กฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสัญชาติและกฎหมายคนเข้าเมืองของประเทศฝรั่งเศส


รวบรวมประเด็นน่าสนใจที่ได้จากการเสวนาเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยสัญชาติและกฎหมายคนเข้าเมือง รวมถึงความเห็นและประสบการณ์ของผู้เขียน

บันทึกจากการเสวนา Loi n° 2011-672 du 16 juin 2011 relative à l’immigration, à l’intégration et à la nationalité 

                เมื่อวันจันทร์ที่ 7 พ.ย. 2554 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปร่วมเสวนาวิชาการที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Lille II ในหัวข้อเรื่อง Loi n° 2011-672 du 16 juin 2011 relative à l’immigration, à l’intégration et à la nationalité ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ผู้เขียนจึงอยากนำเรื่องราวรวมทั้งประเด็นต่างๆที่น่าสนใจมาบันทึกไว้ ซึ่งจะว่าไปเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้เขียน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีท่านผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้สนใจในเรื่องนี้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือให้คำชี้แนะที่มีประโยชน์แก่วงการนิติศาสตร์ต่อไป อันที่จริงกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมถึงเรื่องการแปลงสัญชาติเป็นฝรั่งเศสด้วย แต่ในการเสวนานั้นได้ให้น้ำหนักไปในส่วนของ “คนเข้าเมือง” และ “สิทธิของคนต่างด้าว” เสียมากกว่า

                ก่อนอื่นคงต้องเกริ่นเสียก่อนว่าในกฎหมายฝรั่งเศสนั้น คำที่ใช้เรียกคนต่างด้าวคือ un étranger ซึ่งผู้เขียนรู้สึกชอบคำนี้มากว่า Alien ที่ทำให้นึกถึงสิ่งมีชีวิตจากดาวอื่นใน The X-Files มากกว่ากฎหมายที่เกี่ยวด้วยคนต่างด้าวหรือคนเข้าเมือง ที่สำคัญคือความรู้สึกของการที่ต้องเป็นคนต่างด้าวในฝรั่งเศส ทำให้ไม่ชอบคำว่า Alien เอาเสียเลย (แม้ว่าที่มาของคำนี้ในทางประวัติศาสตร์ จะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง แปลกแยกระหว่างคนท้องถิ่นกับคนที่มาจากต่างแดนก็ตาม)  จะเห็นได้ว่า“สิทธิของคนต่างด้าว” นั้นเรียกว่า les droits des étrangers

                เพื่อเป็นการปูพื้น จึงต้องทราบเสียก่อนว่ากฎหมายหลักฉบับใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคนเข้าเมืองและสัญชาติ

                - ประมวลกฎหมายแพ่ง Code civil (Livre 1er)  เกี่ยวด้วยเรื่องสัญชาติ การได้มาซึ่งสัญชาติฝรั่งเศส

                - ประมวลกฎหมาย Code de l’entrée et du séjour des étrangers et du droit d’asile

                - นอกจากนี้ก็มีกฎหมายฉบับก่อนหน้าอีกหลายฉบับ และมาถึงฉบับล่าสุดคือ Loi n° 2011-672 du 16 juin 2011 relative à l’immigration, à l’intégration et à la nationalité

                เหตุใดจึงต้องมีกฎหมายฉบับใหม่นี้?  คำตอบคือ เพื่อเป็นการแก้ไขกฎหมายฝรั่งเศสให้สอดคล้องกับกฎหมายสหภาพยุโรป (Transition de directive européenne)  โดยแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่ง และประมวลกฎหมายคนเข้าเมือง ฯ

                สิ่งสำคัญที่ควรสังเกตคือ กฎหมายใหม่นี้มีวัตถุประสงค์หลักสองประการ คือ “เพื่อสนับสนุนคนต่างด้าวที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ” รวมถึงคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมายที่ได้สิทธิพำนักในฝรั่งเศสแล้ว ทั้งนี้เพื่อทำให้กระบวนการต่างๆในการยื่นขอวีซ่าสำหรับคนกลุ่มนี้เป็นไปโดยง่ายและสะดวก เป็นการจูงใจให้คนต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถและประกอบวิชาชีพขั้นสูงเข้ามาทำงานในฝรั่งเศส ประการต่อมาคือ “เพื่อแก้ไขปัญหาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต” ด้วยการใช้วิธีส่งตัวกลับประเทศต้นทาง

                สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกอยู่เสมอคือ เมื่อต้องแก้ปัญหาเกี่ยวกับคนเข้าเมือง กฎหมายฉบับแรกที่ต้องพิจารณายังคงเป็น Code de l’entrée et du séjour des étrangers et du droit d’asile เช่นเดิม รวมไปถึงนิยามของคำว่า “คนต่างด้าว” ก็ต้องพิจารณาจากมาตรา L111-1 ซึ่งหมายถึง บุคคลที่ไม่มีสัญชาติฝรั่งเศส หรือบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐอื่น หรือบุคคลไร้สัญชาติ 

                หัวข้อสำคัญที่กล่าวถึงในการเสวนาครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 เรื่องหลักๆ กล่าวคือ การเข้าเมือง การพำนักอาศัย และการบังคับให้ออกจากดินแดน

                I. การเข้าเมือง (Entrée)

แน่นอนว่าเอกสารที่จะทำให้คนต่างด้าวเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายก็คือ วีซ่า  ซึ่งตามปกติแล้วการอนุมัติวีซ่าให้บุคคลใดหรือไม่นั้นเป็นอำนาจพิจารณาหรือดุลพินิจ (pouvoir discrétionnaire) แต่เพียงฝ่ายเดียวของรัฐดังกล่าว และในการปฏิเสธวีซ่าแต่ละครั้งก็ไม่จำต้องให้เหตุผลประกอบการปฏิเสธแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามกฎหมายใหม่นี้กำหนดให้รัฐฝรั่งเศส (สถานกงสุล) ต้องให้เหตุผลประกอบการปฏิเสธใน 2 กรณีด้วยกัน คือ

1. กรณีที่คนต่างชาตินั้น “สมรส” กับคนสัญชาติฝรั่งเศส

2. กรณีที่คนต่างชาตินั้น “จดทะเบียน Pacte civil de solidarité : Pacs” กับคนสัญชาติฝรั่งเศส

อาจมีคำถามว่า แล้วสองกรณีต่างกันอย่างไร ผู้เขียนจะไม่ลงลึกในรายละเอียดสิทธิหน้าที่ แต่ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เพศของคู่สมรสต้องต่างกัน คือ หญิงกับชาย ในขณะที่เพศของคู่ Pacs ไม่จำเป็นต้องต่างกัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเข้าเมือง นั่นก็คือ “การกักบริเวณ” หรือ Maintien en zone d’attente ซึ่งเป็นเขตที่มีอยู่ตามสนามบิน ที่มีชื่อเสียงในการกักบริเวณชาวต่างชาติได้จำนวนมากในแต่ละปี ก็คือ Zone d’attente Roissy CDG นั่นเอง จากสถิติทางการฝรั่งเศสกักคนต่างชาติได้ปีละประมาณ 60,000 คนที่สนามบินแห่งนี้

คนต่างชาติที่จะถูกกักไว้ในเขตนี้ คือ ผู้ที่ไม่มีวีซ่าตั้งแต่ประเทศต้นทาง หรือพวกที่มีวีซ่า แต่หมดอายุ และไม่มีเอกสารหลักฐานอื่นๆมาแสดงเพื่อผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองนั่นเอง เช่น หากวีซ่า titre de séjour ที่เคยมีอยู่หมดอายุ และไม่มีเอกสารแสดงการยื่นขอต่ออายุวีซ่าที่เรียกว่า Récépissé หากคนต่างชาตินั้นเดินทางออกนอกประเทศฝรั่งเศสก่อนได้รับ วีซ่าตัวจริง ก็จะทำให้ไม่สามารถกลับเข้าฝรั่งเศสได้อีก (อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าถ้าคนต่างด้าวนั้นเป็นคนไทย ก็ไม่น่าจะเดินทางออกจากประเทศไทยได้ตั้งแต่แรก เนื่องจากการ Check-in ที่เคาน์เตอร์สายการบินก็จะต้องถูกตรวจวีซ่าก่อนหนึ่งรอบ หรือไม่เช่นนั้นผู้เขียนก็แนะนำให้ยื่นขอวีซ่าที่เรียกว่า Visa de retour จากสถานกงสุลในไทยเพื่อกลับเข้าฝรั่งเศสต่อไป)  

อนึ่ง การที่คนต่างด้าวถูกกักตัวไว้ในเขตดังกล่าวนี้ ถือว่าบุคคลนั้นยังมิได้ “เข้าเมือง” กล่าวคือเป็นสถานภาพก้ำกึ่ง เพราะยังมิได้ผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง แต่กำลังรอตรวจเอกสารต่างๆ หากเอกสารไม่ครบจะถูกส่งตัวออกนอกประเทศ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งสำหรับประเทศในสหภาพยุโรป นั่นก็คือ การที่คนต่างชาติไม่มีวีซ่าเข้าฝรั่งเศส เมื่อถูกกักตัวไว้และให้ออกจากฝรั่งเศส นั่นหมายความว่าบุคคลนั้นย่อมไม่สามารถเดินทางไปยังประเทศอื่นๆใน Schengen ได้ แต่จะต้องกลับสู่ประเทศต้นทางเท่านั้น  

มีประเด็นเกิดขึ้นว่า การกักตัวคนต่างชาติไว้ในเขตดังกล่าวนี้ (ภายในสนามบิน) จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนในการเดินทาง (Liberté de circulation) ในเรื่องนี้ Conseil constitutionnel ได้ตัดสินไว้ว่า การที่คนต่างชาติถูกกักตัวไว้ในเขตดังกล่าว จะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญนั้นหาได้ไม่ เนื่องจากคนต่างชาตินั้นยังคงมีเสรีภาพเต็มที่ในการออกไปจากดินแดนฝรั่งเศสและจะไปทันทีก็ได้ หมายความว่า จะไปไหนก็ได้ ยกเว้นเข้ามาในฝรั่งเศสนั่นเอง (ฟังแล้วนั่งขำ..แต่ต้องยอมรับว่าแต่ละรัฐย่อมมีอำนาจพิจารณาว่าจะให้บุคคลใดเข้าเมืองได้หรือไม่ โดยต้องพิจารณาจากเอกสาร หลักฐานต่างๆ รวมไปถึงความมั่นคงของรัฐ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป)

 

                II. การพำนักหรืออยู่อาศัย (Séjour)  

เมื่อเข้าเมืองได้โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิ่งต่อมาที่ต้องคำนึงคือ สิทธิในการพำนักอาศัยในประเทศฝรั่งเศส ตามปกติทางการฝรั่งเศสได้แบ่งประเภทของวีซ่าไว้เป็นจำนวนมาก วีซ่าแต่ละประเภทจะมีอายุไม่เท่ากัน ความยากง่ายในการขอก็แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งกฎหมายใหม่หรือ Loi 2011 นี้ ให้ความสำคัญกับคนเข้าเมืองที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ (l’immigration professionnelle) เป็นอย่างยิ่ง โดยจะออกวีซ่าเฉพาะ หรือ titre de séjour particulier ที่มีชื่อว่า Carte bleue européenne ให้คนกลุ่มนี้ (ดูมาตรา L313-10 Code de l’entrée et du séjour des étrangers et du droit d’asile)

สำหรับเงื่อนไขหลักๆนั้น ประการแรกต้องเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย ประการต่อมา ต้องมีสัญญาจ้าง หรือสัญญาว่าจะรับเข้าทำงานในฝรั่งเศส และต้องเป็นงานในระดับวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งกฎหมายใช้คำว่า une activité professionnelle hautement qualifiée ส่วนอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นวิชาชีพเหล่านี้ ต้องเทียบจากกฎหมายแรงงานฝรั่งเศส SMIC

                นอกจากนี้ผู้ป่วยอาการสาหัส ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าหากต้องเดินทางออกนอกประเทศแล้วอาจถึงแก่ชีวิตได้หรือผู้ป่วยด้วยโรคที่พิสูจน์ได้ว่าไม่มีวิธีการรักษาโรคดังกล่าวในประเทศต้นทาง หรือถึงจะมี ก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลนั้นได้ เนื่องจากค่ารักษาแพงมาก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ากรณีหลังนั้นมีความเป็นไปได้มากที่จะทำให้ได้อยู่ต่อในฝรั่งเศส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอรับการรักษาพยาบาล ผู้เขียนเคยมีเพื่อนรุ่นพี่ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เธอป่วยเป็นโรคลูคีเมียหรือมะเร็งในเม็ดเลือด และอาการเริ่มทรุด หากกลับไปประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศต้นทางก็คงไม่อาจเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดในราคาไม่แพงได้ แต่หากได้รับการต่ออายุ titre de séjour เพื่อให้สามารถอยู่ในฝรั่งเศส เธอก็จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะสามารถยื่นเรื่องขยายความคุ้มครองจากประกันสุขภาพของนักเรียน (sécurité sociale) ให้ครอบคลุมได้ เช่นนี้เป็นต้น

                ประเด็นต่อมาซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากก็คือ การแต่งงาน เพื่อให้ได้ titre de séjour ระยะยาว (ยังไม่ต้องไปไกลถึงเรื่องการได้สัญชาติฝรั่งเศส) ตามปกติเราเรียกการแต่งงานที่คู่สมรสต่างสมรสเพื่ออำนวยประโยชน์ให้อีกฝ่ายว่า le mariage blanc เช่น ให้เงินตอบแทน หรือจ้างให้แต่งงานเพื่อแลกกับวีซ่าระยะยาว แน่นอนว่าการสมรสประเภทนี้เกิดจากเจตนาฉ้อฉล และเป็น mariage nul มาตั้งแต่แรก  แต่ยังมีคำศัพท์ใหม่ๆที่นักนิติศาสตร์คิดขึ้น เช่น mariage gris หรือ mariage gris foncé  การสมรสที่เรียกว่า “สมรสสีเทา”นั้น เป็นกรณีที่คู่สมรสชาวต่างชาติมีเจตนาสมรสเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์จากจากการสมรสกับคนฝรั่งเศส นั่นคือ วีซ่าระยะยาว ซึ่งการพิสูจน์เป็นเรื่องยาก จะทราบได้อย่างไรว่าคนต่างชาติแต่งงานเพราะอยากได้สิทธิพำนักอาศัยในฝรั่งเศส เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ คงต้องนำสืบพฤติกรรมเสียมากกว่า แต่เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาล แน่นอนว่าศาลฝรั่งเศสย่อมใช้สมมติฐานที่ว่าคนฝรั่งเศสไม่มีเจตนาแอบแฝงและเป็นผู้บริสุทธิ์ที่แต่งงานโดยสุจริต แต่โดนหลอก ในขณะที่ชาวต่างชาติย่อมน่าสงสัยและอาจแต่งงานไปด้วยความไม่สุจริต เช่นนี้เป็นต้น (ในเรื่องนี้ไม่ได้มีการอ้างเลขคำพิพากษา จึงไม่แน่ใจว่าจะมีชาวต่างชาติคนใดถูกตัดสิทธิพำนักในฝรั่งเศสและส่งตัวกลับด้วยเหตุนี้หรือไม่)

ต่อมาเป็นการสมรสที่เรียกว่า “สมรสสีเทาเข้ม” กรณีนี้ดูจะหนักหนาสาหัสกว่ากรณีที่เพิ่งกล่าวไป ความหมายของการแต่งงานชนิดนี้ก็คือ คู่สมรสชาวต่างชาติมีเจตนาไม่สุจริตและสมรสเพื่อให้ได้สิทธิพำนักอาศัยในฝรั่งเศส จากนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อน่าสงสัย หรือวางแผนเพื่อให้การถูกส่งตัวกลับประเทศเป็นไปได้ยาก โดยการ “มีบุตร” ด้วยกันกับคนฝรั่งเศส (นี่คนฝรั่งเศสคิดนะ)  เนื่องจากการมีบุตรดูเป็นเรื่องน่าเห็นใจ และไร้มนุษยธรรมหากมารดาต่างชาติถูกส่งกลับประเทศและบุตรของเธอต้องอยู่ในฝรั่งเศสกับบิดาเพียงลำพัง  ในเรื่องนี้ผู้เขียนเองและผู้ร่วมเสวนาอื่นๆต่างก็สงสัยว่าจะพิสูจน์ได้อย่างไร มันช่างดูซับซ้อนซ่อนเงื่อนเสียเหลือเกิน หากมีคดีขึ้นจริงๆ คงต้องหาหลักฐานจากพฤติกรรมเช่นกัน อย่างไรก็ตามผู้เขียนเคยพบครอบครัวหนึ่งที่ชายฝรั่งเศสสมรสกับหญิงชาวเกาหลี แต่รายนี้ไปไกลเพราะเธอได้สัญชาติฝรั่งเศสไปแล้ว ทั้งสองมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน หลังจากได้สัญชาติฝรั่งเศสไปไม่นาน หญิงเกาหลีได้ทอดทิ้งสามีและบุตรซึ่งยังเล็กมากไปเสีย ทราบมาว่าเธอไปหางานทำและเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เมืองอื่น แต่การพิสูจน์ให้ได้ว่าเธอสมรสกับชายฝรั่งเศสโดยไม่ได้รัก และต้องการได้สิทธิพำนักและสัญชาติฝรั่งเศสตามลำดับนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เธออาจจะรักในตอนที่สมรส แต่ต่อมาสามีอาจไม่ดีพอ เลยเปลี่ยนใจไม่รักแล้วและไม่อยากอยู่ร่วมกันอีกก็เป็นได้ จะมีเพียงเรื่องการทิ้งบุตรซึ่งยังเล็กมากไว้กับสามีเท่านั้นที่ทำให้ข้อกล่าวหาข้างต้นดูมีน้ำหนัก 

 

            III. Mesures d’éloignement

ครั้งแรกที่เห็นคำนี้ รู้สึกว่าช่างเลือกใช้คำเสียเหลือเกิน ถ้าแปลตรงตัวแบบขำๆ คงได้ว่า วิธีการทำให้ไปซะไกลๆ แต่เป็นทางการคงต้องเรียกว่า “มาตรการส่งตัวกลับสู่ประเทศต้นทาง” หรือถ้ามีท่านผู้เชี่ยวชาญท่านใดที่พอจะทราบศัพท์เฉพาะที่ใช้กับกรณีนี้ ต้องขอความกรุณาแนะนำผู้เขียนด้วย

กรณีที่คนต่างด้าวจะถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทางนั้น แบ่งได้ 2 กรณี

1. การพำนักอาศัยในฝรั่งเศสของคนต่างด้าวนั้นเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศฝรั่งเศส คนต่างด้าวนั้นจะถูกเนรเทศ หรือ Expulsion

2. การพำนักอาศัยนั้นผิดกฎหมาย โดยแบ่งได้ว่า

                2.1 คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองตั้งแต่แรก การพำนักนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายไปในตัว

                2.2 คนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมายแต่การพำนักอาศัยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากสถานะของคนต่างด้าวได้เปลี่ยนไป กล่าวคือ เริ่มจากการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย ต่อมา titre de séjour หมดอายุ และไม่สามารถต่ออายุหรือรัฐฝรั่งเศสปฏิเสธไม่ต่ออายุให้  

กรณีนี้คนต่างด้าวจะตกอยู่ภายใต้มาตรการที่เรียกว่า L’obligation de quitter du territoire français : OQTF 

โดยคนต่างด้าวกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวกลับโดยวิธีที่เรียกว่า OQTF  ซึ่งฝ่ายปกครองจะมีอำนาจสั่งการ หรือเรียกให้สวยงามว่าเชิญให้ออกจากดินแดนฝรั่งเศสในเวลาที่กำหนด เช่น 30 วัน หรือ 60 วัน เป็นต้น หรือกรณีเป็นภัยอย่างร้ายแรง คำสั่งเนรเทศอาจมีผลบังคับใช้ทันที (exécutoire immédiatement)  ข้อสังเกตคือ วิธี OQTF นั้น มีผลแตกต่างจากการเนรเทศ (Expulsion) เนื่องจากคำสั่งให้ออกนอกดินแดนแบบ OQTF  นั้นเป็นคำสั่งที่มิได้ห้ามการกลับเข้ามาในฝรั่งเศสอีกครั้ง หากคนต่างด้าวมีวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าฝรั่งเศสอย่างถูกต้องในอนาคต ในขณะที่การเนรเทศ (Expulsion) มีผลห้ามคนต่างด้าวนั้นกลับเข้ามาในดินแดนฝรั่งเศสตลอดกาล

คนต่างด้าวจะทำอย่างไรได้บ้าง ? หากมีทนายคอยช่วยเหลือ ข้อต่อสู้ที่ต้องใช้อาจเป็นการต่อสู้ว่า การปฏิเสธไม่ต่ออายุ titre de séjour โดยฝ่ายปกครองฝรั่งเศสนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นคำสั่งให้ออกจากดินแดนฝรั่งเศสย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยเช่นกัน

คำถามหนึ่งที่น่าคิดคือ มาตรการขับไล่หรือเชิญออกนอกดินแดนฝรั่งเศสนั้น นอกจากจะถูกนำมาใช้กับคนต่างด้าวทั่วๆไป ที่เรียกว่า étranger แล้วจะนำมาใช้กับคนต่างด้าวประเภทพลเมืองของสหภาพ ressortissant européen หรือไม่ คำตอบก็คือใช้ (ดูมาตรา L511-1) ทั้งนี้เพราะทุกรัฐสมาชิกยังมีอำนาจอธิปไตย การจัดการกับพลเมืองของตนหรือจะให้ใครออกจากดินแดนย่อมเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของแต่ละรัฐ  นอกจากนี้หากย้อนกลับไปพิจารณาประมวลกฎหมายคนเข้าเมืองฯ จะเห็นว่ามีบทบัญญัติทั่วไปที่ใช้กับคนต่างด้าวและพลเมืองของบางรัฐ (Livre 1er) โดยจะมีบทบัญญัติสำหรับพลเมืองสหภาพยุโรปและสวิตเซอร์แลนด์ไว้ต่างหาก (Titre 1er) จากพลเมืองของรัฐอื่นๆ (Titre 2)

                ซึ่งกฎหมายใหม่ Loi 2011 ได้เปิดโอกาสให้คนต่างด้าวที่โดนมาตรการ OQTF ให้เดินทางออกจากฝรั่งเศสภายในกำหนดระยะเวลา เช่น 30 วัน สามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่ทราบคำสั่ง เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว หรือคำสั่งห้ามกลับเข้าประเทศฝรั่งเศสเสีย (และให้ยื่นคำร้องภายใน 48 ชั่วโมงสำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางออกนอกประเทศซึ่งมีผลบังคับทันที)   

                นอกจากนี้ในกรณีที่คนต่างด้าวไม่สามารถเดินทางออกนอกฝรั่งเศสได้ตามคำสั่งและระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้ต้องเดินทางออก ได้สิ้นสุดลงและไม่อาจส่งตัวคนต่างด้าวนี้ไปยังประเทศใดๆได้เลย และคนต่างด้าวนี้ต้องมีบุตรผู้เยาว์อยู่ในฝรั่งเศส ซึ่งคนต่างด้าวนั้นมีความจำเป็นต้องดูแลความเป็นอยู่และการศึกษาของบุตร หากพิจารณาแล้วไม่สามารถใช้วิธีกักบริเวณไว้เฉพาะที่อยู่อาศัยได้ ฝ่ายปกครองมีอำนาจพิจารณาตัดสินให้ใช้วิธีติดสายรัดข้อมืออิเล็คทรอนิคส์ไว้ที่ตัวคนต่างด้าวเป็นการชั่วคราว โดยกำหนดบริเวณที่สามารถเดินทางได้ให้คนต่างด้าวนั้น (เช่น โรงเรียน ตลาด บ้าน) จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง หมายความว่าจะเดินทางออกนอกบริเวณที่กำหนดไว้ไม่ได้เลย ซึ่งตามปกติแล้ววิธีการนี้มีใช้แต่เฉพาะในกฎหมายอาญาเท่านั้น จึงเป็นประเด็นถกเถียงว่าเหมาะสมหรือไม่ที่นำวิธีการควบคุมหรือกักบริเวณแบบเดียวกับที่ใช้กับผู้กระทำผิดตามกฎหมายอาญามาใช้กับคนต่างด้าวที่ไม่ได้มีความผิดประเภทเดียวกัน  ผู้เขียนเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีในระดับหนึ่งเมื่อยังหาหนทางให้แก่คนต่างด้าวไม่ได้ เพราะจะส่งไปประเทศอื่นก็ไม่ได้ จะรับไว้ในฝรั่งเศสก็ไม่ได้  นอกจากนี้วิธีการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวแต่สามารถขยายระยะเวลาได้ โดยผู้พิพากษาที่เรียกว่า le juge des libertés et de la détention

                จากประสบการณ์ ผู้เขียนเคยพบแค่กรณีของคนที่ได้รับจดหมายเชิญออกนอกประเทศ เนื่องจากถูกปฏิเสธการต่ออายุวีซ่า titre de séjour แต่ยังไม่เคยพบขั้นที่ต้องถูกกักบริเวณมาก่อน 

หมายเลขบันทึก: 468666เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2011 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านหาความรู้

อ่านหาความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท