เตรียมตัวสู่อาเซียน ตอนที่ 2 "7 อาชีพในอาเซียน"


7 อาชีพในอาเซียน

 

          จากบทความที่แล้วซึ่งเกริ่นนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวสู่ “อาเซียน” ตอนที่ 1 ที่ผู้เขียนได้พูดอย่างกว้าง ๆ ในความเป็นมาของการรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ การทำข้อตกลงร่วมกัน การทะลายกำแพงภาษีระหว่างประเทศสมาชิก การเดินสะพัดของเม็ดเงินระหว่างประเทศ การยกเว้นไม่ต้องขอวีซ่าในการเดินทางไปยังประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ และการกำหนดให้มีการใช้  ภาษาอังกฤษ”  เป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิก ท่านสามารถอ่านย้อนหลังได้ที่ http://www.gotoknow.org/blog/niparat/463197

   สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต ๓ ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยเรื่อง  "ขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน" ณ โรงแรมการิน จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 โดยมี ดร.เบญจลักษ์  น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และมี ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ เป็นวิทยากรบรรยาย

  

 

    

     ผู้เขียนจะขอเจาะลึกถึงรายละเอียดเป็นด้าน ๆ ไป

              เรากำลังจะก้าวเข้าสู่อาเซียนแบบเต็มรูปแบบ  หากจะมองในด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีประชากรประมาณ 650 ล้านคน นับว่าอาเซียนของเราเป็นฐานเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เป็นรองแค่ประเทศจีนและอินเดียเท่านั้น  ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเชีย ซึ่งกำหนดให้จัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) ข้อตกลงหนึ่งในนั้นคือ มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีเฉพาะแรงงานฝีมือ ที่เริ่มต้นใน 7 สาขาอาชีพ อันประกอบไปด้วย สาขาวิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี นั่นก็หมายถึงว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป แรงงานฝีมือทั้ง 7 สาขาอาชีพ สามารถไปทำงานในประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้ โดยไม่ต้องขอ Work Permit (ใบอนุญาตทำงาน) ซึ่งในปัจจุบันนี้ การที่เราจะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศหรือคนต่างชาติจะเข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องดำเนินการขอ Work Permit จากสำนักงานจัดหางานของประเทศนั้น ๆ หากไม่มีเราจะไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

           ในข้อตกลงดังกล่าวยังครอบคลุมถึงจะต้องได้รับค่าแรงเท่าเทียมกันกับประชากรเจ้าของประเทศและได้รับสิทธิการเสียภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกับคนในประเทศนั้น ๆ ทั้งยังครอบคลุมสวัสดิการทางสังคม ทำให้เกิดการถ่ายเทแรงงาน กระจายการจ้างงานระหว่างประเทศ ตลาดแรงงานเปิดกว้างขึ้น เกิดการแข่งขันกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะต้องพัฒนาฝีมือแรงงานอาชีพให้มีความเชี่ยวชาญและชำนาญ ผลพลอยได้อีกอย่างคือจะเกิดกลไกทางเศรษฐกิจลดอัตราการตกงานหรือว่างงานในประเทศให้ลดน้อยลง

            จะเห็นได้ว่า นอกจากเราจะต้องตื่นตัวในการเรียนรู้ ภาษาอังกฤษ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนแล้ว เรายังต้องเตรียมพร้อมสำหรับพัฒนาแรงงานฝีมือในกลุ่ม 7 สาชาวิชาชีพ เพื่อเตรียมป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานอาเซียน ที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี นับว่าข้อตกลงดังกล่าวนี้ทำให้มีการเปิดกว้างในด้านความต้องการแรงงานฝีมือทั้ง 7 สาขาวิชาชีพ

             ในมุมมองของผู้เขียน ยังมองระบบการเรียนการสอน "ภาษาอังกฤษ" ในประเทศไทย ผิดพลาดอย่างมหันต์ ที่มุ่งเน้นการสอนไวยากรณ์เป็นหลัก แต่ไม่ได้พยายามฝึกทักษะด้านการสื่อสารให้กับเด็ก ๆ ทำให้เด็กไทยหลายคนเกิดความเบื่อหน่ายวิชาภาษาอังกฤษและมองว่าเป็นวิชาที่ยาก ไม่กล้าที่จะพูดหรือสื่อสารภาษาอังกฤษ เพราะกลัวจะผิดหลักไวยากรณ์ ทำให้ขาดทักษะและความเชื่อมั่นในการสื่อสาร ซึ่งในชีวิตประจำวันหลักไวยากรณ์ไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับ  "ทำอย่างไรถึงจะสื่อสารภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติให้เข้าใจ" หัวใจหลักของการสื่อสารภาษาอังกฤษมีเพียงแค่นั้น 

                   เราควรมีการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในสังกัดตั้งแต่ระดับประถม อาจจะมีการปูพื้นฐานความถนัดทางวิชาชีพอย่างกว้าง ๆ ให้กับนักเรียนเพื่อให้เขาค้นหาความชอบและค้นพบศักยภาพในตัวเอง ซึ่งเด็กยิ่งค้นพบศักยภาพของตัวเองเร็วขึ้นมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เขามีความมุ่งมั่น สนใจ ที่จะพัฒนาตนเองในด้านนั้น ๆ  เมื่อก้าวเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษา นอกจากโรงเรียนสายสามัญจะมุ่งเน้นสอนเฉพาะวิชาการ ควรมีการบรรจุวิชาชีพให้เป็นวิชาเลือกเสรีที่ให้เด็กสามารถเลือกเรียนตามความถนัดของตนเอง โดยเฉพาะ 7 สาขาวิชาชีพที่เป็นแรงงานฝีมือในกลุ่มอาเซียน และเมื่อก้าวเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางอาชีวะศึกษา หรือมุ่งหน้าเข้าสู่มหาวิทยาลัย นักเรียนได้รับการปูพื้นฐานและทักษะทางวิชาชีพตั้งแต่ระดับประถมและมัธยมมาบ้างแล้ว ทำให้เด็ก ๆ สามารถเลือกเรียนในสาขาวิชาชีพที่ตนเองมีความถนัดและชอบ

               เราต้องคอยชี้แนะให้เด็ก ๆ ได้รับรู้และเข้าใจอนาคตของตลาดแรงงานฝีมือในอาเซียน หากมีการกำหนดทิศทางด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานระดับอาเซียน ในอนาคตประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหา คนตกงานหรือว่างงานอีกเลย

              หากจะมองลึกเข้าไปในรายละเอียดของ 7 สาขาวิชาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรีในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า ล้วนแล้วแต่มีวิชา  คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์  เป็นหัวใจหลักที่จะแตกแขนงไปใน 7 สาขาวิชาชีพดังกล่าว นั่นหมายถึงว่าโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะต้องปูพื้นฐานในสองวิชานี้ให้กับเด็กนักเรียนได้เข้าใจอย่างลึกซื้ง

   

              เราต้องจุดประกายให้กับ ผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียน ตระหนักและหันมาสนใจเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนเพื่อป้อนเข้าสู่วิชาชีพที่มีตลาดอาเซียนรองรับ ทั้ง 7 สาขาวิชาชีพ และมุ่งเน้นพัฒนานักเรียนให้มีทักษะทั้งด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อีกทั้งทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เพื่อมุ่งสู่ตลาดแรงงานระดับอาเซียนในปี 2558

  ติตตามผลงานเขียน ตอนที่ 3 "เลี้ยงลูก....มุ่งอาเซียน" ได้ที่นี่น่ะค่ะ  http://www.gotoknow.org/blog/niparat/469444                                                                                

หมายเลขบันทึก: 469021เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2011 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2013 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

"..ไม่ต้องมีใบ Work Permit ในการทำงานและในข้อตกลงดังกล่าวยังครอบคลุมถึงจะต้องได้รับค่าแรงเท่าเทียมกันกับประชากรเจ้าของประเทศ.."

จุดนี้น่าสนใจมากคะ..
ว่าประเทศไทยจะเป็นฝ่ายดึงดูด หรือถูกดูด แรงงานฝีมือ
ในระยะแรก ที่ภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรง ภาษาไทยเป็นภาษาที่เรียนไม่ง่าย
พยากรณ์ว่า สิงคโปร์ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษ และค่าครองชีพสูง จะเป็นแหล่งดึงดูดมากที่สุด.
เท่าที่พบเห็นมาบ้าง
สิงคโปร์ขาดแคลน แพทย์ปฐมภูมิ ( Primary care doctor) = เช่นเดียวกับบ้านเราขาด
มีการดึงแพทย์จากมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เมียนมาร์ ด้วยวิธีคล้ายการให้ทุนแล้วมีสัญญาทำงานใช้ทุนคืน แบบบ้านเรา

เรียน คุณ ป.

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูก "ดึง หรือ ดูด" แรงงานระหว่างประเทศ ย่อมเป็นผลดีทั้งสองด้าน ที่สำคัญคือ ตลาดแรงงานจะไม่แคบเฉพาะในประเทศไทย แต่กว้างถึงอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และจะเกิดกลไกการแข่งขันพัฒนาฝีมือแรงงานระหว่างประเทศกันเอง

มาชม

อีกสาขาหนึ่งพึงเรียนรู้ คือ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา ครับ

เพราะสาขานี้สอนให้รู้จักคุณค่าทางศีลธรรมจริยธรรมที่น้อมนำมาใส่ใจจิตใจมนุษย์

สบายดีนะครับผม

เรียน ดร.Umi

ได้ไอเดียเขียนบทความตอนต่อไปว่าด้วยเรื่อง "ปรัชญาและศาสนา" จากอาจารย์อีกแล้วค่ะ ขอบคุณน่ะค่ะที่ชี้ช่องทาง

สบายดีค่ะอาจารย์ มรสุมทางโน้นเพลาลงยังค่ะ ทางนี้เริ่มหนาวแล้วค่ะ

  • จะมาตามข่าวคราว/ความก้าวหน้า ต่อๆไป
  • ขอขอบคุณในสาระดีๆที่นำมาแบ่งปันครับ

เรียน คุณ http://www.gotoknow.org/profiles/users/samsuk222 สามสัก

ด้วยความยินดี ที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อประเทศชาติค่ะ

น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้มาก เพราะดิฉันเป็นบุคคลหนึ่งที่ชอบภาษาอังกฤษมากเป็นพิเศษ ถึงแม้จะไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษมาโดยตรง แต่ก็ยังอยากได้รับการพัฒนาภาษาอังกฤษมาก และหวังว่า สพป.อด.๓ จะเปิดอบรมภาษาอังกฤษขึ้นอีกครั้ง

เรียน เพื่อนครู

เราเปิดอบรมครั้งแรก ค่าลงทะเบียนแค่ 300 บาท มีอาจารย์ชาวอเมริกัน จบ ดร.ด้านเทคนิคการสอน มาสอนโดยตรง แต่ปรากฏว่า มีครูเข้าอบรมแค่ไม่กี่คน ทั้ง ๆ ที่เขตประชาสัมพันธ์ ลงทั้งเว็บและสื่ออื่น ๆ ค่ะ

ขอบพระคุณ ดร.พจนา, คุณ ป., คุณสามสัก

ที่ชอบบันทึกนี้ค่ะ

  • ชอบเรื่องนี้
  • ตั้งใจจะเขียนการสอนภาษาแต่ยังไม่มีเวลา
  • เอาเรื่องนี้มาฝากก่อนนะครับ
  • http://www.youtube.com/watch?v=B5pTWYvpYig

เรียน อ.ขจิต ฝอยทอง

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยือนน่ะค่ะ จะเข้าไปติดตามผลงานอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท