กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๔๓) : ช่วงเวลาที่มหัศจรรย์


เช้าวันรุ่งขึ้น ดิฉันได้รับเมลจากคุณครูแคท - คัทลียา รัตนวงศ์ ที่บอกเล่าถึง"ความสุขที่อยากเล่าให้ฟังแต่เช้า...ขอบคุณสำหรับช่วงเวลามหัศจรรย์นะคะ" และเพื่อให้บันทึกเกี่ยวกับชีวิตที่เรียนรู้...ของครูเพลินฯ" สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงได้นำเอาเรื่องที่ครูแคทเล่าไว้มาแบ่งปันกันด้วยค่ะ

 

.............................

 

ตั้งแต่รู้จักการจัดการความรู้เมื่อประมาณ ๔ ปีมานี้  ก็พยายามเรียนรู้และพยายามบันทึกความรู้ของตัวเองเพื่อถ่ายทอดออกมา  ผลที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือ จากบันทึกความรู้ที่มีได้สะท้อนให้เราเห็นการเรียนรู้  รวมทั้งประวัติศาสตร์ของตัวเองในเส้นทางความเป็นครูที่ค่อยๆ เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนที่มีใจอยากจะเป็นครู เพราะการจัดการความรู้เป็นเครื่องมืออันมีค่าสำหรับการเรียนรู้ที่จะเป็นครูที่ดี

 

เมื่อวานได้เข้าร่วมงานจัดการความรู้ที่โรงเรียนจัดขึ้นเพื่อให้ครูได้แลกเปลี่ยนกัน  หลังจากที่พวกเราได้ทำ Lesson Study และ Open Approach มาแล้ว ๒ ภาคเรียน ได้เข้าใจเจตนาของโรงเรียนที่อยากจะให้เราเห็นความสำเร็จของกันและกัน และได้เห็นพลังของ LS และ OA ในการจัดการเรียนรู้ให้เด็กและของตัวเอง และก็ได้เห็นความสำเร็จตามนั้นจริง ๆ จากเสียงสะท้อนของครูแต่ท่านที่เข้าร่วม

 

แต่ที่ดูเหมือนว่าจะชัดยิ่งกว่าเสียงที่ได้ยิน  นั่นคือสีหน้าและรอยยิ้มของคุณครู  ที่ได้เห็นเต็มๆ ตาตอนที่ตัวเองออกไปยืนร้องเพลงยามเช้าที่หน้าห้องประชุม เป็นโอกาสที่ดีที่ได้เห็นสีหน้าของครูทุกท่านได้ชัดเจน  การสบตากับครูหลายๆ ท่าน  ได้ส่งต่อรอยยิ้มและความสุขให้กัน  เป็นความรู้สึกที่มหัศจรรย์จริง ๆ

 

เช้านี้อยากจะตะโกนว่า “อ๋อ !!!” นี่ไง  ใคร ๆ ที่เขาทำ KM เขาว่า “มันจะทำให้เกิดการไหลเวียนของความรู้ขึ้นในองค์กร”

 

ไม่รู้นะว่า  ในองค์กรอื่น ๆ มันไหลเวียนกันแบบใด  แต่ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา  องค์กรแห่งการเรียนรู้ (ตอนที่เข้ามาที่นี่ใหม่ ๆ เมื่อ ๕ ปีที่แล้ว  คิดว่า เรายังใช้คำนี้ไม่ได้เต็มปาก  แต่เราน่าจะใช้คำนี้ได้แล้ว  นับตั้งแต่เมื่อวาน) ความรู้ของพวกเราเชื่อมโยงเข้าหากันจากสิ่งของที่นำมาจัดแสดงและตัวหนังสือ (นิทรรศการ) สู่คนหนึ่งคน ๒ คน ๓ คน จนเราทุกคนเป็นหนึ่ง    

 

ความรู้  ที่ไม่ใช่เพียงแค่  ความรู้เรื่องของวิธีการ  อันว่าด้วยเรื่องที่คนเป็นครูจำเป็นต้องรู้  แต่ยังหมายรวมถึง “ความรู้สึก” ที่เราเชื่อมโยงกันและกันเข้าไว้ด้วยกัน

 

 เมื่อวานเขียนจึงลงในแบบสอบถามที่ถามถึงการประเมินผลการจัดงานนี้ว่า “เชื่อมโยง “ความรู้” และ “ความรู้สึก” ของ “เรา” เข้าหากัน” 

 

แบบนี้นี่เองที่เรียกว่า “การประชุมแบบเพลินพัฒนา” การประชุมเพื่อการเรียนรู้ สำหรับคนเรียนรู้ ผลที่ได้ก็คือ ความสุขอันเกิดจากการเรียนรู้  และความพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไป 

 

เพลินพัฒนา  “องค์กรแห่งการเรียนรู้” 

 

 

หมายเลขบันทึก: 467595เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2011 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

พี่ครูใหม่ค่ะ

บันทึกนี้มีพลังดีจัง องค์กรแห่งการเรียนรู้ต้องร่วมด้วยช่วยกันสร้างทั้งองค์กร ดีจังเลยค่ะ อ่านแล้วมีความสุขนะคะ ^^

ความปลื้มปีติอย่างนี้ต้องเป็นครูที่ลงมือทำและเห็นผลเป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า

ดีใจด้วยนะค่ะ

ขอบคุณค่ะ เป็นอย่างที่ครูศิริลักษณ์บอกไว้จริงๆ :)

แล้วก็เป็นพลังที่ต้องช่วยกันสร้างเหมือนที่ มะปรางมะเปรี้ยวสะท้อนเอาไว้ด้วยค่ะ

มาเติมพลังให้ตัวเองด้วยการมาอ่านบันทึกเก่า ๆ ของตัวเองค่ะ *___*

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท