ปลิงเกาะ


เท่านั้นแหละครับ เป็นลมล้มพับไปด้วยความกลัว และขยะแขยง

ปลิงเกาะ         บุญช่วย มีจิต

 

                ในการสัมมนาผู้ที่จะเกษียณอายุราชการของสถาบันพัฒนาข้าราชการของกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 6 ( 2549)  ที่เมืองกาญจน์ วิทยากรท่านหนึ่ง ( จิตแพทย์ ) กล่าวว่า  ให้เราใช้จินตนาการ  เพราะเหตุว่าจินตนาการบางครั้งสนุกและดีกว่าของจริงเป็นไหน  ๆ

                 จริงของท่าน  ผมไม่เคยไปเมืองอเมริกาเลย  แต่จินตนาการเห็นตึกเอ็มไพสเตท  เห็นฮอลลีวูด  เห็นดีสนีย์แลนด์  ได้อย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน !!

                ท่านที่อ่านเรื่อง ( อันไม่เป็นเรื่อง ) ของผมนี้ก็เช่นกัน  ขอให้ท่านใช้จินตนาการเข้าช่วย  จึงจะอ่านได้อรรถรสและสนุก สนาน  แต่เมื่อจินตนาการแล้วจินตนาการอีกหลายต่อหลายรอบ  แต่ก็ยังอ่านไม่สนุก ไม่เป็นสับปะรด  แตงโมใด ๆ   อยู่อีก  ก็ขอแนะนำอีกข้อหนึ่ง คือ

                เลิกอ่านไปเลย !!

                ผู้ที่จะอ่านเรื่องของผมได้สนุกและเห็นภาพ  ก็คือผู้ที่เกิดทางภาคอีสานและมีชีวิตความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับผมเท่านั้น  แต่บางคนแทนที่จะสนุกตามที่ผมตั้งใจ  กลับไม่สนุก ถึงกับร้องไห้ก็มี

                ด้วยเหตุว่า  เรื่องราวบังเอิญไปตรงกับชีวิตบางส่วนของตนเองเข้า  อันนี้ก็ช่วยไม่ได้  เพราะเจตนาของผมจริง ๆ  แล้ว  อยากให้ผู้อ่านได้เห็นชีวิต  ความเป็นอยู่ของเด็กอีสาน  บ้านนอกสมัยเมื่อกึ่งพุทธกาลว่าเป็นอย่างไร 

                ยิ่งผู้เกิดในภาคอื่น ๆ  โดยเฉพาะคนกรุงเทพแล้ว  อาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจเลยก็ได้ เพราะวิถีชีวิตมันต่างกัน  บางท่านอาจจะคิดว่า ( ไอ้หมอนี่ ) โม้มากเกินไป 

                แต่ขอ ( กราบวิงวอน ) ให้เชื่อเถอะว่า  ทุกเรื่อง ทุกอย่าง  เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น  เพียงแต่ใช้สำบัด สำนวน ( ที่คิดว่า ) ให้ชวนอ่านมากที่สุด  เท่าที่ความสามารถของผมจะทำได้เท่านั้นเอง

                ที่ลำธารเล็ก ๆ  ที่ชื่อว่าห้วยมะโน  เป็นแหล่งน้ำเพียงสายเดียวที่ไหลมาจากเทือกเขาภูพานที่มองเห็นลิบ  ๆ อยู่ไกลโพ้น  เป็นเส้นเลือดใหญ่  เป็นแหล่งอาหาร  เป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตหล่อเลี้ยงธัญญพืช  ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ 

                ชาวบ้านเรียกกันว่า หนอง

                ทำไมจึงเรียกหนองก็ไม่ทราบได้  เพราะหนองน่าจะเป็นที่ ๆ น้ำขังเป็นแอ่ง  มากกว่าที่จะเป็นแม่น้ำ  มีน้ำไหลผ่านอย่างนี้ 

                แต่เอาเถอะชาวบ้านเขาเรียกหนอง  ก็หนองตามเขา  เขาเข้าใจของเขาก็แล้วกัน  ภาษานั้นมันเป็นของถิ่นใครถิ่นมันอยู่แล้ว  ผู้ ( เล่า ) เขียนเรื่องนี้ก็ใช้ภาษาถิ่นอยู่บ่อย เพื่อให้ได้ความหมายใกล้เคียงความจริง  ใครอ่านแล้วไม่รู้ความหมาย ก็ไปหาพจนานุกรมภาษาถิ่น ญ้อ  ถิ่นผู้ไทย มาเปิดดูเองก็แล้วกัน  ถ้าคิดว่ามันจะมี ( เพราะผมเพิ่งจะคิดเท่านั้น ยังไม่ได้ลงมือเขียนเลย )

                เอ้า  เข้าเรื่อง  ๆ   ชักจะนอกเรื่องไปมากแล้ว !!

                พอเริ่มเข้าฤดูฝน  น้ำในหนอง หรือ ห้วยมะโนนี้ก็เริ่มมากขึ้น ๆ  เรื่อย ๆ  ตามปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา  อาจจะขึ้นเพียงหัวเข่า  กลางขา(ครึ่งขา)  สะเอว หน้าอก คอ หรือ ท่วมหัวไปเลย หรือ ถึงกับหลากล้นออกสองฝั่งเจิ่งนองไปทั่วก็ได้

                วันนั้น  มีน้ำพอประมาณ  สูงแค่สะเอวผู้ใหญ่  แต่น้ำนั้นใสสะอาด  เย็นฉ่ำ  มองเห็นหาดทรายสีแดงสวยงาม (ทรายบ้านผมไม่ขาว เป็นสีแดง  เพราะไหลลงมาจากภูเขา) ทำให้พวกเรา ชอบอาบ ชอบว่ายกันมาก  บางคนถึงกับหนีโรงเรียนไปโหนเถาวัลย์เล่นน้ำแก่งก็มี 

                ตอนนั้นผมคงจะอายุสักสาม สี่ปีเห็นจะได้  แต่ก็จำได้แม่น  ตอนเช้าวันหนึ่ง อาว(เพ็ง) พาไปอาบน้ำหนอง ท่ามกลางความลิงโลดดีใจของผม 

                เปล่า !  ยังว่ายน้ำไม่เป็นหรอก  แต่อาวเขาเอาไปฝึกหัดว่ายน้ำ

                ด้วยการเอาไปปล่อยที่ตื้น ๆ  ริมฝั่ง  ให้ตะกาย ดำผุด ดำว่ายเอาเอง

                หรือ ไม่ก็ลงไปยืนที่กลางแม่น้ำ(ที่ค่อนข้างไหลเชี่ยว)  เหยียดแขนออกไปแล้ว ให้เราเกาะแขน  สู้กับน้ำไหลและเอาเท้ากระทุ่มน้ำ  เรียกว่าฝึกกำลังขา  เด็ก ๆ อย่างเราชอบมาก  ชอบจนไม่อยากกลับไปบ้าน  แต่พอสายมาน้ำสูงขึ้น ๆ  อาวเลยพากลับบ้าน

                ขณะนั่งล้อมวงรับประทานอาหารด้วยความอะเหร็ด อร่อย อยู่นั่นเอง

                รู้สึกเย็น ๆ ที่ใต้ลูกอัณฑะ  เอามือจับดู หยุ่น ๆ  เหนียว ๆ

                พอให้ญาติ ๆ  ดู  พวกเขาตะโกนออกมาดัง ๆ ว่า

                ปลิงเกาะ(ห......)!!

                เท่านั้นแหละครับ เป็นลมล้มพับไปด้วยความกลัว และขยะแขยง

                กว่าจะดึงออกได้ต้องใช้ปูนกินหมากแต้มให้มันหลุดออก  เพราะมันเกาะเหนียวมาก

เลยกลายเป็นคนเกลียดและกลัวเจ้าสัตว์ไม่มีกระดูก 

ไม่มีเพศ  ชนิดนี้ มาจนทุกวันนี้ !!

หมายเลขบันทึก: 473693เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท