เวทียุทธศาสตร์


เมื่อปีการศึกษา 2547 กงไกรลาศวิทยาได้ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการจากแนวดิ่งมาเป็นกระจายอำนาจจนถึงตัวครูผู้ปฏิบัติ  ด้วยหลักคิดที่ว่า ‘ความรับผิดชอบอยู่ที่ไหน อำนาจอยู่ที่นั่น’ แล้วถักทอเป็นวางโครงสร้างกลุ่มคนทำงานเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มงานจัดการเรียนรู้(โรงเรียนเล็ก) กลุ่มงานพัฒนาการเรียนรู้(หมวด)บริหารจัดการและปฏิบัติงานระบบพัฒนาบุคลากรของโรงเรียน  และกลุ่มงานอำนวยการบริหารจัดการและปฏิบัติงานระบบภาวการณ์นำองค์กร ระบบยุทธศาสตร์และระบบสนับสนุน  โดยรับและพัฒนานวัตกรรม School in School จากฝางชนูปถัมภ์  ปีต่อมาก็ได้วางระบบงาน 10 ระบบ ครั้งนั้นได้นวัตกรรมจากโครงการระบบดีโรงเรียนมีคุณภาพ  เราเดินทางเข้าสู่เส้นทางขาขึ้นนับแต่นั้นมา  ทั้งสองนวัตกรรมนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานและพัฒนาคุณภาพงาน(ไปพร้อมๆกับพัฒนาชีวิต) 

วันเวลาฟูมฟักนวัตกรรมทั้งสองจนแปรสภาพเป็นวิถีชีวิตการทำงานของเราไปแล้ว  บนโครงสร้างและระบบดังกล่าวเราพัฒนานวัตกรรมปฏิบัติการขึ้นมากมาย  วันนี้กงไกรลาศวิทยาได้พัฒนางานนิเทศภายในที่ทำได้ในระหว่างปฏิบัติงานคือ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนทำงาน  ค่อยเป็นค่อยไป เรื่อยๆ มา เรียงๆ  เผลอไปหน่อยเดียว  มานับอีกทีเมื่อปีการศึกษา 2550 เรามีเวทีนิเทศภายในแล้ว 4 เวที ประกอบด้วย เวทีของผู้สนใจพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของตน(วันจันทร์) เวทีผู้สนใจพัฒนาสมรรถนะครู(วันพุธ)  เวทีผู้สนใจพัฒนานักเรียน(วันพฤหัสบดี)  เวทีผู้สนใจการบริหารจัดการ(วันอังคาร)

ด้วยเหตุที่เรามีเวทีมาก เราจึงมีการประชุมบ่อยมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนทุกครั้ง  หลักของกงไกรลาศวิทยา คือ ถ้ากระทบถึงใครจะต้องผ่านเวทีการมีส่วนร่วมของผู้นั้นทั้งก่อนใช้ ระหว่างใช้ และหลังใช้  เราเรียกหลักนี้ด้วยข้อความว่า ‘คนรับผิดชอบ มีสิทธิพูด’  ช่วงเปิดภาคเรียนเราประชุมกันสั้นๆ ช่วงปิดภาคเรียนเราประชุมปฏิบัติการกันครั้งละหลายวัน  บ่อยๆ ที่เราประชุมที่โรงเรียนแล้วก็เดินทางไปศึกษาดูงานตามที่วางแผนไว้  แต่ไม่หายใจทิ้งนะคะ  บนรถน่ะเราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปด้วย  ม่อยหลับสลับกับได้ยิน

โรงเรียนที่ไม่มีการเรียนการสอนย่อมสิ้นความเป็นโรงเรียน แต่โรงเรียนที่ไม่มียุทธศาสตร์ก็ยังเป็นโรงเรียนแต่อาจจะคุณภาพย่อมเยาไปสักหน่อย  คำถามจึงมีอยู่ว่า จะต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนทำงานยุทธศาสตร์ในโรงเรียนหรือไม่ 

แน่นอน ผู้อำนวยการโรงเรียนคือผู้ทำงานวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์  และรองผู้อำนวยล่ะ อยู่ในกลุ่มงานนี้หรือไม่  มาตรฐานตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาว่า ‘ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสถานศึกษาในการช่วยบริหารกิจการของหน่วยงานการศึกษา การวางแผนการปฏิบัติงาน การควบคุม กำกับดูแลเกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคลากร การบริหารทั่วไป’  ก็ในเมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนกงไกรลาศวิทยาทำงานวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์  รองผู้อำนวยการฯ ก็จะต้องช่วยทำงานวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์  ดิฉันจึงนัดประชุมปฏิบัติการรองผู้อำนวยการฯ ในเช้าวันจันทร์จัดเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานยุทธศาสตร์  เวทีนี้เป็นเวทีหลังสุด เพิ่งพัฒนาได้เมื่อปีการศึกษา 2552  

บนเส้นทางคุณภาพหลายปีมานี้  บุคลากรก็ย้ายเข้าย้ายออก  มาวันนี้ผู้บุกเบิกรุ่นแรกๆ ย้ายไปหลายคน  มีสมาชิกใหม่เข้ามา  ถ้าผู้ขอย้ายมีคุณสมบัติตามกำหนดและมีที่ตำแหน่งว่างต้องได้ย้าย  ข้อวินิจฉัยของโรงเรียนเป็นเพียงความเห็นประกอบการพิจารณาของ อ.ก.ค.ศ.เขตฯ  สายบริหารโรงเรียนก็เช่นกัน  ทุกโรงเรียนต่างมีผู้บริหารสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามกติกานี้

สมาชิก(PARTICIPANT)ของทีมยุทธศาสตร์จึงโยกย้ายผลัดเปลี่ยนเวียนหน้าเข้าออก รองผู้อำนวยการที่ร่วมบุกเบิกความคิดนี้สอบเป็นผู้อำนวยการได้ ย้ายไปแล้ว  รองผู้อำนวยการที่มาใหม่มี Tacit Knowledge อีกแบบหนึ่ง  กว่าจะเข้าใจว่า ‘คุณภาพ’ เป็นสิ่งที่บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้  กว่าจะทำความเข้าใจว่าคุณภาพงานที่แท้นั้นอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ ต้องกระจายอำนาจให้เขา  กว่าทำใจให้รับได้เรื่องกระจายอำนาจ(ที่กระจายจริงๆ ถึงตัวครูรายบุคคล) ถึงตัวครูรายบุคคลารแล้วไปกระจุกอยุ่ที่ชุมนั้น สนใจการแลกเปลี่ยนเรียนไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่ผู้อำนวยการ หรือกระจายจากผู้อำนวยการแล้วไปกระจุกอยู่ที่รองผู้อำนวยการ(โรงเรียนละ 3-4 กระจุก)   กว่าจะทำใจได้ว่าต้องทำงานวิสัยทัศน์และงานยุทธศาสตร์ในฐานะคณะทำงานของผู้อำนวยการ ก็หลายเพลา  กว่าจะเข้าใจว่า ‘การเห็นและการเรียนรู้’ เป็นทักษะสำคัญยิ่งสำหรับสมาชิกใหม่กงไกรลาศวิทยา  พอดีได้เวลาย้ายออกไป...

เวทีต่างๆ ข้างต้น มิได้เกิดขึ้นเรียงลำดับเป็นเส้นตรงดอกนะคะ  แต่เกิดเป็นพลวัตรทางความคิด  อันที่จริงงานทั้งปวงข้างต้นมีอยู่เป็นภารกิจของสถานศึกษาทุกแห่ง และมีมาตั้งแต่แรกตั้งโรงเรียน  ที่โรงเรีนกงไกรลาศวิทยาก็มีเช่นนั้น  นั่นเป็นระดับปฏิบัติงาน  แต่ระดับพัฒนางาน เรามีสมมติฐานว่า ครูของเราต้องการเพื่อนร่วมทาง ครูของเราต้องการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และเราเชื่อว่าเรามีความสามารถในใช้ทรัพยากรเวลา(ที่มีวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน)ได้มากกว่าเพียงแต่จัดเวลาของทุกคนให้ได้พบเพื่อนร่วมทาง  เราจึงให้ความสำคัญของการบริหารอย่างมีส่วนร่วมและให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้วยเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

นับแต่วันที่กงไกรลาศวิทยาตัดใจเดินออกจากปัญหาเก่าซ้ำซาก  มาเผชิญกับปัญหาใหม่ที่อาจจะมีในรายทางของการเปลี่ยนแปลง  เราพบความสำเร็จตามลำดับ พบเพื่อนร่วมทางที่มีคุณภาพและคุณธรรม  เวทีแลกเลี่ยนเรียนรู้ทั้งห้านี้เป็นเครื่องมือสำคัญของเรา  เป็นการนิเทศงานที่ดิฉันเพียงแต่จัดโอกาส(คือเวที)ที่เหลือเหล่าผู้ปฏิบัติต่างนิเทศกันเอง..ตามแบบของเขา  ครูและนักเรียนกงไกรลาศวิทยาต่างค่อยๆ เติบโตอย่างสง่างาม บนลำแข้งของตนเอง...

ทุกเวที  ไม่มีอะไรมาก  มีคำถามหลักเพียงสองคำถาม ‘เห็นอะไร’  ‘เรียนรู้อะไร’  ประสบการณ์ของดิฉันพบว่า  ผู้ที่ตอบสองคำถามนี้ได้จะพัฒนาได้เร็วมาก  กลุ่มงานที่มีสมาชิกตอบได้หลายคนก็จะพัฒนางานได้เร็วเช่นกัน  ที่มีเสน่ห์มากคือมีการพัฒนากลุ่มเป็นทีมไปด้วยพร้อมกัน(โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเลย)

ลองทายดูสิคะ...  ว่าสองคำถามนี้  เวทีใดที่ตอบได้เร็ว  เวทีใดที่ตอบได้ช้า  และเวทีใดที่ตอบไม่ได้เลย...

 

เรากำลังศึกษา PLC...สบโอกาสเมื่อไรจะทำทันที... 

หมายเลขบันทึก: 469988เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2011 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท