บทเรียนจากไทยสยาม


ความจริงแล้ว โลกนี้เป็นโลกของธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ มนุษย์เป็นเพียงผู้มาอาศัยธรรมชาติเหล่านี้อยู่ แต่พยามจะบังคับใช้ธรรมชาติผู้เป็นเจ้าของบ้านให้เป็นไปตามความต้องการของตน ยิ่งพยายามก็ยิ่งเจ็บปวด เครียด ทุกข์ ล้มเหลว

          วันนี้ขออนุญาตนำบทความของ ท่านอาจารย์ไชย ณ พล ผู้ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่ผู้เขียนเคารพรัก มาแบ่งปันค่ะ

จากหนังสือเกร็ดการบริหารจากเรื่องจริงทั่วโลก โดย ไชย ณ พล

           เมื่อปี ๒๔๘๕ ไทยสยามถูกน้ำท่วมใหญ่หลายจังหวัด เฉพาะที่กรุงเทพน้ำท่วมระดับ ๑-๒ เมตร ทั่วเมืองแม้กระทั่งพระที่นั่งอนันตสมาคม  ประชาชน สมัยนั้นได้ออกมาพายเรือเล่นกันเป็นที่สนุกสนาน อยู่กับน้ำได้ด้วยดี

           ปี ๒๕๕๔ ไทยสยามถูกน้ำท่วมอีกรอบ เฉพาะบางส่วนของกรุงเทพน้ำท่วมระดับ ๑-๒ เมตร รัฐบาลและปะชาชน ตื่นตระหนก ไม่เป็นอันกินอันนอน พยายามต่อสู้กับน้ำ กั้นน้ำกันพัลวัน ทำนบแตกทุกวัน น้ำทะลักเข้าเมืองทุกวัน  ประกาศความสูญเสียใหญ่โต

            มีหลายสิ่งมากที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้

           ประการที่หนึ่ง  คนสมัยก่อนเห็นว่าปรากฏหารณ์ธรรมชาติเป็นเรื่องปกติ และอยู่กับมันอย่างเป็นธรรมชาติ คนทุกวันนี้เห็นว่าปรากฏ- การณ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ตนไม่ต้องการเป็นเรื่องผิดปกติ ต่อสู้เป็นพัลวัน พยายามจะทำให้เป็นไปตามที่ตนต้องการให้ได้

            ความจริงแล้ว โลกนี้เป็นโลกของธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ มนุษย์เป็นเพียง   ผู้มาอาศัยธรรมชาติเหล่านี้อยู่ แต่พยามจะบังคับใช้ธรรมชาติผู้เป็นเจ้าของบ้านให้เป็นไปตามความต้องการของตน ยิ่งพยายามก็ยิ่งเจ็บปวด  เครียด ทุกข์  ล้มเหลว

            หากอยู่กับท่านเจ้าของบ้าน ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้ดีก็สุขีกันได้ตลอด

            ประการที่สอง คนสมัยก่อนฉลาดมากสร้างบ้านยกพื้นสูง มีใต้ถุนด้วยเหตุแห่งความกลมกลืนกับธรรมชาติ เนื่องจากไทยสยามอยู่ในแถบศูนย์สูตร มีอากาศร้อนชื้นผันผวน หน้าร้อนก็ร้อนมาก หน้าฝนฝนก็ชุกมากจนน้ำหลากบ่อยๆ  มีเพียงหน้าหนาวที่ไม่หนาวมาก การยกพื้นสูงจึงมีประโยชน์  หน้าร้อนเวลาร้อนมากก็มาอยู่ใต้ถุน หน้าฝน เวลาน้ำหลากก็อยู่บนบ้าน ให้น้ำไหลลอดใต้ถุนไป

           แต่อนุชนไทยฉลาดน้อยกว่าบรรพชน ชอบปลูกบ้านเลี้ยงปลวกแนบดิน หน้าร้อนก็ร้อนมาก หน้าน้ำหลากน้ำก็เข้าบ้าน ไม่มีที่อยู่ 

           ประการที่สาม  คนสมัยก่อนมีความเป็นธรรมในจิตใจ จังหวัดอื่นๆ ท่วม กรุงเทพฯก็ท่วม แบ่งความเย็นกันไป

           คนสมัยนี้ไม่เป็นธรรม พยายามรักษากรุงเทพ โดยผันน้ำไปท่วมหนักในจังหวัดอื่นๆ แทน ให้คนอื่นเดือดร้อนแทนฉัน

           หากร่วมแบ่งทุกข์ปันสุขอย่างเป็นธรรม ก็จะเร่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขอย่างเป็นระบบ  ประคับประคองกันให้รอดปลอดภัยโดยเร็ว

           ประการที่สี่  คนสมัยก่อนเข้าใจมาก พูดน้อย ทำมาก เมื่อเผชิญชะตาก็ลงมือแก้ไขโดยไม่มีใครโวยวาย

           คนสมัยนี้เข้าใจน้อย โวยวายมาก มีการต่อว่า ดูหมิ่น ขัดแย้ง จนสร้างอาการประสาทต่อเนื่องอีกมาก ทำให้เครียดโดยไม่จำเป็น

           ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเดียวไม่พอ ยังสร้างภัยจากน้ำลายท่วมกันอีก  ไร้รสนิยมสุนทรีย์

           ประการที่ห้า  คนสมัยก่อนอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ โลกนี้มีภัยธรรมชาติมาตลอดตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันและแม้ในอนาคต

 

           ภัยร้ายแรงที่สุดคือภัยจากลม ทั้งลมจักรวาล ลมสุริยะ และลมโลกผันผวนภัยจากลมนั้นจะสะเทือนถึงสวรรค์

ภัยที่บ่อยที่สุดแต่ไม่ร้ายแรงที่สุด คือน้ำท่วมใหญ่

ภัยที่ไม่บ่อยแต่ทำลายเร็วที่สุด คือไฟเผาผลาญ

โลกนี้จะเจอภัยใหญ่ ๖๔ ครั้งก่อนที่จะหมดอายุขัย

ภัยที่เกิดขึ้นในระยะนี้ มิใช่ภัยใหญ่ เป็นแค่ภัยย่อย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหตุที่ทำให่มนุษยืประสบภัยนั้น เพราะมนุษย์อยู่กัยด้วยอธรรม ไม่มีธรรมะในจิตใจ ไม่ปฏิบัติต่อกันโดยธรรม

เมื่อไม่มีธรรม ก็ทำกรรมไม่ดีต่อตน ต่อกันและกัน และต่อสิ่งแวดล้อมรากเหง้าของภัยนานาคือ อธรรม 

อธรรมอะไรบ้างที่ปรากฏในโลกยุคนี้

๑ มักไม่เคารพสัจธรรม ไม่ปฏิบัติคุณธรรม

๒ มักดูหมิ่นนักบวช นักปฏิบัติธรรม

๓ นักบวชนักปฏิบัติพวกหนึ่งมักหลงโลก

๔ มักทอดทิ้งบิดามารดา

๕ มักฆ่าสัตว์

๖ มักคอรัปชั่น

๗ มักผิดลูกเมีย

๘ มักส่อเสียด ทำให้คนรังเกียจ แตกแยกกัน

๙ มักโกหก

๑๐ มักเพ้อเจ้อ คลั่งมายา

๑๑ มักพูดจาหยาบคาย

๑๒ มักมีสิ่งเสพติดแพร่ระบาด

๑๓ มักแก่งแย่งอำนาจ

๑๔ มักเล่นคุณไสยมนต์ดำ

๑๕ มักทำกิจการค้าอย่างเอารัดเอาเปรียบสังคม

๑๖ มักบริโภคธรรมชาติอย่างเห็นแก่ได้เฉพาะหน้า

๑๗ มักหลงเทิดทูนสมมติ

๑๘ มักดูหมิ่นเทวดา เทพเจ้า พรหม

นี่คืออธรรมต้นเหตุรากเหง้าอันเป็นที่มาแห่งภัยนานาประการ ทั้งภัยจิตสำนึก ภัยทางสังคม ภัยทางเศรษฐกิจ ภัยทางการเมือง

และเมื่อหลายภัยเกิดแล้ว หากยังไม่สำนึกแก้ไขให้ตรงจุดขุดรากทิ้ง ในที่สุดก็จะเกิดภัยธรรมชาติใหญ่ล้างไป 

        โลกเป็นอย่างนี้มาหลายรอบ และจะเป็นอีกหลายรอบจนกว่า มนุษย์จะสำนึก และดำเนินชีวิตโดยธรรม ปฏิบัติต่อกันโดยธรรม

        เพื่อความเจริญอย่างปลอดภัย ถึงเวลาแล้วที่ชนชาติไทยต้องทรงธรรม และพาเพื่อนร่วมโลกให้ทรงธรรมโดย 

      ประการที่หนึ่ง ผู้คนต้องมีสำนึกแห่งสัจธรรม ปฏิบัติคุณธรรม

      ประการที่สอง ศาสนาต้องธำรงความบริสุทธิ์ ไม่เอาระบบโลกมาปนเปื้อน

      ประการที่สาม รัฐบาลต้องมุ่งมั่นสร้างชนชาติอุดมคติ อุดมธรรม ไม่ใช่แค่เล่นเกมการเมือง ไม่คอรัปชั่น และกำกับดูแลมิให้ข้าราชการคอรัปชั่น โดยตั้งอัตราเงินเดือนที่สูงสมเหตุสมผลแก่ความรับผิดชอบประเทศชาติให้มากกว่านี้

       ประการที่สี่ ธุรกิจต้องมีความเป็นธรรม ไม่หลอกล่อประชาชนให้บริโภคสินค้าและบริการของตน ไม่ค้ากำไรเกินควร เมื่อมีกำไร ต้องแบ่งปันส่วนหนึ่งมาช่วยสังคมและธรรมชาติเสมอ

       ประการที่ห้า สังคมต้องมีค่านิยมในความดีงาม คุณภาพชีวิต และคุณภาพสังคม  มิใช่นิยมเงิน

       ประการที่หก วิชาการต้องศึกษาความเป็นจริงแบบองค์รวม ไม่ยึดถือเฉพาะในรูความเชี่ยวชาญของตน หรือวิธีการที่ตนถนัดเท่านั้น

       ประการที่เจ็ด ศิลปินต้องสร้างศิลปวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ให้แก่ประชาชน ที่สะท้อนสัจธรรม  และคุณภาพจิตใจ

       ประการที่แปด สื่อมวลชนต้องเลิกสาดน้ำเน่าเข้าสู่สังคม เมื่อสาดน้ำเน่าเข้าไปมากๆ สังคมก็เน่า ท่านและลูกหลานก็ต้องอยู่ในสังคมเน่าๆ นั่นเอง เมื่อเน่าจนถึงที่สุดก็ต้องถูกล้างครั้งใหญ่  ดังนั้น ช่วยกันปลูกเพาะคุณค่าในสังคม อยากเห็นสังคมเป็นอย่างไร ก็จงมอบสิ่งนั้นให้แก่สังคมโดยมาก

       ประการที่เก้า หมู่มนุษย์ต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชีวิตวงศ์อื่นๆ เช่น สัตว์ เทพ เทวา พรหม พระอริยะ  ไม่อวดเก่ง เบียดเบียน หรือแม้ดูหมิ่นชีวิตวงศ์อื่นๆ

       ประการที่สิบ ต้องอยู่กับธรรมชาติอย่างเป็นธรรมชาติ มนุษย์มาอาศัยธรรมชาติทั้งการเกิด การดำรงอยู่ และการตาย ก็ควรดูแลรักษาธรรมชาติด้วยดี อย่าทำลายธรรมชาติ แค่ขอจัดสรรดัดแปลงธรรมชาติบ้างได้ เช่นแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน มารวมกันเป็นเจ้าพระยา ปริมาณน้ำหลากจะมากเกินไป ควรขุดคลองต่อ ปิง วัง ยม น่าน ผ่านท้องนาลงทะเล ชาวนาก็ได้ประโยชน์ ชาวเมืองก็ไม่ถูกน้ำท่วม

       ประการที่สิบหนึ่ง ขนาดของเมืองแต่ละเมืองต้องไม่ใหญ่เกินไป ควรกระจายความเจริญทั่วประเทศ การกระจุกตัวเป็นเมืองใหญ่จะเกิดความไม่คุ้มค่าในการจัดการ ทั้งเกิดเกาะความร้อน และภัยต่างๆ ได้มาก

 

       หากทำได้ดังนี้ ชนไทยก็ชื่อว่าได้จัดการสิ่งที่ควรจัดการแล้วด้วยดี

          

บันทึกการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และปณิธานใหม่

 

เพื่อตน ……………………………………………………………………………….………………………………………………….………………………………………

 

เพื่อครอบครัว……………………………………………………………………….………………………………………………….……………………………………

 

เพื่อการงาน …………………………………………………………………….……………………………………………………….………………………………

 

เพื่อองค์กร ……………………………………………………………………….………………………………………………….…………………………………

 

เพื่อสังคม ……………………………………………………………………….…………………………………………………….………………………………

 

เพื่อประเทศชาติ ……………………………………………………………….……………………………………………………….……………………………

 

เพื่อธรรมชาติ ………………………………………………………………….……………………………………………………….……………………………

 

เพื่อโลก …………………………………………………………………….……………………………………………………….………………………

 

เพื่อศาสนา ………………….........…………………………………….………………………………………………….……………………………

 

เพื่อเทวาอารักขา ………………………………………………………………….……………………………………………………….………………………………

 

เพื่อสรรพจิต ………………………………………………………………….……………………………………………………….…………………………

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 467160เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท