น้ำท่วมทุ่ง ชาวกรุงในเขตเสี่ยงภัย


ถึงตอนวิกฤติขอให้คิดถึงชีวิตเป็นอันดับแรก ห่วงที่สำคัญที่สุดไม่ใช่อะไรเลย แต่คือ "ใจที่ไม่ปล่อยวาง"

ขอขอบพระคุณกัลยาณมิตรที่แวะมาให้กำลังใจและฝากความเห็นไว้ในบันทึกก่อนหน้านี้ "นับถอยหลัง เมื่อน้ำล้อมเมือง"  ผ่านไป ๔๘ ชั่วโมงที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแจ้งเตือนภัยตั้งแต่วันที่ ๑๘ ตุลาคม จนถึงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๔  ณ วันนี้ (เช้าวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔) พ้นกำหนดเวลานับถอยหลัง ผู้เขียนยังอยู่ดีมีสุข  แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่าสถานการณ์น้ำท่วมกลับเลวร้ายในฝั่งตะวันตก (จังหวัดนนทบุรี) ซึ่งไม่มีข่าวล่วงหน้าแบบเข้มข้นมาก่อนว่าจะมีน้ำเข้ามาท่วมสูงขนาดนี้  ตามภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราเห็นผ่านสื่อทุกชนิด

                            สรุปว่า ที่เตือน ไม่มา  ที่มา ไม่เตือน

 

        ภาพโดยคุณ Pradit Baven ใน Facebook

น้องชายผู้เขียนและครอบครัวอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านมัณฑนา นนทบุรี ได้พาครอบครัว ได้แก่ ภรรยา หลานกะทิ และพี่เลี้ยงหนีน้ำจืดไปพึ่งน้ำเค็มที่ชะอำตั้งแต่วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ ก่อนที่น้ำจะทะลักเข้านนทบุรีบริเวณถนนราชพฤกษ์ เขาโทรศัพท์มาชักชวนผู้เขียน ขณะที่ผู้เขียนกำลังยกข้าวของบางส่วนขึ้นบนชั้นสอง ผู้เขียนเองก็ไม่ได้ห่วงทรัพย์สินบ้านช่องถึงขนาดทิ้งบ้านไม่ได้เลย เพียงแต่คนใกล้ตัวของผู้เขียนมีความเชื่อมั่นแรงกล้าว่าแม้น้ำท่วมก็จะอยู่ โดยจะขอ "ดูน้ำ" และเรียนรู้ที่จะอยู่กับ "น้ำ" สักระยะก่อนออกจากบ้านไปในวินาทีวิกฤติสุดท้าย

 

ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ พี่ เพื่อนและน้อง ๆ หลายท่านโทรศัพท์มา หลายสายอาจไม่มีเวลารับ ส่วนสายที่รับได้ก็เพราะเป็นช่วงพักเหนื่อยพอดี มีมาสายหนึ่งเป็นของพี่ที่เคยร่วมงานกัน ท่านเกษียณอายุราชการแล้ว อาศัยอยู่เขตดอนเมือง ซึ่งเป็นเขตเสี่ยงภัยที่มีการประกาศเช่นกัน บ้านของท่านเป็นบ้านชั้นเดียว และขณะนี้ก็อยู่เผชิญชะตากรรมลำพัง ถามว่าท่านเอาทรัพย์สินไปไว้ไหน

 

 

 

ท่านบอกว่าทรัพย์สินที่มีค่าคือภรรยาและลูก ได้เอาไปไว้ที่สูงแล้ว ผู้เขียนก็อดขำไม่ได้ ที่สูงในที่นี้ ทราบดีว่าไม่ใช่ชั้นสอง เพราะบ้านท่านมีชั้นเดียว แต่หมายถึงว่าได้ให้ไปอยู่ที่อื่น ซึ่งปลอดภัย น้ำท่วมไม่ถึง  และอีกครอบครัวหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จัก เป็นน้องที่เคยร่วมงานกัน บ้านเขาอยู่แถวสะพานใหม่ ใกล้ดอนเมือง เขาก็เฝ้าบ้านคนเดียว ภรรยาและลูก ๆ ไปอยู่ที่ปากช่อง

บ้านชาวกรุงไม่ได้ถูกปลูกสร้างหรือออกแบบมาเพื่อจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวที่สุดของคนไทยเรา

 

 

เราได้ลืมไปแล้วว่าพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นที่ราบลุ่ม  ทุ่งนาเก่าแก่ดั้งเดิมไม่ต่างอะไรกับพระนครศรีอยุธยา ช่วงชีวิตคนยุคนี้ที่ผ่านมาทำตัวห่างไกลน้ำเสียเหลือเกิน มองไม่เห็นทุ่งนา ไม่เห็นน้ำ  จึงไม่เข้าใจน้ำ น้ำจึงกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม หรือเป็นคนแปลกหน้าที่น่ากลัวที่สุดของชาวกรุงอยู่ในขณะนี้  ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของเมืองกรุง (เทพฯ) ผ่านน้ำท่วม (ทุ่ง) มาแล้วหลายครั้ง แวะไปชมได้ ที่ http://news.mthai.com/hot-news/91302.html

 

 

หลายครอบครัวที่ผู้เขียนรู้จักมักคุ้นได้วางแผนการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในแบบผู้ชายออกรบ ผู้หญิงและลูกอยู่แนวหลังคอยให้กำลังใจ  แต่ครอบครัวของผู้เขียนออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กัน (ว่าไปนั่น) โดยสภาพของเมืองกรุง ชีวิตชาวกรุงไม่คุ้นเคยกับการใชัชีวิตริมน้ำ ภาวะน้ำท่วมจึงดูเป็นเรื่องใหม่ที่สร้างความตระหนกตกใจไม่น้อย ซึ่งเราจะเห็นบรรยากาศผ่านสื่อในหลาย ๆ แห่ง ในที่นี้ ขอนำภาพบรรยากาศการเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมของบริเวณใกล้เคียงกับที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ แล้วจะเห็นว่าชีวิตหลังช่วงการนับถอยหลังของชาวกรุงในเขตเสี่ยงภัยเป็นเช่นไร

ชาวบ้านเริ่มสร้างสะพานไม้เล็ก ๆ เข้าบ้านเรือนที่อยู้ริมคลอง

 

รอยยิ้มของเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ริมคลอง  บ้านของเด็กหญิงตัวน้อยมีน้ำท่วมระดับตาตุ่มแล้ว แต่ออกมาเล่นริมถนนได้ เพราะถนนสูงกว่าบ้านที่อยู่ริมคลองหนึ่งเมตรกว่า พวกเขาคุ้นชินกับชีวิตริมคลองแบบนี้มานานแล้ว จึงดูเหมือนไม่ตระหนกตกใจหากระดับการท่วมยังอยู่ในขั้นที่รับได้เหมือนที่ผ่านมา สังเกตเห็นได้ว่า "ไม่มีการป้องกันใด ๆ" เป็นพิเศษ

 

 

 

บนสะพานข้ามคลอง สองข้างทางเต็มไปด้วยรถยนต์ของชาวกรุงผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร

 

                        การป้องกันบ้านในแบบต่าง ๆ

 

มองไกล ๆ ยังไม่เห็น แต่ถ้าสังเกตใกล้ ๆ บ้านหลังนี้ ปิดประตูหน้าต่างด้วยแผ่นพลาสติกใสอย่างหนา

 

 

 

 

การใช้ชีวิตประจำวัน ยังไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไรนัก

        คุณพ่อพาคุณลูกออกจ๊อกกิ้งยามเย็น

การป้องกันบ้านแบบก่อปูนซีเมนต์ปิดประตูเข้าออก

 

 

 

การป้องกันแบบขึงแผ่นพลาสติกใสรั้วรอบบ้าน

 

ทำทางเดินออกมาจากบ้านถึงประตูรั้ว และเป็นทางทอดไปยัง...

                               

                              บ้านต้นไม้

 

เจ้าของบ้านหัวเราะชอบใจที่ผู้เขียนหยุดรถจักรยาน เพื่อชื่นชมและขอถ่ายรูป

 

 

หลายท่านที่ผู้เขียนแวะคุยทักทาย เป็นผู้ที่มองโลกสดใสในแง่ดี ส่วนใหญ่เกือบ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ "ไม่มีการป้องกันบ้านจากสภาพภายนอก" ปล่อยให้น้ำไหลเข้าบ้าน แต่ก็ได้นำทรัพย์สินมีค่า หรือของที่ยกได้ไปไว้ชั้นสองเรียบร้อยแล้ว  การใช้ชีวิตโดยส่วนใหญ่ก็ยังเป็นไปตามปกติ  แม้กระทั่งที่สนามหญ้าที่เป็นสวนสาธารณะของหมู่บ้านตามโซนต่าง ๆ

 

 

 

 

ชีวิตชาวกรุงจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร แม้จะเลยช่วงเวลานับถอยหลังไปแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เรารออยู่ ไม่รู้ชัดว่าหน้าตาเป็นอย่างไร  เห็นแค่ในทีวี และได้ยินเพียงคำบอกเล่า แต่จากนี้ไป "หยุดนับชั่วโมงและนาที" แล้ว  คนใกล้ตัวบอกกับผู้เขียนว่าการอยู่เพื่อดูน้ำ เพราะจากนี้ไปเราอาจจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะน้ำท่วมนี้อีก การได้เรียนรู้ที่จะสัมผัสกับวิกฤติน้ำด้วยตัวเอง จะทำให้คราวหน้ารับมือได้ด้วยความเข้าใจน้ำดียิ่งขึ้น  น้ำไม่ใช่ศัตรู แต่คือแขกผู้มาเยือน ที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อนเท่านั้น หากเราหนีเขา คราวหน้า คราวไหน ๆ ก็จะต้องหนีอยู่ร่ำไป  นั่นคือวิธีคิดของเขา  สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากภาวะน้ำท่วม ไม่ใช่เรื่องการป้องกันหรือเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำเท่านั้น แต่คือ "การตัดสินใจร่วมกันของคนในครอบครัวในภาวะวิกฤติ" ที่ไม่เคยมีมาก่อน  จะต้องมีการถกประเด็นด้วยเหตุผล และจะต้องมีการยินยอมพร้อมใจกันด้วยความเข้าใจ

 

 

สำหรับผู้เขียนแล้ว  มีความเห็นว่าภัยน้ำท่วมก่อนที่จะมาถึงขั้นโอบล้อมเมืองในขณะนี้ เราทราบล่วงหน้ามานานพอสมควร (กว่าสองสัปดาห์แล้ว) หากพิจารณาตามความเป็นจริงจากหลักความคิดของคนที่ไม่มีความรู้เชิงวิชาการลึกซึ้งใด ๆ ทัั้งสิ้นที่ว่าน้ำที่อยู่สูงกว่าย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า และเส้นทางการเดินน้ำไปทางไหนได้บ้างตามแผนที่  ดังนั้น แทนการป้องกันด้วยการสร้างสรรพสิ่งมากีดขวางทางธรรมชาติแบบเลือดตาแทบกระเด็นอย่างเดียว  สิ่งหนึ่งที่ควรทำคู่ขนานกันไปด้วยนอกเหนือจากการเตือนภัยให้ยกทรัพย์สินขึ้นที่สูงและเตรียมการอพยพ ก็คือการกระจายอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือป้องกันตัวเองในเบื้องต้นให้ชุมชนต่าง ๆ ส่งเสริมให้ชุมชนดูแลชุมชนกันเอง เพราะไม่ว่าจะพิจารณาแง่มุมไหน กำลังเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เพียงพอ และภาคองค์กรหรือประชาชนจิตอาสา เราก็ไม่อาจจะประมาณกำลังที่แน่นอนสำหรับการมาให้ความช่วยเหลือได้ 

 

                       การส่งเสริมให้ชุมชนช่วยเหลือชุมชนกันเอง

มีทางไหนทำได้บ้าง ก็ควรเร่งมือทำ ผู้เขียนไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ในทางปฏิบัติโดยรายละเอียด แต่เชื่อว่าหากมีหลักการ ก็ระดมความเห็นมาทำงานให้เป็นรูปธรรมได้

 

ลองมาอ่านความคิดเห็นของท่าน ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ไขแนวทางแก้วิกฤตน้ำท่วม ไม่เห็นจะน่าวิตกเลย…ต้องแยกพฤติกรรมน้ำให้ออก  จาก

http://www.tcijthai.com/interview-piece/902 

 

บางช่วงบางตอนที่ท่านกล่าวขอยกมาเป็นตัวอย่างเช่น

 

"ในหลวงเคยตรัส เมื่อปี 2533 ว่า ไม่มีใครต้องการให้เกิดภัยธรรมชาติ แต่เมื่อเกิดแล้วเราต้องเข้าใจภัยธรรมชาติ และให้ภัยธรรมชาติเป็นครูที่จะสอนเรา ซึ่งผู้ปฏิบัติหรือผู้มีหน้าที่โดยตรงต้องนำไปแปลว่าจะทำอย่างไรการแก้ไขเรื่องน้ำ จะเดาส่งแบบหมอดูไม่ได้ กรมชลประทานในฐานะนักเทคนิค จะต้องมีบทบาทในการให้ความรู้ความเข้าใจกับนักการเมืองครอบงำได้ โดยนักการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะต้องเป็นฝ่ายอำนวยการมีบทบาทในการประสานเพื่อให้อำนวยความสะดวกให้คล่องตัว"

 

 

มาถึงตอนนี้ หากอยู่ในภาวะวิกฤติขอให้คิดถึงชีวิตเป็นอันดับแรก "ห่วง" ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่อะไร แต่คือ "ใจที่ไม่ปล่อยวาง"

 

 

                ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนร่วมชะตากรรมทุกท่านค่ะ

                      

              

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 465504เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2011 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เป็นกำลังใจให้นะคะอาจารย์

ก็ต้องช่วยกันไปก่อนนะครับ

เพราะข้างบนอาจต้องการหน้าตา

และเงินตราก่อนนะครับ

  • ขอบคุณคุณ  namsha Ico48 มากค่ะ กำลังใจดี ๆ จากกัลยาณมิตรทำให้ชีวิตทุกวันนี้ยังปลอดภัย สบายใจมาก ๆ เลยค่ะ
  • พื้นที่ที่แจ้งเตือนยังไม่เป็นไร แต่พื้นที่ที่วิกฤติตอนนี้ ไม่เคยมีการแจ้งเตือนมาก่อน ตรงนี้น่าเห็นใจมากเลยค่ะ น้ำท่วมแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เดือดร้อนกันมาก สำหรับหลายครอบครัว มีเงินก็ซื้อความสุขไม่ได้
  • จริง ๆ คือต้องแก้ที่ใจตนเอง แต่ก็ยอมรับว่ายากค่ะ จึงขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เดือดร้อนกว่าทุกท่านด้วยค่ะ
  • กราบสวัสดีท่านโสภณ  Ico48 ค่ะ คงต้องเป็นเช่นนั้น โดยธรรมชาตินิสัยของชาวกรุง มีชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง ไม่ค่อยจะพึ่งพาอาศัยใครเท่าไหร่โดยไม่จำเป็น (อย่างยิ่ง) ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงมีการป้องกันในแบบฉบับของตนเอง แต่ที่ต้องขอหรือรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะหลายแห่งไม่ได้มีการเตือนภัยแบบเข้มข้นล่วงหน้า รู้ตัวอีกทีก็น้ำมาแล้ว 
  • แนวทางที่เป็นอยู่ จะเป็นการแก้ไขมากกว่าป้องกันค่ะ  แน่นอนว่าต้องช่วยตัวเองแบบเลือดเข้าตาค่ะ โดยส่วนตัว จึงจะหาทางเอาตัวเองให้รอดให้มากที่สุด ยังไม่ทราบว่าจะได้ขนาดไหน ต้องรอไปเรื่อย ๆ ขอบพระคุณท่านมากที่แวะมาให้กำลังใจเสมอค่ะ ยามนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าได้สนทนากับกัลยาณมิตร และติดตามข่าวสารค่ะ  

เป็นบ้านที่สวยงามและมีชาติตระกูลมากเลยครับ ;)...

 

บ้านที่ไม่สอดรับกับความเป็นไปของพื้นที่ เป็นไปได้ไหมครับว่า เรารับวัฒนธรรมบ้านจากชาติตะวันตกมา โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่เคยเป็นมาในอดีต เพราะเขาบอกว่า อดีตน่ะ มันโบราณ บ้านแบบนี้ดีกว่าเยอะแยะ ;)...

หรือว่า วัฒนธรรมตะวันตกมันอยู่ของมันเฉย ๆ แล้วเราเองต่างหากที่ไปชื่นชมและรับมันมาเอง เมื่อเกิดเหตุธรรมชาติ ... มันจึงอยู่ผิดที่ผิดทางไป ;)...

เราเสียทีข้าศึก (น้ำ) แล้วครับอาจารย์

ขอให้อาจารย์ปลอดภัยนะครับ ;)...

กำลังใจยังดีอยู่

อย่างอื่นก็ไม่น่าเป็นห่วงนะคะ

สู้ ๆ ค่ะ

ได้ออกกำลังกายเยอะด้วย

เป็นกำลังใจให้คุณศิลานะคับ

  ดูจากสถาณการณ์แล้ว  วางแผนไว้อย่างรอบคอบ  คงปลอดภัยนะคะ 

  เป็นกำลังใจค่ะ

  • สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ Ico48 หากมองวิกฤติเป็นโอกาส บทเรียนครั้งนี้สอนคนไทยในพื้นที่ราบลุ่มหลายอย่าง ตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ ปัจจัย ๔ ในแบบดั้งเดิม เริ่มตั้งแต่ที่อยู่อาศัย ทำไมบ้านเรือนทรงไทยยกสูงแบบเก่าหายไป ทำไมถมที่บนพื้นที่ที่เป็นแปลงนา ไร่ สวน จนลืมรากเหง้าของตนว่าเป็นลูกชาวนา ชาวไร่
  • การศึกษาที่สูงขึ้นซึ่งส่วนใหญ่รับมาจากอารยธรรมตะวันตกไม่ได้คู่ขนานไปกับวิถีชีวิตรุ่นปู่ย่าตายาย ที่รับมือกับภัยธรรมชาติได้โดยไม่ลำบากเดือดร้อนกันขนาดนี้
  • เทคโนโลยีที่สูงขึ้น บ้านที่โอ่อ่าทันสมัยรับมือกับธรรมชาติไม่ได้จริง ๆ
  • หันหน้าไปทางไหน ก็เจอแต่กำแพงตึก หากน้ำมาจริง ๆ ก็ต้องขึ้นไปอยู่ตึกสูง ๆ ไว้ก่อน
  • ในระหว่างเตรียมการรับมือกับน้ำ ได้ยินเพื่อนบางคนจะรื้อบ้าน สร้างใหม่เป็นแบบเรือนทรงไทยค่ะ ตื่นเต้นไปกับแนวคิดของเขาที่พยายามจะปรับตัวเข้าหาธรรมชาติและอยู่กับน้ำให้ได้ ก็เอาใจช่วยค่ะ เพราะทุกอย่างคือสิ่งแวดล้อมและชุมชน เราคนเดียว บ้านหลังเดียวจะทำได้แค่ไหนก็ต้องดูต่อไปค่ะ
  • ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจค่ะ

ขอบคุณคะ น่าสนใจประโยคนี้ของท่าน อาจารย์ปราโมท์ ไม้กลัด

"..ถ้าระดับน้ำไม่น่าวิตกเหตุใดประชาชนจึงแตกตื่นมาก

 ปัญหาหลักเกิดจากพื้นที่ 3จุดใหญ่ๆ นครสวรรค์ ลพบุรี อยุธยา ระเบิดเอาไม่อยู่ คันกั้นน้ำพัง ก็เลยมาวาดภาพว่ากทม.คงจะเหมือนกัน ผมก็บอกหลายครั้งแล้วว่าไม่เหมือนมันคนละพฤติกรรมน้ำและคนละพฤติกรรมพื้นที่.."

สมัยอยุธยา มีโรคระบาดจากกินอาหารปนเปื้นเชื้อนำโดยหนู (กาฬโรค)
คนแตกตื่น โทษบุคคลกาฬกิณีบ้านเมือง ทำพิธีบุชายัญน์ วุ่นวายกันไปหมด
ในยุควิทยาศาสตร์เช่นปัจจุบัน "การเข้าใจธรรมชาติ เหตุปัจจัย"
แทนที่จะหาคนรับบาป จึงเป็นพึงเรียนรู้จากอดีตอย่างยิ่งคะ

อ่านบันทึกจบ

แสดงว่า  คนบ้านนี้กำลังใจ   สร้างได้เอง

แบบไม่ต้องขอให้ใครมาเติมให้

ยังไง ก้อสู้ๆๆๆๆ  นะคะ

ส่วนบ้านพี่หลังน้ำลดและมวลน้ำไหลไปบ้านน้องแล้ว

ตอนนี้เริ่มมีมวลอากาศหนาวเข้ามา

เป็นห่วงจัง กลัวว่าความหนาวจะแผ่ไปสบทบกับน้ำที่ยังไม่ลด

สู้ๆๆ นะคะ 

 

  • ขอบคุณคุณหมอธิรัมภา Ico48 ที่กรุณาให้กำลังใจเสมอค่ะ
  • "สู้" กับตัวเองอยู่ค่ะ คงไม่กล้าสู้กับน้ำ อิอิ
  • สู้แบบวัดใจว่า ท่วมแค่ไหน วิกฤติแค่ไหนสำหรับบ้านเรา ที่จะตัดสินใจทิ้งบ้านตามภาษาที่เขาฮิตกันคือ "อพยพ" ค่ะ
  • ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่ก็มีความสุขทุกการตัดสินใจค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่งดงามค่ะ คุณแสงแห่งความดี Ico48
  • ขอบคุณคุณ krusorn  Ico48 ค่ะ เตรียมการมาสองสัปดาห์แล้วค่ะ
  • อยากรอเก้อเหมือนกันนะคะ ถ้าไม่มาเลย คงจะดีกว่า แต่ถ้าการมา เป็นการแบ่งเบาผู้ประสบภัยใกล้เคียงได้ ก็ยินดีร่วมแบกภาระค่ะ
  • ขอให้กำลังใจของทุกท่านส่งถึงทุกคนที่ลำบากอยู่ในขณะนี้ด้วยค่ะ
  • ขอบคุณคุณหมอ ป. Ico48 มากค่ะสำหรับข้อสังเกตที่น่าสนใจ ทั้งคำกล่าวของท่านอาจารย์ปราโมทย์ และการยกตัวอย่างเรื่องโรคระบาด
  • ความเป็นจริงในอดีตและปัจจุบันดูเหมือนไม่แตกต่างกัน ไม่เข้าใจเหตุ และหลงผิดในผล โทษสิ่งนู้นสิ่งนี้ตามกระแสที่เปลี่ยนแปรไปยุคสมัย
  • แม้หลายสิ่งอาจจะพิสูจน์ด้วยหลักฐานต่าง ๆ แต่คนก็เลือกที่จะเชื่อสิ่งที่สอดคล้องกับภูมิหลัง ความเข้าใจดั้งเดิมคนเขา หรือคนที่เขาศรัทธามากกว่าจะไตร่ตรองตามหลักโยนิโสมนสิการ
  •  หวังว่าทุกอย่างจะผ่านพ้นไปด้วยดีค่ะ ขอบคุณสำหรับร่องรอยแห่งมิตรภาพและความปรารนาดีค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท