มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม


วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ 

  • ปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์
  • ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
  • พัฒนาการของวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ 
  • วิถีชีวิตการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุค Modern time

 

         มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เชื่อว่ามีการวิวัฒนาการมาจากกลุ่มสัตว์ที่มีลักษณะมือที่มีนิ้วจำนวน 5 นิ้ว และสุดท้ายคือ กลุ่มลิงหางสั้น  แล้วแยกวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์  โดยเริ่มแรกคือมนุษย์ที่อยู่ในทวีปอาฟริกาตอนกลาง  แล้วกระจายขึ้นไปทางเหนือยังยุโรป   เอเชียแล้วข้ามช่องแคบไปยังอลาสก้า อเมริกาเหนือและใต้  และอีกส่วนในเอเชียแยกลงไปทางใต้สู่ออสเตรเลีย  สิ่งมีชีวิตชนิดนี้มีการวิวัฒนาการที่ก้าวล้ำสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกนี้  มีการรู้จักดัดแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตน  และ เป็นสิ่งมีชีวิตที่พยายามอยู่เหนือกฎเกณฑ์ของสิ่งแวดล้อม  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรุนแรงที่สุดอยู่ในปัจจุบัน

 

ปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์

        การดำรงชีวิตของมนุษย์ที่สมบูรณ์มีความต้องการได้รับการตอบสนอง  2 ด้าน  คือ ด้านร่างกาย และ ด้านจิตใจ 

            ในเบื้องต้นความต้องการเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นั้น  ความต้องการทางกายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการมีชีวิต คือ ปัจจัยสี่  และตามมาด้วยความต้องการความปลอดภัยความมั่นคงของการมีชีวิต  ความสะดวกสบาย   เมื่อมีปัจจัยเหล่านี้เพียงพอแล้วจึงเกิดความต้องการทางจิตใจ เช่น ความรัก ยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียง การยอมรับจากสังคม  ความร่ำรวย  ความเข้าใจในตนเอง  เป็นต้น  ซึ่งมาสโลว์ได้เขียนอธิบายสิ่งเหล่านี้ไว้ในเรื่องความต้องการของมนุษย์  5 ระดับ

 

ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม 

             อย่างไรก็ตามปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์จะต้องเริ่มต้นที่การตอบสนองความต้องการทางกายและความปลอดภัยมั่นคงก่อน เช่น มีความมั่นคงทางอาหาร บ้านเรือนที่แข็งแรง  อาศัยอยู่ในรัฐที่มั่นคง  ซึ่งได้มาจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบนั่นเอง  ประกอบกับมนุษย์เป็นสัตว์สังคม  มีการปฏิสัมพันธ์กัน  เกิดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  มีการจัดลำดับชั้นทางสังคม  มีความต้องการการยอมรับทางสังคม เป็นต้น  มนุษย์จึงต้องการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาเป็นพื้นฐานสำคัญ  ดังนั้นมนุษย์จึงมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม  ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้ 

            1. แหล่งปัจจัยพื้นฐานเบื้องต้นในการดํารงชีวิต 

               มนุษย์ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมในรูปของปัจจัยสี่เพื่อการดํารงชีวิต ได้แก่ 

                    1.1 อาหาร  การดํารงชีวิตของมนุษย์ต้องกินอาหารซึ่งมีแร่ธาตุและพลังงานต่างๆ จากพืชและสัตว์  อาศัยน้ำที่หมุนเวียนอยู่ในธรรมชาติในการดื่มและใช้  อาศัยดินและสภาวะอากาศเพื่อผลิตผลิตอาหาร  การแสวงหาอาหารของมนุษย์ได้มีการพัฒนามาโดยลําดับ เริ่มต้นด้วยการเก็บหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติ   การนำอาหารมาเก็บสะสมไว้ที่บ้าน  การรู้จักเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และการผลิตอาหารจากทรัพยากรธรรมชาติได้เอง


                   1.2 ที่อยู่อาศัย  เดิมทีมนุษย์อาศัยอยู่ตามแหล่งธรรมชาติตามร่มไม้ หุบเขาหรือถ้ำ จนพัฒนามาสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันภัยจากธรรมชาติ  สัตว์อื่น รวมทั้งการป้องกันภัยจากมนุษย์ด้วยกันเอง การเลือกที่อยู่อาศัยตามแหล่งที่สามารถหาอาหารได้สะดวกและปลอดภัย ดังนั้นการเลือกที่อยู่อาศัยต้องมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ

       นอกจากนี้เราจะพบว่ารูปแบบและวัสดุในการสร้างที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกันล้วนมาจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น  เช่น บ้านไทยหรือชุมชนอื่นในเขตร้อนชื้น  จะเป็นบ้านยกพื้นใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมและระบายอากาศได้ดีไม่ร้อนมาก  หลังคาทรงจั่วแหลมเพื่อให้น้ำฝนไหลลงได้สะดวก  และวัสดุมักมาจากไม้  ซึ่งแตกต่างจากเขตอากาศอบอุ่นบ้านจะตั้งบนพื้นดิน  ผนังทึบแน่น เพราะต้องการความอบอุ่น  ป้องกันอากาศหนาวในฤดูหนาวที่มีหิมะตกหนัก  เป็นต้น
                   1.3 เครื่องนุ่งห่ม  เริ่มจากการนําใบไม้ เยื่อไม้และหนังสัตว์ที่หาได้มาห่อหุ้มร่างกายเพื่อให้ความอบอุ่น หรือ ประดับร่างกายเพื่อแสดงความสามารถในการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ จากนั้นมีการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากวัสดุที่หาได้ในถิ่นที่อยู่อาศัยสําหรับสมาชิกในครอบครัว จนมาถึงการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพื่อการค้าในยุคปัจจุบัน


                   1.4 ยารักษาโรค  มนุษย์เริ่มใช้พืชสมุนไพรในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งใช้ครั้งละมากๆ  ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ตัวทําละลายที่เหมาะสม เช่น แอลกอฮอล์ อีเทอร์ สกัดเอาตัวยาแท้ๆ จากส่วนต่างๆ ของต้นไม้ แล้วทําให้ตัวทําละลายระเหยไป เหลือแต่ตัวยาไว้ แล้วทําให้เป็นผงหรือผลึก ใช้กินแต่น้อย  นอกจากการสกัดตัวยาจากสมุนไพรแล้ว มนุษย์ยังใช้วิธีสังเคราะห์ยาเลียนแบบตัวยาในสมุนไพรโดยใช้วัตถุดิบอื่นจากสิ่งแวดล้อม

          2. การตั้งถิ่นฐานและชุมชน

             ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นเป็นปัจจัยในการดํารงชีวิต  ในบริเวณพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบรอบๆ ทะเลสาบ ที่ราบชายฝั่งทะเล  จึงมักเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่ปรากฏหลักฐานอยู่จนปัจจุบัน เช่น อียิปต์ กรีก โรมัน จีน อินเดียและได้กลายเป็นบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นของโลก  นอกจากนี้รูปแบบของการตั้งถิ่นฐานของชุมชนก็เป็นไปตามสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น  เช่น การตั้งถิ่นฐานของคนในที่ราบลุ่มมักตั้งอยู่ริมน้ำ  เพื่อสะดวกต่อการเดินทาง  มีความมั่นคงของทรัพยากรน้ำ  ได้อาหารจากสัตว์น้ำ  รูปแบบของชุมชนจะยาวไปตามลำน้ำและเป็นชุมชนถาวร  ซึ่งต่างจากชุมชนของผู้คนในเขตแห้งแล้ง มักตั้งเป็นกลุ่มกระโจมและไม่ถาวร  มีการเคลื่อนย้ายอยู่เสมอๆ   เป็นต้น

          3. พื้นฐานทางเศรษฐกิจและลักษณะอาชีพ

   มนุษย์ในแต่ละท้องถิ่นจะประกอบอาชีพแตกต่างกันไป ตามสภาพของพื้นที่และลักษณะของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น บริเวณที่ราบลุ่มมักจะมีอาชีพทําเกษตรกรรม บริเวณชายทะเลหรือเกาะต่างๆ ก็จะทําการประมง บริเวณทุ่งหญ้ามีอาชีพเลี้ยงสัตว์ บริเวณที่เป็นแหล่งแร่ก็จะทําเหมืองแร่เป็นอาชีพหลัก นอกจากนี้สภาพของพื้นที่และลักษณะของทรัพยากรธรรมชาติยังมีผลต่อการผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพที่แตกต่างกันอีกด้วย

           ในขณะเดียวกันในวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคใหม่กระบวนการดำรงชีวิตมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น  จนเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจระบบทุนนิยมที่แผ่กระจายไปทั่วโลก  ตั้งอยู่บนพื้นฐานการผลิต  การแลกเปลี่ยนและการบริโภค  ภายใต้กระบวนการเหล่านี้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด  ซึ่งได้มาจากสิ่งแวดล้อมนั่นเอง ดังนั้นแหล่งใดมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์จึงมีความได้เปรียบและมีความสำคัญ  ในขณะเดียวกันของเหลือใช้จากกระบวนการต่างๆ ก็ทิ้งกลับไปสู่สิ่งแวดล้อมเป็นแหล่งรองรับ  ซึ่งมีผลทำให้คุณสมบัติของสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากบ้างน้อยบ้างตามความสามารถในการปรับตัว  และถ้าปรับตัวไม่ได้ก็ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พึงปรารถนาส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในที่สุด

          4. ลักษณะทางวัฒนธรรม

              รูปแบบวัฒนธรรมของมนุษย์แต่ละท้องถิ่น มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ  เช่น การแต่งกาย การกินอาหาร ขนบธรรมเนียมประเพณี  ตลอดจนความเชื่อและค่านิยมต่างๆ  ล้วนถูกกําหนดให้มีรูปแบบที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นทั้งสิ้น นอกจากนี้สภาพแวดล้อมยังมีอิทธิพลต่อลักษณะนิสัยใจคอของมนุษย์อีกด้วย เช่น ในเขตอบอุ่นผู้คนมักมีนิสัยสุขุมรอบคอบ ใจเย็น กระตื้อรือร้น และขยัน แต่ในเขตร้อนผู้คนมักจะมีนิสัยที่ตรงข้ามกับเขตอบอุ่น เช่น เฉื่อยชา เกียจคร้าน ใจร้อน หงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย ขาดความรอบคอบ  คนในเขตอากาศหนาวจะเป็นคนใจเย็นและ อดทน  ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในป่ามักมีนิสัยดุร้าย ชอบการต่อสู้ และผจญภัย 

    นอกจากนี้จะพบว่าแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลกจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เช่น แหล่งอารยธรรมอียิปต์บนลุ่มแม่น้ำไนล์  แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมียบนลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรตีส  แหล่งอารยธรรมอินเดียบนลุ่มแม่น้ำสินธุ-คงคา  แหล่งอารยธรรมจีนบนลุ่มแม่น้ำหวงโห-แยงซีเกียง เป็นต้น

          5. การเมือง

               การเกิดรัฐโดยธรรมชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งจะเกิดขึ้นด้วยการมีกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่มีความมั่นคงทางวัฒนธรรมและกำลังเข้มแข็งต่อสู้ รวบรวมกลุ่มชนกลุ่มอื่นที่มีขนาดเล็กหรืออ่อนแอกว่าเข้ามาอยู่ด้วยกัน  กำหนดขอบเขตที่แน่นอนก่อเกิดรัฐขึ้นมาได้  กลุ่มชนกลุ่มนี้มักตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์  จึงมีกำลังพลมากกว่า  อีกทั้งพื้นที่ราบสามารถติดต่อกันได้ง่าย  การกระจายและสร้างวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ง่าย ทำให้มีความรู้สึกเป็นเนื้อเดียวกัน  พวกเดียวกันอย่างหนาแน่น ความสามัคคี  กำลังพลจึงเข้มแข็งกว่ากลุ่มคนที่อยู่บนพื้นที่ภูเขา-หุบเขา ซึ่งติดต่อกันยากกว่า  ความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่าจึงเป็นรัฐที่อ่อนแอกว่า การดำรงอยู่ของรัฐในหุบเขาจึงขาดความยั่งยืนมักถูกรัฐบนที่ราบลุ่มผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเสมอๆ  เช่น อินเดียเกิดจากการรวบรวมของคนลุ่มน้ำคงคา  จีนเกิดจากคนบนที่ราบลุ่มแม่น้ำหวงโห-แยงซีเกียง   เมียนม่าร์จากคนบนลุ่มน้ำอิระวดี ฝรั่งเศสจากคนบนลุ่มน้ำเซน หรืออังกฤษจากคนบนลุ่มน้ำเทมส์  เป็นต้น

            นอกจากนี้ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งมีผลกระทบต่อมนุษย์อย่างมากก็มีพื้นฐานสำคัญมาจากสภาพแวดล้อมอีกด้วย  เช่น กรณีพิพาทเรื่องพรมแดน  กรณีการขยายอิทธิพลเข้าไปในดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จนเกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศระดับโลกอีกด้วย  อย่างกรณีสหรัฐอเมริกาแทรกแซงในอิรัคและอาฟกานิสถาน หรือกรณีนาโต้แทรกแซงลิเบีย  เป็นต้น

          จะเห็นได้ว่า สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมีความเกี่ยวโยงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์  โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่คอยค้ำจุนความเป็นอยู่ของมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน การศึกษาสิ่งแวดล้อมทําให้ประชาชนหรือชุมชนรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างชาญฉลาดแล้ว ประชาชนจะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ในทางตรงกันข้ามประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจและไม่ตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้อย่างฟุ่มเฟือย ขาดความระมัดระวังและความรับผิดชอบ ก็จะทําให้เกิดสูญเสียไปอย่างไม่คุ้มค่าและขาดแคลนในที่สุด  แล้วผลกระทบจะทำให้ชุมชนหรือประเทศนั้นตกอยู่ในฐานะที่ยากจน  คุณภาพชีวิตตกต่ำ  ปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้              

 

พัฒนาการของวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ 

            วิถีการดำรงชิตของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตั้งแต่มนุษย์เริ่มกำเนิดขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้ตนเองสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงปลอดภัยและเป็นสุข  โดยเฉพาะความสามารถในการคิดค้นอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อเป็นการทุ่นแรงในการผลิต และ มีผลผลิตตอบสนองความต้องการของปัจจัยการมีชีวิตได้อย่างมั่นคงแน่นอน    ในเรื่องนี้ได้มีการแบ่งพัฒนาการของมนุษย์ออกเป็นยุคต่างๆ ดังนี้ (ภาพที่ 2)

  • ·         ยุคหิน  (Stone Age) ซึ่งแบ่งย่อยเป็นยุคหินเก่าและยุคหินใหม่
  • ·         ยุคสำริด (Bronze Age)
  • ·         ยุคเหล็ก (Iron Age)
  • ·         ยุคกลาง  (Middle Age)
  • ·         ยุคปัจจุบัน หรือ ยุคใหม่  (Present Age or Modern Times)

 

       ยุคหิน (Stone Age) หมายถึง ช่วงเวลาสมัยบรรพบุรุษมนุษย์สร้างเครื่องมือจากหิน ไม้ และกระดูก หรือวัสดุอื่น ๆ เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต โดยมีหินลักษณะเฉพาะที่ใช้ในการตัดสิ่งของต่าง ๆ ที่เรียกว่าฟลินต์ (flint)  เชื่อว่าเกิดอยู่ในช่วง 2-5 ล้านปีมาแล้ว ระยะเวลานั้นแตกต่างกันไปตามสถานที่พบซากวัสดุ แต่เนื่องจากไม่ได้มีหลักฐานบันทึกไว้แน่ และมนุษย์ก็ยังมีการใช้เครื่องมือที่ทำจากหินเป็นระยะเวลานานต่อมา

ยุคหินนั้นยังแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ช่วงย่อย คือ

  • ยุคหินเก่า (Paleolithic age)
  • ยุคหินใหม่ (Neolithic age)

     ยุคสำริด  (Bronze Age)  ยุคนี้ได้พัฒนาวัสดุที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือจากหินมาเป็นโลหะสำริดแทน พบหลักฐานจากบริเวณตะวันออกกลาง คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 3,000 - 2,000 ปีก่อนคริสตกาล  มนุษย์อาศัยอยู่เป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูก ปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์ ชีวิตความเป็นอยู่ได้ดีขึ้นกว่ายุคหิน รู้จักการทำสำริดเป็นเครื่องประดับ

          ยุคเหล็ก (Iron Age)  ยุคที่มนุษย์เริ่มใช้เหล็กในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆในการดำรงชีวิต การใช้เหล็กเริ่มในตะวันออกกลางเมื่อ 467 ปีก่อนพุทธศักราช จากนั้นจึงแพร่เข้าสู่ยุโรปโดยเข้ามาแทนที่เครื่องมือจากสำริด เมื่อประมาณ 57 ปีก่อนพุทธศักราช  ในอินเดีย เริ่มใช้เหล็กเมื่อ 457 ปี ก่อนพุทธศักราช ในแอฟริกาเริ่มใช้เหล็กเมื่อ ราว พ.ศ. 43  เครื่องมือเหล็กแพร่เข้าไปในจีนเมื่อ 107 ปีก่อนพุทธศักราช   เริ่มมีความเชื่อทางศาสนาเกิดขึ้น  มีการก่อตั้งรัฐขึ้นอย่างหลวมๆ

     ยุคกลาง (Middle Age) เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์มีความรู้ด้านศิลปวิทยากรต่างๆ อย่างกว้างขวาง  มีความเชื่อด้านศาสนาที่ชัดเจน   มีการตั้งถิ่นฐานรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่น  เกิดการจัดระเบียบทางสังคมที่ซับซ้อน   การเมืองการปกครองมีความสำคัญขึ้นมาก  ความเป็นรัฐมีความชัดเจนขึ้น  การต่อสู้ระหว่างรัฐปรากฏมากขึ้น   สุดท้ายสามารถรวมตัวกันเป็นรัฐชาติ (Nation-States) จนพัฒนากลายเป็นประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน

     ยุคใหม่ (Modern Age) เป็นยุคที่โลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เป็นพื้นฐานในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน  การปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิวัติทางการเกษตรอุตสาหกรรม (ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติการเกษตรยุคที่ 2)  เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทำให้มนุษย์มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันอย่างกว้างขวาง ทั้งผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรม  จนเกิดระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนเชื่อมโยงกันทั่วโลก  การคมนาคมขนส่ง  การติดต่อสื่อสารเข้ามามีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น   สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ชาติปัจจุบันอย่างมาก

            ในยุคต่างๆ ที่ผ่านมานั้นวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์แตกต่างกันอย่างมาก  เริ่มตั้งแต่ยุคหินวิถีชีวิตในช่วงนั้นได้พัฒนาพ้นจากวิถีชีวิตอย่างสัตว์ขึ้นมาเล็กน้อย  มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากธรรมชาติทั้งผลผลิตจากพืชและสัตว์ ยังชีพอยู่ได้ด้วยการเก็บผลไม้  ใบไม้  พืชหัว และ ล่าสัตว์มาเป็นอาหาร  อาศัยหลบภัยอยู่ตามถ้ำ   ซึ่งเรียกว่า  ยุคการเก็บของป่าล่าสัตว์ (Hunter-gatherers)     เมื่อผ่านเข้าสู่ยุคหินใหม่ เริ่มรู้จักนำเอาพืชที่ต้องการใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะพืชอาหารมาเพาะปลูก   ถือเป็นการปฏิวัติทางการเกษตรกรรม (Agricultural Revolution) ครั้งแรกของโลก  ส่วนที่พักรู้จักสร้างขึ้นด้วยตนเองจากวัสดุที่หาได้ง่ายๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวนำมาสร้างอย่างหยาบๆ เท่านั้น  เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันยังดัดแปลงมาจากหิน  กระดูกสัตว์ หรือ ไม้  ต่อเมื่อเข้าสู่ยุคสำริด (Bronze Age)  เริ่มรู้จักการสร้างเครื่องมือจากโลหะ (Metal Working)  ทำให้เกิดอุปกรณ์ทุ่นแรงในการเพาะปลูก  ล่าสัตว์ ที่มีประสิทธิภาพขึ้น  และรู้จักนำโลหะเหล่านั้นมาทำเครื่องประดับ  เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  แต่อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตยังดำเนินไปภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมรอบด้านทั้งสิ้น  การดัดแปลงสิ่งแวดล้อมมีน้อยมาก  ตอนปลายๆ ของยุคนี้มนุษย์เริ่มรู้จักระบบชลประทาน (Irrigation Pouching)  โดยกลุ่มคนในเมโสโปเตเมีย  อียิปต์โบราณ  เปอร์เซีย (อิหร่าน)  อินเดีย  สิงหล (ศรีลังกา) ทำให้ระบบการเพาะปลูกและการใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น  สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์มากขึ้น การเริ่มดัดแปลงสิ่งแวดล้อมปรากฏชัดเจนขึ้น  มนุษย์พยายามปรับตนเองเพื่อควบคุมสิ่งแวดล้อมให้สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองเพิ่มขึ้นตลอดเวลา  จนเข้าสู่ยุคเหล็กและยุคกลางมนุษย์สามารถนำเหล็กมาใช้อย่างกว้างขวาง  ถือว่าเป็นช่วงสำคัญในการพลิกโลกอีกครั้งหนี่งเพราะเหล็กเป็น    โลหะที่มี่ความแข็งแกร่ง  ดัดแปลงเป็นรูปแบบต่างๆ ได้หลากหลาย  ตั้งแต่เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  อาวุธในสงคราม  และ เครื่องมือต่างๆ อีกมากมาย   จนกระทั่งเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีปรากฏการณ์สำคัญคือ การมีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์  ก่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม  ปฏิวัติการการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม  การคิดประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้  เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างกว้างขวาง  มนุษย์บางส่วนมีความคิดว่ามนุษย์สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้  สามารถดัดแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองได้โดยชอบธรรม  ดังนั้นวิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงทั้งรูปแบบและแนวคิดต่อสภาพแวดล้อมของโลก

 

วิถีชีวิตการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุค Modern time

            วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันเริ่มต้นมาจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์มากมาย  ทำให้มนุษย์มีความเข้าใจในธรรมชาติของโลกมากขึ้น  และ ที่สำคัญมนุษย์สามารถนำความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งฟิสิกส์  เคมี และ ชีววิทยามาประดิษฐ์สิ่งต่างๆ มากมาย  ที่เราเรียกกันว่า เทคโนโลยี     อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการปฏิวัติสังคมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม  ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างกว้างขวาง  พอสรุปได้ดังนี้

       1. ตอบสนองต่อปัจจัยสี่

          1.1   อาหาร  ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์  การใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชและสัตว์  ปุ๋ย  การควบคุมน้ำ  การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว  การแปรรูป  ทำให้ปริมาณอาหารมีมากพอเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นได้  แต่มีปัญหาเรื่องการกระจายอาหารที่ยังไม่สามารถกระจายอาหารไปสู่สังคมด้อยโอกาสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          1.2   เครื่องนุ่งห่ม  เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถผลิตได้ทุกรูปแบบ  รวดเร็วและราคาไม่สูงนัก  ทั้งจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ หรือ การสังเคราะห์ขึ้น    

          1.3   ที่อยู่อาศัย  มีวัสดุการก่อสร้างที่แข็งแรง  ก่อรูปได้ง่าย  สามารถป้องกันภัยจากธรรมชาติได้ดีขึ้นอย่างมาก

          1.4   ยารักษาโรค  ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งการวิเคราะห์โรค เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ  การป้องกันโรค  การผลิตยาแผนใหม่  ทำให้มนุษย์มีโอกาสรอดตายมากขึ้น  สุขภาพดีขึ้นและอายุยืนยาวมากขึ้น

       2. ตอบสนองต่อความมั่นคงปลอดภัย 

           มีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้  อาคารและอุปกรณ์เพื่อความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น  เช่น บ้านเรือนที่แข็งแรง  รั้วลวดหนาม  อาวุธชนิดต่างๆ  ระบบเบรค ABS   ระบบตัดไฟอัตโนมัติ  เป็นต้น  

       3. ตอบสนองต่อความสะดวกสบาย

          ความสะดวกสบายเป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหาเป็นอย่างยิ่ง  ผลผลิตทางการอุตสาหกรรมจำนวนมากตอบสนองได้ดียิ่ง  เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด  ยวดยานพาหนะทุกชนิด  ลิฟท์  กระป๋องสเปรย์ต่างๆ รีโมทคอนโทรล อุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นต้น 

       4. ตอบสนองความสนุกสนานบันเทิง 

          สินค้าอุตสาหกรรมสามารถนำเสนอความบันเทิงได้หลากหลาย  ทั้งรูปแบบอนาล็อคและดิจิตอล  ทั้งในที่สาธารณะและครัวเรือน 

       5. ตอบสนองต่อความต้องการติดต่อ

          สินค้าอุตสาหกรรมสามารถช่วยให้มนุษย์ติดต่อกันได้สะดวก  รวดเร็ว  โดยยานพาหนะชนิดต่างๆ  มาจนถึงระบบโทรศัพท์ชนิดต่างๆ  คอมพิวเตอร์  ไอโฟน  เป็นต้น   

          ดังนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนในยุคสมัยใหม่นี้  ทำให้ชีวิตของมนุษย์ได้ผันตัวเองเข้าไปอยู่ในกระบวนการอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมสมัยใหม่ซึ่งมีขั้นตอนที่สำคัญคือ

       1.    กระบวนการหาและเตรียมวัตถุดิบเพื่อการผลิต  

       2.    กระบวนการผลิต 

       3.    กระบวนการกระจายจ่ายแจก  และ

       4.    กระบวนการบริโภค 

            กระบวนการเหล่านี้ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตคนยุคปัจจุบัน  กลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ครอบคลุมไปทั่วโลก  วิถีชีวิตของคนยุคใหม่จึงมีความสลับซับซ้อน และผูกมัดตัวเองอยู่ภายใต้กระบวนการใดกระบวนการหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ 4 ขั้นตอนนั่นเอง

            อีกประการหนึ่งที่สำคัญของวิถีชีวิตของมนุษย์ปัจจุบันที่อยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจยุคอุตสาหกรรม  พลังงานเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด  การขาดแคลนพลังงานเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ยุคใหม่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย  แทบจะดำรงชีวิตไม่ได้  กิจกรรมทั้งหลายหยุดชะงักทั้งหมด  เช่น การขนส่งอาหารทำไม่ได้  จะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงทันที  ผู้คนในเขตเมืองไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้  บ้านที่เป็นอาคารชุดสูงหลายสิบชั้นจะไม่มีคนอยู่ เป็นต้น หรือ กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเมื่อขาดพลังงาน  กระบวนการ 4  กระบวนการนั้นจะหยุดไป  ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้  ผู้คนทั้งหลายจะไม่สามารถมีชีวิตที่เป็นสุขได้อีกต่อไปนั่นเอง         

         ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมยุคปัจจุบันซึ่งมนุษย์พยายามควบคุมสิ่งแวดล้อม  ต้องการความสะดวกสบาย  โดยอยู่บนพื้นฐานกระบวนการทางอุตสาหกรรมเป็นกระแสหลัก  ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง  โดยเฉพาะของเสีย (Waste) ที่เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลได้ทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมทั้งในรูปของแข็ง  ของเหลวและก๊าซ  ของเสียที่ทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมมี  2  ลักษณะ คือ ของเสียที่เกิดจากการสงเคราะห์ทางเคมี  เป็นวัสดุใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนตามธรรมชาติ  เมื่อทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมแล้วธรรมชาติไม่สามารถกำจัดได้  เช่น พลาสติก   ยูรีเทน  น้ำมันเครื่อง เป็นต้น แม้ทิ้งเพียงเล็กน้อยธรรมชาติก็ไม่สามารถกำจัดได้  และ ของเสียอีกลักษณะหนึ่งเป็นของเสียที่เริ่มต้นได้มาจากธรรมชาติ  เช่น เศษแป้งหรือน้ำตาลจากโรงงานทำอาหาร เป็นต้น เมื่อทิ้งปริมาณไม่มากสิ่งแวดล้อมสามารถกำจัดให้หมดไปได้ แต่ถ้าปริมาณมากก็ไม่สามารถกำจัดได้เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์ทิ้งลงไปเหล่านี้ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติไปจากเดิมแน่นอน   ซึ่งจะส่งผลกระทบกลับมาหามนุษย์ในที่สุดได้   ดังนั้นวิถีการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อความสมดุลทางธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 466603เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2011 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท