ปัญหาเรื่องเขตอำนาจของรัฐไทยในการสืบสวน สอบสวนการปล้นเรือในแม่น้ำโขง


เขตอำนาจรัฐของรัฐไทยในการดำเนินคดี ผู้กระทำความผิดในเรือในแม่น้ำโขง

รัฐแต่ละรัฐย่อมมีเขตอำนาจทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อบังคับใช้กฎหมายเหนือ บุคคล ทรัพย์สิน และเหตุการณ์ที่เกิดในดินแดนของรัฐของตน บางกรณีเพื่อประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและจัดการกับอาชญากรรมกฎหมายระหว่างประเทศได้ กฎหมายระหว่างประเทศจึงได้มีการพัฒนาให้รัฐสามารถดำเนิคดีกับบุคคลสัญชาติตนที่กระทำความผิด ณ ต่างแดน แต่เข้ามาอยู๋ในรัฐเจ้าของสัญชาติได้   ในบทความชิ้นนี้จะได้ทำการวิเคราะห์ประเด็นเรื่องเขตอำนาจของรัฐไทยในการสืบสวน สอบสวนและดำเนินคดีกับ ผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวของกับการปล้นเรือสินค้าสัญชาติจีนในแม่น้ำโขง โดยอาศัยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองเรื่องเขตอำนาจรัฐเป็นหลัก โดยแบ่งการนำเสนอเป็น สามส่วน คือ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในคดี  หลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเขตอำนาจรัฐ  บทวิเคราะห์ข้อเท็จจริงในคดีและเขตอำนาจของรัฐไทย

..............................................................................................

๑. ข้อเท็จจริงในคดี

 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 กองกำลังผาเมืองของไทยนำโดยหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่ น้ำโขง (นรข.) ได้เข้าควบคุมเรือต้องสงสัย 2 ลำ เป็นเรือสินค้าจีน  คือ เรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง Hua Ping และเรือขนกระเทียมและแอปเปิ้ล Yu Xing 8  ซึ่งถูกกองกำลังติดอาวุธปล้นและยิงกัปตันเรือพร้อมลูกเรือจนเสียชีวิตยกลำ 

ต่อมาระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม 2554 มีการพบศพลูกเรือเพิ่มรวมทั้งสิ้น 12 ศพ และและมีศพกองกำลังติดอาวุธพร้อมอาวุธปืน Aka เสียชีวิต 1 คน รวม 13 ศพ

จากการสอบสวนพบว่าเหตุการปล้นเกิดบริเวณสามเหลี่ยมทองคำชายแดนไทย-พม่า-สปป.ลาว ก่อนที่กองกำลังผาเมืองของไทยนำโดยหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่ น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย จะเข้าควบคุมเรือเมื่อแล่นเข้าฝั่งไทยบริเวณเขตหมู่บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง อ.เชียงแสน และเมื่อค้นบนเรือพบยาบ้าซุกซ่อนอยู่ 920,000 เม็ด

 

จากข้อเท็จจริงในคดีทั้งหมดนี้มีประเด็นพึงพิจารณาคือ

๑. ตำรวจไทย และศาลไทยมีอำนาจในการดำเนินคดีการปล้นเรือ และ ฆ่าที่เกิดขึ้นหรือไม่ และ

๒. หากตำรวจและศาลไทยมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้น เขตอำนาจในการพิจารณาคดีที่เกิดนั้น สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองในเรื่องเขตอำนาจรัฐหรือไม่

.........................................................................

 เมื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องแล้วจะเห็นว่ากรณีเป็นเรื่องการกระทำความผิดทางอาญาที่มีจุดเกาะเกี่ยวในทางระหว่างประเทศกับหลักกฎหมายว่าด้วยเรื่อง เขตอำนาจของรัฐ ซึ่งผู้เขียนจะได้ทำการวิเคราะห์เรียงประเด็นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

๑. ๑. ตำรวจไทย และศาลไทยมีอำนาจในการดำเนินคดีการปล้นเรือ และ ฆ่าที่เกิดขึ้นหรือไม่

จากข้อเเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า การกระทำความผิดน่าจะเกิดขึ้นนอกประเทศไทยในเขตประเทศพม่า แต่เหตุใด ตำรวจไทยจึงมีอำนาจในการสอบสวนและสืบสวนการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งหากพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญาจะเห็นได้ว่า  มาตรา 4 ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย ได้บัญญัติไว้ว่า

"ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักรต้องรับโทษตามกฎมาย "
และในมาตรา ๔ วรรค สองได้บัญญัติไว้ว่า 
"การกระทำความผิดในเรือไทย หรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร"

 

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่รายงานในสื่อประเภทต่างๆจะเห็นได้ว่า การปล้น และฆ่าน่าจะได้กระทำลงในแม่น้ำโขงในบริเวณที่น่าเชื่อได้ว่าอยู่ในเขตประเทศพม่าตลอดจนเป็นการกระทำความผิดบนเรือสัญชาติจีน และภายหลังจากการปล้นและฆ่าแล้ว กลุ่มผู้ร้ายได้มีการยึดเรือตลอดจนเดินเรือมาจนถึงชายแดนไทย จะเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรไทย และการกระทำดังกล่าวก็มิได้กระทำบนเรือไทย อันจะเป็นเหตุให้ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะส่งผลให้ ตำรวจไทยมีอำนาจสืบสวนสอบสวน และศาลไทยมีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าว  ดังนั้นอาจสรุปง่ายๆได้ว่าหากพิจารณาเพียงมาตรา ๔ แห่งประมวล กฎหมายอาญาเพียงอย่างเดียว คดีดังกล่าวนี้ย่อมไม่อยู่ในเขตอำนาจของตำรวจ และศาลไทยในการพิจารณา อย่างไรก็ตาม หาก พิจารณาตามมาตรา ๘ วรรค หนึ่งจะเห็นได้ว่า มาตรา ๘ (ก) และมาตรา ๘ อนุมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้วางหลักไว้ว่า

"ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร " และ  "(ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอ... ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดที่ระบุไว้ต่อไปนี้ ต้องรับโทษในราชอาณาจักร "

มาตรา ๘ (๔) "ความผิดต่อชีวิตที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๘ ถึง ๒๙๐ "

 มาตรา ๘ (๙) "ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์  ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้้ในมาตรา  ๓๓๗ ถึง ๓๔๐"

ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจะเห็นได้ว่า ต่อมมามีการกล่าวหาชุดปฏิบัติการ ปราบปรามยาเสพติด ในสังกัดหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่ น้ำโขง ของกองกำลังผาเมืองว่าได้มีพฤติการณ์ว่าอาจจะเป็นผู้ต้องสงสัยในการก่อเหตุดังกล่าว  ด้วยข้อเท็จจริงนี้ กรณีจึงเป็นเรื่อง การที่คนไทยต้องสงสัยว่ากระทำความผิดนอกราชอาณาจักรไทย และ ผู้เสียหายร้องขอ  ( ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ว่า ตามกฎหมายไทยปัจจุบันโดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากตำรวจทำการสอบสวนคดีอาญา แล้วฟ้องศาล ตามมาตรา ๘ ก) ศาลไทยจะมีอำนาจในการลงโทษหรือไม่เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๕ ไม่ได้กำหนดให้รัฐบาลต่างประเทศมีอำนาจในการเป็นผู้เสียหายแทน 

ปัจจุบัน ผู้เขียนกำลังดำเนินการศึกษาว่า รัฐบาลของประเทศของผู้เสียหายได้ดำเนินการร้องขอให้ ดำเนินคดีอาญา ตาม มาตรา ๓๑ พระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงทำให้ตำรวจไทย และศาลไทยมีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าว

 (To be continue)

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เขตอำนาจรัฐ
หมายเลขบันทึก: 470831เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2011 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท