงภาษาของดำเวลาเขียนคำว่า นั่ง ดำจะเขียน นั้ง คำว่า นิ่ง จะเขียน นิ้ง เมื่อเห็นอย่างนี้ก็ต้องพยายามให้ดำเขียนคำเหล่านี้ให้ถูก แต่ยังไม่สอนแบบผันสระ วรรณยุกต์ เพราะดำจะเบื่อ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ถ้าจะให้เด็ก ๆ เรียนต้องจัดให้สนุก เด็กถึงจะสนุกกับการเรียนรู้

การให้เขียนความเรียงสั้น ๆ 3 บรรทัด ดูว่าง่าย ถ้าคิดได้เดี๋ยวเดียวก็เขียนเสร็จ คิดเรื่องใหม่อีก เขียนอีกได้หลาย ๆ เรื่อง จึงเพลินในการคิดเขียน เด็กที่อ่อนแอทางด้านภาษาจะไม่อดทนต่อการเรียนภาษาที่ไม่สนุก ไม่เร้าใจ ดังนั้นผู้สอนจะต้องหาวิธีเรียนของผู้เรียนให้เจอแล้วนำวิธีเรียนนั้นมาเป็นวิธีสอนให้ผู้เรียนเรียน การเรียนรู้ร่วมกันจึงจะสนุก

อีกอย่างหนึ่งอย่าคิดว่า การเขียนความเรียง 3 บรรทัดเป็นเรื่องง่าย คนไม่เคยฝึกคิดจะคิดไม่ออก เขียนไม่ได้ ยิ่งมีการใช้คำที่เร้าใจ ชวนอ่านจะคิดไม่ได้

ความคิดสร้างสรรค์ต้องฝึกคิดเนือง ๆ คิดจนเป็นนิสัย เห็นอะไรก็นำมาคิดเชิงบวก คิดพัฒนา คิดรังสรรค์ให้เป็นประโยชน์ ถ้าทำได้อย่างนี้ การเขียนเรื่องก็จะมีคุณค่า น่าอ่าน แต่นั่นแหละ คนที่คิดเชิงจินตนาการและคิดสร้างสรรค์ได้นั้น หาได้ยากมากเพราะขาดการฝึกคิดกัน

การคิดเขียนความเรียงสั้น ๆ 3 บรรทัด ถ้าผู้คิดเขียนเชิงจินตนาการและคิดสร้างสรรค์ ความเรียงเรื่องนั้นจะน่าอ่าน คำที่ใช้มักจะมีพลัง มีความเร้าใจ ความของเรื่อง เรียบ ง่ายแต่ลุ่มลึก

การเขียนความเรียงสั้น ๆ 3 บรรทัดได้นั้น อย่างแรกที่สุด ผู้เขียนจะต้อง มีจินตนาการ มองสิ่งหนึ่งเขียนด้วยมุมที่ต่างไปจากคนอื่นเห็น ผู้เขียนจะต้องเห็นสิ่งที่เขียนต่างออกไป นึกคิดจินตนาการต่างมุมมองและมีความคิดสร้างสรรค์ สองสิ่งที่กล่าวถึงนี้ ผู้เขียนจะนำมาเขียนได้นั้นจะต้องเป็นผู้เข้าถึงภาษา รู้ซึ้งถึงคำที่จะนำมาเขียนว่าจะใช้คำใดที่มีพลังเร้าใจทั้งของผู้เขียนและผู้อ่าน เช่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียน "จินตนาการสามบรรทัด" ว่า

 

ลมพัดโบกโบย

แสงแดดกินเรา

ปีแล้ว ปีเล่า ไม่รู้ตัว

 

สุชาติ สวัสดิ์ศรี จินตนาการสามบรรทัด. กรุงเทพฯ.2531.
สำนักพิมพ์นิรันดร.

 

"แสงแดดกินเรา" คือการมองต่างมุมของผู้เขียน ยิ่งนำภาษาที่มีพลังเร้าใจมาใช้ระบายความคิด สะท้อนให้เห็นความรู้สึกลึก ๆ

ของผู้เขียนว่า เจ็บปวดเพียงใด โดยใช้คำง่าย ๆ "กินเรา" อ่านแล้วมองเห็นภาพ ความเจ็บปวดของเขาที่ถูกกระทำซ้ำ ๆ อย่างไม่รู้ตัว พอรู้สึกตัวก็บอกเล่าให้เราอ่าน หรืออีกบทหนึ่งที่สุชาติ ถ่ายทอดภาพความจริงของบ้านที่เริ่มพัฒนา ความเจริญเพิ่งย่างเข้าถึง แต่มีคนอยู่อย่างน้อยกลุ่มเล็ก ๆ อาจจะหนึ่งหรือสอง สามคน ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่าง ว่างเปล่า จากงานที่เคยทำมา สุชาติ เขียนว่า

 

สองฟาก

สะพานถูกสร้าง

ทิ้งเรือข้ามฟาก , รอคอย

 

ใครที่เคยอยู่ริมฝั่งน้ำ เคยข้ามฟากสัญจรไปมาด้วยเรือพายข้ามฝั่ง จะมองเห็นภาพนี้ได้อย่างดี และอ่านแล้วจะมีอารมณ์ร่วมกับผู้เขียน คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และอีกบทหนึ่งที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียนสะท้อนภาพของคนในสังคมหนึ่ง ด้วยมุมมองที่เจ็บปวด เขาเขียนว่า

 

จากบาดแผล

สู่ป่าใหญ่

จากหนองใน , สู่สำนักนายก

 

บทกวีบทนี้ ถ้าผู้อ่านเข้าใจถึงที่มาของคำบางคำ เช่น จากบาดแผล สู่ป่าใหญ่ และ จากหนองใน สู่สำนักนายก การอ่านบทกวีบทนี้จะเพิ่มรสชาติให้แก่ผู้อ่าน เพราะอ่านได้เข้าถึงรส และแล้วเรื่องราวของพฤษภาทมิฬและพฤติกรรมของกลุ่มผู้แทนในสภาก็จะมีมาในจินตนาการของผู้อ่าน เพราะคำในบทกวีบทนี้แฝงเร้นนัยที่ลึกล้ำเหลือเกิน

 

 อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...


 

หมายเลขบันทึก: 473941เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2012 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท