เริ่มเข้าแล้งแล้ว


ปลายฝนเข้าแล้ง

มันสำปะหลังปีนี้ได้รับฝนมากเลยแต่เป็นฝนที่ตกหนัก ซึ่งอาจชะเอาหน้าดิน ธาตุอาหารพืชไปไกลจากรากพืช วันนี้ก็เกือบ 2 เดือนแล้วที่ยังไม่ได้เข้าไปดูแปลงมันสำปะหลัง การเดินทางช่วงนี้ลำบาก เส้นทางคมนาคมจะใช้ทางไหน ก่อนนี้เคยไปกำแพงเพชรในเดือนกันยายน ช่วงที่ฝนตกน้ำท่วมพอดี บางเส้นทางที่ผ่านก็มีน้ำไหลบ่ามาก ไม่เชื่อว่าน้ำเหล่านั้นจะมีผลต่อน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างรวมทั้งกรุงเทพจนถึงปัจจุบัน ตอนนั้นคิดว่าน้ำจำนวนมหาศาลแต่มีผู้ใดสนใจกักเก็บ คอยแต่กันไม่ให้ผ่านเข้าพื้นที่ของตนเอง และการกระทำเช่นนี้ก็มาเกิดในแทบทุกพื้นที่ในประเทศ น้ำฝนตกแต่ละปีหากนำจำนวนรวมทั้งปีก็ไม่แตกต่างกันมากนัก(เฉพาะที่มีสถานีตรวจวัด) การกระจายในช่วงหนึ่ง ๆ ที่แตกต่างทำให้มีปัญหาการจัดการน้ำในช่วงต่อไป ฤดูแล้งที่จะมาถึงจะมีน้ำเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะพืชที่ต้องการการให้น้ำ เช่น ข้าว พืชไร่

    มันสำปะหลังได้เปรียบกว่าพืชอื่น สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายมีการระบายน้ำดี โดยเฉพาะดินนั้นต้องเป็นดินบนที่ดอน เนื้อหยาบ อินทรียวัตถุต่ำ (น้อยกว่า 2%) ธาตุอาหารในดินไม่สูงมากนัก พีเอชอยู่ระหว่าง 5-6 เป็นกรดจัด และไม่เค็ม มันสำปะหลังต้องการพื้นที่ที่มีปริมาณฝนเฉลี่ยปีละ 1,000-1,500 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 25-29 องศาเซลเชียส และสามารถปลูกได้เกือบตลอดทั้งปี เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 8-18 เดือน พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เกษตรกรมักเลือกปลูกช่วงต้นฝนเพื่อให้ได้รับน้ำในช่วงแรกของการเจริญเติบโตโดยเฉพาะช่วง 2-5 เดือนแรกซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญทำให้ผลผลิตได้ตามศักยภาพ มันสำปะหลังต้องการความชื้นในการเตรียมดิน และการงอกของท่อนพันธุ์ หลังฝนตกหนักหรือประมาณ 20-25 มม.ก็เพียงพอสำหรับเริ่มปลูกมันสำปะหลัง

- มันสำปะหลังต้องการน้ำในช่วงแรกของการเจริญเติบโตโดยเฉพาะอายุมันสำปะหลังระหว่าง 2-5 เดือนหลังปลูก

- การให้น้ำในช่วง 2-5 เดือนแรก ไม่แตกต่างจากการให้น้ำตลอดฤดูปลูก

- ความถี่ในการให้น้ำทุก 2 สัปดาห์ ให้ผลผลิตแตกต่างกับทุก 4 สัปดาห์

- การปลูกต้นฝน ช่วงแรกของการเจริญเติบโตอยู่ในช่วงฤดูฝนอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำ แต่อาจเสริมในช่วงแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง การปลูกปลายฝนการให้น้ำจำเป็นในบางพื้นที่

- การให้น้ำสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับมันสำปะหลัง พืชสามารถพัฒนาตัวเองให้ต้านทานต่อแมลงศัตรูได้ดีขึ้น เหมาะสมกับแมลงตัวห้ำและตัวเบียนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ไม่เหมาะสมกับแมลงศัตรูพืชอย่างเพลี้ยแป้ง

- ระบบการให้น้ำแบบน้ำหยด ซึ่งเป็นวิธีการที่ประหยัดน้ำกว่าการให้แบบตามร่อง

มันสำปะหลังไม่จำเป็นต้องให้น้ำแต่หากมาจัดการน้ำให้อยู่ในดินได้นานขึ้นก็จะมีประโยชน์ทำให้การเจริญเติบโตและผลผลิตดีขึ้น โครงสร้างของดินเปลี่ยนแปลงได้ยาก ดินมีส่วนที่เป็นของแข็ง เช่น หิน แร่ธาตุ และอินทรียวัตถุ และส่วนที่เป็นช่องว่างหรือรูพรุนเพื่อเก็บน้ำและอากาศ ในพื้นที่ที่ปลูกพืชมานานโครงสร้างทางกายภาพจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น อินทรียวัตถุลดลง ช่องว่างที่จะเก็บน้ำและอากาศรวมกันก็ลดลง เนื่องจากการอัดแน่นของดิน เกิดชั้นดานใต้ชั้นไถพรวน มีผลให้น้ำในดินเป็นประโยชน์ต่อพืชลดลง รวมทั้งธาตุอาหารพืชในดินด้วย เราสามารถปรับปรุงได้โดยการปรับปรุงบำรุงดิน

ไม่ควรจะเผาหรือเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากการเผาทิ้ง หรือขนย้ายไปทิ้ง จะทำให้ธาตุอาหารสูญหายไปเป็นจำนวนมาก แต่ควรมีการใช้ผาล 3-4 สลับกับผาล 7 บ้างเพื่อพลิกดินล่างกลับขึ้นมา นอกจากจะช่วยทำดินให้ร่วนซุยแล้ว ยังนำเอาธาตุอาหารที่ถูกชะล้างลงไปอยู่ดินล่างกลับขึ้นมาอยู่ในชั้นดินบนให้มันสำปะหลังนำไปใช้ได้อีก

การสูญเสียของธาตุอาหารพืชจากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง

ส่วนของมันสำปะหลัง

ธาตุอาหารที่สูญหายไปจากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 1 ไร่

ไนโตรเจน

ฟอสฟอรัส

โพแทสเซียม

หัวมัน

6 กก.

3 กก.

20 กก.

ต้น+ใบ

10 กก.

2 กก.

9 กก.

หัว + ต้น + ใบ

16 กก.

5 กก.

29 กก.

เทียบเท่ากับปุ๋ย 15-7-18 ประมาณ 100 กิโลกรัม ต่อไร่ (ปุ๋ย 2 กระสอบ)

ไร่มันสำปะหลังที่มีการปรับปรุงดินใบมันสำปะหลังจะทิ้งใบช้าลง ยังมีเวลาสะสมอาหารได้อีก ผลผลิตก็เพิ่ม จึงอยากให้ชาวมันสำปะหลังหันมาให้ความสนใจกับการปรับปรุงบำรุงดินกัน    

คำสำคัญ (Tags): #มันสำปะหลัง
หมายเลขบันทึก: 467083เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2011 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ถึงยามค่ำน้ำกระฉอกระลอกคลื่น
  • สะดุ้งตื่นเหว่ว้าน้ำตาไหล
  • ในคืนเปลี่ยวเดี๋ยวนี้ไม่มีใคร
  • แฝงพิษภัยไร้หวังให้กังวล

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท