เวทีวันอังคาร


ท้าวความไปเมื่อปีการศึกษา 2547  กงไกรลาศวิทยาตัดใจแล้วว่าเราจะเดินทางออกจากปัญหาเก่าซ้ำซาก โดยยินดีที่จะเผชิญกับปัญหาใหม่ที่อาจจะมีในรายทางของการเปลี่ยนแปลง  เราได้พร้อมใจกันวางโครงสร้างกลุ่มงานในโรงเรียนเสียใหม่  คือ จัดครูเป็นกลุ่มภารกิจ ทุกกลุ่มภารกิจมีองค์ประกอบบริบูรณ์ในการปฏิบัติงานอย่างสมบูรณ์  เราซอยครูและปัจจัยการบริหารอื่นๆ ให้เท่าเทียมและเหมาะสมกับนักเรียนเป็นรายบุคคล โดยจำแนกเป็น 6 กลุ่มงาน เรียกกันว่า ‘โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่’ หกกลุ่มงานนี้ผูกโยงกันเป็นเครือข่ายกัน  โครงสร้างกลุ่มงานแบบนี้ใหม่มากสำหรับเรา  เราไม่มีองค์ความรู้เช่นนี้มาก่อน แต่งานที่มีคุณภาพก็ต้องดำเนินไป...ให้ได้...

‘จะทำอย่างไรให้คน(บุคลากร)ได้เรียนรู้ไปในระหว่างการทำงาน’  นี่เป็นโจทย์ใหม่สำหรับ ผอ.

ใช่แล้ว...  นิเทศภายใน

แต่จะทำอย่างไรเล่า ในเมื่อเราพ้นยุคเทความรู้ใส่กระโถน  เอ๊ย! ไม่ใช่  ‘เทความรู้ใส่สมอง’  ไปแล้ว...  อ๊ะ! หรือยังอยู่...

จะอยู่ยุคใดก็ตาม  วันนี้กงไกรลาศวิทยากำลังบุกเบิกความรู้ใหม่  แม้ว่าเราจะไปดูงานที่โรงเรียนฝางชนูปถัมภ์และฝางชนูฯก็มาเป็นวิทยากรให้เรา  แต่เราก็ลอกฝางชนูฯทั้งหมดไม่ได้  เพราะโจทย์ย่อยของสองโรงเรียนแตกต่างกัน  กงไกรลาศวิทยาจะทำอย่างไรจึงจะเติบโตอย่างสง่างาม  บนลำแข้งของตนเอง...

                ดิฉันนึกได้ถึงองค์กรเอกชนที่ตัวเองเป็นประธานอยู่หลายองค์กร  พินิจพิจารณาพบว่า องค์กรเหล่านี้มีโครงสร้างกระทัดรัดพอที่จะปฏิบัติงานให้สำเร็จได้อย่างมีความรับผิดชอบ และผูกโยงกันกับองค์กรลักษณะเดียวกันเป็นเครือข่าย ไม่ขยายตัวเทอะทะ  การถักทอแบบนี้มีการเรียนรู้ที่เร็วมากและแก้โจทย์ปัญหาได้ตรงจุดไม่อ้อมค้อม  ‘น่าจะเป็นทางออก’  ดิฉันคิด

คำถามที่ท้าทาย คือ การถักทอที่ว่านี้จะทำได้ไหมหนอในหน่วยราชการที่มีกำเนิดมาจากทฤษฎี X และมีโครงสร้างบังคับบัญชาแนวดิ่ง

หน่วยปฏิบัติการในโรงเรียนจะผูกโยงถักทอเป็นเครือข่ายได้อย่างไร  การประชุมประจำเดือนที่ราชการกำหนดน่าจะไม่เพียงพอ  และรูปแบบการประชุมที่เป็นทางการก็น่าจะไม่เหมาะสมกับการถักทอเครือข่าย ถักทอความคิด ถักทอจินตนาการ ถักทอความไว้วางใจ ดิฉันคิดอยู่หลายวันเหมือนกัน  มานึกขึ้นได้ถึง อปริหานิยธรรมของกษัตริย์ลิจฉวี(อ่านว่าลิด-ฉะ-วี)  ปิ๊ง!..  ปิ๊งปิ๊ง..  ปิ๊ง!  ก่อนอื่นต้องมีคนสักกลุ่มหนึ่งมานั่งคุยกันบ่อยๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละหน  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  แล้วจะเป็นใครเล่า  ก็ในเมื่อเรายังไม่มีใครที่มีองค์ความรู้  เราไม่มีตำรา และเราก็ไม่มีวิทยากรด้วย

ไม่เป็นไร...  ทำปัจจัยเอื้อให้ได้ก่อน  จัดเวลาให้ได้  จัดคนให้มาพบกัน  ทำให้มีก่อน แล้วต่อไปค่อยทำให้ดี

ดิฉันเลือกหัวหน้ากลุ่มจัดการเรียนรู้ที่เรียกว่าครูใหญ่ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับงานหลักของโรงเรียนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และน่าจะเป็นกลุ่มที่ยึดติดวิธีคิดเดิมน้อยที่สุด  หลังจากที่โยนแนวคิดนี้ลงกลางวง  โรงเรียนเล็กก็พร้อมใจกันจัดตารางเวลาของครูใหญ่ทั้งหก ให้มีโอกาสมาประชุมพร้อมกันในช่วงบ่ายของวันอังคาร 3 ชั่วโมง  การที่สามารถจัดเวลาทำงานของบุคลากรโดยครูไม่เสียชั่วโมงสอนนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของเรา  เนื่องจากในโรงเรียนมัธยมทั่วไป  ถ้าจะประชุมครูผู้สอนก็จะต้องใช้เวลาหลังเลิกเรียน หรือมิฉะนั้นก็ต้องดึงครูจากชั่วโมงสอน  แต่นี่เราสามารถบริหารจัดการเวลาจนจัดประชุมได้ในบ่ายวันอังคาร  เราถือว่าเวลาที่เราบริหารจัดการได้นี้เป็นวาระแห่งการปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เราประชุมโต๊ะกลมกัน  ไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่มีครูปฏิบัติการ ไม่มีหัวหน้า ไม่มีลูกน้อง  มีแต่คนที่รักโรงเรียน คนที่ศรัทธาต่องานการศึกษา  คนที่ศรัทธาต่อพลังการเรียนรู้  ที่มาคุยกัน มาปรับทุกข์กัน มาโมโหใส่กัน มาปลอบประโลมกัน มาบอกเล่าอวดกันว่าใครทำอะไรแล้วแก้ปัญหาได้ มีความสุข  เมื่อมีพลังแล้วก็ออกจากห้องไปทำงานต่อ… 

                จำไม่ได้ว่าในหลายปีมานี้เราคุยอะไรกันบ้าง(มีบันทึกการประชุม)  ทราบแต่ว่าเฉพาะตัวดิฉันจะจับกระแสต่างๆ ตลอดสัปดาห์ วิเคราะห์เป็นโจทย์คำถามทั้งระดับยุทธศาสตร์และระดับบริหารจัดการ  ยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าต้องมีวิธีการหรือแนวทาง(APPROACH)อย่างไร ก็แค่โยนโจทย์ลงกลางวง  แลกเปลี่ยนกันไปมาด้วยข้อมูลจริงจากสนามของครูใหญ่  ดิฉันฟัง...และมักจะมองเห็นแนวทางก่อน(ตามประสาผู้รู้ราตรีนาน)  ไม่รอช้า...ทดลองเสนอในทันใด  ที่ประชุมตกแต่งติติงกัน  ตามหลักการของเรา คือ ‘ผู้ที่รับผิดชอบคือผู้ที่สิทธิพูด’  ถ้ายังไม่ลงตัวเราจะแขวนไว้ก่อน  จังหวะดีๆ ก็จะยกเรื่องที่แขวนนี้ขึ้นมาคิดใหม่  ถ้าโจทย์ใดพอจะลงตัวก็แบ่งงานกัน  ดิฉันทำในส่วนยุทธศาสตร์และบริหารระบบ  ครูใหญ่นำระบบไปปฏิบัติโดยหาวิธีปฏิบัติเองและเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์กลับมาประเมินคำตอบที่เราแก้โจทย์  จากนั้นจะปรับปรนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะลงตัว  สร้างนวัตกรรมที่ทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จในการพัฒนานักเรียนมากจริงๆ  มากอย่างไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้เรายังทำได้เป็น SCALE ที่ใหญ่ด้วย  ในขณะที่ที่อื่นทำกันเป็นชุมนุม  เราทำได้ทั้งโรงเรียน  มาวันนี้นวัตกรรมเหล่านั้นก็ได้กลายเป็นองค์ความรู้ที่พวกเราชาว กล. ภูมิใจ

เวทีที่สอง พัฒนาได้ในวันเวลาที่ใกล้เคียงกับเวทีวันแรก ได้แก่ เวทีงานจัดการเรียนรู้(6โรงเรียนเล็ก)ในวันพฤหัสบดี  อันที่จริงน่าจะเป็นเวทีแรกที่เราพัฒนาได้เมื่อเราจัด STAFF OFFICE และยกเลิกห้องพักครู เวทีนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูประจำชั้น ไม่ค่อยเป็นทางการ(แต่มีบันทึกการเรียนรู้ของเวที)เพราะมีเวลาในสำนักงานโรงเรียนเล็กทั้งวัน  เวทีนี้ได้ทำให้การกระจายอำนาจถึงตัวครูประจำชั้นเป็นรายบุคคลบังเกิดผล  เป็นเวทีที่ถอดความรู้จากการทดลองใช้นวัตกรรมจากเวทีแรก  เราค้นพบครูที่ดีจากเวทีนี้

มาวันนี้เราพบว่า  เวทีวันอังคารได้สร้างเครือข่ายการพัฒนาเยาวชนในโรงเรียนขึ้นมา  โดยที่ดิฉันไม่ทันสังเกตเห็น  เหมือนผลไม้ที่เกิดแฝงตัวอยู่ใต้ใบบัง  ดิฉันรดน้ำพรวนดินไปตามประสา  มาสำเหนียกอีกที่ก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว เครือข่ายพัฒนาตัวมันเองเพราะงานการศึกษานั้นมีโครงสร้างเป็นเครือข่ายอยู่แล้ว  เมื่อเราจัดกลุ่มภารกิจสอดคล้อง มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายก็ปรากฏเหมือนผลไม้ที่ปรากฏหากเราปลูกและดูแลถูกต้อง

อร่อยด้วย...

เป็นอันว่า การนิเทศภายในของดิฉัน คือ การสนับสนุนให้มีเวทีไว้ก่อน  จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาไป  ให้เวลาและการปฏิบัติเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ  นี่ก็เป็นความรู้ใหม่ของเรา  ประสบการณ์ที่กงไกรลาศวิทยา แสดงแก่ดิฉันว่า ครูของเรา นักเรียนของเรา พ้นจากสภาพ ‘อ่อนแอ แบเบาะ เปราะบาง’ ไปนานแล้ว  เป็นอันว่า เราสร้างปัจจัยแห่งชุมชนนักปฏิบัติได้แล้ว  ส่วนจะเป็นนักปฏิบัติได้จริงๆ เมื่อไร...ก็แล้วแต่...เหตุปัจจัย 

 

เวทีวันอังคารและวันพฤหัสฯ เป็นการถักทอมิติเดียว คือแนวราบ  ยังมีอีกสามเวทีที่พัฒนาขึ้นได้ภายหลัง  ติดตามนะคะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 469024เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2011 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท