พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

สิทธิในการเดินทาง (1) กระบวนการขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศ และขอมีเอกสารเดินทางของคนไร้สัญชาติ


ศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ และกระบวนการดำเนินการเพื่อการขออนุญาตเดินทางไปต่างของคนไร้สัญชาติ

กระบวนการขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศ และขอมีเอกสารเดินทางของคนไร้สัญชาติ

ตอน หญิงไร้สัญชาติถือบัตรเลข 0 กับการเดินทางข้ามประเทศ เพื่อก่อตั้งครอบครัวกับลูกน้อยและสามีสัญชาติญี่ปุ่น

            หลังจากพร และทาเคะได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย และยื่นคำขอให้รับรองผลการจดทะเบียนสมรสดังกล่าวต่อประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งยื่นคำขอรับรองบุตรเพื่อให้ทาเคะ กับด.ญ.ยูริเป็นบิดาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น บัดนี้กระบวนการดังกล่าวได้ดำเนินการจนลุล่วงเหลือเพียงขั้นตอนตรวจสอบเอกสารซึ่งนายทาเคะแจ้งว่าเป็นเอกสารภาษาญี่ปุ่นที่ยืนยันสถานภาพการสมรส และความเป็นบิดากับบุตร

            ทั้งนี้ตามความประสงค์ของครอบครัวนี้ถัดจากนี้ คือ ต้องการเดินทางไปใช้ชีวิตร่วมกัน ณ ประเทศญี่ปุ่น แต่ด้วยปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายของพร ทำให้ขั้นตอนที่จะใช้สิทธิเดินทางไปอยู่อาศัยในฐานะ “ภรรยาและแม่ของลูกสัญชาติญี่ปุ่น” นั้นค่อนข้างมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่า คนที่ไม่ประสบปัญหาสถานะบุคคล

            จากการศึกษาถึงกระบวนการในการเดินทางออกประเทศของคนไม่มีสถานะทางทะเบียน จากผู้ที่มีประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือกรณีปัญหาลักษณะนี้ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าพรจะต้องติดต่อกับหน่วยงานหลักๆ ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ เพื่อเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นร่วมกับลูกและสามี

            1. กระทรวงมหาดไทย

            เหตุผล เพื่อ “ขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศไทย” ทั้งนี้เพราะคนที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล เช่น พรหากเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ขออนุญาต สิทธิอาศัยจะสิ้นสุดลงทันทีตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 39 ดังนั้นพรจะเดินทางออกนอกประเทศไทยโดยสิทธิอาศัยไม่สิ้นสุดและกลับเข้ามาได้ ต้องได้รับอนุญาตตาม มาตรา 39 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ประกอบกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม ข้อ 6(3)

            หน่วยงานที่ดูแลเรื่อง การดำเนินการชั้นกระทรวงมหาดไทย คือ ทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เพื่อขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและกลับเข้ามา และจากที่คณะทำงานได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อทำการศึกษาว่าหน่วยงานย่อยใดของกระทรวงมหาดไทยระหว่าง “กองการต่างประเทศ” หรือ “สำนักกิจการความมั่นคงภายใน” ที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว โดยการตรวจสอบทางเว็บไซด์เกี่ยวกับภาระหน้าที่ของกองกิจการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และการสอบถามจากอาจารย์กิติวรญาผู้ซึ่งเคยดูแลกรณีคนไร้สัญชาติซึ่งประสงค์จะเดินทางออกนอกประเทศไทย พบว่า สำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง.มีหน้าที่ในการดูแล รับคำร้องกรณี “ขออนุญาตออกนอกพื้นที่ในกรณีไปต่างประเทศด้วย” ถัดจากนั้นเป็นกระบวนการภายในของหน่วยงานเองที่อาจจะขอคำปรึกษาไปที่หน่วยงานภายในกระทรวงมหาดไทยอื่น

ทั้งนี้หนังสือขออนุญาตจะต้องแสดงถึงเหตุผลอันสมควร โดยกรณีนี้จะต้องแสดงเหตุผลเกี่ยวกับจุดประสงค์ที่จะเดินทางไปอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้การดำเนินชีวิตของพรมีสภาพที่ดีขึ้นด้วย หนังสือขออนุญาตดังกล่าวต้องลงลายมือชือของพร ผู้ขออนุญาต

            ขั้นตอนการดำเนินการ

1. ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่อง “ขอความอนุเคราะห์พิจารณาการอนุญาตเดินทางออกนอกประเทศและเดินทางกลับเข้าประเทศ” ลงลายมือชื่อ พร

2. แนบเอกสารดังต่อไปนี้ประกอบหนังสือขออนุญาต

                        เอกสารส่วนตัวของพร

1)       สำเนาบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน

2)       สำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทร.38ข

เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

1)   สำเนาทะเบียนสมรสและใบสำคัญการสมรสตามกฎหมายไทยของพรและทาเคะ

2)   สำเนาเอกสารยืนยันการสมรสที่ออกโดยสำนักทะเบียนประเทศญี่ปุ่น ฉบับแปลภาษาไทย

3)   สำเนาเอกสารประจำตัวของคูโดะ ในฐานะสามีของพร

4)   สรุปข้อเท็จจริงของพร

5)   ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการเดินทาง และสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของพร

            3. สำเนาเอกสารที่ส่งถึงกระทรวงมหาดไทยถึงกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

            หลังจากกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเรื่อง และมีหนังสืออนุญาตให้ผู้ร้องเดินทางออกนอกสหราชอาณาจักรและกลับเข้ามา ส่งมายังผู้ร้องขอ และ อาจจะส่งไปยังปลัดกระทรวงการต่างประเทศด้วย กรณีที่ผู้ร้องได้ระบุในหนังสือขออนุญาต ว่าขอให้กระทรวงมหาดไทยประสานงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศด้วย

            2. กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

                เหตุผล เพื่อขอเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว (Travel Document for Aliens - T.D.) และ Re-entry visa ความสำคัญของ Re-entry visa คือ เป็นตราประทับในเอกสารเดินทางคนต่างด้าว ที่แสดงให้เห็นถึงสิทธิที่จะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ หลังจากที่ได้เดินทางออกไป

            ทำไมต้องขอ Re-entry visa “เจ้าหน้าที่ฝ่ายหนังสือเดินทาง และวีซ่า ของสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (คุณอุทัยวรรณ) ให้เหตุผลว่าพรควรได้รับ Re-entry visa จากประเทศไทยเพื่อไปขอ Visa เข้าประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากว่าเป็นกฎเกณฑ์ส่วนหนึ่งและ หากเกิดกรณีจำเป็นที่พรทิพย์จะต้องกลับเข้าประเทศไทย จะได้เดินทางกลับมาได้เลย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหากขณะอยู่ประเทศญี่ปุ่นแล้วอายุของ Re-entry visa สิ้นสุดสามารถดำเนินการต่ออายุ ณ สถานทูตในประเทศญี่ปุ่นได้เลยโดยไม่ต้องกลับมาประเทศไทยก่อน”

              ขอเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว (Travel Document for Aliens - T.D.) และ Re-entry visa จากใคร หลังจากสอบถามกับเจ้าหน้าที่กองตรวจลงตราเอกสารคนต่างด้าว กรมการกงสุล (คุณประทักษ์ แต่ในคราวหน้าติดต่อคุณรัชนีซึ่งรับผิดชอบโดยตรง) ได้ความว่าทั้ง Travel Document และ Re-entry visa จะต้องขอจาก กรมการการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ โดยมาดำเนินการหลังจากได้รับหนังสืออนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศและกลับเข้ามา จากกระทรวงมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว

            ขั้นตอนการดำเนินการ

            1. ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ระบุ “ขอความอนุเคราะห์ในการพิจารณาออกเอกสารเดินทางคนต่างด้าว และขอ Re-entry visa” (อาจจะเป็นฉบับที่สำเนาถึงในคราวที่มีหนังสือถึง กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้กรมการกลสุลเตรียมตั้งเรื่องไว้ก่อน)

            2. แนบเอกสารดังต่อไปนี้ประกอบ

เอกสารส่วนตัวของพร

1)       สำเนาบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน

2)       สำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทร.38ข

3)       รูปถ่ายขนาด 2 นิ้วครึ่ง จำนวน 3 รูป

เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

1)   สำเนาทะเบียนสมรสและใบสำคัญการสมรสตามกฎหมายไทยของพรและทาเคะ

2)   สำเนาเอกสารยืนยันการสมรสที่ออกโดยสำนักทะเบียนประเทศญี่ปุ่น ฉบับแปลภาษาไทย

3)   สำเนาเอกสารประจำตัวของทาเคะ ในฐานะสามีของพร

4)   สรุปข้อเท็จจริงของพร

5)   ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการเดินทาง และสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของพร

6)   หนังสือจากกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ผู้ร้องเดินทางออกนอกสหราชอาณาจักรและกลับเข้ามา

            3. หลังจากได้รับหนังสืออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย จึงติดต่อกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ “เพื่อกรอกคำร้องขอเอกสารเดินทางคนต่างด้าว” พร้อมทั้งยื่นเอกสารส่วนตัวและรูปถ่าย

            4. จ่ายค่าธรรมเนียมจำนวน 500 บาท

5. หลังจากได้รับเอกสารเดินทางของคนต่างด้าว (T.D.) จึงติดต่อกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กรมการกงสุล เพื่อ “กรอกคำขอตรวจรับการลงตราเพื่อใช้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักร (ขอ Re-entry visa)

3. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

เหตุผล เพื่อแจ้งให้ทราบในลักษณะขอให้อำนวยความสะดวกในคราวที่ผู้ขออนุญาตเดินทางได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย และได้รับเอกสารเดินทางพร้อม Visa เรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนการดำเนินการ

1. ทำหนังสือถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เรื่อง “ขอความอนุเคราะห์พิจารณาการอนุญาตเดินทางออกนอกประเทศและเดินทางกลับเข้าประเทศ” (อาจจะเป็นฉบับที่สำเนาถึงในคราวที่มีหนังสือถึง กระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งให้ทราบพร้อมสำเนาเอกสารทั้งหมด)

2. หลังจากได้รับเอกสารเดินทางของคนต่างด้าว และ Re-entry visa และ Visa อนุญาตให้เข้าประเทศญี่ปุ่น แล้วจึงทำหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อ “ขออำนวยความสะดวกให้พรทิพย์ (ระบุรายละเอียด) เดินทางตามวันเวลา...” (เป็นหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยอำนวยความสะดวกจากโครงการบางกอกคลินิกฯ ที่ดูแลผู้ขออนุญาตเดินทาง)

3. แนบเอกสารดังต่อไปนี้ประกอบในคราวที่มีหนังสือ “ขอให้อำนวยความสะดวก”

            1) สำเนาบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน

2) สำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทร.38ข

3) หนังสือจากกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ผู้ร้องเดินทางออกนอกสหราชอาณาจักรและกลับเข้ามา

3) สำเนาเอกสารเดินทางของพรทิพย์ ที่ลงตราประทับ Re-entry visa และVisa จากทางสถานทูตญี่ปุ่น

            4. สถานทูตญี่ปุ่น

            เหตุผล เพื่อขอ Visa เข้าประเทศญี่ปุ่น

            ขั้นตอนการดำเนินการ

1. “กรอกคำร้องเพื่อขอ Visa เข้าประเทศญี่ปุ่น”

2. แนบเอกสารดังต่อไปนี้ประกอบ

เอกสารส่วนตัวของพรทิพย์

1) สำเนาบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน

2) สำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทร.38ข

3) เอกสารเดินทางของพร ที่มีตราประทับ Re-entry visa

เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

1) สำเนาทะเบียนสมรสและใบสำคัญการสมรสตามกฎหมายไทยของพรและทาเคะ

2) สำเนาเอกสารยืนยันการสมรสที่ออกโดยสำนักทะเบียนประเทศญี่ปุ่น

3) สำเนาเอกสารประจำตัวของทาเคะ ในฐานะสามีของพร

 

หมายเลขบันทึก: 467069เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2011 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะสำหรับความรู้

เป็นอีกคนหนึ่งที่ติดตามนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท