งานอันมีลิขสิทธิ์ของพนักงานหรือลูกจ้างในวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงาน


Standing on the shoulder of giant, งานสร้างสรรค์ (Creative work), งานอันมีลิขสิทธิ์ (Copy Rights), พนักงานหรือลูกจ้าง, พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

๑. ความเบื้องต้น

ความเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ (Copy rights) นั้นย่อมมีเงื่อนไขตามกฎหมายที่จะได้มา โดยหลักแล้วจะต้องมีองค์ประกอบอยู่ด้วยกันสองอย่างอันได้แก่ งานที่เกิดจากการสร้างสรรค์และงานสร้างสรรค์ต้องเป็นงานในสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา ๖ ประกอบมาตรา ๔ (นิยามศัพท์) ตามความหมายของคำว่า “งานสร้างสรรค์” แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗  งานสร้างสรรค์ดังกล่าวจะต้องเกิดจากความคิดริเริ่มของผู้สร้างสรรค์ (Creator) มีการแสดงออกมาเป็นรูปธรรมซึ่งความคิด (Expression of Idea) มีการคิดที่เกิดจากตนเอง (Originality) ใช้ความวิริยะอุตสาหะการพยายามในการทำงาน (Creative effort) ซึ่งสิ่งต่างๆที่กล่าวมาอาจเกิดจากการที่ได้สะสมประสบการณ์ในการดูสิ่งต่างๆและนำมาสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ (Standing on the shoulder of giant)  ก็ถือว่าเป็น “งานสร้างสรรค์” (Creative work)

โดยทั่วไปตามกฎหมายลิขสิทธิ์การสร้างสรรค์งานย่อมตกได้แก่ผู้ก่อหรือทำให้เกิดงานสร้างสรรค์ แต่ใน พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๙ ถึงมาตรา ๑๔ ได้ให้งานต่างๆที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นตกอยู่ได้แก่บุคคลอื่นด้วยดังจะกล่าวต่อไปนี้

๑.พนักงานหรือลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ในมาตรา ๙ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น

๒.ผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างทำ ในมาตรา ๑๐ ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

๓.ผู้ดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ในมาตรา ๑๑ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลงตามพระราชบัญญัติ

๔.ผู้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์หรือข้อมูลหรือสิ่งใด ซึ่งสามารถอ่านหรือถ่ายทอดได้โดยอาศัยเครื่องกลหรืออุปกรณ์อื่นใด ในมาตรา ๑๒ ให้ผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากัน

๕.กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือท้องถิ่น ในมาตรา ๑๔ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น ย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้าง หรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมของตนแต่ถึงอย่างไรงานดังกล่าวที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำในตำแหน่งหน้าที่หรือฐานะอาจสามารถตกลงกันทำสัญญาให้ผิดจากที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ถือว่าเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

๒. งานอันมีลิขสิทธิ์ของพนักงานหรือลูกจ้าง 

ในเรื่องการทำงานในฐานะที่เป็น “พนักงานหรือลูกจ้าง” นั้นนับว่ามีเรื่องที่พบและเป็นกรณีที่สงสัยและพบปัญหาอยู่บ่อยมาก ว่างานสร้างสรรค์ในวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างจะตกแก่ผู้ใดและใครมีสิทธิดีกว่ากัน จึงจะขอกล่าวถึงประเด็นที่เป็นปัญหาในกรณีที่พนักงานหรือลูกจ้างตามสัญญาจ้างได้ทำงานในวัตถุประสงค์ที่จ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ในพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่ง มาตรา ๙ ได้วางหลักกฎหมายไว้ว่า

 

“งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น”

 

กฎหมายของประเทศไทยในมาตรานี้ได้รับอิทธิพลมาจากระบบกฎหมายภาคพื้นยุโรป (Continental European System) ที่มุ่งคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์งานขึ้น จึงให้ความคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์ในฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง แม้ไม่ได้สร้างสรรค์งานขึ้นเองเป็นส่วนตัวแต่ทำในวัตถุประสงค์แห่งการจ้าง แต่ตามกฎหมายก็สามารถให้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้โดยกฎหมายให้ทำเป็นหนังสือเหตุที่ต้องทำเป็นหนังสือเพราะลูกจ้างมีอำนาจต่อรองที่ด้อยกว่า จึงจะต้องมีการแสดงเจตนาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะหากทำด้วยวาจาสภาพย่อมไม่มีผลเป็นไปตามข้อตกลงทำให้ลูกจ้างได้รับความเสียหาย

ในหลักกฎหมายนี้สิ่งที่จำเป็นต้องพิจารณาต่อไปว่าอย่างไรเป็น ลูกจ้าง ตามความหมายของหลักกฎหมายในมาตรานี้ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๗๕ ได้วางหลักเกี่ยวกับความหมายของลูกจ้าง “อันว่าจ้างแรงงานนั้นคือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงทำงานให้แก่บุคคลหนึ่ง เรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน”

 

และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ในมาตรา ๔ "ลูกจ้าง" หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ซึ่งจากหลักกฎหมายทั้งสองหลักนี้จะเห็นว่าการที่จะถือว่าเป็นลูกจ้างนายจ้างกันจะต้องมีความสมพันธ์ระหว่างกันตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งลูกจ้างจะอยู่ในความดูแลของนายจ้างตามวัตถุประสงค์ของจ้างแรงงานลูกจ้างจะต้องลงเวลาทำงานเข้าออก การทำงาน มีวันทำงาน วันหยุด วันลาเวลาพัก ต้องมีค่าจ้าง[1](Remuneration) ค่าล่วงเวลา ค่าทดแทน ค่าชดเชย ค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 

๓. ปัญหาที่เกิดขึ้นในงานอันมีลิขสิทธิ์ของพนักงานหรือลูกจ้างในวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงาน

ในการทำงานตามวัตถุประสงค์ในสัญญาจ้างแรงงานนั้น มักจะเกิดปัญหาจากกรณีที่งานอันมีลิขสิทธิ์ของพนักงานหรือลูกจ้างที่เกิดขึ้นระหว่างทำหน้าที่หรือการงาน จึงจำต้องวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวเป็นรายข้อเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาปัญหาและหาทางที่จะแก้ไขปัญหา

 

๓.๑ ลูกจ้างออกจากงานและนำงานติดตัวไปด้วย นายจ้างจะใช้งานนั้นต่อได้หรือไม่  ถ้าลูกจ้างไม่อนุญาต

กรณีตามปัญหา ปรากฏว่าการที่ลูกจ้างได้ก่อให้เกิดงานอันมีลิขสิทธิ์ขึ้น ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มาตรา ๙ ได้ให้งานที่เกิดขึ้นดังกล่าวตกแก่ลูกจ้างแต่นายจ้างมีสิทธิที่จะใช้ภายในกรอบหรือวัตถุประสงค์ที่จ้างเช่นนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในฐานะลูกจ้างเป็นพนักงานแผนกคอมพิวเตอร์ได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าลูกจ้างมีหน้าที่ในการวิจัยและหาทางที่จะจัดการระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการขายหรือกระจายสินค้าไปในท้องตลาด ต่อมาก่อให้เกิดงานอันมีลิขสิทธิ์ขึ้น กฎหมายกำหนดให้งานดังกล่าวตกได้แก่ ลูกจ้าง แต่นายจ้างก็มีสิทธิ์ที่จะใช้งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นได้ภายในกรอบในการจ้างแรงงาน โดยในมาตราดังกล่าวนี้ไม่ได้ระบุเวลาที่นายจ้างสามารถใช้สิทธิไปนานแค่ไหนแม้ลูกจ้างจะออกจากงานไปแล้วก็ตาม กฎหมายเปิดช่องที่จะให้คู่สัญญาจ้างแรงงานที่จะตกลงกันเป็นหนังสือในการจำกัดสิทธิ์การใช้แต่ผู้เดียวเมื่อไม่มีการตกลงกันไว้ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดคือนายจ้างมีสิทธิ์ที่จะใช้ในการงานแม้ลูกจ้างจะนำงานดังกล่าวติดตัวไปและไม่อนุญาตให้นายจ้างก็ตามเพราะงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายจ้างแรงงานในมาตรา ๙ นี้เป็นสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ อย่างไรก็ดีเคยมีคำพิพากษาที่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๕๒๓/๒๕๔๔ วินิจฉัยว่า

ลูกจ้างเคยทำงานให้นายจ้าง แต่ต่อมาออกจากการเป็นลูกจ้างและไม่ประสงค์จะอนุญาตให้นายจ้างใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันเป็นอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการจ้างแรงงาน ลูกจ้างย่อมมีสิทธิทวงถามให้นายจ้างคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทแก่ลูกจ้างได้ แต่นายจ้างไม่ยอมคืนให้และยังใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ต่อไปอันมีลักษณะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์โดยมิชอบ”

 

จะเห็นว่าศาลฎีกาวินิจฉัยไปในทำนองว่า สิทธิที่นายจ้างจะใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ในการจ้างแรง จะมีอยู่เฉพาะเมื่อลูกจ้างอนุญาตให้ใช้ในระหว่างที่ยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างหากต่อมาลูกจ้างได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างและไม่ประสงค์จะอนุญาตให้นายจ้างใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อไป จะทำให้นายจ้างหมดสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ที่เกิดในระหว่างการจ้างแรงงานต่อไป นับว่าเป็นข้อวินิจฉัยที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งว่าจะชอบด้วยหลักกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่  

 

๓.๒ งานสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นในกระบวนการผลิต และลูกจ้างนำงานนั้นไปนำเสนอคู่แข่งของนายจ้าง  ผลจะเป็นประการใด

หลักกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองงานของผู้สร้างสรรค์ในสัญญาจ้างแรงงาน แม้ลูกจ้างได้ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวที่ทำระหว่างการจ้างแรงงาน แต่เมื่อการใช้สิทธิ์ของลูกจ้างขัดกับสิทธิ์ของนายจ้างที่มีสิทธิ์ใช้งานในกรอบหรือวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างแรงงานนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ไม่ได้ระบุชัดว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้วเห็นว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหากมีการตกลงกันว่าการทำงานในหน้าที่เป็นสาระสำคัญในเรื่องการจ้างแรงงานการที่ลูกจ้างย่อมเป็นการละเมิดข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างแรงงาน ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕ ได้วางหลักเอาไว้ว่า ในการใช้สิทธิของตนบุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริตการที่ลูกจ้างเห็นว่างานที่ตนทำมีความสำคัญต่อกระบวนการผลิตแล้วนำงานไปให้คู่แข่งย่อมเป็นการใช้เสียโดยไม่สุจริต และเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๔๒๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

 

๓.๓ การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง นายจ้างใหม่ใช้งานนั้นต่อได้หรือไม่

ในเรื่องดังกล่าวนี้เมื่อพิจารณาตามสัญญาจ้างแรงงานแล้วหากการเปลี่ยนตัวหน้าจ้างโดยไม่ได้เปลี่ยนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเช่น มีการควบกิจการ หรือ take over กิจการ โดยให้ลูกจ้างทำงานในหน้าที่หรือวัตถุประสงค์เดิม ย่อมไม่ทำให้นายจ้างมีสิทธิ์ในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ตามสัญญาจ้างแรงงานภายในกรอบวัตถุประสงค์ของงาน

แต่หากมีการเปลี่ยนตัวนายจ้างโดยเปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ที่เกิดที่เกิดขึ้นย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

 

แยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีบุคคลธรรมดา  และ กรณีนิติบุคคล

มีข้อสังเกตว่ากรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ นิติบุคคลเอกชน นิติบุคคลมหาชน  บรรษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นเสรีทางการค้าการลงทุนตามระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องเขตการค้าเสรี (Free Trade Area)

 

๓.๔ ผู้ว่าจ้างได้ว่าจ้างนายจ้างและนายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างทำงานสร้างสรรค์ขึ้น ใครจะมีสิทธิดีกว่ากัน

จากกรณีตามปัญหาจำเป็นต้องดูความหมายของนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานซึ่งวางหลักเอาไว้ในคำนิยามศัพท์มาตรา ๕

 

"นายจ้าง" หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้
และหมายความรวมถึง

(๑) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง

(๒) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย

(๓) ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรง โดยมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี มอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงาน อันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานก็ดี โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วย

เมื่อพิจารณาจากคำนิยามทรัพย์แล้วนำมาปรับกับกรณีตามปัญหาวินิจฉัยเห็นได้ว่านายจ้างตามปัญหานี้เป็นกรณีการจ้างโดยที่นายจ้างโดยมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี มอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงาน สิทธิ์ที่จะใช้งานตามวัตถุประสงค์การจ้างคือนายจ้างผู้ที่มอบหมายงานหรือผู้จ้างนายจ้าง ส่วนนายจ้างที่ไปทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างเป็นการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนและเป็นลูกจ้างของนายจ้างผู้มอบหมาย จึงไม่มีสิทธิใช้งานดีกว่านายจ้างที่มอบหมาย

เป็นการจ้างกันเป็นช่วง ๆ  ดังกล่าว คือ ผู้ว่าจ้างจ้างนายจ้าง (สัญญาจ้างทำของ) และ นายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน  ลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์จึงยังคงเป็นของลูกจ้าง เพราะงานลิขสิทธิ์เป็นสิทธิ์เด็ดขาด หากคู่สัญญา(คู่กรณี)ไม่มีสัญญาต่อกันไว้ ไม่สามารถอ้างได้

 

๓.๕ กรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วมกับคนอื่นด้วย ลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างเป็นของใคร

กรณีตามปัญหา เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์งานร่วมกัน เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ จะเห็นได้ว่าลูกจ้างย่อมเป็นผู้สร้างสรรค์งานร่วมกับบุคคลอื่นในงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ เช่นเดียวกับการประดิษฐ์ร่วมตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.๒๕๒๒

 

ลูกจ้างย่อมมีสิทธิร่วมกันในงานอันมีลิขสิทธิ์กับบุคคลอื่น แต่อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ไม่ได้ให้คำนิยามศัพท์ของ การสร้างสรรค์ร่วมไว้ หากมีกรณีพิพาทเห็นว่าน่าจะนำเรื่องการใช้กรรมสิทธิ์ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งมาใช้บังคับได้

 

สรุป

หลักกฎหมาย คือ หลักสิทธิเด็ดขาด (Exclusive rights) หลักความคุ้มครองลิขสิทธิ์ (Protection) หลักสัญญาต้องเป็นสัญญา หลักเสรีภาพในการทำสัญญา (Freedom to Contract) รวมถึงหลักสุจริต (Good faith) หลักความรับผิดในความเสียหาย (Liability) หลักการใช้โดยธรรม (Fair use or Fair dealing)

 

งานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างตกได้แก่ลูกจ้างแต่นายจ้างมีสิทธิ์ที่จะใช้งาน แต่การใช้งานของนายจ้างและลูกจ้างต้องใช้สิทธิอย่างสุจริตและให้กระทบสิทธิ์การใช้ของนายจ้างลูกจ้างน้อยที่สุดซึ่งจะแก้ไขปัญหาต่างๆในการใช้สิทธิ



[1] ไพจิตร ปุญญพันธ์ ลิขสิทธิ์ในงานที่ลูกจ้างกระทรวง ทบวง กรม สร้างสรรค์ ดุลพาห เล่มที่๖ ปี ๓๖

"บทความนิติศาสตร์มหาบัณฑิต"

หมายเลขบันทึก: 466568เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2011 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท