ความก้าวหน้าของจิตตปัญญาศึกษาที่ มมส.


สิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เฉพาะความเชื่อมั่นในตนเอง แต่รวมถึงการความเชื่อมั่นในทีมด้วย

วันนี้ 24 ธันวาคม 2554 โหนดสกว. ฝ่ายท้องถิ่น จัดประชุมรายงานความก้าวหน้าเพื่อขอคำชี้แนะจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกรรมการกำกับทิศทาง อย่างเดียวกับที่เจอในโครงการ LLEN มหาสารคาม ที่ผมได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างยิ่ง ผมชอบวิธีการของ สกว. นี้มาก เพราะเป็นการ Reflect จากผู้รู้ซึ่งตั้งชื่อได้ตรงมากๆ ว่า ผู้กำกับทิศทาง โดยการ Reflect เป็นแบบบวก และนักวิจัยจะได้เพิ่มพลังมากกว่าการถูกจับผิด 

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้อันสำคัญยิ่งจากการมาร่วมงานวิจัยกับ สกว. ฝ่ายท้องถิ่น คือ การทำงานแบบ "มีส่วนร่วม" ไม่ใช่ผมไม่เคยทำงานแบบให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม แต่คำว่า "มีส่วนร่วม" ที่ สกว.ท้องถิ่นทำนี้ เป็นการมีส่วนร่วมทุกขั้นทุกตอนจริงๆ แม้กระทั่งขั้นตอนการออกแบบเครื่องมือวัด ผลลัพธ์อันมีเสน่ห์อย่างยิ่ง คือ ชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงเพราะการได้มีส่วนร่วมนั้น........... เมื่อเทียบกับ LLEN มหาสารคามแล้ว ผมนึกถึง ผอ. โรงเรียน ที่ไม่เคย "เชื่อมือ" เชื่อมั่นในศักยภาพของครูเลย มีแต่จะ "จัดอบรม" ให้ครูก่อน ไม่งั้นทำไม่ได้แน่.....  ผมพยายามอย่างยิ่งที่นำ Learning by doing โดยให้ครูได้เรียนรู้และทำเครื่องมือวัดด้วยตนเองก่อนที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญมา Reflect แบบที่ สกว. ท้องถิ่นทำนี้......สิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เฉพาะความเชื่อมั่นในตนเอง แต่รวมถึงการความเชื่อมั่นในทีมด้วย

ผมตั้งข้อสังเกตต่อโครงการหนึ่งที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุในตำบลดอนหว่าน สำหรับผม หากนักวิจัยคิดและทำเพื่อสังคมและชุมชนแบบนี้มากๆ ในหลวงคงไม่ต้องเหนื่อยยากขนาดนี้ และเราคงไม่ต้องมาทะเลาะกันเองแบ่งเป็นสีๆ เช่นปัจจุบัน

ข้อสังเกตของผมคือ นักวิจัยเข้าไปเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ชาวบ้าน โดยทำตนเองเหมือน "เครื่องมือวัด" ในทางฟิสิกส์ที่ผมเรียนนั้น  ถูกต้องที่เมื่อใดที่เราอยากรู้เราต้องใช้เครื่องมือวัดเข้าไปทำการวัด แต่กระบวนการวัดนั้นจะเข้าไปแทรกแซงและรบกวนระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน ผมมีความเห็นว่า เราสามารถเก็บข้อมูลได้โดยรบกวน "ระบบ" น้อยมากๆ ได้ โดยการทำตนเอง ให้กลมกลืน และเป็นหนึ่งเดียวกับชาวบ้าน กลืนเข้าไปในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การไปร่วมเกี่ยวข้าวด้วย ไปร่วมดำนาด้วย ไปกินข้าวเย็นด้วย ไปขนของหนีน้ำด้วย ไปร่วมงานบุญด้วย เป็นต้น วัดแบบที่ชาวบ้านไม่รู้ว่ามาวัด เก็บข้อมูลโดยชาวบ้านไม่รู้ว่ามาเก็บ ........อันผมอาจใช้ จิตนาการมากไปแล้วครับ..

ส่วนงานของกลุ่มจิตตปัญญาศึกษา มมส. อ.สุมลวรรณ (พี่มล) เลขานุการโครงการรับหน้าที่นำเสนอความก้าวหน้า โดยมี ดร.มลฤดี (พี่แจ็ค) มีผม และนิสิตกลุ่มเป้าหมาย 3 คน คือ ยุ้ย หมูหยอง และ แต้ว เพิ่มเติมในภายหลัง โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการคือ 1) ศึกษาสภาพการเรียนการสอนในปัจจุบัน ว่าจิตตปัญญาควรถูกนำมาใช้หรือไม่อย่างไร 2) ศึกษาว่าอาจารย์ นิสิต และชุมชน เป้าหมายรู้และลึกเพียงใดกับ จิตตปัญญาศึกษา และ 3) ต้องการหาแนวทางและกิจกรรมที่เหมาะสมในการนำจิตตปัญญาไปใช้ในการเรียนการสอนจริงๆ

ก่อนที่จะถึง "คิว" การนำเสนอของเรา ผมเดินตามพี่มลออกมาข้างนอก และรอดักเพื่อคุยปรับความเข้าใจกันก่อนว่าเราจะนำเสนออย่างไร ผมบอกพี่มลว่า ในเรื่องจิตตปัญญาศึกษานั้น ถ้าให้ผมประเมินนั้น สำหรับอาจารย์ก็พอได้ แต่สำหรับนิสิตยังไม่มีใครเข้าถึงนัก พี่มลเตือนสติผมว่า จิตตปัญญาศึกษา เป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่จิตแห่งพุทธะ ผลที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ทำกระบวนการก็เป็นผลลัพธ์ของจิตตปัญญาศึกษาเช่นกัน.....แน่นอนว่า...ความดื้อรั้นของผม...ถึงแม้จะรับฟังอย่างครบถ้วน แต่ก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่า...ผลที่เกิดกับนิสิตนั้น เพียงพอแล้วที่จะเรียกว่า "ก้าวหน้า" จากโครงการนี้ จนกระทั่ง ตอนที่เปิดโอกาสให้หมูยองและพูด หลังจากสนทนากับหมูหยอง ผมภูมิใจและดีใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะโครงการเรามีพัฒนาการอย่างที่พี่มลบอกเท่านั้น แต่หมูหยอง "เข้าถึง" บ้างแล้วในสายตาผม

ในระหว่างการนำเสนอ ผมเปิดไมค์พูด 3 ครั้ง โดยยึดหลักการพูดเน้นความจริง แต่คราวนี้ผมรู้สึกว่า ผมพูดความจริงในลักษณะที่น่าเชื่อถือ ผมหมายถึง (สละสลวย) มากกว่าครั้งก่อนๆ ผมว่าตัวผมเองพัฒนาขึ้นมากในรอบปีที่ผ่านมาในเรื่องนี้ ในมุมหนึ่งเหมือนก้าวร้าว อวดดี ทำตัวเป็นผู้รู้ แต่อีกมุมหนึ่ง สิ่งนี้ช่วยเสริมความมั่นใจและความสุขในชีวิตของผมมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นที่เป็นประเด็นในการนำเสนอครั้งนี้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการจิตตปัญญาศึกษาของเรา มีดังนี้

1) สกว.ท้องถิ่น เข้าใจว่า ชุมชน คือชุมชนชาวบ้าน ในที่นี้คือ ชาวบ้านดอนนา ที่อยู่ติดกับมหาวิทยาลัย ที่นิสิตไปลงพื้นที่ แต่ตัวผมเอง เข้าใจว่า ชุมชนคือ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย ในที่นี้หมายถึง อาจารย์ นิสิต ชาวบ้าน ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน โดยเน้นไปที่การศึกษาตนเองของแต่ละบุคคล

2) ผู้ทรงคุณฯ จาก สกว. มองไม่เห็นหลักฐานว่า โครงการนี้ความก้าวหน้าจริง ได้ผลจริง จึงตั้งโจทย์กลับมายังนักวิจัยว่า "ให้หาวิธีที่จะเปลี่ยนนามธรรมเป็นรูปธรรม"

3) ผู้ทรงคุณฯ และ สกว.ท้องถิ่น มีความเห็นว่า โครงการนี้้ดี และจะเป็นปัจจัยสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ผมคิดว่าประเด็นนี้ ท่านไม่ได้เชื่อเพราะอ่านจากรายงานความก้าวหน้าหรือแนวทางของโครงการ แต่ผมคิดว่า ผู้ทรงคุณทุกท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรม (ไม่มากก็ไม่น้อย) จึงรู้และมั่นใจด้วยตนเองอยู่แล้ว เพียงแต่การเปลี่ยนให้เป็น "รูปธรรม" นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

4) หมูหยองเป็นตัวอย่างหนึ่งของนิสิตที่ผมคิดว่าเริ่ม "เข้าถึง" และ มีอาจารย์หลายท่านที่ผมคิดว่า "เข้าถึง" บ้างแล้วเช่นกัน ที่กล่าวอย่างนี้ เพราะยึดมั่นในตนเองว่า หลักที่ยึดอยู่เรียกเช่นกันว่า "เข้าถึง" บ้างแล้ว

5) ตั้งแต่ทำโครงการนี้มา และพูดเรื่องนี้มา 1 ปี ผมพบว่า ไม่มีใครค้าน (คือไม่มีใครคัดค้านตอนที่ผมนำเสนอ) แต่ยังไม่มีใครแนะนำว่าต้องทำอย่างไร เราจึงต้องหาทางเดินต่อไป ....

 

ถึงจุดหนึ่งแล้ว การทำงานเพื่อให้มีคุณค่า ก็ไม่น่าจะจำเป็นอีกต่อไป

ฤทธิไกร

 

หมายเลขบันทึก: 472330เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2011 06:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
 
  
    • ด้วยอำนาจพระพุทธบริสุทธิ์ล้ำ
      ด้วยอำนาจพระธรรมล้ำเลอค่า
      ด้วยอำนาจพระสงฆ์ทรงศรัทธา
      พร้อมกันมาอำนวยชัยปีใหม่เทอญ

 

บันทึกเรื่องราวในปี 2554 ที่ผ่านมา มีสิ่งใดที่ประทับใจอะไร ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ดิฉันชื่อ นางสาว เกตุวดี ฉายาประเสริฐ ในปี 2554 ที่ผ่านมาดิฉันได้อาศัยอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งห่างไกลจากบ้านดิฉันมากและดิฉันก็ได้มาใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนๆ ใน 1 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ดิฉันประทับใจอยู่หลายเหตุการณ์มากมาย แต่ที่ดิฉันประทับใจที่สุดก็คือ มิตรภาพที่แท้จริงของเพื่อนที่คอยดูแลดิฉันมาโดยตลอดในยามที่ดิฉันป่วยไข้เพื่อนก็คอยดูแล อย่างเช่นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ดิฉันเกิดอุบัติเหตุขาแพง เหตุการณ์วันนั้นอยู่ที่ตลาดน้อย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งตอนนั้นดิฉันอยู่กัดเพื่อนผู้หญิง 3 คนแต่เพื่อนของดิฉันอุ้มดิฉันไม่ไหวเพราะดิฉันขยับขาไม่ได้เลย เพื่อนดิฉันก็กลัวว่าขาของดิฉันจะหักก็เลยไม่ให้ดิฉันขยับไปไหน และจังหวะนั้นเองก็มีเพื่อนผู้ชายที่เป็นคนกัมพูชาผ่านมาพอดี เขาก็เลยมาถามว่ามีอะไรให้เขาช่วยไหม เพื่อนดิฉันก็เลยบอกให้อุ้มดิฉันไปร้านยาที่มหาวิทยาลัยหน่อย พอถึงร้านยาหมอก็โทรเรียกรถโรงพยาบาลมาพาตัวดิฉันไปเอ็กซเรย์ที่ขา หลังจากที่ดิฉันกลับมาจากโรงพยาบาล เพื่อนๆๆของดิฉันก็คอยดูแลดิฉันเพราะดิฉันเดินไม่ได้ก็คอยเอาข้าวเอาน้าและหายามาให้ทานและคอยเช็ดตัวให้ดิฉัน หลังจากวันนั้นมาดิฉันรู้สึกซาบซึ้งในน้าใจของเพื่อนๆทุกๆคนไม่ว่าจะเป็นเพื่อนของดิฉันแองหรือเพื่อนมาจากประเทศ กัมพูชาที่พึ่งจะได้รู้จักกัน ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ต่างชาติกันมิตรภาพก็ไม่เคยที่จะแบ่งชนชาติกันไม่ว่าจะเป็นชาติไหน เราก็มีน้าใจและมีมิตรไมตรี่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเราก็จะคอยดูแลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเราก็คอยเป็นกำลังใจให้กันและกันในยามที่ฝ่ายหนึ่งถ้อแท้เราก็จะช่วยกันเติมกำลังใจให้กันและกัน ดิฉันมีบทกลอนหนึ่งอยากจะมอบให้กับเพื่อนของดิฉันเองก็คือ

เพื่อนช่วยเพื่อน ตลอดไป ได้เสมอ เพื่อนจะเผลอ เพื่อนจะพลาด ซักแค่ไหน

ความเป็นมิตร ยังติดอยู่ คู่แรงใจ ให้ก้าวไป ในสิ่ง ที่ต้องการ

เพื่อจะทุกข์ เสียน้ำตา และร้องไห้ ความห่วงใย ทีมีนั้น ยังคอยสาน

ประกอบใจ ของเพื่อนนี้ ที่แหลกราญ พาพ้นผ่าน ความทุกข์ช้ำ ที่ค้ำใจ

แม้เวลา เนิ่นนาน ผ่านจากนี้ แต่สิ่งดี จะยังอยู่ ไม่หวั่นไหว

ถึงเวลา จะผ่าน นานเท่าไร แต่จิตใจ มีเพื่อน ตลอดมา

และสุดท้ายนี้อยากจะบอกกับเพื่อนๆว่า มิตรภาพของพวกเราจะไม่จืดจางหายไปไหนติดอยู่ในใจอย่างนี้ตลอดกาล และเราจะเป็นเพื่อนกันตลอดไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท