ตอบข้อหารือ : กรณีสิทธิในสัญชาติไทยของเด็กชายศรัณญ์ คีรีบุปผา บุตรของชายสัญชาติไทยและหญิงต่างด้าวในศูนย์พักพิงนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก


สืบเนื่องจากเมล์หารือของคุณจันทราภา "Case study for TCR เด็กชายศรัณญ์ คีรีบุปผา เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ที่โรงพยาบาล ARC มีเอกสารรับรองการเกิด ทร.1/1 ในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ เป็นบุตรชายคนแรกของนางซานดา ซึ่งเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิง กับนายไนท์ คีรีบุปผา ชายสัญชาติไทย อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 10 (บ้านเลตองคุ) ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง ฯ"

พี่แมวคะ

ต่อข้อหารือถึงสิทธิในความเป็นไทยของเด็กชายศรัณญ์ คีรีบุปผา บุตรของชายสัญชาติไทยและหญิงต่างด้าวในศูนย์พักพิงนุโพ

จากข้อเท็จจริงของพี่แมว http://www.gotoknow.org/blogs/posts/466032

 

ขอแลกเปลี่ยนและช่วยคิด ดังนี้ค่ะ

1. ก่อนอื่นมีคำถามค่ะ นายไนท์ คีรีบุปผา บิดาของน้องมีสถานะบุคคลเป็นคนสัญชาติไทยใช่มั๊ยคะ? มีชื่อในทะเบียนบ้าน(ท.ร.14)มีบัตรประจำตัวประชาชน? แต่ในสูติบัตร ท.ร.031 ของ เด็กชายศรัณญ์ ระบุแต่ชื่อของพ่อไม่ได้ระบุสัญชาติและเลขประจำตัวประชาชนของพ่อด้วย คงต้องพิสูจน์สถานะความเป็นบิดาและบุตรระหว่าง นายไนท์ คีรีบุปผา และเด็กชายศรัณญ์ค่ะ เพื่อยืนยันว่าเป็นบิดาและบุตรกันจริง --ซึ่งการสอบพยานบุคคลของ ปลัดสุระวุธ น่าจะสอบในประเด็นนี้ค่ะ 

2. นายไนท์ คีรีบุปผา(คนสัญชาติไทย) และ นางซานดา จดทะเบียนสมรสกันหรือยังคะ? หากยังขอเสนอให้ทั้งสองคนไปจดทะเบียนสมรสกันค่ะ เพื่อบุตรจะได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งของบิดาและมารดา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการมีและใช้สิทธิในสัญชาติ ตามหลักสืบสายโลหิตทั้งจากบิดาและมารดาด้วยค่ะ ในกฎหมายไทยปรากฏข้อสันนิษฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับสถานะความเป็นบิดามารดาและบุตรชอบด้วยกฎหมายในมาตรา 1547  แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่าเด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน “จะ”เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อ 1.บิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือ 2.บิดาได้จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร หรือ 3.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ค่ะ 

ดังนั้น หากนายไนท์ และนางซานดา จดทะเบียนสมรสกันย่อมส่งผลให้เด็กชายศรัณญ์ เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของทั้งสองคน และมีสิทธิในสัญชาติไทยตั้งแต่เกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา 7(1) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551[1]

อย่างไรก็ดี หากนายไนท์ และนางซานดา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน กระบวนการ/วิธีการในการพิสูจน์สถานะความเป็นบิดาและบุตรระหว่างนายไนท์และเด็กชายศรัณญ์ย่อมตกอยู่ภายใต้วิธีการตาม “กฎกระทรวงกำหนดวิธีการและค่าธรรมเนียมคำขอพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิดเพื่อการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด พ.ศ.2553” เช่นเดียวกับกรณีของน้อย หรือประสิทธิ์ จำปาขาว บุตรของชายไทยซึ่งเกิดในประเทศลาว[2]

3. กระบวนการการแจ้งเกิดเกินกำหนดและขอสูติบัตรให้ เด็กชายศรัณญ์ ในฐานะบุตรของชายสัญชาติไทยนั้น เมื่อเด็กชายศรัณญ์ได้รับการพิสูจน์สถานะความเป็นบุตรของบิดาสัญชาติไทยแล้วย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการบันทึกในทะเบียนคนเกิดของคนสัญชาติไทย และได้รับสูติบัตร ท.ร.2 เนื่องจากแจ้งเกิดเกิน 15 วัน นับแต่วันเกิด ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 18 พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551[3] ประกอบกับ ข้อ 57, ข้อ 58 และ ข้อ134(4) แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ.2542 พ.ศ.2544 พ.ศ.2545 และล่าสุดใน พ.ศ.2551

โดยสรุปแล้ว การพิสูจน์ความเป็นบิดาและบุตรระหว่างนายไนท์ และเด็กชายศรัณญ์ ย่อมนำมาซึ่งสิทธิในสัญชาติไทยของเด็กชายศรัณญ์ และสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนเกิดในฐานะคนสัญชาติไทยด้วยค่ะ



[1] มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

 (1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือ นอกราชอาณาจักรไทย

 (2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตาม มาตรา 7ทวิ วรรคหนึ่ง

“คำว่าบิดาตาม   (1)  ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิด ตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม

[2] ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, บันทึกเส้นทาง ตาม‘ลูกพ่อไทย’ กลับเข้าทะเบียนราษฎร (ตอน 1)-ม.7 วรรคสอง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551,เผยแพร่ใน http://www.gotoknow.org/blogs/posts/325855 และ ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล,  บันทึกเส้นทาง ตาม‘ลูกพ่อไทย’ กลับเข้าทะเบียนราษฎร (ตอน 2)-ม.7 วรรคสอง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551,เผยแพร่ใน http://www.gotoknow.org/blogs/posts/325924

[3] มาตรา 18 เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิดดังต่อไปนี้

(1) คนเกิดในบ้าน  ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดา แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดในบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด

(2) คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดา แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดนอกบ้านหรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนดให้แจ้งภายหลังแต่ต้องไม่เกิดสามสิบวันนับแต่วันเกิด

การแจ้งตาม (1) (2) ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อคนเกิดด้วย

ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การแจ้งตามวรรคหนึ่งจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

(มาตรา 18 วรรคสาม เพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551)

 

กิติวรญา รัตนมณี 

20 ธันวาคม 2554

หมายเลขบันทึก: 471866เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2011 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
รับหัวมันหัวใหญ่เอาไปบ้าน
มองอยู่นานมันชื่อไรก็ไม่รู้
สีเทาเทาหัวใหญ่ใหญ่เอาให้ดู
หากใครรู้อย่าหลอกช่วยบอกที เอย............?

 

แล้วเรื่องของ มน.เอง ก็ควรเริ่มทำความเห็นทางกฎหมายได้แล้วนะคะ นักศึกษา มน. จะได้ใช้ในการศึกษา

ตอบคำถามอาจารย์ไหมนะคะ

1. นายไนท์ เป็นบุคคลสัญชาติไทยมีชื่อในทร.14 และบัตรประจำตัวประชาชน 5-6308-xxxxx-xx-x

2. นายไนท์และนางซานดา อยู่กินฉันท์สามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส สถานะของนางซานดาในศูนย์พักพิงเป็นกลุ่ม pre screening (ไม่มีเลขประจำตัวของคนในศูนย์) และยังไม่ได้ลองติดต่อประสานเรื่องจดทะเบียนสมรสค่ะ

อาจารย์ไหม รบกวนเพิ่งคำสำคัญบันทึก "อุ้มผางศึกษา" ด้วยนะคะเพื่อจะได้กรุ๊ปรวมบันทึกไว้ด้วยกัน

ไหมเอ๋ย เรื่องชื่อไม่ตรงกับทะเบียนราษฎรน่ะ ไม่เข็ดเลยนะเธอ

รีบทำความเห็นกฎหมายส่งไปอำเภอได้เลย ใครจะเป็นคนทำล่ะ

สงสารเด็ก รีบทำเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท