บั้งลำ


พวกเราก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า คนร้องอยู่ใน บั้งลำนั้นจริง ๆ !!

บั้งลำ   บุญช่วย  มีจิต

 

                ชีวิตของเด็กในชนบทในสมัยนั้น  วัน ๆ  แทบไม่ได้ทำอะไร  นอกจากเล่นกับเล่น  ตั้งแต่เล่นเม็ดมะขาม  คือ เอาเม็ดมะขามสุกที่ปลอกเอาเนื้อออกแล้ว  มีแต่เม็ดดำ ๆ  นั่นแหละ  เอามาเล่นการพนันกัน  คือ เอามาโยนลงหลุม  แล้วเม็ดใดกระจายออกจากหลุมไปไกลแค่ไหน  อีกฝ่ายก็จะชี้ว่าจะให้ตีเม็ดใด ( ตีก็คือโยนเม็ดมะขามให้โดนเม็ดที่เพื่อนชี้บอกให้ตีนั่นเอง  พิสูจน์ความแม่นของการโยน )  ถ้าตีถูกก็ได้หมดทั้งกอง ถ้าตีไม่ถูกก็ได้เฉพาะที่ลงหลุม  เสร็จแล้วก็เล่นตาใหม่  โดยลงกันเป็นตา ๆ  เช่นตาละ  5 เม็ด 10 เม็ด  แล้วแต่จะตกลงกัน  นอกจากเอามาเล่น( พนัน ) กันแล้ว  เม็ดมะขามเหล่านี้  ยังนำมาคั่ว  หมกขี้เถ้า เผาไฟให้สุกแล้ว  นำมาเคี้ยวเสียงดังก๊อบแก๊บ  ๆ  กินเล่นเป็นอาหารว่างอันโอชะยอดฮิตอีกด้วย  แต่มันแข็งมาก ๆ  จนบางครั้งถึงกับฟันหักไปก็มี  พกกันกระเป๋าตุงทุกคน

                ของเล่นอีกอย่างหนึ่งที่ชอบกันมาก คือ หนังยาง  ตอนนั้นหนังยางพลาสติก  เป็นของใหม่ เพิ่งมีและค่อนข้างแพง  จำไม่ได้ว่าเส้นละสตางค์  หรือ สลึงละเท่าใด  แต่พวกเราไม่ได้ซื้อหรอก  ไปเที่ยวหา ( เก็บ ) หมากงิ้ว ( นุ่น )  แก่ ๆ   ที่มันร่วงหล่นอยู่ทั่วไป  เอาไปแลกหนังยาง  สองฝักต่อเส้นอะไรประมาณนี้แหละ  แต่มันหายากมาก เพราะของใคร ๆ ก็เก็บ  จึงมีบางคนแอบ( ขโมย )  ด้วยการหาท่อนไม้เล็ก ๆ ที่เหมาะมือ  ปาไปที่พวงลูกงิ้วให้มันร่วงลงมา  แต่วิธีนี้ต้องระวัง  บางบ้านเจ้าของดุ  โดนไล่ตะเพิดมาด่าถึงบ้านเชียวแหละ

                การเล่นหนังยางก็มีหลายวิธี  เช่น  เป่ากบ  โยนหลุม ยิงแม่น เป็นต้น  ใครมีหนังยางเยอะสรวมข้อมือเต็มแขน  ถือว่าเท่มาก  ๆ  เป็นที่อิจฉาของเพื่อน ๆ  และสาว ๆ  ใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับข้อมือแทนสร้อยมืออีกด้วย

                แค่นี้พวกเราก็เล่นกันลืมวัน ลืมคืนแล้ว  บางครั้งเล่นจนมืดจนค่ำ  พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมาตามให้ไปกินข้าว 

                การเล่นเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตของบ้านนอกแท้ ๆ บางครั้ง  ผู้ใหญ่ ( วัยรุ่น ) ก็เล่นกัน   ไม่เฉพาะแต่เด็ก  ๆ  อย่างพวกเราเท่านั้น  การพักผ่อนหย่อนใจอย่างอื่นแทบไม่มีเลย

                   นาน  ๆ  จะมีไทยแขก ( คนต่างถิ่น )  เข้ามาที่หมู่บ้าน  สะพายบั้งลำ[1] หรือ หีบเสียง (รุ่นแรก ๆ )  บางครั้งก็เรียกดอกมะเขือบ้า  หรือ  ลำโพง ก็มี  เอามาให้คนจ้างเปิดฟัง  กลอนละสลึง  มีอยู่ไม่กี่กลอนที่ฮิต ๆ  เป็นลำล่องโขงขึ้นต้นว่า

                แผ่นเสียงกา ( ตรา ) กระต่าย   ลำยาวล่องโขง  ลงท้ายด้วยคำว่า  ไหลไปตกไซง่อน  ไหลเลี้ยวสู่ทะเล ๆ     เป็นเสียงของผู้หญิงจำชื่อไม่ได้

                อีกกลอนหนึ่งเป็นเสียงผู้ชายน่าจะเป็นเรื่องลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่แปด  เพราะมีคำว่า สงสารหน่ออนันต์   หน่ออนันต์  ซ้ำ  ๆ  กันตอนท้าย

                การเปิดบั้งลำนี้จะเปิดให้เฉพาะบ้านที่มีคนจ้างเท่านั้น  ซึ่งหายากมาก  ทั้งหมู่บ้านมีคนจ้างอยู่ไม่กี่บ้าน และจะหวงไม่ให้คนอื่นได้ฟังด้วย  พวกเราเด็ก  ๆ  พอเห็นคนสะพายหีบเสียงเดินมา  ก็จะเดินตามไปเป็นพรวนเพื่อฟังลำ ( ฟรี )

                บั้งลำรุ่นแรก  ๆ  ใช้วิธีหมุนลานครับ ใช้หัวเข็มเหล็ก  เป็นแผ่นขี้ครั่งหน้าละเพลง ( เดียว ) [2]        บางครั้งพอลานอ่อนเสียงก็จะเพี้ยนไปเป็นเสียงใหญ่  ๆ  ช้า  ๆ  ต้องคอยหมุนลานอยู่เรื่อย                 บางครั้งเข็มทู่  เสียงก็จะไม่ชัด  ต้องเปลี่ยนเข็มอยู่บ่อย  ๆ  ได้เข็มละหน้าอะไรนี่แหละ

                จึงมีบ่อยครั้งที่เครื่องชำรุด  เป็นต้นว่าลานมันหย่อน  เข็มเก่าไม่มีเปลี่ยน  แผ่นชำรุด จึงมีเสียงซู่ ๆ มากกว่าเสียงลำ  บางครั้งก็ฟังไม่ได้เลย

                 เวลา ( เจ้าของ) เขาเปิดหีบเพื่อซ่อมลานหรืออะไรเล็ก  ๆ  น้อย  ๆ  เขาจะ ( หลอก ) บอกว่า  นี่คือตับ ไต ไส้ พุง ปอด ม้าม   ของคนร้อง 

                พวกเราก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า  คนร้องอยู่ใน

          บั้งลำนั้นจริง ๆ !!

 

 



[1] บั้งเป็นคำเรียกของลักษณะเป็นปล้อง กลม กลวง บรรจุสิ่งไว้ข้างใน เช่น บั้งไฟ บั้งทิง บั้งลัน เป็นต้น

[2] เป็นแผ่นขนาด  78  รอบต่อนาที :  ผู้เขียน

หมายเลขบันทึก: 473706เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 00:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท