ชีวิตที่พอเพียง : 101. เรียนรู้จากลูก


        ผมมีลูก ๔ คน      ๔ คนก็ ๔ สไตล์    แต่ละคนมีวิญญาณอิสระของตนเอง

        ลูกคนที่ ๒ พี่สาวภรรยาเอามาเลี้ยงเหมือนลูก     เพราะพี่ไม่มีลูก     พี่รักเขามาก ส่งให้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่ดีที่สุด     ซึ่งก็ขึ้นกับความสามารถของตัวลูกด้วย      คือสอบเข้าเรียนได้ที่ สาธิตจุฬาฯ ชั้นประถม    ชั้น ม. ต้นที่สาธิตปทุมวัน    ม. ปลายที่ รร. เตรียมอุดมศึกษา     ได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยโอซาก้า     แล้วไปต่อปริญญาโท Computer Science ที่ฮาร์วาร์ด โดยป้าส่งเสียทั้งหมด      ที่จริงถ้าจะเรียนปริญญาเอกคงได้ไม่ยาก แต่เขาบอกว่าขอเรียนแค่นี้

       ลูกเขาบอกว่ายกลูกไปให้คนอื่นเลี้ยงไม่ดี     เขาเสียใจมาก    แต่ก็คงยกโทษให้แล้วเพราะตอนนี้ก็โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว      แต่ก็เป็นบทเรียนสำหรับผมอย่างมาก

        หลังจากจบปริญญาโท เขาไปทำงานเป็นวิศวกรวิจัยเขียน software ด้าน AI (Artificial Intelligence) ที่บริษัท Matsushita (Panasonic) ที่โอซาก้าอยู่ ๓ ปี     ระหว่างนั้นบอกว่ายังหาตัวเองไม่พบ     งานที่ทำอยู่นี้ยังไม่ใช่ตัวเอง     งานที่ทำนี้ให้เงินเดือนและสวัสดิการงามมาก     ขนเงินกลับบ้านปีละประมาณล้านบาท

         ระหว่างนั้นเขาเข้าไปร่วมงานกับพวก NGO ญี่ปุ่น และกลับมาเมืองไทยทุกปี     มาเป็นล่ามในค่ายอาสาสมัครที่มาช่วยสร้างอาคารให้แก่โรงเรียนในจังหวัดภาคอีสาน

         ทำงานได้ ๓ ปีเขาก็กลับบ้าน  เกษียณอายุงาน     กลับมาทำงานอาสาสมัครเต็มตัวโดยไม่รับเงินเดือน     เมื่ออายุ ๒๘ ปี     ทำได้ปีหนึ่งก็ตั้งมูลนิธิพูนพลัง สำหรับทำงานช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่กำพร้าหรือยากจน     และทำงานอาสาสมัครมาได้ ๔ ปีแล้ว     อ่าน บล็อกของเธอได้ที่ http://gotoknow.org/poonpalang   และเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของมูลนิธิพูนพลังได้ที่ www.geocities.com/poonpalang

         ท่านที่มีลูกแบบนี้จะทำอย่างไร   รู้สึกอย่างไร  

          ที่เล่านี้อย่างย่อนะครับ     ไม่ได้เล่าความรู้สึก และการปรับทุกข์กันระหว่างภรรยากับผม เมื่อเขาบอกว่าจะกลับเมืองไทย     และบอกว่าจะไม่ทำงานหาเงิน     จะทำงานเต็มเวลาให้แก่มูลนิธิ C. A. N. H. E. L. P. Thailand โดยไม่รับเงินเดือน     ตอนนั้นความคิดอย่างหนึ่งของผมก็คือ     ก็ให้เขาลองชีวิตเอง     เราเป็นพ่อแม่ก็มีหน้าที่ให้การสนับสนุนทางใจ     และให้คำแนะนำเท่าที่เรามีความสามารถที่จะทำได้

         เราก็งงๆ นะครับ ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไร     แต่นี่ก็อยู่มาได้ดีตั้ง ๔ ปีแล้ว     แถมแวดวงของเขาก็ขยายตัวงอกงาม     เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ     คือแม้จะไม่สะสมทุนที่เป็นเงิน แต่ก็สะสมทุนทางสังคมไว้มากมาย     คือรวยเหมือนกัน แต่รวยคนละแบบ

        ตอนแรกผมก็สงสัยนะครับ ว่าเมื่อพ่อแม่ตายไปแล้วเขาจะอยู่อย่างไร     แต่ดูๆ ไปก็คงจะอยู่ได้   และน่าจะอยู่ได้ดีด้วย     เพราะเขาอยู่แบบง่ายๆ ไม่แพง     เวลาไปเยี่ยมเด็กนักเรียนที่ได้รับทุนก็นั่งรถทัวร์ไป    ไปเชียงใหม่ก็นั่งเครื่องบินราคาถูกไป     เขาชอบชีวิตง่ายๆ และชอบสมาคมกับคนเล็กคนน้อย     เป็นชีวิตที่พอเพียงไปอีกรูปแบบ     ที่อยู่อย่างง่าย  เป็นอยู่อย่างง่าย ยิ่งกว่าผม

       ลูกคนนี้สอนผมว่าความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน    และสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จในชีวิต ก็ไม่เหมือนกัน     เขามีความสุขเมื่อได้ช่วยเหลือคนอื่น ทำเพื่อผู้อื่น   น่าจะเป็นผู้มีบุญมาเกิด

        กิจกรรมอาสาสมัครของเขาก็ช่วยให้ผมได้รับรู้และเรียนรู้ความเคลื่อนไหว     ความคิด    และวิถีชีวิตของคนแบบนี้ไปด้วย      ทำให้ผมซึ่งเป็นคนแคบ บ้างาน บ้าความสำเร็จ ได้มีมุมมองต่อโลก ต่อชีวิต ที่กว้างขึ้น

        เขาเป็น "คนขวางโลก" หรือ "มีรางชีวิตของตนเอง" ยิ่งกว่าผม     ตอนผมทำงานเริ่มตั้งตัวในการงาน ภรรยาก็บอกว่าผมเป็นคนคิดไม่เหมือนคนอื่น     เป็นคนที่จะอยู่ในสังคมยาก     ซึ่งก็เป็นจริงในช่วงอายุ ๓๐ - ๕๐ ปี      แล้วค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ     ยิ่งแก่ยิ่งดี     เพราะได้พิสูจน์แล้วว่าเราทำแหวกแนวเพื่อสังคม เพื่อบ้านเมือง     ไม่ใช่เพื่อตนเอง      ลูกเขามีโอกาสฉีกแนวไปอีกแบบ   และด้วยประสบการณ์ชีวิตของผมเอง     จึงคิดว่าน่าจะดีสำหรับสังคม ที่มีคนแปลกๆ แบบนี้บ้าง

        ลูกเกิดมาเป็นครู

วิจารณ์ พานิช
๒๒ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 47327เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2006 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  •  ขอบคุณอาจารย์หมอมากค่ะ
  • อ่านบันทึกนี้แล้ว ให้แง่คิดมากมาย และมีความสุขที่ได้อ่านค่ะ
  • ความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน    และสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จในชีวิต ก็ไม่เหมือนกัน     เขามีความสุขเมื่อได้ช่วยเหลือคนอื่น ทำเพื่อผู้อื่น   น่าจะเป็นผู้มีบุญมาเกิด หนูชอบประโยคนี้มากเลยค่ะ

อาจารย์คงมีความสุขที่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกใน

บทความนี้   เพราะคนอ่านสัมผัสได้ถึงความรัก

ความผูกพันที่อาจารย์มีต่อลูก   อ่านแล้วมีความสุข

และบทความนี้ก็เป็นครูที่ดีเช่นกันค่ะ

กราบขอบพระคุณค่ะ

ผมขอกราบขอบพระคุณอีกครั้งครับ

เรื่องเล่าของอาจารย์ ทำให้นึกถึง The Prophet ของคาริล ยิบราน ที่ว่า

Your children are not your children.

They are the sons and daughters of Life's longing for itself.

They come through you but not from you,

And though they are with you, yet they belong not to you.

You may give them your love but not your thoughts.

For they have their own thoughts.

You may house their bodies but not their souls,

For their souls dwell in the house of tomorrow, which you cannot visit, not even in your dreams.

You may strive to be like them, but seek not to make them like you.

For life goes not backward nor tarries with yesterday.

You are the bows from which your children as living arrows are sent forth.

คุณมุทิตา เป็น"คนดี"ที่ทุ่มเทและมีความสุขกับการ"พัฒนา"ในแนวของเธอ แรงสนับสนุนทางกำลังใจ น่าจะเป็นสิ่งที่เธอต้องการจากคุณพ่อคุณแม่มากกว่าอย่างอื่นค่ะ

ตัวเองอยากทำได้แบบนั้นบ้าง แต่ไม่เคยมีอิสระในชีวิตเพียงพอที่จะทำ และไม่เข้มแข็งพอจะสลัด"กรอบของสังคม" ที่ติดตัวมาได้ จึงชื่นชมและคิดว่าเข้าใจว่าทำไมเธอจึงต้องการเช่นนั้นค่ะ

 

สวัสดีค่ะ วันนี้ได้ฟังบรรยายจากวิทยากรท่านอารี สุทธิพันธ์ มีช่วงหนึ่งท่านได้กล่าวถึงการเลี้ยงลูกซึ่งได้แนวคิดมาจาก คาริล ยิบราล ทำให้ตนเองอยากค้นอะไรเพิ่งเติม จนกลับมาจากบันทึกหน้านี้ที่มีประโยชน์...และเป็นแง่คิดที่ดีอีกแนวทางหนึ่งที่จะนำมาทบทวนในวันแม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท