ลุงกับป้ามา ICU


ลุงสั่งไว้ว่าต้องช่วยให้เต็มที่ เพราะเป็นห่วงลูกๆ

ลุงศักดิ์ (นามสมมุติ) ส่งตัวมารักษาต่อด้วยภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร มีภาวะซ๊อคอย่างรุนแรง เลือดแข็งตัวผิดปกติ ตับวาย ไตวาย เข้ารับการรักษาใน ICU แรกรับรู้สึกตัว ใส่ท่อช่วยหายใจ หายใจสัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจ คาสายสวนหลอดเลือดดำใหญ่ที่คอ ได้รับยากระตุ้นความดันโลหิต มีคาออกจากสายระบาย NG tube ไม่มีปัสสาวะออกจากสายสวนปัสสาวะเลย

          ระหว่างได้รับการรักษาลุงศักดิ์ได้รับการผ่าตัดเพื่อห้ามเลือดในระบบทางเดินอาหาร 8 ครั้ง มีแผลเปิดที่หน้าท้อง มีสายระบายจากแผลหน้าท้อง ได้รับการฟอกเลือดด้วยไตเทียมเป็นระยะ มีอาการหอบเหนื่อยหายใจต้องใช้ยาขยายหลอดลม ติดเชื้อรา แบคทีเรีย หลายชนิดได้รับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อหลายชนิด ได้รับการประคับประคองการแข็งตัวของเลือดด้วยส่วนประกอบของเลือดและยาจำนวนมาก

          ความรู้ตัวของลุงศักดิ์ค่อยลดลงทุกวัน จนกระทั่งไม่รู้สึกตัวหลังเข้ารักษาได้ประมาณ 5 วัน ตลอดเวลาที่รับการรักษามีภรรยาเฝ้า มีลูกและหลานมาเยี่ยมบ้าง เดิมลุงศักดิ์และภรรยาเป็นผู้หารายได้หลัก ประกอบอาชีพทำสวนยางและทำนาที่ต่างจังหวัด ไม่มีเงินออม ระหว่างนี้ได้รับเงินมาจากญาติๆ พอประคับประคองได้ ระยะแรกภรรยาไม่กล้าพูดคุยกับทีมพยาบาล ยืนมองห่างๆ ตาคลอเบ้าตลอดเวลา เมื่อเข้าไปพูดคุย จะก้มหน้าไม่กล้าสบตาด้วย ให้ข้อมูลแต่เพียงว่า “ฝากด้วยนะหมอ (พยาบาล) ทำอะไรก็ได้ให้ลุงหายนะ” ทุกครั้งที่แพทย์ให้ข้อมูลแก่ภรรยาเพื่อขอความเห็นในการทำผ่าตัด หรือฟอกไต ภรรยาได้รับทราบว่า ลุงอาการไม่ดี พยากรณ์โรคไม่ดี มีโอกาสเสียชีวิตได้ตลอดเวลา แต่ภรรยาจะลงชื่ออนุญาตให้ทำทุกครั้ง เนื่องจากภรรยาบอกว่า “ลุงสั่งไว้ว่าต้องช่วยให้หายนะ ช่วยชีวิตให้เต็มที่” “ครั้งก่อนรอดมาได้ ครั้งนี้ก็ต้องรอด” ระยะนี้เกิดความรู้สึกขัดแย้งด้านเป้าหมายการรักษาระหว่างทีมรักษาพยาบาลกับเป้าหมายของญาติ จากการให้พยาบาลตามบทบาทของ APN ร่วมกับทีมสหสาขา และทีมพยาบาล เน้นการประสาน และลดความขัดแย้ง ให้เวลาและเข้าใจภรรยาของลุงศักดิ์ ผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ภรรยาลุงศักดิ์เริ่มพูดคุยทักทายและเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จึงทราบว่าลุงศักดิ์ห่วงลูกคนสุดท้อง พิการทางสมอง กังวลว่าไม่มีผู้เลี้ยงดู อีกทั้งลูกคนโตยังไม่แต่งงาน พยาบาล APN ใช้ความพยายามให้ภรรยาได้พูดข้างหูลุงศักดิ์เพื่อสร้างมั่นใจให้ลุงศักดิ์ทราบว่า ลูกๆ โตแล้ว ตนเอง (ภรรยา) สามารถเลี้ยงดูได้ นอกจากนี้เมื่อมีญาติมาเยี่ยม แนะนำให้พูดคุยกับลุงศักดิ์ไปในทางเดียวกัน จากการสังเกตเมื่อภรรยาหรือญาติเข้ามาเยี่ยมพูดคุยหรืออยู่ข้างเตียง ลุงศักดิ์สงบ ไม่ดิ้น ไม่มีอาการกระวนกระวาย อีกทั้งทราบว่าลุงเป็นแกนนำในการจัดงานบุญที่วัดข้างบ้านเสมอ นอกจากนี้ทราบว่า ทั้งลุงศักดิ์และภรรยาเชื่อในวิถีพุทธ เชื่อเรื่องบุญ-ผลของกรรม ต่อมาสมาชิกในครอบครัวเกือบทุกคนได้ขออโหสิกรรมกับลุงศักดิ์ จนวาระสุดท้ายภรรยาเข้าใจพยากรณ์ของโรค และต้องการให้ลุงศักดิ์ได้กลับไปเสียชีวิตที่บ้านเกิด ทีมพยาบาลประสานงาน อำนวยความสะดวกทุกด้าน โดยเฉพาะการขอรถพยาบาลจากมูลนิธิแห่งหนึ่ง เพื่อให้สมความตั้งใจของภรรยาที่ต้องการแสดงออกถึงความรัก ความห่วงต่อสามีในระยะท้าย ลุงได้กลับบ้านและเสียชีวิตในที่สุด

          ในระยะที่ลุงศักดิ์รับการรักษา ภรรยาได้สะท้อนความรู้สึกที่มีต่อพยาบาล APN ผ่านทางนักศึกษาปริญญาโท ว่า “พยาบาลคนนี้ (พยาบาล APN) บอกเค้าได้ทุกเรื่อง ไม่เคยรู้สึกว่าเค้าเป็นคนแปลกหน้า” “เค้าไม่ทำกับป้าคนเดียวนะ เห็นคนอื่นๆ เค้าก็แหลง (พูด) กัน” “แต่ก็มีเจ้าหน้าที่บางคนที่เค้าเฉยๆ กับป้า ป้าก็รู้ว่าลุงอาการไม่ดี แต่เราจะปล่อยให้แก (ลุงศักดิ์) ตายไปโดยเราไม่ทำไอ้ไหร (อะไร) ไม่ได้” จากคำกล่าวที่มีมาทั้งหมดนี้ นักศึกษาปริญญาโทได้บันทึกไว้ในรายงานการสะท้อนคิดส่งผ่านอาจารย์พยาบาลมาในภายหลัง

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิญญาณ ICU
หมายเลขบันทึก: 473274เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2012 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 00:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ

บันทึกนี้ช่วยให้ kunrapee

มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานบริการต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท