แนะหลังน้ำลดกำจัดขยะสกัดโรคฉี่หนูแต่เนิ่น ๆ


โรคฉี่หนู

นายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 หลังจากลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ศูนย์พักพิงเทศบาลตำบลไทรม้า  จังหวัดนนทบุรี ว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้บางจังหวัดอยู่ในภาวะน้ำท่วม  บางจังหวัดอยู่ในภาวะน้ำลด  โรคเล็ปโตสไปโรสิส  หรือโรคฉี่หนู  มักพบการระบาดในช่วงหลังน้ำลด  จังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง  เช่น  นครสวรรค์  พิจิตร  พิษณุโลก  สุโขทัย  อุตรดิตถ์  เป็นต้น  น้ำลดลงแล้ว  เริ่มพบผู้ป่วยโรคฉี่หนูประมาณ 14 ราย จึงเป็นสัญญาณว่า  ถ้าไม่รีบป้องกันแต่เนิ่นๆโรคนี้จะเป็นปัญหาหลังน้ำลดแน่นอนโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งมีหนูท่อจำนวนมากหนูเหล่านี้เป็นพาหนะนำโรคฉี่หนู  โดยหนูจะฉี่ทิ้งไว้ในน้ำแฉะๆ  เมื่อคนเดินเท้าเปล่าไปเหยียบจะติดเชื้อโรคฉี่หนูได้จึงขอให้ประชาชนรีบกำจัดขยะและเศษอาหารเพื่อลดจำนวนหนูท่อดังกล่าว  

โรคฉี่หนู ผู้ป่วยมักมีประวัติเสี่ยงสัมผัสกับสัตว์หรือสิ่งปนเปื้อนกับปัสสาวะของสัตว์ เช่น หนู วัว  ควาย และปนเปื้อนในพื้นที่ที่มีน้ำขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะ  เช่น แอ่งน้ำ    โคลน  ท่อระบายน้ำทิ้ง  ในระยะหลังพบว่าบางพื้นที่เมื่อเกิดอุทกภัยจะมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมาก  ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนู  ได้แก่ ผู้ที่ลุยน้ำหรือแช่น้ำนานๆ หาปลาขณะน้ำท่วม  เชื้อไข้ฉี่หนูจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยการไชเข้าทางบาดแผล  หรือเข้าทาง  เยื้อบุตา  ขณะที่แช่น้ำ  หากมีไข้สูง  ปวดศีรษะ  ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะน่องและโคลนขา     ให้รีบไปพบแพทย์หรือหน่วยแพทย์ที่ออกมาให้บริการในพื้นที่    โดยด่วน  หากไม่รีบรักษาอาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ 

            นายแพทย์พรเทพ  กล่าวต่อไปว่า โรคนี้มีพาหะนำโรคสำคัญคือหนู  ข้อแนะนำในการป้องโรคฉี่หนู  คือ  การลดปริมาณของหนู  โดยการกำจัดขยะ  ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธ์  ที่อยู่อาศัยของหนู  และลดอาหารของหนู  ได้แก่  ขยะเปียก  เศษอาหาร  ในช่วงน้ำท่วมนี้จึงขอให้ช่วยกัน  กำจัดขยะโดยการแยกขยะให้เป็นประเภท  ได้แก่  ขยะแห้ง  ขยะเปียก  ขยะรีไซเคิล  เป็นต้น  เพื่อง่ายต่อการกำจัด  ขยะรีไซเคิลต้องเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่เป็นที่อยู่อาศัยของหนู  ขยะเปียกและเศษอาหาร  เก็บกวาดขยะใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่นไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูและดูแลที่พักให้สะอาดไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนู ส่วนการป้องกันโรคระยะหลังน้ำลดควรสำรวจพื้นที่และปรับสภาพแวดล้อมให้สะอาด  สวมรองเท้าถุงมือยางในการเก็บกวาดบ้านเรือน  ถนนและสาธารณสถาน   เมื่อเสร็จภารกิจต้องรีบอาบน้ำ  ชำระร่างกายให้สะอาด  นอกจากนี้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรคฉี่หนูโดย  โดยหลีกเลี่ยงการแช่น้ำ   ย่ำโคลนนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว  ต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด   ซับให้แห้งโดยเร็วที่สุด   ควรสวมรองเท้า  หรือหุ้มเท้าด้วยถุงพลาสติกที่เหมาะสมสามารถป้องกันน้ำได้  หากต้องลุยน้ำ หรือ เดินบนที่ชื้นแฉะโดยเฉพาะถ้ามีบาดแผลควรระมัดระวังเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานห้ามเดินลุยน้ำโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้สัมผัส

ข้อความหลัก " ลุยน้ำ  ย่ำโคลน เกิดแผล อาจเสี่ยงโรคไข้ฉี่หนู ”

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_11_04_Lep.html

 

คำสำคัญ (Tags): #โรคฉี่หนู
หมายเลขบันทึก: 467483เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมไปลงน้ำช่วยผุ้คน ก็กลัวเหมือนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท