การแลกเปลี่ยน้้รียนรู้


จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งเมืองจีน ทุกเมือง กำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้รู้จักในนามของรัฐบาล

รายงาน  study tour  นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กับท่านศาสตราจารย์ดร.จีระ  หงส์ลดารมภ์  ที่ประเทศจีนระหว่าง 23 – 27 ตุลาคม  2554  โดยวาสนา  รังสร้อย

จากการได้ร่วม study tour กับท่านศาสตราจารย์ดร.จีระ  หงส์ลดารมภ์  ที่ประเทศจีน คืนวันที่ 23 ตุลาคม 2554 คณะเดินทางรวมตัวกันที่ ประตู 9 สนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น. มีการทักทายปราศรัย และทำความรู้จักกัน ถ่ายรูปร่วมกันระหว่างผู้เรียนทั้ง 2 ศูนย์ คือ กรุงเทพมหานครและนครราชสีมา 23.30 น. เริ่มทยอยกันเช็คอิน ตรวจเอกสารผ่าน ตม. คณะเราออกเดินทางประมาณ 1.00 น. โดยสายการบิน China Airline เที่ยวบินที่ CA980 ถึงสนามบินกรุงปักกิ่ง เวลาประมาณ 6.30 น.  
สนามบินกรุงปักกิ่งเป็นเมืองประวัติศาสตร์เก่าแก่  เดิมเป็นเมือสำคัญทางการค้าของอาณาจักรเยี่ยน เมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล  หลังการปฏิวัติล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชและการสู้รบกลางเมือง ค.ศ. 1949  พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ชัยชนะ  จึงประกาศตั้งรัฐบาลและกรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศนับแต่นั้นมา  และสนามบินกรุงปักกิ่งนี้เป็นสนามบินนานาชาติ ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 43 ล้านคนและเพิ่มเป็น 55 ล้านคนในปี 2015  ซึ่งใหญ่กว่าเพนตากอนของสหรัฐอเมริกา ผู้ออกแบบสนามบินคือ Foster & Partners สถาปนิกนักเดินทางที่เข้าถึงจิตใจผู้โดยสาร ด้วยการออกแบบทางเดินแต่ละส่วนให้สั้นที่สุด  และใช้นวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนภายในตัวอาคาร    แยกอาคารผู้โดยสารขาเข้าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อาคารผู้โดยสารขาเข้าซึ่งเป็นจุดจอด และตรวจคนเข้าเมือง และเดินทางด้วยรถราง มาอีกอาคาร เพื่อรับกระเป๋า ซึ่งเป็นจุดกระจายผู้โดยสาร การจัดระบบนี้เป็นแนวคิดหลักสำหรับการจัดกีฬาโอลิมปิค เมื่อปี 2008 เพื่อลดความคับคั่งของผู้โดยสาร นับว่าเป็นความโชคดีของคณะ study tour  ของเราที่ได้รับความสะดวกและรวดเร็ว

 ท่านอาจารย์ได้พานักศึกษา  ศึกษาดูงานตามวัตถุประสงค์ ที่ปักกิ่ง และเทียนจิน  ซึ่งทั้งสองแห่งได้รับความรู้ที่หลากหลาย กล่าวคือ

1. ช่วงเช้าวันแรก 24 ตุลาคม  เดินทางไปชมจัตุรัส เทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นจัตุรัสที่กว้างใหญ่ที่สุด
ในโลก ชมศาลาประชาคมที่สามารถบรรจุคนได้นับหมื่นคน  ชมอนุสาวรีย์วีรชน และพระราชวังกู้กง หรือพระราชวังต้องห้ามซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประทับของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง รวม 24 รัชกาล ภายในประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ถึง 9,999ห้องบนเนื้อที่กว่า 720,000 ตารางเมตร

2. พานักศึกษาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สถาบัน    China University of political and law ดำเนินการจัดการศึกษาด้วยการบูรณาการหลายศาสตร์ (Multi-disciplinary) โดยนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เข้าร่วมกับการจัดการศึกษาในสาขาวิชาอื่น ๆ เช่น ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการจัดการ ปัจจุบันมีนักศึกษาเต็มเวลารวม 14,416 คน รวมทั้งนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา 5,753 คน 

ท่าน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ได้แนะนำในส่วนของการจัดการการศึกษาในประเทศไทยเกี่ยวกับ
ความเป็นมา ที่เริ่มจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัย ตลอดจนการจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งมี 4 ศูนย์ที่จัดการเรียนการสอนแบบ VDO Conference   ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา เลย และภูเก็ต สำหรับนักศึกษาที่เดินทางมาศึกษาดูงานครั้งนี้ มี 2 ศูนย์ได้แก่ กรุงเทพมหานครและนครราชสีมา รวมทั้งหมด 21 คน  จาก MBA EDUCATION  CENTER  OF CUPL  ได้รับคำถามจากนักศึกษาที่น่าสนใจเรื่องการจัดการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีความสุขในวัยรุ่น และการนำศาสนาพุทธเข้ามาพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างไร  ซึ่งท่านศาสตราจารย์ดร.จีระ  หงส์ลดารมภ์และตัวแทนนักศึกษาฝ่ายไทยศูนย์กรุงเทพมหานครได้ช่วยตอบคำถาม ในสิ่งที่ทางประเทศไทยเราได้พัฒนาเรื่องทุนมนุษย์มานานแล้ว  ทั้งทฤษฎี 8 k’s  5K’s ของท่านศาสตราจารย์ดร.จีระ  หงส์ลดารมภ์  และในแนวพุทธทางด้านศีลธรรม จริยธรรม  ศาสนานั้นถือว่าเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของคนไทยมาช้านานแล้ว  เป็นวัฒนธรรมของคนที่นับถือศาสนาพุทธทั้งประเทศก็ว่าได้  จะเห็นได้ว่าทั้งทฤษฎีของท่านศาสตราจารย์ดร.จีระ  หงส์ลดารมภ์  และศาสนาพุทธ เป็นสิ่งที่คนไทยได้นำมาปฏิบัติและประยุกต์ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง

3.  นำชมและช้อปปิ้งตลาดรัสเซีย ทานอาหารค่ำ และเข้าชมกายกรรมปักกิ่ง “Legend  of jinsha”ที่น่าตื่นเต้นเลื่องชื่อและน่าหวาดเสียวผสมผสานกับความสวยงาม อ่อนช้อยพิเศษกับการแสดงแนวใหม่ที่ตื่นเต้นมากกว่าเดิมกับมอเตอร์ไซด์ไต่ถัง

4. 25 ตุลาคม  ได้ชม”หอบวงสรวงฟ้าเทียนถาน”ซึ่งกษัตริย์จีน ใช้เป็นสถานที่บวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  ตามความเชื่อในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีประวัติยาวนานกว่า 500 ปี   ชมศูนย์วิจัยทางการแพทย์แผนโบราณ  ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการแพทย์แผนโบราณตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  การส่งเสริมการใช้สมุนไพรจีนที่มีมานานนับพันปีพร้อมรับฟังการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ   และเข้าชมและชิม ชาอวู่หลงของปักกิ่งและชาที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ เช่นชาแดง  ชาผลไม้  ชามะลิ  และชากุหลาบ

5. 26  ตุลาคม  เวลา 07.00 น. ออกเดินทางชมเมืองเทียนจิน  ขณะเดินทางได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของจีนโบราณที่ยังคงความสวยงามน่าชม  เนื่องจากอาคารทั้งสองฟากฝั่งถนนนั้นยังคงความดั้งเดิมไว้อย่างน่าชื่นชม   เมืองเทียนจินเป็นเมืองที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง ห่างจากกรุงปักกิ่ง 120 กิโลเมตร  เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการค้าที่สำคัญของภาคเหนือ  เป็นเมืองท่าที่สำคัญในการขนส่งทางเรือไกลและใกล้  และการค้าขายระหว่างประเทศ  อุตสาหกรรมของเมืองเทียนจิน  มีเหล็กกล้า  การผลิตเครื่องจักร  เคมี  พลังงานไฟฟ้า  ปั่นทอ  วัตถุก่อสร้าง  ทำกระดาษ และขนม  อุตสาหกรรมใหม่มี ทำเรือ  รถยนต์ 
ขุดน้ำมันปิโตเลียม  แทรคเตอร์  ปุ๋ยเคมี  ยาปราบศัตรูพืช  นาฬิกา  โทรทัศน์  และเครื่องถ่ายรูป ฯ  

    เวลา 09.30 น.   เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สถาบัน  Tianjin  University  of Technology   ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะคล้ายสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง  หรือเทคโนโลยีราชมงคลของไทยเรา  แนวการจัดการศึกษานั้นเป็นการดำเนินการจัดเพื่อรองรับในด้านงานอุตสาหกรรมของเมืองเทียนจิน  และได้รับความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของไทยทางด้านเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน

   นอกจากนี้นับว่าเป็นโชคดีที่ทางสถานทูตไทย ที่ประจำในประเทศจีน ท่าน ดร.ไพจิตร
วิบูลย์ธนสาร เอกอัครราชทูต ด้านการพานิชย์ และคณะ ท่านให้เกียรติกับท่านศาสตราจารย์ดร.จีระ 
หงส์ลดารมภ์พร้อมกับนักศึกษาเข้าเยี่ยมคารวะท่านและร่วมฟังแนวคิดในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ด้านเศรษฐกิจ  การลงทุน  ท่านได้แบ่งปันความรู้เรื่องการทำตลาด ในหลายช่องทาง โดยมองจากภาพใหญ่เชิงประชากรศาสตร์ และภูมิศาสตร์   เช่น การตลาดทางวัฒนธรรมบันเทิง คือ T-pop ที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ดาราไทย  ภาพยนตร์ไทย  ในตลาดจีน การทำ คุณค่าเพิ่มจากการร่วมกิจกรรมทางสังคม   การทำ logistic ในเขตเมืองหลักและเมืองรอง ผ่านระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ทั้งเชิงรุกและ
เชิงรับ    การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยยกระดับคุณภาพ งานฝีมือ งานบริการ งานศิลปวัฒนธรรม   สุดท้ายท่านได้ให้ข้อคิดว่า ประเทศไทยที่ควรจะได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมากคือ การยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด  ต้องปรับระบบด้านการคิด  การใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา

จากนั้นเดินทางสู่พิพิธภัณฑ์ผีเซียะ  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามตำนานของชาวจีนให้ท่านได้ชมและลูบผีเซียะโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอโชคลาภ

6.  27 ตุลาคม  เริ่มออกเดินทางออกจากที่พักเวลา 07.00 น. เหมือนเดิมไปสู่กำแพงเมืองจีน ด่านปาต้าหลิ่ง  ด่านที่ได้ชื่อว่า จุดชมวิวกำแพงเมืองจีนที่สวยที่สุด  เพราะจะได้เห็นวิวในมุม 360 องศา  โดยนั่งกระเช้าขึ้นชม ผ่านการชมรถไฟสายเก่าแก่ที่สุดในโลก เส้นทางรถไฟสายไซบีเรีย  ที่ยาวที่สุดในโลก  ที่สร้างขึ้นขนานราบไปตามแนวภูเขา  นำสู่ด่าน จี ยง กวน  นำชมกำแพงยักษ์  กำแพงเมืองจีนยังคงเรียกว่า กำแพงหมื่นลี้  สิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7  ของโลก โดยพระจักรพรรดิฉินซี  ทรงบัญชาให้สร้างขึ้นรวบรวมกำแพงเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกันมีความยาวถึง 6,700  กิโลเมตร  ครอบคลุมอาณาบริเวณทั้งสิ้นรวม  5 มณฑล เป็นกำแพงที่มีป้อมคั่นเป็นช่วง ๆ ของจีนโบราณ  สร้างในสมัย พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้เป็นครั้งแรก  กำแพงส่วนใหญ่ที่ปรากฏในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง  ทั้งนี้เพื่อป้องกันการรุกรานจากพวกมองโกลและพวกเติร์ก  จากนั้นยังมีการสร้างกำแพงต่ออีกหลายครั้งด้วยกัน  แต่ภายหลังก็มีเผ่าเร่ร่อนจากมองโกเลียและแมนจูเรีย  สามารถบุกฝ่ากำแพงเมืองจีนได้สำเร็จ  เมื่อทอดสายตาตลอดแนวกำแพงไปจะเห็นได้ว่ากำแพงยักษแห่งนี้เปรียบเสมือนพญามังกรอันยิ่งใหญ่ที่กำลังเริงลีลาอยู่บนยอดเขาด้วยท่าทางอย่างองอาจและสง่างาม  จากนั้นชมโรงงานหยกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ชมหยกโบราณ การแกะสลักหยกในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการดูหยกของแท้ว่าจะทำอย่างไร    ได้ผ่านชมสนากีฬาโอลิมปิค  สุดท้าย แวะบริษัท เป่าสู้ถาง ร้านบัวหิมะ ยาจีน ชนิดต่าง ๆ

เวลา 19.40 น. เดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานคร

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งเมืองจีน ทุกเมือง กำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้รู้จักในนามของรัฐบาล  เช่น ร้านผ้าไหม  นวดฝ่าเท้า  ร้านบัวหิมะ ร้านชา  ร้านไข่มุก  ร้านหยก  ร้านผีเซียะ  ทุกรายการ บรรจุในโปรแกรมทัวร์ ด้วย เพื่อเป็นช่องทางเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับประเทศจีนได้อย่างยั่งยืน   กฎหมายและกฎข้อบังคับของจีนก็ทวีความสมบูรณ์ยิ่งฃึ้น อย่างต่อเนื่อง ตลาดเปิดกว้างยิ่งฃึ้นมิได้ขาด บรรยากาศการลงทุนได้รับการปรับปรุงดีขึ้นอย่างไม่ ขาดสาย การปฏิรูประบบการเงินได้ก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง ทั้งนี้และทั้งนั้นล้วนได้สร้างหลักประกันที่พึ่งพาอาศัยได้แก่เศรษฐกิจจีนที่จะพัฒนาก้าวหน้าต่อไป

จุดแข็งและจุดอ่อนในทางเศรษฐกิจของจีน 

 จุดแข็งในการพัฒนา
   
จีนมีศักยภาพอยู่มาก เช่น
1.  การมีประชากร 1,300 ล้านคน ทำให้การผลิตแบบประหยัดจากขนาดใหญ่ (Economy of Scale) ซึ่ง 
     เป็นขนาดในฝันของนักเศรษฐศาสตร์ นักวางแผนทั้งหลาย
2.  จีนมีอัตราการออมในประเทศสูง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงมาก 
3.   มีขนาดตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ทำให้จีนพึ่งตนเองหรือพึ่งตลาดภายในประเทศเป็นสัดส่วนสูง
      กว่าการพึ่งการค้าระหว่างประเทศมาก
4.   การพัฒนาแบบสังคมนิยมที่ผ่านมา 50 กว่าปี (ก่อนที่จะปฏิรูปเป็นระบบตลาดเมื่อ 20 กว่าปีนี้) ทำให้
     คนจีนมีพื้นฐานทางการศึกษาทั่วไป, มีวินัยในการทำงานที่ดี (แม้ว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระดับสูง
     ยังพัฒนาได้ไม่มากนัก) 
5.   ไม่มีปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติมาก
6.   รัฐบาลค่อนข้างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ
7.   จีนมีเครือข่ายคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งชำนาญเรื่องอุตสาหกรรมการค้า ที่พร้อมจะร่วมลงทุน และเข้าไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของจีน

จุดอ่อนในทางเศรษฐกิจของจีน

เมื่อเทียบกับขนาดของประเทศ และทรัพยากรต่าง ๆ การมีประชากรมากทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีการพัฒนาการบริหารจัดการด้านเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพและ
เป็นธรรมมาก จึงจะทำให้คน 1,300 ล้านคน(เป็นคนสูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปถึง 10% หรือ 120 ล้านคน) 
 มีงานทำ  มีอาหารการกิน มีปัจจัยสี่ และปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ อย่างเหมาะสม

นี่คือโจทย์สำคัญที่ต้องค้นคว้าเจาะลึกอย่างวิพากษ์วิจารณ์  ว่าจีนจะสามารถพัฒนาให้คน 1,300 ล้านคนมีการกินอยู่ที่ดีขึ้นทั่วถึงหรือไม่ มีความรู้   มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมเข้มแข็ง เจริญเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างสม่ำเสมอเพียงไร และเศรษฐกิจจีนในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนและการค้ากับประเทศอื่น ๆ จะมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลกอย่างไร    

บทบาทของจีนต่อเศรษฐกิจโลก 

          ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีการออม  มีการลงทุนภายในประเทศสูง  การลงทุนสุทธิ    จากต่างชาติในรอบ 10 ปีหลัง  ตกปีละกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  มากที่สุดทั้งในเอเชียและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด จีนกำลังจะเติบโตแน่ ๆ แต่เราไม่อาจมองเฉพาะเส้นกราฟของความเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น ต้องมองปัญหาภายในของสังคมจีน  โดยเฉพาะปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของคน 
          ฐานะขนาดใหญ่ของจีนอาจจะทำให้เกิดอำนาจต่อรองในองค์การค้าโลก (WTO) ที่จะถ่วงดุลกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมได้บ้าง แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ จีนก็คงจะคำนึงถึงประโยชน์ตัวเองมากกว่าที่จะหาเสียงทางการเมืองกับประเทศกำลังพัฒนาเหมือนในยุคที่ยังมีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมกันอยู่

การเติบโตของจีนและผลกระทบต่ออาเซียนและต่อไทย

               การมองว่าการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีนจะเป็นผลดีต่ออาเซียน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกเป็นการมองตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่อย่างง่าย ๆ มากไปหน่อย        เราต้องพิจารณาให้ดีว่า จะเป็นผลบวกและผลลบอย่างไร  และที่ว่าเป็นประโยชน์นั้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก,ผู้สั่งเข้า, ผู้ร่วมลงทุน หรือต่อประชาชนทั่วไป  จีนองก็จะได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบ คนที่ได้รับผลลบคือภาคเกษตร 
ที่ล้าหลัง  ยากจนและเคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล  จะแข่งขันสินค้าเกษตรจากประเทศอื่น โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนา  เช่น  สหรัฐไม่ได้, พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งขณะนี้มีถึง 70% ของแรงงานภาคอุตสาหกรรมจะถูกเลิกจ้างเพราะการยุบเลิก, การแปรรูป,  ปรับโครงสร้างใหม่  จีนเองก็คงรู้ว่ามีผลลบด้วย  แต่จีนต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบทันสมัยจึงยอมเปิดรับบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้วเคยเป็นศัตรูทางอุดมการณ์

       การมองว่า  ถ้าจีนกับอาเซียน  หรืออาจจะรวม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ (อาเซียน + 3) รวมกันเป็นเขตการค้าเสรี จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่มหึมาในแง่ประชากร และผลิตภัณฑ์มวลรวมนั้น  เป็นการมองแบบคิดเอาในเชิงสถิติเท่านั้น  ความจริงก็คือ จีนกับอาเซียนผลิตสินค้าหลายอย่างใกล้เคียงกัน จึงเป็นคู่แข่งกันโดยปริยาย  ปัจจุบันจีนกับอาเซียนมีการลงทุนและค้าขายกันน้อย เมื่อเทียบกับที่ทั้งจีนและอาเซียน มีการลงทุนและค้าขายกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม 3 กลุ่มใหญ่  คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป  เป็นด้านหลัก หรือมากกว่าครึ่งหนึ่ง

           ในอนาคตมีแนวโน้มที่จีนกับอาเซียนจะลงทุนและค้าขายระหว่างกันมากขึ้น  แต่การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก หมายถึง จีนจะเปิดรับการลงทุน และการค้ากับประเทศทั่วโลก

การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก ซึ่งจะทำให้จีนเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน เช่น ลดภาษีมากขึ้น จะมีผลต่อไทยทั้งในแง่บวกและลบ สินค้าที่ไทยมีโอกาสขายให้จีนได้มากขึ้น  ข้าว  ยางพารา กุ้งสดแช่แข็ง สินค้าเกษตรแปรรูป น้ำตาล  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  เส้นด้ายและผ้าผืน ผลไม้ แต่สินค้าที่ไทยและอาเซียนจะถูกจีนแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมีกำลังซื้อ คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์  พลาสติก เพราะจีนซึ่งมีค่าแรงงานต่ำกว่า  ผลิตได้ถูกกว่า  ไทยต้องเร่งรัดปรับตัวพัฒนาสินค้าออกที่มีคุณภาพมากขึ้น และต้องเจาะหาตลาดใหม่ ๆ   ดังท่าน ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร เอกอัครราชทูต ด้านการพานิชย์  ได้ให้แนวคิดในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ด้านเศรษฐกิจ  การลงทุน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย 9hv’ยกระดับคุณภาพ งานฝีมือ งานบริการ งานศิลปวัฒนธรรม   ในแง่การลงทุน  ระหว่างจีนกับไทย  ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โอกาสที่ไทยจะไปลงทุนในจีน เป็นโอกาสของบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น  เพราะมีการแข่งขันสูง  ส่วนการลงทุนของจีนในไทย ก็มุ่งมาใช้ทรัพยากร เช่น ปลูกป่ายูคาลิปตัส หรือขายบริการ เช่น  รับเหมา     ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่  การลงทุนระหว่างสองประเทศยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนมากกว่าแก่ประชาชนในประเทศทั้งสอง ที่นอกจากได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจน้อยกว่านายทุนแล้ว     ยังเสียประโยชน์ในแง่การทำลายสภาวะแวดล้อมของทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น

             ไทยและอาเซียนจะได้ประโยชน์จากจีนมากขึ้น  หากการเจรจากันโดยตรงแบบทวิภาคและแบบภูมิภาค  มีข้อตกลงที่พิเศษกว่าข้อตกลงทั่วไปในเวทีองค์การค้าโลก ซึ่งเป็นเวทีที่ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมมักจะได้ประโยชน์มากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ความจริงถ้าอาเซียน  จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย  ร่วมมือกันได้จริง คือประเทศรวยกว่าใหญ่กว่ายอมผ่อนปรนช่วยเหลือประเทศที่จนกว่า
เล็กกว่า  ภูมิภาคนี้จะเติบโตและเข้มแข็งได้มาก  แต่ทุกวันนี้พวกเขาล้วนมองไปที่สหรัฐและยุโรป ซึ่งมีความมั่งคั่งและกำลังซื้อ  และต่างคนก็ต่างทำเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นของตัวเอง โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นยักษ์ที่คิดแต่ผลประโยชน์ตัวเองมากเกินไปจนเศรษฐกิจของตนเองถดถอยจนขยับไม่ได้

              การลงทุนและการค้ากับจีนรวมทั้งการท่องเที่ยวมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น ถ้ามีการร่วมมือกันพัฒนาด้านการคมนาคมผ่านอินโดจีน  และพม่าไปจีน  ให้ครอบคลุมสะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะจะทำให้การขนส่งสินค้าลดต้นทุน  และจีนทางภาคใต้ก็มีประชากรมาก และเศรษฐกิจเติบโต แต่การเติบโตแบบนี้
ก็ให้ผลประโยชน์แก่คนบางกลุ่มมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่  และการเปิดประเทศกว้างขึ้น ก็สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย เช่น  มีปัญหาแรงงานเถื่อน   โสเภณี  อาชญากรทางเศรษฐกิจ  ยาเสพย์ติด  โรคเอดส์  ฯลฯ เพิ่มขึ้น

              ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองเรื่องการคบกับจีนในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจล้วน ๆ หากต้องมองในแง่ผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม  และสิ่งแวดล้อมด้วย  จีน ไทย อาเซียน ควรจะร่วมมือกันในแง่สังคม การศึกษา  การวิจัย  วิชาการด้านต่าง ๆ วัฒนธรรม  และสิ่งแวดล้อมด้วย  จึงทำให้ภูมิภาคเอเชียนี้เจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กันและอย่างยั่งยืน  ไม่ใช่คิดแต่ในแง่การค้า     การลงทุนในกรอบคิดการพัฒนาเพื่อหากำไรเอกชนของระบบทุนนิยมโลก ซึ่งสร้างปัญหา   ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความยากจน การทำลายสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมอื่นตามมมากมาย  เท่านั้น

ประโยชน์ที่ไทยได้รับคืออะไร

1. ประชากรเพิ่มเป็น 600 ล้านคนโดยประมาณ ทำให้เพิ่มศักยภาพในการบริโภค เพิ่มอำนาจการต่อรองใน
    ระดับโลก

2.  Economy Scale ยิ่งผลิตมาก ยิ่งต้นทุนต่ำ

3.  มีแรงดึงดูดเงินลงทุนที่อยู่นอกอาเซียนสูงขึ้น

4.  สิบเสียงย่อมดังกว่าเสียงเดียว

ผลกระทบมีอะไรบ้าง?

1. การศึกษาในภาพใหญ่ของโลก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ต้องไม่ให้การเปลี่ยนแปลงนี้มากระชาก
    ลากเราไปอย่างทุลักทุเล เราต้องเตรียมความพร้อมทันที ตลอดเวลา โดยเฉพาะบุคลากรต้องตามให้ทัน

    และยืดหยุ่นปรับตัวให้รับสถานะการณ์ได้

2. ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษากลางของ ASEAN บุคลากรและนักศึกษา ต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ
    ให้สามารถสื่อสารได้

3. ปรับปรุงความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ เพื่อลดข้อขัดแย้งในภูมิภาคอาเซียน (Conflict Management)
     จึงต้องคำนึงถึงการสร้างบัณฑิตให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง ASEAN ให้มากขึ้น

4.  สร้างบัณฑิตให้สามารถแข่งขันได้ใน ASEAN เพิ่มโอกาสในการทำงาน ไม่เช่นนั้น จะถูกแย่งงานเพราะ
     เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน/บริการอย่างเสรี คณะกรรมการวิชาชีพ สภาวิชาชีพ ต้องเตรียมการรองรับ

     ผลกระทบนี้อย่างเร่งด่วน

5.  โอกาสในการเป็น Education Hub โดยอาศัยความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศไทย แต่ต้องเน้น
     ในเรื่องของคุณภาพการศึกษาเป็นตัวนำ

6.  เราต้องการเครื่องมือในการ Transform คน การเรียนแบบ PBL หรือ Project Based Learning น่าจะได้
      มีการวิจัยอย่างจริงจังและนำมาปรับใช้  ห้องเรียนไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆอีกต่อไป ต้องเพิ่มการเรียน
      จากชีวิตจริง ลงมือทำเป็นทีม อยู่คนละประเทศก็ทำร่วมกันได้ด้วยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี
      การสื่อสาร ประเด็นนี้ อาจารย์จะสอนได้ยากขึ้น  แต่เป็นผู้ที่ช่วยให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท