บันทึกการสอนวิชา มนุษย์กับการเรียนรู้ ครั้งที่ 1


ผมสังเกตเห็นนิสิตหลายคนยังไม่พร้อมที่จะเรียน สมาธิยังอยู่กับโทรศัพท์มือถือบ้าง อยู่กับสมุดโน๊ตซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับรายวิชานี้บ้าง หลายคนส่งสายตาออกไปนอกห้องผ่านประตูกระจกใสที่มีสนามหญ้าสีเขียวอยู่อีกข้างหนึ่ง หลายคนยังคุยซุบซิบกันอยู่ เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผมประเมินได้ว่า ห้องเรียนยังไม่พร้อม และไม่มี "ศรัทธา" ไม่มี "ฉันทะ" เพียงพอ

วันที่ 11 เดือน 11 ปี 11 หากเขียนติดกันจะได้ 111111 เป็นเลขหนึ่งติดกันถึง 6 ตัว นิสิตหลายคนในชั้นเรียนวันนี้ มองว่า เป็นเลขที่สวย บางคนว่าเป็นเลขที่ดี บางคนคิดว่าเป็นเลขที่ไม่ดี โดยมีเหตุผลของตัวเองต่างๆ นาๆ ผมไม่ได้สรุปใดๆ ให้นิสิต เพียงแต่คิดในใจว่า ผมสมควรที่จะอธิบายให้นิสิตทราบความแตกต่างระหว่าง "ปรมัตถะธรรม" กับ "บัญญัติธรรม" ตั้งแต่ครั้งแรกที่สอนพวกเขาเลยหรือเปล่าหนอ....... สุดท้ายผมสรุปลงใจในวินาทีนั้นว่า ไม่ดีกว่า เพียงแต่ชี้ให้พวกเขาเห็นถึงความแตกต่างๆเท่านั้น

ผมเข้าห้องเรียน หลังจากนาทีที่ 10 ของเวลาเริ่มเรียน (15:00 น. วันศุกร์) พี่หนึ่ง (อ.ดร.อรอุมา ลาสุนนท์) กำลังจะบรรยายเรื่องสมอง เพิ่งจะผ่านกิจกรรมรวมจิตใจ รวมพลังสมาธิก่อนเรียน ด้วยการนั่งหลับตา กำหนดลมหายใจ ความจริงแล้วเราต้องการที่จะทำให้คลื่นสมองของนิสิตอยู่ในช่วงคลื่นต่ำลงหน่อย ก่อนที่จะบรรจุอะไรลงไป ซึ่งตามทฤษฎีจิตตปัญญาแล้ว ในโหมดผ่อนคลายเท่านั้นที่จะเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ผมสังเกตเห็นนิสิตหลายคนยังไม่พร้อมที่จะเรียน สมาธิยังอยู่กับโทรศัพท์มือถือบ้าง อยู่กับสมุดโน๊ตซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับรายวิชานี้บ้าง หลายคนส่งสายตาออกไปนอกห้องผ่านประตูกระจกใสที่มีสนามหญ้าสีเขียวอยู่อีกข้างหนึ่ง หลายคนยังคุยซุบซิบกันอยู่ เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผมประเมินได้ว่า ห้องเรียนยังไม่พร้อม และไม่มี "ศรัทธา" ไม่มี "ฉันทะ" เพียงพอ

ผมใช้เวลาประมาณ 15 นาที ในการเติมให้เต็มในส่วนที่ขาดนั้น โดยผมเริ่มจากขอให้นิสิตหลับตาลง ทันทีที่ผมจบประโยคขอร้องนั้น พี่หนึ่งส่งเสียงมาจากข้างหลังผมว่า "ทำแล้ว หลับแล้ว" นิสิตหลายคนก็พูดขึ้นพร้อมๆ กันว่า ทำแล้ว หลับแล้ว ผมจึงขอร้องให้หลับตาอีกเป็นครั้งที่สอง หลายคนอุทานออกมาว่า "โอ๊ย......" เข้าทางผมพอดีครับ เพราะนิสิตเปล่งเสียงออกมาจากความไม่รู้ความรู้สึกของตนเองว่าไม่ชอบ การรู้และไม่รู้ความรู้สึกของตัวเองนี่แหละคือหัวใจของสิ่งที่่ผมจะสอนเขา ผมไม่ปล่อยโอกาสนั้น ผมบรรยายสลับกับยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดมากขึ้น......และใช้น้ำเสียงสูงต่ำสลับกันเพื่อกระตุ้นความสนใจให้มากขึ้น  ไม่นาน... นิสิตทุกคนในชั้นเรียนก็กำลังนั่งฟังผมพูดอย่างตั้งใจ......เพียงพอ เหมาะสม ที่ผมจะบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายและหลักการพื้นฐานของ "จิตตปัญญาศึกษา" 3 ข้อ โดยมุ่งกระตุ้นแรงบันดาลใจเป็นหลัก ไม่เน้นเนื้อหา (ตรงนี้ผมหวังว่าพี่หนึ่งจะเข้าใจ เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การเรียนการสอนในรายวิชานี้เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ มากกว่าการท่องจำจดแล้วก็จะจอดตอนสอบเหมือนวิชาอื่นๆ)

หลังจากจบการบรรยายแบบที่นิสิตไม่รู้ตัวแล้ว เราพานิสิตทำกิจกรรม 3 อย่าง เพื่อให้พวกเขารู้จักการทำงานของสมองซึกซ้าย-ขวา ได้แก่

1. กิจกรรมกอดอกแบบสบายๆ ระหว่างใครที่แขนซ้ายทับแขนขวากับแขนขวาทับแขนซ้าย จะมีคำอธิบายว่าสมองทำงานแตกต่างกันอย่างไร

2. การประสานมืออย่างสบายๆ ระหว่างที่หัวแม่มือซ้ายทับขวาหรือขวาทับซ้ายก็จะอธิบายต่างกัน

3. การหารูปเมล็ดกาแฟที่คล้ายหัวคนในภาพที่กำหนด หากเจอภายในเวลาที่กำหนดไว้แตกต่างกัน คือ 25 วินาที ภายใน 1 นาที ภายใน 3 นาที และเกิน 3 นาที ก็จะมีคำอธิบายเกี่ยวกับการทำงานของสมองส่วนขวาแตกต่างไป

หลังจากทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ผมให้เวลานิสิตพิจารณาตนเองว่า ทฤษฎีที่กิจกรรมอธิบายไว้ ตรงหรือไม่ตรงกับตนเอง เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ผลปรากฎว่า

นิสิต 88% คิดว่ากิจกรรมนี้ตรงกับตนเอง 12%ไม่ตรงกับตนเอง ประเด็นนี้น่าสนใจมาก และน่าสนใจมากกว่านั้นอีกว่า นิสิตจากเอกใด สาขาใด ใช้สมองซีกซ้ายหรือขวามากกว่า (นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนวิชานี้มาจากหลายๆ สาขาวิชา)

หลังจากนั้นผมก็บรรยายเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการฝึกสมองส่วนขวาและซ้าย ด้วยการการเขียน Mind Map และปิดชั้นเรียนโดยการให้ นิสิตทุกคนเขียน Mind Map ในหัวเรื่องว่า "สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ในชั้นเรียนวันที่ 11 เดือน 11 และปี 11" 

ได้ผลอย่างไรจะมาเล่าให้ฟังต่อไปนะครับ

วันที่ 11 เดือน 11 ปี 11

อ.ต๋อย

 

 

หมายเลขบันทึก: 467930เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2011 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 12:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รอฟังตอนต่อไปค่ะ หรือจะมาเล่าให้ฟังในเวทีครูเพื่อศิษย์ ก็ได้ค่ะ อ.ต๋อย

ขอบคุณครับ คุณอ้อ มีความหวังในใจอย่างยิ่งครับ ว่าวิชานี้แหละที่จะนำพาให้คนไทยมีชีวิตที่มีสุขได้

เช้าวันนี้ได้มีโอกาสเข้ามาอ่านบันทึกการสอน มนุษย์กับการเรียนรู้ ในตอนที่1 รู้สึกว่าแค่อ่านชื่อรายวิชาก็ทำให้น่าสนใจคลิกเข้ามาอ่านค่ะ และคำที่อาจารย์กล่าวว่า ผมมีความมุ่งมั่นที่จะทำ ให้การเรียนการสอนในรายวิชานี้เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ มากกว่าการท่องจำจดแล้วก็จะจอดตอนสอบเหมือนวิชาอื่นๆ กิจกรรมของอาจารย์ นั่งอ่านไปก็ลองทำดูค่ะ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนถนัดซ้ายนำก่อน พอลองสลับข้างก็รู้สึกฝืนๆนิดหน่อยค่ะ แต่ในบนความนี้ไม่มีรายละเอียดบอกคำอธิบายว่าสมองซีกซ้ายและขวา ทำงานแตกต่างกันอย่างไร อยากสอบถามอาจารย์ว่าจะหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสืออะไรบ้างคะ และอยากทราบรายละเอียดกิจกรรม การหารูปเมล็ดกาแฟที่คล้ายหัวคนในภาพที่กำหนด เป็นกิจกรรมมุ่งเน้นให้ทราบถึงอะไรคะ อยากลองทำดูค่ะ ขอบพระคุณอาจารย์สำหรับความรู้ที่ได้รับในเช้าวันนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท