กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของประเทศฝรั่งเศส (ตอนที่ 2)


สรุปสาระสำคัญของกฎหมายฝรั่งเศสว่าด้วยสัญชาติรวมถึงกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2011

(ตอนที่ 2)

สถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังที่ฝรั่งเศสได้รับอิสรภาพเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กฎหมายว่าด้วยสัญชาติฉบับใหม่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1945 มีแนวโน้มไปในทางเปิดกว้างและยอมรับการได้มาซึ่งสัญชาติฝรั่งเศสของคนต่างด้าวโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนาเหมือนในช่วงที่ผ่านมา

                แต่เมื่อเข้าสู่ยุคแห่งการปลดปล่อยอาณานิคม เช่นกรณีของประเทศอัลจีเรีย ซึ่งทำสงครามสู้รบกับฝรั่งเศส และต่อมาได้รับเอกราช แต่กลับเกิดปัญหาบางประการเกี่ยวกับสัญชาติขึ้น นั่นคือ กรณีที่กฎหมายฝรั่งเศสกำหนดไว้ให้เด็กที่เกิดในฝรั่งเศสทุกคนได้สัญชาติฝรั่งเศสนั้น ย่อมรวมไปถึงเด็กที่เกิดจากบิดามารดาชาวอัลจีเรียในฝรั่งเศสด้วย แน่นอนว่ามีคนจำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะประเทศตนได้รับอิสรภาพไปแล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่จะยังคงใช้สัญชาติฝรั่งเศสต่อไป จึงเกิดเหตุการณ์ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นคนฝรั่งเศสโดยไม่ได้ต้องการและไม่คาดคิด จึงมีคำถามว่าเด็กเหล่านี้จะสละสัญชาติฝรั่งเศสได้หรือไม่ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่ากฎหมายในยุคทศวรรษที่ 80 บัญญัติว่า “บุคคลที่เกิดในฝรั่งเศสจะได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยกำเนิดหากบิดาหรือมารดาเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศอัลจีเรียหรือในดินแดนอาณานิคมอื่นๆของฝรั่งเศส และในกรณีนี้บุคคลนั้นไม่อาจสละสัญชาติฝรั่งเศสได้”[1]

                เมื่อต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสัญชาติอีกครั้งในปี 1986 ได้มีการพิจารณาคงหลัก (Double jus soli) ที่มีอยู่เดิมเอาไว้ กล่าวคือ เด็กที่เกิดในฝรั่งเศส จากบิดาหรือมารดาที่เกิดในฝรั่งเศส จะได้รับสัญชาติฝรั่งเศสตั้งแต่แรกเกิด ในขณะที่เด็กที่เกิดในฝรั่งเศสจากบิดาหรือมารดาต่างด้าวนั้นจะได้รับแจ้งให้เด็กเลือกสัญชาติได้ในภายหลัง  อย่างไรก็ตามวิธีการแสดงเจตจำนงยังมีข้อด้อยอีกประการหนึ่งที่สร้างปัญหาไม่น้อยไปกว่าปัญหาแรก ทั้งๆที่ดูเหมือนไม่น่าจะเกิดขึ้น กล่าวคือ ต้องไม่ลืมว่าในความเป็นจริงแล้วใช่ว่าประชาชนทุกคนจะรู้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยสัญชาติซึ่งมีรายละเอียดมากมายและซับซ้อน ด้วยเหตุนี้เยาวชนจำนวนไม่น้อยจึงไม่ได้มาแสดงเจตจำนงเมื่ออายุครบเกณฑ์ เนื่องจากคนเหล่านี้เชื่อว่าตนเองเป็นคนฝรั่งเศสอยู่แล้วและเข้าใจว่าจะยังคงเป็นต่อไปในอนาคตนั่นเอง กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เด็กที่เกิดในแคว้น Alsace ซึ่งเข้าใจว่าตนเองเกิดในฝรั่งเศส และเป็นคนฝรั่งเศส แต่หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วนั้นตนมีสถานะเป็นคนต่างด้าว (เยอรมัน) เนื่องจากเกิดในช่วงที่ Alsace ถูกครอบครองโดยเยอรมนี ทำให้เด็กเหล่านี้มิได้มาแสดงความจำนงขอใช้สัญชาติฝรั่งเศสต่อทางการเมื่ออายุครบเกณฑ์[2]

                ในกฎหมายปี 1993 ได้หันมาใช้วิธีให้แสดงเจตจำนงว่าต้องการถือสัญชาติฝรั่งเศส สำหรับเด็กที่เกิดในฝรั่งเศสจากบิดามารดาต่างด้าว โดยให้แสดงเจตจำนงเมื่อมีอายุ 16-21 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องอยู่อาศัยในฝรั่งเศสเป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปีก่อนยื่นคำร้อง อย่างไรก็ตามระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ห้าปีนี้กลับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเยาวชนที่จะแสดงเจตจำนงถือสัญชาติฝรั่งเศส และเป็นเหตุให้คำร้องถูกปฏิเสธไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาพความเป็นจริงทางสังคมในขณะนั้นสะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนส่วนใหญ่ที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มักจะว่างงานและไม่สามารถพิสูจน์ให้ทางการเห็นได้ว่าตนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งติดต่อกันเป็นระยะเวลาห้าปีก่อนที่จะยื่นคำร้อง

 

กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน

เงื่อนไขการได้มาซึ่งสัญชาติฝรั่งเศส 

 1) การได้มาซึ่งสัญชาติโดยการเกิด 

                ก. หลักสืบสายโลหิต 

หลักการได้มาซึ่งสัญชาติโดยการสืบสายโลหิตนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคประมวล   กฎหมายปีค.ศ. 1803 ซึ่งเป็นผลให้เด็กทุกคนที่เกิดจากบิดาหรือมารดาฝรั่งเศสได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์นี้ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลัง

มาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งปัจจุบัน (C. civ.) ได้วางหลักไว้ว่า “บุตรที่เกิดจากบิดาหรือมารดาซึ่งมีสัญชาติฝรั่งเศส ย่อมมีสัญชาติฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” นอกจากนี้กฎหมายยังได้ขยายความในส่วนของบุตรบุญธรรมที่เรียกว่า l’adoption plénière (ตามมาตรา 343-359 C. civ.) ให้มีสิทธิในการได้สัญชาติตามมาตรานี้ด้วย

อย่างไรก็ดี เด็กที่ได้สัญชาติตามมาตรานี้ มีทางเลือกที่จะปฏิเสธไม่ใช้สัญชาติฝรั่งเศสก็ได้ ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการด้วยกัน นั่นคือ ข้อแรก บิดาหรือมารดาเพียงคนใดคนหนึ่งเป็นคนฝรั่งเศส และข้อสอง เด็กนั้นไม่ได้เกิดในดินแดนฝรั่งเศส (มาตรา 18-1) เหตุผลที่กฎหมายยอมให้เด็กที่เข้าเงื่อนไขครบสองประการนี้สามารถสละสัญชาติฝรั่งเศสได้นั้น เป็นเพราะว่าจุดเกาะเกี่ยวระหว่างตัวเด็กและประเทศฝรั่งเศสนั้นมิได้ใกล้ชิดอย่างเช่นกรณีเด็กเกิดในฝรั่งเศสจากบิดามารดาฝรั่งเศสนั่นเอง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเด็กที่จะสละสัญชาติฝรั่งเศสได้นั้นต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามีสัญชาติอื่นอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดกรณีของคนไร้สัญชาติ (l’apatride) นั่นเอง ส่วนรูปแบบของการแสดงเจตนานั้นเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 – 26-5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง

ที่น่าสนใจคือข้อยกเว้นของข้อยกเว้นที่ทำให้เด็กที่ได้สัญชาติฝรั่งเศสตามมาตรา 18 นี้ไม่อาจปฏิเสธสัญชาติฝรั่งเศสได้ กล่าวคือ กรณีที่บิดาหรือมารดาของเด็กนั้น ได้รับสัญชาติฝรั่งเศสก่อนที่เด็กจะบรรลุนิติภาวะ หมายความว่า เดิมทีเด็กได้รับสัญชาติฝรั่งเศสตามมาตรานี้เพราะมีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งสัญชาติฝรั่งเศส และเมื่อปรากฏว่าบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวอยู่ในขณะที่เด็กเกิดได้กลายเป็นคนสัญชาติฝรั่งเศสในเวลาต่อมาก่อนที่บุตรของตนจะบรรลุนิติภาวะ เช่นนี้บุตรนั้นจะไม่มีโอกาสสละสัญชาติฝรั่งเศสได้อีก

                ข. หลักดินแดน 

จากที่เราได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า นับแต่ปีค.ศ. 1803 เป็นต้นมานั้น ข้อเท็จจริงว่าเกิดในดินแดนฝรั่งเศสแต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่อาจทำให้เด็กดังกล่าวได้รับสัญชาติฝรั่งเศสโดยทันทีอีกต่อไป หากแต่ต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอื่นๆที่กำหนดไว้ในกฎหมายอีกด้วย กล่าวคือ

                1. เด็กเกิดในฝรั่งเศสและบิดามารดาคนใดคนหนึ่งเกิดในฝรั่งเศส

เนื่องจากเด็กคนนี้มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดต่อประเทศฝรั่งเศสนั่นเอง เห็นได้ว่าการที่บิดาหรือมารดาของเด็กเกิดในฝรั่งเศสและตัวเด็กเองก็เกิดในฝรั่งเศส เป็นการยืนยันว่าเด็กนั้นเป็นคนรุ่นที่สามที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม กรณีข้างต้นนี้กฎหมายยังเปิดโอกาสให้เด็กเลือกที่จะมีสัญชาติฝรั่งเศสหรือไม่ก็ได้ ซึ่งมีสองช่วงเวลาที่จะสละสัญชาติได้คือ จะต้องสละภายใน 6 เดือนก่อนบรรลุนิติภาวะหรือภายในหนึ่งปีนับแต่บรรลุนิติภาวะ นอกจากนี้เด็กจะเสียสัญชาติฝรั่งเศสทันทีนับแต่วันที่ได้แสดงเจตนาดังกล่าวตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 23-9) 

สิ่งสำคัญอีกประการเช่นเดียวกับกรณีการได้สัญชาติตามหลักสืบสายโลหิต นั่นคือ เด็กจะปฏิเสธสัญชาติฝรั่งเศสไม่ได้หากการกระทำนั้นอาจทำให้เด็กตกอยู่ในสภาวะไร้สัญชาติ 

 

                2. เด็กเกิดในฝรั่งเศสที่อาจจะตกอยู่ในสภาวะไร้สัญชาติ (l’apatridie)

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้หากยอมให้เด็กปฏิเสธไม่ใช้สัญชาติฝรั่งเศส คือ เด็กนั้นอาจเสี่ยงต่อการคนเป็นคนไร้สัญชาตินั่นเอง อันเป็นกรณีของเด็กเกิดในฝรั่งเศสแต่ไม่อาจได้รับสัญชาติของรัฐอื่นมาจากบิดามารดาตามหลักสืบสายโลหิต สาเหตุที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ก็เนื่องมาจากมั่นใจว่าการบังคับให้เด็กที่เกิดในรัฐตนนั้นต้องมีสัญชาติของรัฐนี้จะไม่ขัดต่อความประสงค์ของรัฐอื่น เพราะไม่ปรากฏว่ามีรัฐเช่นว่านั้น  เด็กที่จะเข้ากรณีตามมาตรา 19 นี้มีสามประเภท ได้แก่ 1) เด็กที่ไม่ปรากฏตัวบิดามารดา 2) เด็กที่ถูกพบในฝรั่งเศสและมีบทสันนิษฐานตามกฎหมาย (มาตรา 58 C. civ.) สันนิษฐานว่าเกิดในฝรั่งเศส และ 3) เด็กที่ไม่อาจได้รับสัญชาติของบิดามารดาตามหลักสืบสายโลหิตได้  อย่างไรก็ตามการได้มาซึ่งสัญชาติฝรั่งเศสตามมาตรานี้คงเป็นเพียงสัญชาติชั่วคราวที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือสละได้ในอนาคต หากพิสูจน์ได้ว่าเด็กมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับรัฐอื่น หมายความว่าความเสี่ยงต่อการตกเป็นคนไร้สัญชาติได้หมดไปแล้วนั่นเอง    

 

2) การได้มาซึ่งสัญชาติภายหลังการเกิด

            ก. ได้มาโดยอัตโนมัติ (de plein droit) 

กรณีที่ 1 เกิดและอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส

เป็นกรณีตามมาตรา 21-7 ถึง 21-11 C. civ. ซึ่งกำหนดให้การได้สัญชาติฝรั่งเศสต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าเด็กนั้นเกิดและอาศัยในฝรั่งเศสมาโดยตลอด เป็นหลักที่บัญญัติไว้ตั้งแต่ครั้งกฎหมายปีค.ศ. 1889  และกฎหมายในปัจจุบันได้ให้สัญชาติฝรั่งเศสแบบที่เรียกว่า “ได้มาโดยอัตโนมัติ” หรือ de plein droit ทันทีที่บุคคลที่เข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้ได้บรรลุนิติภาวะ  

                1. เกิดในดินแดนฝรั่งเศส

                2. อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสจนบรรลุนิติภาวะ และ

                3. มีถิ่นที่อยู่ประจำในฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง หรือหากไม่ต่อเนื่อง จะต้องเป็นกรณีที่การไม่อยู่ในฝรั่งเศสนั้นน้อยกว่า 5 ปี นับแต่อายุได้ 11 ปี ตัวอย่างเช่น เมื่ออายุ 11 ปี อาจย้ายออกไปอยู่ต่างประเทศเป็นระยะเวลาหนึ่งซึ่งน้อยกว่า 5 ปี แต่ต่อมาได้กลับเข้ามาอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสก่อนอายุ 16 ปี

อย่างไรก็ตามบทบัญญัตินี้มิได้ใช้บังคับแก่บุตรของนักการทูตหรือกงสุลที่มาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศฝรั่งเศส

กรณีที่ 2 ได้สัญชาติฝรั่งเศสพร้อมกับบิดาหรือมารดา

กล่าวคือ มีกรณีที่เด็กจะได้รับสัญชาติฝรั่งเศสเมื่อบิดาหรือมารดาได้สัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นการได้แบบอัตโนมัติเช่นกัน อาจเป็นกรณีที่เด็กต้องแสดงเจตนาเพื่อถือสัญชาติฝรั่งเศส หรือเป็นกรณีที่ได้มาโดยการแปลงสัญชาติก็ได้ แต่ในกรณีหลังนี้ ในประกาศราชกิจจาต้องมีชื่อเด็กนั้นและระบุให้ได้สัญชาติฝรั่งเศสด้วย

นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าเด็กจะต้องอาศัยอยู่กับบุพการีฝ่ายที่ได้สัญชาติฝรั่งเศสข้างต้น แต่หากมีการหย่าหรือแยกกันอยู่ในภายหลัง ก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด เด็กจะเลือกอยู่กับบิดาหรือมารดาก็ได้ (มาตรา 22-2 C. civ.) 

อนึ่ง เด็กที่ได้สัญชาติพร้อมกับบิดาหรือมารดานี้มีทางเลือกที่จะสละสัญชาติฝรั่งเศสก็ได้ หากเด็กนั้นเกิดในต่างประเทศและยังไม่บรรลุนิติภาวะ (มาตรา 18-1 C. civ.) โดยการแสดงเจตนาตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดเหมือนอย่างกรณีอื่นๆที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

            ข. ได้มาโดยการแสดงเจตนา 

กรณีที่ 1 ได้มาโดยการสมรสกับคนฝรั่งเศส

หากว่ากันตามกฎหมายเก่าที่ประกาศใช้ในปีค.ศ. 1803 นั้น หากหญิงต่างด้าวสมรสกับชายฝรั่งเศส หญิงนั้นจะได้รับสัญชาติฝรั่งเศสในทันที ในขณะเดียวกันหญิงฝรั่งเศสที่สมรสกับชายต่างด้าวก็จะสูญเสียสัญชาติฝรั่งเศสของตนด้วยเช่นกัน สังเกตได้ว่าในอดีตนั้น การสมรสมิได้ส่งผลกระทบใดๆต่อสัญชาติของฝ่ายชายแม้แต่น้อย ต่อมากฎหมายปีค.ศ. 1927 บัญญัติให้หญิงฝรั่งเศสยังคงมีสัญชาติฝรั่งเศสอยู่แม้ว่าจะสมรสกับชาวต่างชาติก็ตาม ซึ่งเราได้ศึกษามาแล้วจากวิวัฒนาการข้างต้น และตั้งแต่ปีค.ศ. 1973 กฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “การสมรสมิได้มีผลใดๆต่อสัญชาติ” (มาตรา 21-1) หากคู่สมรสชาวต่างชาติต้องการถือสัญชาติฝรั่งเศสก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เสียก่อน (มาตรา 22-2) เช่นเดียวกันกับที่ชายหรือหญิงฝรั่งเศสเองก็สามารถเลือกที่จะสละสัญชาติฝรั่งเศสเพื่อไปใช้สัญชาติของคู่สมรสได้  

อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งสัญชาติโดยการสมรสนี้เป็นเพียงการได้มาโดยชั่วคราวเท่านั้น กล่าวคือ รัฐบาลฝรั่งเศสมีอำนาจตามมาตรา 21-4 ในการตรารัฐบัญญัติ (Décret) เพื่อคัดค้านโดยเหตุที่คู่สมรสชาวต่างชาตินั้นไม่อาจปฏิบัติตนให้กลมกลืนกับสังคมฝรั่งเศสได้หรือมีความประพฤติที่เรียกได้ว่าไม่มีศักดิ์ศรี น่าอับอาย เช่น กรณีการสมรสแบบหลายภริยา (Polygamy) ซึ่งในบางสังคมเป็นเรื่องยอมรับได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม แต่ในฝรั่งเศสถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือกรณีที่คู่สมรสต่างชาตินั้นลงโทษบุตรผู้เยาว์โดยใช้วิธีการรุนแรง (violence) โดยสรุปก็คือ การแสดงเจตนาว่าจะถือสัญชาติฝรั่งเศสที่ได้มาโดยการสมรสก็จะไม่มีผลใดๆทั้งสิ้น   

กรณีที่ 2 ได้มาโดยผลของการรับบุตรบุญธรรมประเภท (l’adoption simple)

เป็นผลมาจากการที่คนฝรั่งเศสรับบุตรบุญธรรมที่เป็นต่างชาติ ทำให้บุตรผู้เยาว์นั้นได้รับสัญชาติฝรั่งเศสด้วย แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการเสียก่อน (มาตรา 21-12 และมาตรา 26) เนื่องจากการรับบุตรบุญธรรมแบบ l’adoption simple ไม่ทำให้บุตรบุญธรรมได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยอัตโนมัติ หรือ de plein droit (ซึ่งต่างจากการรับบุตรบุญธรรมแบบ l’adoption plénière) กล่าวคือ ตัวบุตรบุญธรรมนั้นต้องอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสในขณะที่มีการแสดงเจตนาเพื่อถือสัญชาติฝรั่งเศส อนึ่ง ผู้รับบุตรบุญธรรมนั้นไม่จำต้องอยู่ด้วย แต่อย่างน้อยต้องมีถิ่นที่อยู่ประจำในฝรั่งเศส ที่สำคัญคือ เด็กจะต้องแสดงเจตนาถือสัญชาติฝรั่งเศสก่อนบรรลุนิติภาวะเท่านั้น

ที่น่าสนใจคือ กฎหมายฝรั่งเศสเปิดโอกาสให้แก่ผู้เยาว์ซึ่งมิได้ผ่านกระบวนการรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมายสามารถแสดงเจตนาถือสัญชาติฝรั่งเศสได้ตามมาตรา 21-12 นี้เช่นกัน เป็นกรณีที่ผู้เยาว์ “ได้อาศัยอยู่กับคนฝรั่งเศสในประเทศฝรั่งเศสอย่างน้อยห้าปีและได้รับการเลี้ยงดูจากบุคคลนั้น” กล่าวคือ เสมือนเป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวนั้นนั่นเอง หรือ กรณีที่ผู้เยาว์ “อยู่ในความดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็ก (le service de l’aide sociale) เป็นเวลาอย่างน้อยสามปีขึ้นไป” หรือ กรณีที่ผู้เยาว์เข้ามาอยู่ในความดูแลและได้รับการเลี้ยงดูในฝรั่งเศสภายใต้เงื่อนไขบางประการที่ทำให้ผู้เยาว์นั้นมีสิทธิได้รับการศึกษาแบบฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาอย่างน้อยห้าปี ไม่ว่าจากองค์กรของรัฐหรือเอกชน ซึ่งเป็นองค์กรตามประกาศของ Conseil d’État  

 

กรณีที่ 3 ได้มาเนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นคนฝรั่งเศส (คนฝรั่งเศสตามข้อเท็จจริง)

เป็นกรณีที่กฎหมายเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถได้มาซึ่งสัญชาติฝรั่งเศสได้ หากพิสูจน์ได้ว่าตนเป็นบุคคลที่จัดว่ามีสถานภาพเป็น “คนฝรั่งเศส” อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีก่อนที่จะแสดงเจตนาถือสัญชาติฝรั่งเศสตามมาตรา 21-13 อาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของการชำระคนฝรั่งเศสตามข้อเท็จจริงให้กลายเป็นคนฝรั่งเศสตามกฎหมาย คือได้สัญชาติฝรั่งเศส เรียกว่า la régulalisation  เนื่องจากคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในฝรั่งเศส ปฏิบัติตนเหมือนคนฝรั่งเศสทั่วไป พูดภาษาฝรั่งเศส เรียนหนังสือ ทำงานในฝรั่งเศส ที่สำคัญรัฐก็ปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้เหมือนคนฝรั่งเศสอื่นๆ  แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขทั้ง 3 ประการ กล่าวคือ

ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นคนฝรั่งเศส  ซึ่งอย่างไรจึงถือว่าเป็นคนฝรั่งเศสนั้น เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา ทั้งนี้สิ่งที่อาจใช้พิสูจน์ความเป็นคนฝรั่งเศสตามข้อเท็จจริง ได้แก่ อยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีบัตรประชาชน ทำงานให้แก่รัฐ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับใช้ชาติในทางใดทางหนึ่ง  หากพิจารณาคำพิพากษาศาลสูงฝรั่งเศสประกอบกันแล้วจะเห็นว่า สิ่งที่ศาลต้องการคือ ความประสงค์อย่างแน่วแน่ของบุคคลนั้นในการจะได้รับสัญชาติฝรั่งเศส[3]

เงื่อนไขประการที่สอง คือ ความเป็นคนฝรั่งเศส หรือพฤติกรรมที่เรียกว่าเป็นคนฝรั่งเศสนั้นต้องมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยตลอดเป็นระยะเวลา 10 ปี

เงื่อนไขประการสุดท้ายคือ ต้องมีการแสดงเจตนาตามแบบที่กฎหมายกำหนด

 

กรณีที่ 4 การคืนสู่สัญชาติฝรั่งเศส

กฎหมายให้โอกาสแก่คนฝรั่งเศสที่ได้กลายเป็นคนต่างชาติไปแล้วสามารถกลับคืนสู่การเป็นคนฝรั่งเศสได้

ซึ่งตามปกติแล้วการได้คืนสัญชาติจะจัดอยู่ในหัวข้อถัดไปเนื่องจากต้องตราเป็นกฎหมาย แต่ยังมี 4 กรณีที่ถือว่าเป็นการได้คืนสัญชาติโดยการแสดงเจตนา

1. เป็นกรณีที่บุคคลผู้ขอคืนสัญชาติฝรั่งเศสแสดงให้เห็นได้ว่าสัญชาติฝรั่งเศสที่ตนเสียไปเป็นสัญชาติที่ได้มาตามหลักสืบสายโลหิต ซึ่งจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนมีความสัมพันธ์ที่ชัดแจ้งกับประเทศฝรั่งเศส (มาตรา 21-14)

2. คู่สมรสของทหารผ่านศึก ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคู่สมรสของตนที่ได้เสียชีวิตไปนั้น เคยเป็นทหารรับใช้ชาติในหน่วยรบต่างๆหรือได้ไปร่วมรบในยามสงครามให้แก่ประเทศฝรั่งเศส

3. บรรดาสมาชิกรัฐสภาที่มาจากอาณานิคม ที่เสียสัญชาติฝรั่งเศสไปตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมต่างๆ ซึ่งต้องแสดงให้เห็นว่าตนมีภูมิลำเนาอยู่ในฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังรวมถึงคู่สมรส หรือคู่สมรสที่เป็นหม้าย บุตรของคนเหล่านี้ สามารถแสดงเจตนาเพื่อขอคืนสู่สัญชาติฝรั่งเศสได้

4. บุคคลที่เคยเป็นฝรั่งเศส และเสียสัญชาตินี้ไปในระหว่างที่ยังเป็นผู้เยาว์เนื่องมาจากการบังคับใช้อนุสัญญาสตราสบูร์ก (Convention de Strasbourg du 6 mai 1963) ซึ่งต้องพิสูจน์ว่าได้มีภูมิลำเนาอยู่ใน Strasbourg จริงในขณะที่มีการประกาศใช้อนุสัญญานี้ และแสดงเจตนาขอคืนสัญชาติได้

 

            ค. ได้มาโดยผลของกฎหมาย  

กรณีที่ 1 การแปลงสัญชาติ

คนต่างชาติที่คุณสมบัติไม่เข้าเงื่อนไขอื่นๆในการได้มาซึ่งสัญชาติฝรั่งเศสนั้น หากรัฐเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมที่จะรับเข้าไว้เป็นประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ก็อาจให้ได้สัญชาติโดยการแปลงสัญชาติก็เป็นได้ รัฐบาลฝรั่งเศสมีอำนาจตรารัฐบัญญัติ (Décret) เพื่อให้สัญชาติแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งถือเป็นดุลพินิจของรัฐโดยแท้ อันที่จริงอำนาจในการให้สัญชาติแก่คนต่างด้าวนั้นมีมาช้านานแล้วนับแต่การปกครองระบอบเก่า (l’Ancien Régime) กล่าวคือ กษัตริย์สามารถออก “หนังสือแปลงชาติ” (Lettres de naturalité) ให้แก่บุคคลที่พิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็นคนฝรั่งเศสได้  ต่อมาในยุคหลังก็มีการออกกฎหมายแปลงสัญชาติให้อย่างสม่ำเสมอ อย่างที่ได้ศึกษามาแล้วในตอนต้นว่าชาวยิวจำนวนมากได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยการแปลงสัญชาติ แต่ก็ถูกถอนสัญชาติโดยกฎหมายที่ตราขึ้นภายหลัง

                สำหรับเงื่อนไขของการแปลงสัญชาตินั้นสามารถแบ่งออกได้ในส่วนของรูปแบบและส่วนที่เป็นพื้นฐาน

                ก. เงื่อนไขพื้นฐาน  มีทั้งสิ้น 5 ประการ ได้แก่

1. อายุ คนต่างด้าวที่ประสงค์จะขอแปลงสัญชาตินั้นต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี (มาตรา 21-22)

2. การพำนักอาศัย ต้องอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไปนับถึงวันที่ยื่นคำร้อง (มาตรา 21-17) สำหรับระยะเวลาในการพำนักอาศัยนี้จะลดลงเหลือเพียงสองปีสำหรับบุคคลที่มีประวัติการศึกษาระดับสูงในฝรั่งเศสหรือปรากฏว่ามีความสามารถพิเศษที่มีประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งอาจเป็นด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรมหรือด้านการกีฬาก็ได้ (มาตรา 21-18 แก้ไขเพิ่มเติมโดย Loi 2011)

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาที่ต้องอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสนั้นอาจไม่จำเป็นสำหรับบุคคลที่เข้ารับราชการทหารในกองทัพฝรั่งเศสหรือ มีประโยชน์ประการอื่นต่อประเทศหรือได้รับการยอมรับว่าอยู่ในสถานะผู้อพยพ (réfugié) (มาตรา 21-19)

สำหรับนักเรียนนักศึกษานั้นมิได้อยู่ในสถานะที่จะยื่นขอแปลงสัญชาติได้ เพราะกฎหมายมิให้นับระยะเวลาระหว่างการศึกษาในฝรั่งเศสเข้าไว้ด้วย หากแต่ให้นับจากวันที่เริ่มต้นประกอบอาชีพในฝรั่งเศส

3. ถิ่นที่อยู่ภายหลังการแปลงสัญชาติ คนต่างด้าวนั้นต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส แม้ว่าจะได้รับการแปลงสัญชาติแล้วก็ตาม เนื่องจากคำพิพากษาศาลปกครองถือว่าที่อยู่ดังกล่าวนี้เป็นศูนย์รวมประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวงของบุคคล กล่าวคือเป็นทั้งที่ติดต่อหาตัวได้สำหรับทางการและบุคคลอื่นๆ และยังเป็นที่พำนักพักพิงอีกด้วย

4. มีการดำเนินชีวิตและศีลธรรมที่ดี กล่าวคือ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขไม่สร้างปัญหานั่นเอง   อันที่จริงเงื่อนไขข้อนี้ได้ปรากฏมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกแล้ว และยังคงใช้ต่อมาจนปัจจุบัน เห็นได้ว่าเงื่อนไขข้อนี้ทำให้ฝ่ายปกครองผู้พิจารณาคำร้องสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางในอันที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติตามคำร้อง (มาตรา 21-23)

นอกจากนี้เงื่อนไขเรื่องการถูกลงโทษตามมาตรา 21-27 ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ต้องกฎหมายกำหนดไว้ อันจะทำให้คำร้องไม่ได้รับการพิจารณา กล่าวคือ ผู้ร้องต้องไม่เคยต้องโทษในการกระทำความผิดทางอาญาหรือละเมิดที่เกี่ยวด้วยประโยชน์พื้นฐานของรัฐหรือการก่อการร้าย นอกจากนี้ต้องไม่เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลาหกเดือนหรือมากกว่านั้น ไม่จะเป็นความผิดฐานใดก็ตาม

5. ความกลมกลืนกับสังคมฝรั่งเศส กล่าวคือผู้ขอแปลงสัญชาติต้องอยู่อาศัยในประเทศฝรั่งเศสได้อย่างกลมกลืนกับสังคม และยังต้องมีความรู้ในทางภาษา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทางสังคมฝรั่งเศสอย่างเพียงพออีกด้วย โดยระดับความรู้และวิธีการในการประเมินนั้นจะกำหนดโดย Conseil d’État นอกจากนี้ยังต้องรู้สิทธิและหน้าที่ในฐานะคนฝรั่งเศสซึ่งมาพร้อมกับสัญชาติฝรั่งเศสด้วย (มาตรา 21-24 และเงื่อนไขที่เพิ่มเติมโดยกฎหมายใหม่ Loi 2011) ซึ่งในการควบคุมความกลมกลืนกับสังคมนั้น ผู้ร้องจะต้องลงลายมือชื่อยอมรับปฎิญญาว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองฝรั่งเศสด้วย

จะเห็นได้ว่าในบรรดาเงื่อนไขทั้งห้าประการนั้น บางข้อก็เป็นเรื่องของจุดเกาะเกี่ยวระหว่างบุคคลผู้ขอแปลงสัญชาติกับรัฐ จึงขอกล่าวถึงการเสริมจุดเกาะเกี่ยวสักเล็กน้อย

                การเสริมจุดเกาะเกี่ยวของปัจเจกชนให้ใกล้ชิดกับรัฐเพียงพอที่จะขอแปลงสัญชาติ            

เป็นแนวคิดที่ M. Paul Lagarde ได้เสนอไว้ต่อคณะกรรมาธิการสัญชาติ โดยเริ่มจากสิ่งที่ผู้ร่างกฎหมายให้ความสำคัญเพื่อพิจารณาว่าบุคคลหนึ่งจะมีสัญชาติของรัฐนั้นหรือไม่ นั่นคือ “ความสัมพันธ์อันใกล้ชิด” ระหว่างบุคคลนั้นกับรัฐ ถ้าเห็นว่าบุคคลนั้นมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับรัฐ ก็จะกำหนดให้สัญชาติแก่บุคคลดังกล่าวโดยมิได้ถามความเห็นใดๆจากบุคคลนั้น เห็นได้ว่าเจตนาของปัจเจกชนมิได้มีบทบาทแต่ประการใดกับกรณีนี้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ปรากฏจุดเกาะเกี่ยวอยู่จริง แต่มิได้ใกล้ชิดกับรัฐอย่างแท้จริงเหมือนเช่นกรณีแรก เช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงเจตนาหรือความจำนงของบุคคลนั้นประกอบ เพื่อเป็นการรับรองหรือเสริมจุดเกาะเกี่ยวของบุคคลให้มีความใกล้ชิดกับรัฐมากขึ้น[4] ด้วยเหตุนี้การที่กำหนดให้บุคคลต้องแสดงเจตนาถือสัญชาติฝรั่งเศสเมื่ออายุครบเกณฑ์จึงควรจะเป็นแต่เฉพาะกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐฝรั่งเศสกับบุคคลนั้นมิได้ปรากฏชัดเจนเพียงพอ ซึ่งเท่าที่พบได้ในกฎหมายปัจจุบัน คือ การมีถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาในฝรั่งเศสนั่นเอง

 

                ข. รูปแบบและกระบวนการ

(กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 21-15, มาตรา 27 ถึงมาตรา 27-2)

ประการแรกเริ่มจากการยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติไปยัง Préfecture de police ที่คนต่างด้าวนั้นมีถิ่นพำนักอาศัย (เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีอยู่ทุกเมือง) หน่วยงานนี้จะตรวจสอบเอกสารต่างๆรวมทั้งคุณสมบัติว่าผู้ร้องมีครบตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และหน่วยงานดังกล่าวจะต้องส่งเอกสารคำร้องเหล่านี้ไปยังรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบการแปลงสัญชาติภายใน 6 เดือนนับแต่วันยื่นเอกสาร ซึ่งรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนี้คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั่นเอง

ในขั้นตอนการตรวจสอบนั้น รมว.มหาดไทยจะพิจารณาว่าจะรับคำร้องดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งโดยหลักการแล้วจะต้องทำคำสั่งภายใน 18 เดือนนับแต่มีการยื่นคำร้อง หากมีคำสั่งไม่รับคำร้องจะต้องให้เหตุผลด้วยเสมอ (ผู้ร้องขอแปลงสัญชาติสามารถอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวต่อศาลปกครอง)  อย่างไรก็ตามแม้ว่าคำร้องดังกล่าวดูเหมือนจะรับไว้ได้ แต่ถ้ารมว.มหาดไทยเห็นว่าการอนุมัติให้แปลงสัญชาติได้ในกรณีนี้เป็นการไม่เหมาะสม รมว.มหาดไทยสามารถเลื่อนการอนุมัติหรือปฏิเสธการแปลงสัญชาติโดยต้องให้เหตุผลประกอบ แต่หากเป็นกรณีที่รมว.มหาดไทยเห็นชอบกับคำร้องขอแปลงสัญชาติ ก็จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแปลงสัญชาติบุคคลนั้นโดยการตรารัฐบัญญัติ (Décret) ต่อไป

ในกรณีที่พบในภายหลังว่าผู้ร้องเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ทางการสามารถถอนรัฐบัญญัติดังกล่าวได้ภายในหนึ่งปีนับแต่มีการประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา หรือหากเป็นกรณีที่พบว่ามีการฉ้อฉลเกิดขึ้น รัฐสามารถถอนรัฐบัญญัติเสียได้ภายในสองปีนับแต่มีการพบการฉ้อฉลนั้น ผลก็คือ เป็นการถอนสัญชาติฝรั่งเศสนั่นเอง

ผลจากการได้แปลงสัญชาติตามกฎหมายนี้ก็คือ คนต่างด้าวจะได้สัญชาติฝรั่งเศสนับแต่วันที่มีการตรารัฐบัญญัติ ซึ่งเป็นผลให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และสิทธิต่างๆเช่นเดียวกับคนฝรั่งเศสทุกประการ  

 

กรณีที่ 2 การได้คืนสัญชาติ

เป็นการได้กลับคืนสู่สัญชาติฝรั่งเศสโดยผลของกฎหมาย (รัฐบัญญัติ) ซึ่งจะใช้ในกรณีของคนที่เคยถือสัญชาติฝรั่งเศสและต่อมาได้กลายเป็นคนต่างด้าวไปเสีย ทั้งนี้ต้องเป็นคนประเภทที่ไม่สามารถได้คืนสัญชาติฝรั่งเศสด้วยการแสดงเจตนา โดยมีกระบวนการต่างๆเช่นเดียวกันกับการขอแปลงสัญชาติที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง แต่มีเงื่อนไขบางประการที่แตกต่างไป กล่าวคือ ผู้ร้องในกรณีนี้สามารถยื่นคำร้องได้ตั้งแต่ยังเป็นผู้เยาว์ และไม่จำเป็นต้องมีถิ่นที่อยู่ในฝรั่งเศสเป็นเวลา 5 ปีอย่างเช่นในกรณีแรกแต่อย่างใด

 

1. Patrick Weil, « L’histoire de la nationalité française… », op.cit., p. 65

2. Id., p. 68

3. Cass. 1er civ., 24 nov. 1993, RCDIP.1994.6

หมายเลขบันทึก: 468658เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2011 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จะเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้เกี่ยวกับกฎหมายฝรั่งเศสค่ะ จะได้บุญค่ะอ้อม

^^ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาอ่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท