บทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียน ต่อ ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์


หากจะมีการจัดเวทีเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ครั้งต่อๆ ไป ผมขอเสนอให้ส่งเอกสารบัญญัติ ๗ ประการนี้ไปให้ทีมที่สมัครเข้าร่วมอ่านทำความเข้าใจและเตรียมเรื่องเล่าตามหลัก ๗ ประการนี้ ว่าแต่ละทีมได้ดำเนินการไปอย่างไรบ้าง มีประสบการณ์อย่างไร

บทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียน ต่อ ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์

ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๗ พ.ย.​ ๕๔ ผมนั่งระทมความผิดหวัง    ที่การ ลปรร. ในเวทีสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ ครั้งที่ ๒ ไม่ดำเนินตามแนวทาง PLC   ผมกลับมาไตร่ตรองอยู่ ๑ สัปดาห์ก็นึกออกว่า เป็นความบกพร่องของผมเองที่ไม่ได้แนะนำคุณอ้อ ว่าต้องปูพื้นทำความเข้าใจ ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (ชร.คศ. หรือ PLC) ในมิติที่ลึกแก่ทั้งครูและผู้บริหารที่มาร่วมเวที ลปรร. เสียก่อน   เพื่อจะได้มั่นใจว่า สาระของการ ลปรร. จะไม่วนเวียนอยู่กับความภาคภูมิใจตามแนวคิดเดิมๆ

ผมจึงขอนำบางส่วนในหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่มูลนิธิสดศรีฯ กำลังเตรียมการจัดพิมพ์อยู่ มาเผยแพร่ก่อน

ต่อไปนี้เป็น “บัญญัติ ๗ ประการ” ที่ระบุไว้ในหนังสือ ที่แนะนำครูใหญ่ และทีมแกนนำ ให้หาทางดำเนินการ เพื่อจัดการการเปลี่ยนแปลง      

. หาทางจัดโครงสร้างและระบบเพื่อหนุนการเดินทางหรือขับเคลื่อนไปสู่ เป้าหมายที่ต้องการ  

ที่จริง PLC เป็นการปฏิวัติโครงสร้าง ระบบการทำงาน และวัฒนธรรมการทำงาน ในโรงเรียน   จากระบบตัวใครตัวมัน มาเป็นระบบทีม หรือวัฒนธรรมรวมหมู่ (collective culture)   โครงสร้างของระบบงาน ระบบการจัดการเรียนการสอน จึงต้องปรับเปลี่ยน ให้เอื้อต่อการช่วยกันดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนล้าหลังให้เรียนตามเพื่อนทัน   โดยที่การช่วยเหลือนั้นทำกันเป็นทีม หลายฝ่ายเข้ามาร่วมกัน   และกิจกรรมนั้น ทำอยู่ภายในเวลาตามปกติของโรงเรียน   ไม่ใช่สอนนอกเวลา
          รวมทั้งมีเวลาสำหรับครูประชุม ลปรร. ประสบการณ์การทำงานของ ตน     เพื่อหาทางพัฒนาวิธีการทำงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ   เป็นวงจร CQI ไม่รู้จบ

. สร้างกระบวนการวัดเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว และทำความเข้าใจ เรื่องสำคัญ  

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดตัวชี้วัดความก้าวหน้า (progress indicators)  ซึ่งสำหรับโรงเรียน ควรวัดที่ผลการเรียนของ นักเรียน  ตัวอย่างของตัวชี้วัด เช่น เวลาเรียนของนักเรียนเป็นการเรียนแบบลงมือทำ (action learning) ร้อยละเท่าไรของเวลาทั้งหมด,  พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน, ร้อยละของนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียน/ด้านปัญหาส่วนตัว ที่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที   นอกจากนั้น ยังต้องมีตัวชี้วัดความก้าวหน้าของพฤติกรรมการทำหน้าที่ของครู เช่น การแบ่งสัดส่วนเวลาในการทำหน้าที่ของครู ระหว่าง การเตรียมออกแบบการเรียนรู้ (ร่วมกันเป็นทีม)   การทำหน้าที่โค้ช หรือผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ให้แก่นักเรียนที่เรียนแบบ PBL  การชวนนักเรียนทำ reflection เพื่อตีความผลของการเรียนรู้แบบ PBL  การรวมกลุ่มกับทีมครูเพื่อ ลปรร. จากประสบการณ์การทำงาน  เป็นต้น 
          หลักการสำคัญของการกำหนดตัวชี้วัดความก้าวหน้าคือ ต้องมีน้อยตัว (เช่นไม่เกิน ๑๐) เอาเฉพาะปัจจัยที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น   และต้องไม่ใช้ในการให้คุณให้โทษครูเป็นอันขาด  เพราะนี่คือเครื่องมือของผู้ทำงานเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในที่ทำงาน   ไม่ใช่เครื่องมือของการตรวจสอบของฝ่ายบริหารระดับใดๆ ทั้งสิ้น
         ตัวชี้วัดความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุดคือ ตัวชี้วัดความก้าวหน้า ของการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายคน  ที่ช่วยให้ครูรู้ว่านักเรียนคนไหนเรียนล้าหลัง   คนไหนเรียนก้าวหน้าไปมากกว่ากลุ่ม  
          และเมื่อมีการวัดความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของนักเรียนแล้ว   ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการวัดนั้น   รวมทั้งร่วมกันปรึกษาหารือว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียน

. เปลี่ยนแปลงทรัพยากร เพื่อสนับสนุนสิ่งสำคัญ  

ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือ “เวลา”   ต้องเปลี่ยนแปลงการจัดการเวลาหรือการใช้เวลาเรียนของนักเรียน และเวลาทำงานของครู เสียใหม่   ให้ทำงานเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดีกว่าแบบเดิมๆ   รวมทั้งให้สามารถทำงานแบบทีม ใช้พลังรวมหมู่เพื่อแก้ปัญหายากๆ  หรือดำเนินการต่อประเด็นท้าทายและสร้างสรรค์ใหม่ๆ 

. ถามคำถามที่ถูกต้อง  

คำถามที่สำคัญสำหรับโรงเรียน   สำหรับช่วยให้เป็น “โรงเรียนที่ดี” มีเพียง ๔ คำถามเท่านั้น คือ (๑) ในแต่ละช่วงเวลาเรียน ต้องการให้นักเรียนได้ความรู้และทักษะอะไรบ้าง  (๒) รู้ได้อย่างไรว่านักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้ความรู้และทักษะที่จำเป็นนั้น  (๓) ทำอย่างไร หากนักเรียนบางคนไม่ได้เรียนสิ่งนั้น  (๔) ทำอย่างไรแก่นักเรียนที่เรียนเก่งก้าวหน้าไปแล้ว

. ทำตัวเป็นตัวอย่างในเรื่องที่มีคุณค่า  

ข้อนี้สื่อต่อผู้นำ ซึ่งตามในหนังสือเล่มนี้คือครูใหญ่   หากครูใหญ่ต้องการให้ครูเอาใจใส่การเรียนรู้ของศิษย์ทุกคนเป็นรายตัว   ครูใหญ่ต้องหยิบยกเรื่องนี้มาหารืออย่างสม่ำเสมอ   หากครูใหญ่ต้องการให้ครูทำหน้าที่ช่วยเหลือนักเรียนโดยทำงานเป็นทีม   ก็ต้องจัดเวลาให้ครูปรึกษาหารือและตัดสินใจร่วมกัน   รวมทั้งจัดสิ่งสนับสนุนกิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนช้าเหล่านั้น

. เฉลิมฉลองความก้าวหน้า  

ก่อนจะเฉลิมฉลองความก้าวหน้าตามเป้าหมายในการเรียนรู้ของนักเรียน ก็ต้องมีหลักฐานยืนยันความก้าวหน้านั้น   ซึ่งหมายความว่าต้องมีระบบตรวจสอบหรือประเมินผลการเรียนรู้นั้นที่แม่นยำน่าเชื่อถือ  และทั้งหมดนั้นมาจากการที่ครูและฝ่ายบริหารมีเป้าหมายร่วมกัน  และมีใจจดจ่อเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน  การเฉลิมฉลองมีประโยชน์ยืนยันเป้าหมาย   และยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการร่วมกัน

          ที่จริงการเฉลิมฉลองความสำเร็จ เป็นกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ตามเป้าหมายที่กำหนด   เป็นการส่งสัญญาณทั้งของความมุ่งมั่น หรือการมีเป้าหมายร่วมกัน   การดำเนินการฟันฝ่าความเคยชินเดิมๆ ไปสู่วิธีการใหม่   ที่นักเรียนทุกคนได้รับความเอาใจใส่ และช่วยเหลือหากเรียนไม่ทัน   และครูร่วมกันทำงานนี้เป็นทีม   รวมทั้งส่งสัญญาณให้สมาชิกของทีมเห็นว่า ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร   มีคุณค่าอย่างไรทั้งต่อศิษย์ พ่อแม่ และต่อครู   ผู้เขียนหนังสือแนะนำวิธีทำให้การเฉลิมฉลองความสำเร็จ เป็นวัฒนธรรมการทำงานของโรงเรียน ๔ ประการ ดังนี้

  1. ระบุเป้าหมายของการเฉลิมฉลองให้ชัดเจน
  2. ทำให้ทุกคนมีส่วนจัดงานนี้
  3. ตีความหรืออธิบายความสำเร็จที่เกิดขึ้น และเชื่อมโยงกับความมุ่งมั่นอันทรงคุณค่าที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้ (shared purpose) ของโรงเรียนอย่างชัดเจน  และชี้เป้าความคาดหมายความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
  4. ทำให้เห็นว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นผลงานของคนหลายคน   ระบุตัวบุคคลและบทบาทอย่างชัดเจน

. เผชิญหน้ากับผู้ต่อต้านเป้าหมายร่วมของคณะครู  

ในภาษาของการจัดการสมัยใหม่ นี่คือการจัดการความเสี่ยง (risk management) ในการจัดการการเปลี่ยนแปลง   ครูใหญ่ต้องวางแผนเตรียมพร้อมที่จะเผชิญสภาพนี้   ที่มีครูบางคนแสดงพฤติกรรมไม่ร่วมมือและท้าทาย   ต้องไม่ปล่อยให้การท้าทายทำลายเป้าหมายที่ทรงคุณค่านี้

 

หากจะมีการจัดเวทีเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ครั้งต่อๆ ไป ผมขอเสนอให้ส่งเอกสารบัญญัติ ๗ ประการนี้ไปให้ทีมที่สมัครเข้าร่วมอ่านทำความเข้าใจและเตรียมเรื่องเล่าตามหลัก ๗ ประการนี้   ว่าแต่ละทีมได้ดำเนินการไปอย่างไรบ้าง   มีประสบการณ์อย่างไร  

ที่จริงไม่ต้องรอให้ถึงเวทีประชุมก็ได้   เวลานี้ มสส. ได้เปิดชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ใน Gotoknow นี้แล้ว    จึงขอเชิญผู้บริหารและครูเพื่อศิษย์เข้าไป ลปรร. ประสบการณ์ตรงในการดำเนินการตามบัญญัติ ๗ ประการข้างต้นได้ตั้งแต่บัดนี้

หรือหากท่านต้องการตั้งชุมชน (COP) ย่อยของกลุ่มของท่านเองก็ตั้งได้ตามคำแนะนำนี้   นอกจากนั้น ครูเพื่อศิษย์ท่านใดต้องการใช้เครื่องมือจัด อี-เลิร์นนิ่งให้ศิษย์ Gotoknow ก็ได้พัฒนาเครื่องมือ ระบบจัดการชั้นเรียนออนไลน์ ไว้ให้บริการด้วย

วิจารณ์ พานิช

๔ ธ.ค. ๕๔

หมายเลขบันทึก: 470232เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2011 07:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่า ผู้เข้าร่วมเวทีจะต้องรู้และเข้าใจทั้งแนวทางและเป้าหมายของ PLC ก่อนถึงจะเกิดเวทีที่ดำแนินตามบัญญัติ 7 ประการได้ แต่พวกเราผู้บริหารและครูจากมหาสารคามที่เดินทางไปร่วม PLC_2 ในสองวันนั้น ยังเหมือนผู้เริ่มต้นที่ลังเลและเรียนรู้อยู่สำหรับแนวทางของ PLC อย่างไรก็ตาม ตอนทางกลับ AAR แบบอีสาน (ไม่มีลำดับขั้นตอน จับประเด็นจากหลายคำถาม) สะท้อนให้เห็นหลายอย่างว่า เวที PLC_2 ได้เปลี่ยนแนวคิดและสร้างความมุ่งมั้นในใจให้ทั้งผู้บริหารและครูอย่างน้อย 2 คน

ส่วนข้อวัติตามบัญญัติ 7 ประการ นั้นน่าจะเป็นตัวชี้วัดความเข้าใจของสมาชิกได้ ผมมีความเห็นว่า เวทีนั้นจะต้องสอดคล้องกับ "หน้างาน" ในหลายมิติ เช่น สมาชิกในเวทีนั้นเปิดใจให้แก่กัน เชื่อใจกัน มีเป้าหมายในใจเดียวกัน เป็นต้น ผมว่าน่าจะเป็นเวทีเล็กที่ครูทำกันเองในโรงเรียน ส่วนเวทีใหญ่น่าจะเป็นเวทีสร้างและขยายเครือข่ายหรือเป็นเวทีแพิ่มพลังใจและความเชื่อมั่น

ดีใจค่ะที่มีการจัดตั้ง ชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ ขึ้นเพื่อ ลปรร.กันอย่างกว้างขวาง ..ได้ติดตามอ่านมาตลอดตั้งแต่เริ่มจัดตั้งชุมชนนี้ ขอให้กำลังใจสมาชิกทุกท่านค่ะ

เรียน อาจารย์หมอวิจารณ์ ที่เคารพ

ทางทีมงานได้จัดทำเอกสารแนะนำระบบ ClassStart.org ฉบับล่าสุดไว้ที่นี่นะคะ
http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/782/382/original_ClassStart_16_01_55.pdf

โดยในเอกสารได้เขียนสร้างความเข้าใจเรื่อง  21st Century Skills ไว้ด้วยค่ะเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ครูและเพื่อเชื่อมโยงให้เห็น features ของระบบของ ClassStart ที่จะสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อศตรรษที่ 21 ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะที่ช่วยแนะนำ ClassStart แก่วงการครูเพื่อศิษย์

อ.จันทวรรณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท