ชีวิตที่พอเพียง : ๑๔๑๘. ไปร่วม “ตัดเกือกให้เข้าตีน” วิทยาลัยชุมชน



          วันที่ ๔ ต.ต. ๕๔ มีการประชุมระดมความคิดที่ สมศ. ว่าควรใช้เกณฑ์และตัวชี้วัดอะไรในการประเมินคุณภาพของวิทยาลัยชุมชน    ผมได้รับเชิญไปร่วมให้ข้อคิดเห็นในฐานะ “ผู้ไม่รู้”   และผมตั้งใจไปทำหน้าที่ “กวนน้ำให้ขุ่น” หรือในภาษาที่พูดกันวันนั้นคือ “เขย่า”   ส่วนผู้เชี่ยวชาญการประเมิน คือ ศ. ดร. อุทุมพร จามรมาน ทำหน้าที่ “แกว่งน้ำให้ใส” หรือใช้คำที่พูดกันในเช้านั้นคือ “จัดเข้ากรอบ” 

 

          การประชุมวันนั้นจึงสนุกมาก สร้างสรรค์มาก    ผู้บริหาร วชช. ๓ คนที่มาร่วมประชุมคงจะงงๆ ว่าผู้ใหญ่เขาทำอะไรกัน   เพราะแม้จะมีการแจกเอกสารกองโต เพื่อใช้อ้างอิง    และ ศ. ดร. อุทุมพร ก็ทำการบ้านมาอย่างดี ว่าควรใช้เกณฑ์ที่อิง และต่างจากเกณฑ์ของการประเมินมหาวิทยาลัยอย่างไร    เพื่อช่วยให้มีข้อยุติร่วมกันได้ง่าย  

 

          แต่ผมตั้งตัวเองให้อยู่ในฐานะ “ผู้เขย่า”  ขอให้ตกลงกันให้ชัดก่อนว่า ต้องการให้ วชช. ทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคม และทำอย่างไร   แล้วจึงกำหนดเกณฑ์ประเมิน   ใช้วาทะของ “ลุงริน” (ครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์) ว่า ต้อง “ตัดเกือกให้เข้ากับตีน ไม่ใช่ตัดตีนให้เข้ากับเกือก”   “ตีน” คือภารกิจของ วชช.   “เกือก” คือเกณฑ์การประเมินและตัวชี้วัด   คือต้องเอาภารกิจของ วชช. เป็นตัวตั้ง แล้วช่วยกันกำหนดเกณฑ์การประเมิน และตัวชี้วัด ให้สนองตอบและกระตุ้นการทำภารกิจที่มุ่งหวังของ วชช. 

 

          ความจึงแดงออกมาว่า ยังมีหลาย วชช. ที่ดำเนินการไม่ตรงวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง    ยังต้องการเป็น “มหาวิทยาลัยเล็กๆ” ที่รอวันเติบโตและเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัย    จึงตกลงกันว่า ต้องประเมินวิสัยทัศน์และทิศทางที่ถูกต้องเป็นตัวหลัก    หากเดินผิดทางก็ต้องเปลี่ยนกรรมการสภา และเปลี่ยนผู้บริหาร   คือให้รู้ว่าเดินผิดทางไม่ได้ มีความชัดเจนว่าเดินถูกทางเป็นอย่างไร สำหรับ วชช.

 

          ประเด็นหลักอีกอย่างหนึ่งคือ “ผลงานวิจัย” หรือผลงานวิชาการของอาจารย์ วชช.   ต้องตรงกับภารกิจหลักของ วชช.   คือต้องเป็นผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาชุมชน   ไม่ใช่ผลงานวิจัยประเภทที่ยกย่องกันในมหาวิทยาลัย คือการตีพิมพ์แบบมี impact factor   ผลงานวิชาการของ วชช. ที่ยอมรับ คือผลดีต่อชุมชน และมีการนำเสนอหรือเผยแพร่ในรูปแบบใดก็ได้ที่ผ่านการตรวจสอบ คุณภาพโดยกระบวนการ peer review   โดย reviewer ต้องเข้าใจหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบว่าเป็นการตรวจสอบ ความแม่นยำ ความครอบคลุมของข้อมูล การอ้างอิง และการตีความ   ไม่ใช่เน้นตรวจสอบ originality

 

           ทั้งหมดนี้ คือสาระหลัก ของกระบวนการ “ตัดเกือกให้เข้าตีน” ในวันนั้น   ต่อจากนั้นก็จะเป็น รายละเอียดของการ “ตัดเกือก” คือกำหนดเกณฑ์ประเมิน และตัวชี้วัด ของ วชช.

           หลังการประชุมประมาณ ๑ สัปดาห์  ผมก็ได้รับข้อสรุปเกณฑ์การประเมิน วชช. จาก สมศ.   ผมตอบไปว่า เกณฑ์ที่สรุปมานั้น เป็นการยึด "เกือก" เป็นตัวตั้ง   ขยับ (ไม่ถึงกับตัด) ตีน ให้เข้ากับเกือก   คือเกณฑ์ที่ยกร่างมา เป็นการรับใช้หน้าที่ประเมินของ สมศ. มากกว่ารับใช้ วชช. ให้ วชช. รับใช้บ้านเมืองอย่างตรงทิศทาง ตามเป้าหมายของการจัดตั้ง วชช.

 

 

วิจารณ์ พานิช
๕ ต.ค.๕๔

ปรับปรุง ๒๑ ต.ค. ๕๔


          
                    
         

หมายเลขบันทึก: 465499เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2011 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท