ชีวิตที่พอเพียง : 1418c. ท่วมหรือไม่ท่วม


สรุปว่าวันนี้ที่บ้านผมยังปลอดภัย น้ำยังไม่ท่วม ท่านที่มี iPhone หรือ iPad ลองใช้ App ชื่อ ThaiFlood Reporter ในการติดตามข่าวน้ำ และช่วยกันรายงานข่าวน้ำนะครับ เป็นการให้ข่าวที่ว่องไวทันเหตุการณ์ โดย “นักข่าวพลเมือง” ครับ ผมรายงานวันละ ๓ - ๔ ครั้ง

ชีวิตที่พอเพียง  : 1418c. ท่วมหรือไม่ท่วม

เช้าวันที่ ๒๓ ต.ค. ๕๔ วันปิยมหาราช  ผมตื่นขึ้นมาไหว้พระและรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระปิยะมหาราช ที่ทรงรักษาความเป็นไทของชาติไทยไว้ให้เราภาคภูมิใจ และทำประโยชน์แก่บ้านเมืองนานัปการ  

พอฟ้าสางผมก็วิ่งออกไปทางตลาด ไปสู่ถนนสุขาประชาสรรค์ ๒ เลี้ยวขวาเพื่อไปดูน้ำที่วัดบางพัง   ระหว่างทาง พบว่ามีคันดินใหม่สร้างตามแนวรั้วของบ้านแม่น้ำ   ที่เวลานี้น้ำสูงถึงอก   ถามเจ้าหน้าที่ว่าเขามีพนังกั้นน้ำตามแนวแม่น้ำ เจ้าพระยาไหม เขาตอบว่ามีและยังอยู่ดี   แต่น้ำมันเข้ามาเพราะกำแพงรั้วด้านข้างพัง   ทางเทศบาลต้องสร้างพนังกั้นไม่ให้น้ำ จากบ้านแม่น้ำไหลออกมาท่วมบริเวณข้างเคียง   เห็นร่องรอยชัดเจนว่าเทศบาลทำงานหนักในการต่อสู้ไม่ให้น้ำท่วม

ที่วัดบางพัง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอีก   แต่พนังกั้นน้ำซีเมนต์ที่ต่อสูงขึ้นไปอีกก็ช่วยป้องกันไว้   เขาเอา กระสอบทรายไปวางยันพนังซีเมนต์เพื่อช่วยรับแรงกระแทกของน้ำ   แสดงให้เห็นว่าผู้คนเริ่มเข้าใจเรื่องแรงดันน้ำมากขึ้น   และรู้ว่าพนังกั้นน้ำด้วยดินและกระสอบทรายมีผลชั่วคราวเท่านั้น   หากน้ำเอ่อไปนานๆ มันก็ยุ่ยและพังง่ายขึ้น   ตรงสำนักงานถวายอารักขาพระตำหนัก จังหวัดปทุมธานี ของทหารเรือและของตำรวจ มีกำแพงกันน้ำสองชั้น มีน้ำนอง อยู่ตรงกลางมาหลายวันแล้ว   ตอนนี้น้ำตรงกลางสูงมากจนเขาต้องเอาท่อมาระบายน้ำออกมาบนถนนด้านใน   ผมคิดว่า การมีกำแพงสองชั้น มีน้ำอยู่ตรงกลางนี้ น่าจะเป็นพนังกั้นน้ำที่ได้ผลดี ที่เขาเรียก “ธรรมศาสตร์โมเดล”   แต่ตอนนี้น้ำก็เข้า ธรรมศาสตร์รังสิตเต็มพื้นที่แล้ว  

ผมคิดว่าสถานการณ์ที่วัดบางพังในภาพรวมยังดีอยู่ แต่ก็เลวร้ายลง   ระหว่างวิ่งกลับบ้านผมถามตัวเองว่า การลงทุนสร้างพนังกั้นน้ำชั่วคราวปีละครั้งของเทศบาลนครปากเกร็ด กับวิธีสร้างพนังถาวรให้สูงเพียงพอ อย่างไหนจะใช้ เงินน้อยกว่ากัน หากมองที่ระยะเวลา ๕ ปี ซึ่งที่จริงพนังถาวรน่าจะอยู่ได้เป็นสิบหรือยี่สิบปี 

ข้อมูลจาก ThaiFlood Reporter บอกว่าสถานการณ์น้ำที่บอกความเสี่ยงของบ้านผมสถานการณ์คงที่หรือดีขึ้น เพราะน้ำที่ บอนด์สตรีท ในเมืองทองลดลง ไม่ใช่เพิ่มขึ้น 

ผมอ่านหนังสือ The Post-American World จบเมื่อคืน   และมี short note ดังต่อไปนี้

สรอ. ต้องเอาชนะความกลัวอย่างไร้เหตุผล เช่นกลัวการก่อการร้าย และ overreact เพื่อป้องกันการก่อการร้าย ก่อความสิ้นเปลืองมากมาย   สมประสงค์ของการก่อการร้าย คือสร้างความหวาดกลัวในสังคม   ความหวาดกลัวทำให้ เกิดความหวดระแวง เห็นคนเป็นศัตรูไปหมด   ทั้งๆ ที่เขาเป็นมิตร

กลัวถูกเอาเปรียบทางการค้า ก่อปัญหาเศรษฐกิจ   กลุ่มขวาจัด ระแวงว่าคนเข้าเมืองจะเข้ามาก่อปัญหาหรือแสวง ประโยชน์จาก สรอ.  ความกลัวและระแวงเหล่านี้นำไปสู่มาตรการปกป้องผลประโยชน์ของ สรอ.  นำไปสู่ความอ่อนแอ ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่นำไปสู่ความสำเร็จของ สรอ. ไม่ใช่รัฐบาล   แต่เป็นความเข้มแข็งของสังคม ที่เป็นสังคมเปิด อ้าแขนรับ ideas & inventions, people & culture  ทำให้ สรอ. เป็นแนวหน้าของการเปลี่ยนแปลง ด้วยพลังของความแตกต่างหลากหลาย

สรอ. ต้องเปิดรับเยาวชนที่มีแรงบันดาลใจและสมองจากทุกมุมโลก เข้ามาเติมการสร้างพลังให้แก่ สรอ.

ผมสรุปว่า ไม่ว่าประเทศใด   บรรยากาศของความหวัง มองโลกเชิงบวก สร้างสรรค และลงมือต่อสู้ฟันฝ่า   และร่วมมือกับภาคีในการร่วมกันบรรลุเป้าหมายที่ใฝ่ฝันนั้น คือแนวทางที่ถูกต้อง   และใช้ได้ทั้งระดับประเทศ ระดับองค์กร และระดับบุคคล 

อย่าคิดแบบความสัมพันธ์เชิงเส้นตรง   โลกสมัยนี้มีความซับซ้อนยิ่ง   ประเทศต่างๆ ไม่ได้สัมพันธ์กับ สรอ. ประเทศเดียว เขาสัมพันธ์กับประเทศอื่นด้วย   เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้มีสาเหตุเดียว มีหลากหลายปัจจัยที่ซับซ้อน หากแก้ที่จุดหนึ่ง ปัจจัยอื่นอาจขยายขึ้น  (จบ) 

 

เช้านี้ผมค้นหนังสือที่ซื้อไว้นานกว่า ๑ ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านละเอียด เอามาอ่าน   คือ The Necessary Revolution  เป็นหนังสือว่าด้วยการเรียนรู้ภาพใหญ่ภาพของการเปลี่ยนแปลงทั้งโลก เขียนโดยปรมาจารย์ Peter Senge แห่ง Learning Organization    และขอนำ short note ส่วนตัวมาลงไว้ดังต่อไปนี้

อนาคตอยู่ที่เราเลือกเอง

ต้องปฏิวัติวิถีชีวิตเพื่อกู้โลกจากหายนะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง   ปฏิวัติทุกสิ่งทุกอย่าง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีคิด นิยามคำว่า ความก้าวหน้า เสียใหม่    ที่จะเป็นเข็มทิศบอกทิศทางการจัดองค์กรและแนวทางการดำเนินการใหม่   และต้องร่วมกันดำเนินการทั่วทั้งโลก และทุกภาคส่วน   โดยตระหนักในความเป็นจริงว่า โลกในปัจจุบันเชื่อมโยงมีผลกระทบถึงกันหมด   และต้องคำนึงถึงคนรุ่นต่อไปเป็นหลัก   เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ มีผลต่ออนาคตของมนุษยชาติ 

ต้องการวิธีคิดใหม่   ตามคำพูดของไอน์สไตน์ว่า "We can't solve problems by using the same kind of thinking we used when we created them."

หนังสือเล่มนี้เน้น ๓ ด้านที่เชื่อมโยงกัน : พลังงานและการขนส่ง, อาหารและน้ำ, และ วัสดุของเสียและมลพิษ   ตามมาด้วยอสมดุลที่เกิดจากทรัพยากรกระจุกอยู่ที่คนจำนวนน้อย  

หัวใจของหนังสือเล่มนี้คือ มองปัญหาเหล่านี้เป็นโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่โลก   โดยอาศัยพลังของการมองกระบวนระบบ  มองข้ามพรมแดน  เน้นการสร้างสรรค์เหนือการแก้ปัญหา   นำไปสู่การมีโลกทัศน์ใหม่

ผมเพิ่งอ่านได้ ๒ บท จากทั้งหมด ๒๙ บท   สรุปได้ว่าสภาพของโลกในปัจจุบันเกิดจากความสำเร็จของมนุษย์ในการพัฒนาเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม   แล้วความสำเร็จนั้นเองก็กลายเป็นตัวปัญหา   ก่อมลพิษต่อบรรยากาศ   นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  โรคภัยไข้เจ็บ และปัญหาสังคม

มองโลกว่ากำลังทำหน้าที่ "บริการด้านปรับสภาพแวดล้อม" (eco-service) อยู่ตลอดเวลา เพื่อฟื้นฟูสภาพสมดุลสิ่งแวดล้อม ให้เหมาะสมต่อการดำรงชีพของมนุษย์   แต่เวลานี้เกินกำลัง เพราะมนุษย์เราเผาผลาญเชื้อเพลิงคาร์บอนมากเกินขีดจำกัดของโลก   ก่อผลต่อปัจจัยสำคัญๆ ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ : น้ำสะอาด อากาศสะอาด ดินที่อุดม การผสมเกสร และภูมิอากาศที่มั่นคง

ผลทางสังคมของมนุษย์ : ความวิตกกังวล ทำงานมากเกิน เครียด ไม่เชื่อใจกัน กลัว และโกรธ 

ต้องไม่ลืมว่า โลกเป็นระบบที่มีขีดจำกัด (finite system)

เสนอแนวคิดหลัก ๖ ประการ

  ๑. ระบบอุตสาหกรรม  เป็นส่วนหนึ่งของระบบธรรมชาติ

  ๒. ระบบธรรมชาติ ประกอบด้วย ระบบชีวภาพ ที่ฟื้นฟูตัวเองได้ ได้แก่ป่า แผ่นดินที่ใช้เพาะปลูก และพื้นน้ำที่ใช้ทำประมง   กับระบบที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ได้แก่น้ำมัน และแร่ธาตุต่างๆ

  ๓. ทรัพยากรที่ฟื้นตัวได้ สามารถรับใช้การดำรงชีพของมนุษยติได้ตลอดไป หากมนุษย์ไม่ใช้งาน หรือเก็บเกี่ยวจากเขามากเกินไป  จนเขาผลิตให้ไม่ทัน

  ๔. ทรัพยากรที่ฟื้นตัวไม่ได้ เมื่อใช้แล้วก็หมดไป  

  ๕. ทรัพยากรที่ฟื้นตัวไม่ได้ เมื่อมีการใช้จะก่อของเสีย ทั้งจากกระบวนการผลิต กระบวนการขนส่ง และกระบวนการใช้ผลิตภัณฑ์

 ๖. ระบบอุตสาหกรรมยังอยู่ภายในระบบสังคม : ชุมชน ครอบครัว โรงเรียน และวัฒนธรรม   นอกจากผลร้ายต่อระบบธรรมชาติอุตสาหกรรมอาจก่อผลเสียต่อระบบสังคม : ความวิตกกังวล ความไม่เท่าเทียมหรือไม่เป็นธรรม และความเครียดในสังคม

 

ตกบ่าย “เลขา” กลับจากอุบลฯ และเอารถนิสสันกลับมาด้วย   ผมได้โอกาสจึงขับไปที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ เพื่อขอความช่วยเหลือจาก iStudio ในการตั้งค่า preference ของ e-mail ที่ผมไปขยับที่ศาลายาแล้วเอากลับที่เดิมไม่เป็น   ทดลองแก้กันอยู่นานจึงสำเร็จ    และผมได้ขอเรียนรู้วิธีใช้อีก ๒ - ๓ อย่าง   แล้วจึงกลับบ้านและแวะไปดูน้ำแถววัดบางพัง    ไปเห็นน้ำทะลักพนังกั้นที่ถนนสุขาประชาสรรค์ ๒    และเข้าไปในซอยวัดบางพังไม่ได้ เพราะรถบรรทุกเขาทำงานกัน    ผมจึงต้องกลับ   สรุปกับตัวเองว่าตอนเย็นน้ำขึ้นสูงมาก    “เลขา” ดูในเฟสบุ๊กและบอกว่ามีคนมาโพสต์ว่าระดับน้ำ ที่ปากเกร็ด ๓.๓ เมตร    เราดูที่เว็บ http://hydrology.rid.go.th/wmsc/cctvpakkhet.htm ปรากฎว่าน้ำมิดไม้สเกลซึ่งมีขีด บอกระดับสูงสุด ๓.๐ เมตร   แล้วไม้สเกลยังสูงขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง    ตอนนี้มองไม่เห็นไม้นั้นเลย

ตอนประมาณ ๑๘.๒๐ น. ผมบังเอิญเปิดทีวีฟังข่าว พบว่าใน TNN มีการแถลงข่าวของรัฐบาล    ป้ายข้างหลังบอก ทำนองว่ารวมตัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสู้วิกฤติน้ำ    มีรองนายกประชา พรหมนอก  รองอธิบดีกรมตำรวจ  และคนอื่นอีก หลายคน ที่เตะตาคืออดีตอธิบดีกรมชลประทาน ปราโมทย์ ไม้กลัด   ที่วีเขาเปิดเสียงคำพูดของคุณปราโมทย์ยาว    ให้คำ แนะนำรัฐบาลว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร    ผมคิดในใจว่า หากรัฐบาลปรึกษาผู้รู้เสียแต่ต้นปัญหาคงไม่บานปลายอย่างนี้  

ตกเย็นผมเข้าเว็บพบสรุปภาพข่าวน้ำท่วมน่าสนใจที่นี่  ที่นี่   และมีข่าวสั้นๆ บอกว่าน้ำเข้าศิริราชและมีรูป สูบน้ำออกที่นี่   และเตือนว่าทางมหิดลศาลายาให้ระวังตามข่าวนี้      

สรุปว่าวันนี้ที่บ้านผมยังปลอดภัย น้ำยังไม่ท่วม   ท่านที่มี iPhone หรือ iPad ลองใช้ App ชื่อ ThaiFlood Reporter ในการติดตามข่าวน้ำ  และช่วยกันรายงานข่าวน้ำนะครับ   เป็นการให้ข่าวที่ว่องไวทันเหตุการณ์ โดย “นักข่าวพลเมือง” ครับ    ผมรายงานวันละ ๓ - ๔ ครั้ง

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ต.ค. ๕๔

 

หมายเลขบันทึก: 465763เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2011 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ระดับน้ำสูงกว่าที่คิดครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท