ฟ้อนกิงกะหร่า


ฟ้อนกิงกะหร่า





ฟ้อนกิงกะหร่า เป็นศิลปะการแสดงของชาวไทใหญ่ คำว่า “กิงกะหร่า” เป็นคำ ๆ เดียวกับคำว่า กินนร หมายถึง อมนุษย์ในนิยายซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ หน้า ๑๒๘ ว่ามี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคนท่อนล่างเป็นนก อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคน เมื่อจะไปไหนมาไหนก็จะใส่ปีกใส่หางบินไป การฟ้อนกิงกะหร่าเป็นการเลียนแบบอมนุษย์ชนิดนี้ สำหรับความเป็นมานั้นมีเรื่องเล่าว่า
ในสมัยพุทธกาล หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากการไปจำพรรษา เพื่อโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะเสด็จลงสู่โลกมนุษย์นั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้พร้อมใจกันนำอาหารไปทำบุญตักบาตร ที่เรียกว่า “ตักบาตรเทโวโรหนะ” พร้อมนั้นบรรดาสัตว์ต่าง ๆ จากป่าหิมพานต์อันมีกินนรและ กินนรีเป็น ต้น พากันมาฟ้อนรำแสดงความยินดีในการเสด็จกลับมาของพระพุทธองค์ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ และเฉพาะชาวไทใหญ่นิยมแต่งกายเป็นกินนรและกินนรี แล้วร่ายรำเลียนแบบอากัปกิริยาของอมนุษย์ประเภทนี้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อการแสดงชนิดนี้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง จึงนิยมแสดงในโอกาสอื่นนอกเหนือจากแสดงในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนสำคัญของการแสดง มีทั้งอุปกรณ์ ท่ารำ และดนตรีประกอบ มีรายละเอียดดังที่จะกล่าวถึงต่อไป อุปกรณ์สำคัญในการฟ้อนชนิดนี้ คือ ตัวกินนร






(กิงกะหร่า) ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ตัวนก” ซึ่งมีส่วนประกอบ ๓ ส่วน คือ ปีก หาง และลำตัว เฉพาะปีกและหางทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย แต่ละส่วนจะทำเป็นโครงก่อนแล้วผ้าแพรสีต่าง ๆ ติดหุ้มโครงและใช้กระดาษสีตัดเป็นลวดลายตกแต่งให้สวยงาม จากนั้นนำมาประกอบกันโดยใช้ยางรัด เชือกหรือหวายรัดให้แน่น พร้อมทำเชือกโยงบังคับปีกและหางสำหรับดึงให้สามารถกระพือปีก และแผ่หางได้เหมือนนก ส่วนลำตัวผู้ฟ้อนจะใส่เสื้อผ้าสีเดียวกับปีกและหาง (อุปกรณ์การฟ้อนนี้ พบว่าบางแห่งมีเฉพาะหางเท่านั้น) นอกเหนือจากนี้ ส่วนของศีรษะอาจมีการโพกผ้าหรือสวมหมวกยอดแหลมหรือสวมหน้ากาก ซึ่งแล้วแต่ความนิยมของท้องถิ่น
ส่วนท่ารำ จะเป็นท่าที่เลียนแบบอากัปกิริยาของนกเช่น ขยับปีก ขยับหาง บิน กระโดดโลดเต้นไปมาตามจังหวะของกลอง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสำคัญในการกำหนดท่าการฟ้อนกิงกะหร่า บางครั้งจะแสดงคู่ชายหญิงโดยสมมุติเป็นตัวผู้และตัวเมีย แต่ส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นตัวเมีย จึงมีชื่อเรียกตามที่เห็นอีกชื่อคือ

“ฟ้อนนางนก” หรือ “ก้านางนก” (ก้า=ฟ้อน)
สำหรับดนตรีที่ใช้ประกอบ จะนิยมวงกลองก้นยาว (ปูเจ่) ตีประกอบจังหวะและใช้ท่วงทำนองหน้ากลองเป็นสิ่งกำหนดท่ารำด้วย

หมายเลขบันทึก: 473884เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2012 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวยจังอ่ะจ้ะ อยากใส่ชุดแบบนี้บ้างอ่ะ

ชุดเหมือนหางนกยุงเลย สวยดี

อยากจะเอามาสอนบ้างนะแต่คงจะยากเกินไปสำหรับเด็นรร. พี่อ่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท