ชื่อนั้นสำคัญไฉน


เป็นที่ทราบกันแล้วว่าโรงเรียนกงไกรลาศวิทยาสามารถสร้างพื้นที่(space)เอื้อให้ครูได้เป็นกัลยาณมิตรหลักของศิษย์แล้ว กล่าวคือ ครูและนักเรียนมีกรอบความคิดที่ชัดเจนว่าครูคือกัลยาณมิตรที่ต้องทำอะไร กับใคร(กับศิษย์และใครต่อใคร) เวลาใด ที่ไหน เพื่ออะไร และนักเรียนเป็นศิษย์ที่มีหน้าที่ต่อครูอย่างไร ที่ไหน เมื่อไร  ทั้งสองฝ่ายมีสถานที่ที่จะพบปะกัน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน  และมีเวลาให้แก่กันยาวๆ ที่จะเข้าถึงกันและรู้จักกันเป็นอย่างดี   เราจัดพื้นที่(space)ได้แล้ว ‘โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่’ ทั้งหกโรงเรียนเล็ก มีครูประจำชั้นเป็นกัลยาณมิตรรับผิดชอบชั้นต้นทุกเรื่องเสมือนผู้ปกครองตลอดเวลาที่ลูกศิษย์อยู่ในโรงเรียน 

วันเวลายังไม่ยาวพอ ผอ.คิดคำนึง ไม่ได้ต้องการชั่วโมงเพิ่มนะคะ  ดิฉันเพียงแต่คิดว่า จะต้องมีวิธีบริหารบางอย่างที่ทำให้ลูกน้องของดิฉันทำงานน้อย ในเวลาที่น้อย แต่ได้ผลที่อย่างน้อยก็เท่าเดิม  เวลาที่เป็นทรัพยากรของโรงเรียนมีเพียง 8 ชั่วโมง อีกสองในสามของเป็นเวลาที่อยู่นอกอำนาจรับผิดชอบของโรงเรียน นี่ยังไม่นับปิดเทอมนักเรียน(แต่ยังมีงานการเรียนการสอนอื่นๆ ที่ครูต้องทำ)  รวมความก็คือ โรงเรียนมีเวลาน้อยจริงๆ ในการขัดเกลานักเรียน  คือทั้งปี 365 วัน คิดเป็น 8,760  ชั่วโมง มีเวลาเพียง 40 สัปดาห์ คือ 200 วัน ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร คิดเป็น 1,600 ชั่วโมง เท่านั้น ถ้าใช้เวลาเป็นน้ำหนักของประสบการณ์  จะเห็นว่าประสบการณ์ดีๆ(สมมติว่าดีจริงๆ)ที่นักเรียนจะได้รับจากโรงเรียนนั้นเป็นประสบการณ์ที่น้อยเต็มที  กล่าวอีกนัยหนึ่ง เวลาเพียงเท่านี้ครูคงจะต้องทำงานหนักมากในการกล่อมเกลาอัธยาศัย ฝึกฝนอบรมปัญญาแก่ศิษย์  ดูแล้วเป็นการเอาเปรียบครูอย่างไรก็ไม่ทราบ

คิดไปคิดมา  นึกถึงเพื่อนนายแพทย์ที่เล่นเรียนมาด้วยกันมาสมัยเป็น ‘ลูกช้างตีนดอย’  ครั้งหนึ่งที่พบกันหลังจากต่างก็แยกย้ายไปทำมาหากิน  เพื่อนหมอเคยเย้าเล่น(เสียงในฟิลม์)ว่า  ‘เปื้อน(คิง)เป๋นครูน่ะดีแต๊ๆเนาะ สอนแล้วเก๊าะเข้าห้องพักครู  เฮา(ฮา)บ่อมี๋ห้องพักหมอเลย’  ดิฉันก็ว่า ‘บ่อมี๋จะไดเฮา(ฮา)เกาะหันอยู่ฮั่น’  เพื่อนหมอตอบว่า ‘เปื้อน(เพื่อน)เอานกเอี้ยงไส่หลังมาก๋า  ห้องฮั่นเป่นห้องสะแตนบาย  เป๋นห้องยะก๋าน บ่อไจ้ห้องพักนอนเล่น’  สรุปความว่าที่ทำงานของบรรดานายแพทย์นั้นมีสามส่วน ส่วนแรกเป็นห้องทำงานที่แพทย์ทั้งหลายใช้เป็นประจำในเวลางานตามเวลาราชการ  ส่วนที่สองเป็นที่พักผู้ป่วยที่แพทย์ต้องไปตรวจที่เรียกว่าไปราวด์วอร์ดหรือไปประจำห้องตรวจ และส่วนที่สามคือห้องทำงานที่เป็นการเฝ้าระวังกรณีฉุกเฉินซึ่งเมื่อมีเหตุจะต้องตามแพทย์ได้ทันการณ์  นึกมาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงน้องพยาบาลอีกคนหนึ่ง  วันหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ดิฉันไปเยี่ยมเธอที่หอพักพยาบาล  เธอบอกว่าอีกสักครู่จะต้องไปเข้าเวรOR  ครั้งนั้นดิฉันถามว่ามีคนไข้หรือ  เธอตอบว่าไม่มี  ดิฉันถามว่าก็ทำไมไม่อยู่ที่หอพัก(ซึ่งก็อยู่ในโรงพยาบาล ห่างจากห้อง OR เพียง 30 เมตร)  เธอตอบว่าไม่ได้ ถึงไม่มี case ก็ต้องไปเข้าเวรแล้วก็ต้องตรวจความพร้อมต่างๆ ของห้องปฏิบัติการนั้นด้วย เช่นตรวจเครื่องมือ ข้อมูลคุยเล่นที่ดิฉันนึกได้อย่างลางเลือนนี้ อาจจะไม่ถูกต้องนักตามข้อเท็จจริงของชีวิตแพทย์และพยาบาล  แต่ก็ทำให้ดิฉันมองเห็นบางสิ่ง..

ดิฉันเลื่อนภาพเหล่านั้นมาทาบกับแผนที่งานของครู  ครูก็มีวอร์ด คือ ห้องเรียนของลูกศิษย์(แต่บันทึกการให้ TREATMENT ไม่เหมือนกัน)  ครูมีห้องพักครูเช่นเดียวกับห้องพักแพทย์  แต่ครูไม่มีห้องทำงาน  อ๊ะ! คนมาทำงานจะไม่มีห้องทำงานได้อย่างไร ดิฉันคิดฉงนในใจ  ห้องทำงานของครูอยู่ไหนหนอ..  ดิฉันจึงไปราวด์วอร์ด  เดินออกจากห้องทำงานผู้อำนวยการโรงเรียนไปเรื่อยๆ ตามแนวระเบียง นี่ห้องพยาบาล  นั่นห้องภาษาอังกฤษ อีกห้องใกล้ๆกันเป็นห้องพักครูภาษาอังกฤษ นี่เป็นห้องพักครูภาษาไทย  ลงจากอาคารนี้ไปอีกอาคารหนึ่ง  นี่ห้องเคมี นี่ห้องฟิสิกส์ นี่ห้องชีวะ นี่ก็ห้องคณิตศาสตร์  นี่ห้องวิทย์ทั่วไป  ดิฉันเดินทุกอาคารทุก SHOP แทนที่จะกระจ่างในข้อสงสัย  กลับฉงนใจยิ่งขึ้น  เออหนอ..  เราเป็นมาแล้วทั้งนักเรียน ครูปฏิบัติการสอน ศึกษานิเทศก์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ เพิ่งมาสังเกตเห็นว่า โรงเรียนมีห้องเรียนแต่ไม่มีห้องสอน มีครูสอนและก็มีนักเรียนหนีเรียน โรงเรียนมีห้องพักครูแต่ไม่มีห้องพักนักเรียน โรงเรียนมีห้องวิชามากมายจริงๆ แต่ไม่มีห้องคน  ภายในโรงเรียนมีสิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจมากมายเหลือเกิน  อาจจะมีใครตอบทำนองว่า อ้าวก็ห้องเรียนก็ห้องพักนักเรียนนั่นแหละ หรือ อ้าวห้องเรียนก็ห้องสอนนั่นแหละ  ถ้าอ้างอย่างนั้นดิฉันก็จะถามว่า ‘งั้นตอนไหนล่ะที่เรียนและตอนไหนล่ะที่พัก’  ความจะยาว..

ดิฉันครุ่นคำนึงต่อไป  ศาสตร์ที่แกร่งจะไม่ใช้ภาษาหลวมๆ ศาสตร์ที่แกร่งจะไม่มีสิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ  ถึงว่ามี เขาก็ทำเป็นข้อตกลงเบื้องต้น หรือสัจพจน์ หรืออะไรทำนองนี้ จนเข้าใจตรงกันชัดเจนไปเลย

เพื่อความเข้าใจตรงกันและชัดเจน ดิฉันจึงนำเรื่องนี้หารือครูใหญ่  นั่นก็เมื่อปีการศึกษา 2547  ซึ่งเป็นช่วงเวลาแรกๆ ที่เราทดลองระบบอยู่   ครูใหญ่บางคนเป็นรองผู้อำนวยการด้วยซ้ำ  ในเวลาที่ไม่มีชั่วโมงสอนครูแต่ละท่านยังพักอยู่ที่ห้องพักเดิมของตน  ซึ่งครูบางท่านก็เข้าบ้านพักครูไปเลย ดิฉันเล่าสิ่งที่คิดให้ที่ประชุมฟังอย่างยืดยาว  บรรดาครูใหญ่ก็ตั้งหน้าตั้งตาฟัง ไม่ได้ซักถามอะไรเลย  เมื่อเล่าจบดิฉันก็ปรารภข้อสงสัย  ครูใหญ่ศรันตอบในทันใดว่า ‘ไม่มีครับ.. ครูทั้งหลายทำงานเฉพาะตอนที่เข้าไปในชั้นเรียน’  ดิฉันเผลออุทานว่า เฮ้ย..  ครูใหญ่นวย(รองผู้อำนวยการฯ)กล่าวยิ้มๆ ว่า ‘ท่านผอ. สอนน่ะมันเหนื่อยนะครับ มันต้องมีพักบ้าง’  ดิฉันถามว่าพักอย่างไร เขาก็ตอบว่า ‘ก็.. พัก..’  ดิฉันคงเผลอทำหน้าแหยงๆ ให้ที่ประชุมเห็น หลายคนทำหน้ายิ้มๆ  ดิฉันกัดฟันถามว่า  ‘แล้วจะทำอย่างไร  ครูเหนื่อยน่ะพอเข้าใจ  แต่เรามีเวลาทำงานน้อยมาก แล้วจะทำงานสำเร็จได้อย่างไร  เรารับลูกนักเรียนมาจากพ่อแม่เขา รับว่าเป็นศิษย์ของเรา  และ ผอ.ก็ไม่อยากเพิ่มเวลาวันเสาร์อาทิตย์หรือตอนเย็นๆ ผอ.ว่า เวลาเหล่านั้นลูกเป็นของพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ใช่ของครู’  ที่ประชุมพร้อมใจกันตอบว่า ทำ STAFF OFFICE

เฮ..  ดิฉันเฮในใจ  ถามต่อไปว่า ‘ที่ไหน’  ครูใหญ่นวยตอบว่า ‘ที่นักเรียนอยู่’ ตามด้วยเสียงของบรรดาครูใหญ่ว่า  ‘นักเรียนอยู่ไหน ครูก็อยู่นั่น’  โฮ้ย..  เข้าล็อค  ‘งั้นครูใหญ่ไปจัดการ ต้องการทรัพยากรอะไรให้บอก ถ้าไม่ผิดระเบียบราชการ ไม่ผิดหลักวิชา ไม่สร้างปัญหาให้ ผอ.คนถัดไป อนุมัติทุกเรื่อง’

หลังจากแยกย้ายกันไปทำงาน  ดิฉันรู้สึกสงสัยว่า  เหตุใดที่ประชุมจึงตอบเรื่อง STAFF OFFICE ได้เร็วนัก  ไม่ได้คิดร่วมกัน ไม่ได้อภิปรายกัน  และก็เป็นคำตอบเดียวกันด้วย  สงสัยอยู่หลายวันเหมือนกัน  วันหนึ่งถึงบางอ้อว่า  เมื่อครั้งคิดอ่านกันเรื่องโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่นั้น  ทุกคนทุกฝ่ายตัดสินใจเผชิญกับปัญหาใหม่เพราะเบื่อปัญหาเก่าและหวังว่าจะพบความสำเร็จใหม่  ผลของการสั่งการของดิฉันได้ทำให้ครูทั้งหลายเดินทางมาถึงคำถามที่ว่า นอกชั่วโมงสอนนั้นเขาจะอยู่อย่างเดิมหรืออยู่อย่างใหม่  โจทย์ปัญหาเช่นนี้ดิฉันคิดไปไม่ถึง คำสั่งนี้ไม่ส่งผลสะเทือนด้านที่พักที่ทำงานของดิฉัน เนื่องจากไม่ได้เปลี่ยนแปลงสำนักงานผู้อำนวยการ  สมัยนั้นห้องพักครูเป็นห้องเอนกประสงค์ บ้างใช้ทำงาน บ้างใช้ตรวจการบ้าน บ้างใช้เตรียมการสอน  บ้างใช้พักผ่อนฟังเพลง บ้างใช้กินส้มตำ(และยังไม่เก็บ) และไม่ใช่เป็นห้อง STANDBY ด้วย  คงจะรำคาญกันอยู่ในที  คงจะมีการอภิปรายกันจนมีคำตอบแล้วก็ได้  รอแต่เพียงว่าผู้อำนวยการโรงเรียนจะสั่งการอย่างไร  เป็นอันว่าดิฉันก็ประสบความสำเร็จด้วยการ ‘ถามท่าเดียว ไม่มีท่าอื่น’ อีกแล้ว..

การจัด STAFF OFFICE นั้นมิได้ทำได้ง่ายนัก เพราะแต่เดิมที่มองแบบเหมาโหลว่าครูพักกันเป็นหมวดวิชานั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง  ครูบางคนอยู่ห้องพักครูหมวดวิชา บางคนอยู่ SHOP บางคนอยู่ห้องพยาบาล บางคนอยู่ห้องปกครอง บางคนอยู่ห้องปฏิบัติการ  สรุปว่า ครูแต่ละคนอยู่ในที่ชอบ(ไม่ใช่ ไปที่ชอบที่ชอบนะคะ)  แต่ผู้บริหารไม่ชอบเพราะต้องจำครูกันเป็นรายๆ ไปว่าใครพักอยู่ห้องใด  เสียเวลาเกินไป  ‘นักเรียนอยู่ไหนครูอยู่นั่น’ น่ะ จำง่ายดี  แม่นยำด้วย  ดิฉันจะได้ใช้พื้นที่สมองน้อยหน่อย  การเดินทางทางความคิดลงตัวไปนานแล้ว  แต่การเดินทางทางกายภาพเนิ่นช้ามากว่าห้าปี ผ่านทุกและสุขอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนวันนี้ครูทุกคนเข้า STAFF OFFICE กันทุกคนแล้วค่ะ  โรงเรียนกงไกรลาศวิทยามีแต่สำนักงานของกลุ่มภารกิจ ไม่ใช่ห้องพักอีกต่อไป  ส่วนห้องพักครูนั้นไม่ต้อง.. เพราะว่าครูไม่ต้องSTANDBY

 

ชื่อนั้นสำคัญจริงๆ  แม้ในขณะที่ยังไม่ลงตัวก็ยังเป็น STAFF OFFICE ที่มีประสิทธิภาพได้

 

ติดตามตอน ต่อไปนะคะ

หมายเลขบันทึก: 466715เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2011 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท