ตำนานฅนสู้อีสาน


จากตำนานกล่าวขานที่โหดร้ายของทุ่งกุลา ...สู่นาครแห่งความศิวิไลซ์ในเมืองกรุง
ชื่อ
พิธีเซ่นสรวงเทพยดาด้วยปะต็วล (พระภูมิเขมร)
ภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด
สุรินทร์
ช่วงเวลา สามารถจัดได้ตลอดปีเพราะเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่แทรกอยู่ในงานบุญงานประเพณีหรืองานพิธีกรรมใหญ่ ๆ

ความสำคัญ
ปะต็วล โดยศัพท์ภาษาเขมร แปลว่า ค้ำ ยัน หรือไม้ค้ำยัน การค้ำยัน เมื่อได้เซ่นสังเวยแล้วถือว่าเทวดาจะคุ้มครอง พิธีกรรมการเซ่นเทพยดาใด ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรยืดถือคติในการผูกปะต็วลไว้กับเสากลางปะรำพิธีนั้น ซึ่งจะใช้ประกอบพิธีกรรมอันถือว่าเป็นงานมงคลเท่านั้น เช่น งานแต่งงาน งานอุปสมบท โกนจุก เรือมมะม็วด (รำผีฟ้า) ผ้าป่าผ้ากฐิน ส่วนในงานศพจะมีเฉพาะเมื่อถึงเวลาทำบุญฉลองกระดูก เป็นการแสดงถึงความปลื้มปิติแห่งการได้บำเพ็ญกุศลให้เทวดาช่วยแซ่ซ้องสรรเสริญ อำนวยพรเจ้าภาพให้เจริญรุ่งเรือง ประสบความสุขสำเร็จในการประกอบพิธีกรรม

พิธีกรรมและกิจกรรม
ปะต็วลเป็นภาชนะที่ทำจากหวายหรือไม้ไผ่ จักสานให้เป็นรูปทรงกรวยขอบบนเป็นหยักโค้ง ๖ หยัก มีด้ามยาวประมาณ ๑ ศอก เป็นอุปกรณ์สำหรับเซ่นสรวงเทพยดา
ส่วนประกอบของปะต็วล (พระภูมิ) ได้แก่
๑. ปะต็วลใช้ผูกติดเสากลางปะรำพิธี ภายในปะต็วลมีไก่ดิบ ๑ ตัว (ไก่ที่ฆ่าโดยการไม่เชือดคอ ไม่ผ่าอกจะลวกน้ำร้อนเพื่อง่ายต่อการถอนขน และล้วงก้นเอาเครื่องในออกจนหมด) เสียบเงิน ๑ บาท ไว้ที่ปากไก่ เรียกว่า เมือนเอิ้ด (ภาษาเขมร เมือนแปลว่า ไก่ เอิ้ด แปลว่า ชะเง้อมอง) ตัวไก่จะวางคว่ำในท่าที่ไก่กำลังฟักไข่รอบ ๆ ตัวไก่จะเสียบกรวยดอกไม้ (ใบตองเย็บเป็นกรวยปลายแหลมมีดอกไม้หรือยอดใบอ่อนเสียบไว้) ๕ อัน ปักธูป ๓ ดอก ใส่ดอกไม้ใบเล็บครุฑหรือใบเงินใบทอง ใส่ขนมฝักบัว ข้าวต้มโยน(ที่ห่อด้วยใบมะพร้าว) กล้วยสุก ขวดน้ำ ๒ ขวด (ขวดใบหนึ่งใส่น้ำเปล่าหรือเหล้า ๔๐ ดีกรีให้เต็ม อีกใบหนึ่งใส่น้ำมะพร้าวให้เต็ม)
๒. กระบุงหรือกระเชอวางไว้บนพื้นพิงส่วนล่างของเสาต้นเดียวกับที่แขวนปะต็วล ภายในกระบุงบรรจุข้าวเปลือกที่ไว้สำหรับทำพันธุ์ (เซริวปู๊จ) จนเต็ม มีขวาน ๑ ด้าม หรือเรียกว่า "เด็อง" เสียบด้านคมให้จมลงในข้าวเปลือก ถ้าต้องการเสี่ยงทายก็วางไข่ไก่ดิบบนร่องหัวขวาน แต่ถ้าใช้ประกอบพิธีรำมะม็วดก็ปั้นข้าวสุก ๑ ก้อน(วางไข่ไก่ใส่ลงในส่วนร่องหัวขวาน) แล้วปักสิ่วเจาะไม้ ๑ อัน หรือเสียบดาบพิงเสาไว้บริเวณใกล้เคียงกับใบขวาน ใช้ผ้าไหมสีขาวคลุมกระบุงไว้

สาระ
ปะต็วล เป็นอุปกรณ์สำหรับเซ่นเทวดาอย่างเดียว ต้องแขวนไว้สูงกว่าหัวคน ข้างในใส่ขนม ข้าวต้ม ไข่ไก่ กล้วยสุก กรวยห้า มีธูปเทียน (หมากบุหรี่ไม่ใส่ เพราะไว้สำหรับแซนโดนตาหรือผีปู่ตาเท่านั้น) ใส่น้ำมะพร้าววางไว้ข้างล่างรินใส่ปะต็วลเวลาเซ่น อีกส่วนหนึ่งใส่กระปุกเหล้าจีนวางไว้ในปะต็วล ปัจจุบันใส่ในขวดลิโพแทน ปะต็วลใช้ในพิธีแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ โกนจุก โจลมะม็วด ทำบุญจวมกรูทั่วไปในแถบจังหวัดสุรินทร์
หมายเลขบันทึก: 47220เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2006 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ประเสริฐ

อ่านข้อมูลแล้ว ได้ความรู้ดี

แต่มีข้อมูลอย่างหนึ่งที่ยังหาข้อมูลไม่ได้

คือ ตำนานความรักของ เจและยอง

หาที่ไหนก็ไม่มี

อยากได้มาก

อาจารย์มีข้อมูลหรือเปล่า

ถ้ามีถ้ากรุณาโพลต์ลงเน็ตก็จะกรุณามาก

ส่งเข้าเมล์ด้วยก็ได้นะครับ

ขอบพระคุณล่วงหน้า

Mae Somtang

นายประเสริฐ ทองอุดม

คติความเชื่อเรื่องปะต็วล เริ่มจากตำนานพี่น้องสองคนเป็นชายทั้งคู่ ชื่อว่าเจและยอง กำพร้าบิดามารดา ได้รับอุปการะจากเศรษฐีผู้หนึ่ง ซึ่งมีลูกสาวคนเดียว ทั้งเจและยอง เป็นคนขยันขันแข็งเป็นที่โปรดปรานของเศรษฐีเป็นอันมาก ครั้นโตขึ้นเป็นหนุ่ม ทั้งคู่ต่างก็รักผู้หญิงคนเดียวกัน คือลูกสาวเศรษฐีนั่นเอง เศรษฐีก็รู้สึกลำบากใจตัดสินใจไม่ได้ ว่าควรจะยกลูกสาวให้เจหรือยอง จึงคิดกลวิธีแข่งขัน เพื่อทดสอบความดี ของสองหนุ่ม โดยใช้ให้ไปหาน้ำผึ้งมา ฝ่ายเจซึ่งเป็นผู้กล้าหาญกว่าก็ปีนต้นไม้สูงใหญ่โดยใช้ลิ่มตอกเป็นขั้นบันไดขึ้นไปถึงยอดไม้ ส่วนยองซึ่งรออยู่ข้างล่าง ต้องการแต่งงานจึงดึงตอก (ลิ่ม) ออกหมดทำให้เจลงมาไม่ได้ ครั้นเจหย่อนรังผึ้งมาให้ ยองก็วิ่งนำไปมอบให้เศรษฐีและเตรียมตัวเข้าพิธีแต่งงานทันที ฝ่ายเจซึ่งติดอยู่บนต้นไม้ก็ได้แต่ภาวนา ขอให้ตนไปถึงงานแต่งงานภายในกำหนดเวลา (คือวันรุ่งขึ้น) ซึ่งในคืนวันนั้นก็มีหมีตัวใหญ่ ขึ้นมาบนต้นไม้ เจจึงร้องขอให้พาตนลงจากต้นไม้เพื่อแลกกับรังผึ้งที่ตนหาได้ ทำให้ตนสามารถลงมาจากต้นไม้ได้สำเร็จ เพราะความช่วยเหลือของหมีตัวนั้น ซึ่งเป็นเวลาใกล้รุ่งพอดี จากนั้น เจก็วิ่งอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันเวลา ระหว่างทางก็พบเทวดาซึ่งแปลงกายลงมาเป็นคนขับเกวียนมายืนขวางทางไว้ และถามเจว่า มีเหตุด่วนอันใดหรือจึงต้องเร่งรีบเช่นนี้ เจก็บอกว่าตนจำต้องรีบไปให้ทันงานแต่งงาน มิเช่นนั้นเจ้าสาวจะตกเป็นของคนอื่น เทวดาได้ยินดังนั้นจึงบอกว่า “การแต่งงานจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีสิ่งนี้” “สิ่งนี้” ที่เทวดาแสดงให้เห็นคือปะต็วล ซึ่งเทวดามอบให้เจ เมื่อเป็นดังนี้เจก็ถือปะต็วลวิ่งไปถึงปะรำพิธี และผูกติดไว้ที่เสากลางของปะรำพิธีและได้รับยกย่องเป็นเจ้าบ่าวแทนยองทันที ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปะต็วลจะมีความสำคัญยิ่งสำหรับการแต่งงาน หรือ งานมงคลต่าง ๆ ของชาวไทยเขมร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท