โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)
โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) เทศบาลนครนคราชสีมา

ความสุขที่คุณต้องสร้าง (ครูสุภาภรณ์)


สุขสว่าง เป็นความสุขที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ หรือความสำเร็จให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือสังคมในวงกว้าง ซึ่งเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่และยาวนาน

 

 

 

 

:b44:ความสุขที่คุณต้องสร้าง:b44: 

ข้อมูลจากนิตยสารหมอชาวบ้าน  ตุลาคม 2554 

เขียนโดย นพ.เกียรติภูมิ  วงศ์รจิต 

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข

 

   คนไทยเราทุกวันนี้มีความสุขเพิ่มมากขึ้นไหม ?

 

            สังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์  มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ  มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  วัฒนธรรม  ...วิถีชีวิตของคนเราก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย  ทำให้ต้องปรับตัวมาก  เกิดความเครียด  มากบ้าง  น้อยบ้าง

            ผลการพัฒนาที่ดีและสมบูรณ์  นอกจากความเจริญที่ได้มาแล้ว  ...ประชาชนก็ต้องเป็นสุขด้วย

            มีนักจิตวิทยาตะวันตกกล่าวไว้ว่า  "ความสุขของคนเรานั้น  มีอิทธิพลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมถึงร้อยละ  50"   แปลว่า  คนที่มีความสุขนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวถึงครึ่งหนึ่ง  อีกร้อยละ  35 – 40  เป็นจากวิธีคิด  การกระทำ  หรือเรียกว่าปัจจัยภายในบุคคล  อีกร้อยละ  10 – 15   เป็นจากสถานการณ์ชีวิต  หรือปัจจัยภายนอก

            ฉะนั้นคนที่มีความสุข  นอกจากจะมีคุณสมบัติมาแต่เกิด (พันธุกรรม)  เราก็สามารถฝึก  หัด  สร้างวิธีคิดที่ดี ๆ  หรือความคิดแง่บวก  กระทำในสิ่งที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์  ให้เกิดเป็นความภูมิใจในตนเอง  รวมทั้งการจัดการกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ให้รู้สึกเป็นสุข  คนเราก็มีความสุขได้กันทุกคน

 

      

     ชีวิตที่เป็นสุขของคนไทย 

            สำหรับประเทศไทย  กรมสุขภาพจิต  ได้ให้คำจำกัดความว่า  คนที่มีความสุขคือคนที่มีสุขภาพจิตที่ดีนั่นเอง  และได้แบ่งองค์ประกอบของสุขภาพจิต  หรือสภาพชีวิตที่เป็นสุข  4  องค์ประกอบ  ดังนี้

  1. สภาพจิตใจ  หมายถึง  สภาพจิตใจที่เป็นสุขหรือทุกข์

  2. สมรรถภาพของจิตใจ  หมายถึง  ความสามารถในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น  และการจัดการกับปัญหา

  3. คุณภาพของจิตใจ  หมายถึง  คุณลักษณะที่ดีงามของจิตใจในการดำเนินชีวิต  เช่น  ความเมตตา  กรุณา  ความรัก  ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ความภาคภูมิใจ

  4. ปัจจัยสนับสนุน  หมายถึง  ปัจจัยที่สนับสนุนในบุคคลมีสุขภาพจิตดี  เช่น  ครอบครัว  ชุมชน  ศาสนา  ตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

 

                        

คนไทยจังหวัดไหน  สุขมาก – สุขน้อย

       พ.ศ. 2553  จังหวัดที่มีค่าคะแนนความสุขมากที่สุด  5  ลำดับ  คือ  พังงา  ตรัง  มหาสารคาม  นราธิวาส  และตาก 

สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

-  เพศชายมีความสุขมากกว่าเพศหญิง

-  ผู้ที่สมรสมีความสุขมากกว่าคนโสด หม้าย หย่า หรือแยกกันอยู่

-  ผู้ที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าครัวเรือน  มีความสุขมากกว่าหัวหน้าครัวเรือน 

-  อาชีพเกษตรกร  ที่ไม่มีหนี้ (อาชีพที่มั่นคง)  มีความสุขมากกว่าอาชีพอื่น ๆ

-  ครอบครัวที่มีเวลาให้แก่กัน  มีความสุขมากกว่าครอบครัวที่มีเวลาให้กันน้อย

-   ผู้ที่ให้บริจาค  หรือให้ความช่วยเหลือผู้อื่น  มีความสุขมากกว่า

-   ผู้ที่เคร่งศาสนาหรือปฏิบัติตามหลักศาสนา  มีความสุขมากกว่า

-   ผู้ที่มีรายได้มากกว่ารายจ่าย  มีความสุขมากกว่า   ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย 

         จังหวัดสุขน้อย  6 จังหวัด  คือ  สมุทรสงคราม  สมุทรปราการ  ภูเก็ต  สระแก้ว  แม่ฮ่องสอน  และตาก

 

                                                       

:b44:สร้างสุขได้อย่างไร:b44:

            นพ.สุจริต  สุวรรณชีพ  จิตแพทย์ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต  ได้แบ่งความสุขตามลักษณะสาเหตุที่ทำให้เกิดความสุข  ดังนี้

:b44: 1.  สุขสนุก  เป็นความสุขที่เกิดจากความสนุกสนาน  เช่น  การเล่นต่าง ๆ  เล่นเกม  ดูหนัง  ฟังเพลง  ดูตลก  ฟ้อนรำ  กินอาหาร  หรือเล่นกีฬา   ความสุขประเภทนี้เป็นความสุขระยะสั้น ๆ  ผ่านระยะเวลาหนึ่งก็คลายไป  อยากสุขอีกก็ออกไปหาความสนุกอีก

  :b44: 2.  สุขสบาย  เป็นความสุขที่เกิดจากความสะดวก  สบาย  ผ่อนคลาย  เช่น  การพักผ่อนหย่อนใจ  อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี  เป็นความสุขระยะสั้น  เมื่อพบกับความเครียดก็ไม่สุข

:b44: 3.  สุขสง่า   เป็นความสุขที่เกิดจากความสำเร็จ  ความภาคภูมิใจ  การเป็นแบบอย่างที่ดี  เช่น  การประดิษฐ์นวัตกรรม  การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยดี  การที่ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน  หรือการได้รับรางวัลเป็นที่ยกย่อง  เป็นความสุขระยะกลางค่อนข้างยาวนานกว่า

:b44: 4.  สุขสงบ  เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบไม่แก่งแย่ง  ช่วงชิง  พอเพียง  เช่น  การพึงพอใจในชีวิต  ปฏิบัติตามหลักศาสนา  การนั่งสมาธิ  หรือการมีสติ  ความสุขนี้ค่อนข้างมั่นคงและยาวนาน

:b44: 5.  สุขสว่าง    เป็นความสุขที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากประสบการณ์  หรือความสำเร็จให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือสังคมในวงกว้าง  ซึ่งเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่และยาวนานเช่นกัน

 

                                                     

ปราชญ์ชาวบ้านชี้ทางสร้างสุข

            จากการประชุมของปราชญ์ชาวบ้าน  ที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์  จังหวัดขอนแก่น  แบ่งความสุขออกเป็น  8  หมวด  ได้แก่

  1. หลักประกันในชีวิต  ได้แก่  การมีบ้าน  และที่ทำกินเป็นของตนเอง  อาหารสมบูรณ์  มีเงินทองใช้สอย

  2. ร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง  ได้แก่  การมีสุขภาพกายดี  สุขภาพจิตดี  ปลูกสมุนไพรไว้รักษาเวลาเจ็บป่วย

  3. ครอบครัวอบอุ่น  ได้แก่  ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า  สมาชิกไม่ทะเลาะเบาะแว้ง  ขยันทำมาหากิน  ผัวเดียวเมียเดียว  ครอบครัวมีเวลาให้แก่กัน

  4. ชุมชนเข้มแข็ง  ได้แก่  มีการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง  ผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดี  ชุมชนช่วยเหลือกันและมีความสามัคคี

  5. สิ่งแวดล้อมดี  ได้แก่  การมีดิน  น้ำ  ป่าที่อุดมสมบูรณ์  อากาศดีไม่มีพิษ  มีถนน  น้ำประปาและไฟฟ้า  สิ่งแวดล้อมน่าอยู่

  6. มีอิสรภาพ  ได้แก่  สามารถทำทุกอย่างได้ดังใจและสบายใจไม่เดือดร้อนผู้อื่น  ไม่มีหนี้สิน  ไม่ถูกผู้อื่นครอบงำทางความคิด  ประกอบอาชีพได้อิสระ

  7. มีความภาคภูมิใจ  ได้แก่  งานที่ทำประสบความสำเร็จ  เจริญรุ่งเรือง  ได้ทำตัวอย่างแก่ผู้อื่น  ได้ถ่ายทอดความรู้ความคิดที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น

  8. มีธรรมะในการอยู่ร่วมกัน  ได้แก่  การทำบุญทำทาน  พอใจในสิ่งที่มี  อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ได้เข้าวัดฟังธรรม

 

           อยากให้ทุกท่านมีความสุข  ที่เป็นสุขจากภายใน  สุขเย็น  เป็นสุขที่มั่นคงยืนยาว  จึงจะเป็นชีวิตที่เป็นสุขแท้ค่ะ 

 

                                                                     

:b44:การสร้างสุขเป็นหน้าที่ของทุกคน:b44:

        :b44: อาจเริ่มจากตัวเราเองก่อน  เริ่มจากการมองคนมองโลกในแง่บวก  ฝึกการจัดการกับปัญหาและความเครียด 

        :b44: ทำมาหากินโดยขยันขันแข็ง  สุจริต  ปฏิบัติกิจทางศาสนาเป็นประจำ  กินอาหารที่มีคุณค่าอย่างพอเพียง  หมั่นออกกำลังกาย  หลีกเลี่ยงสุรา  สิ่งเสพติด  อบายมุขต่าง ๆ   สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว  ให้เวลาแก่กัน

        :b44: ร่วมสร้างค่านิยมของความเป็นสุข  ให้การช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อชุมชน  มีจิตสาธารณะ  ร่วมสร้างความผูกพัน  ความรัก  ความสามัคคี  นำพาชุมชนให้เข้มแข็ง

        :b44: พัฒนาและรักษาธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์ปราศจากมลพิษ  และร่วมช่วยกันขยายสู่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป  ประชาชนชาวไทยก็จะมีความสุขกันถ้วนหน้า 

    

P

ครูสุภาภรณ์

ครูสุภาภรณ์ พลเจริญชัย

โรงเรียนเทศบาล4(เพาะชำ

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก  นิตยสารหมอชาวบ้าน  ตุลาคม 2554  เขียนโดย นพ.เกียรติภูมิ  วงศ์รจิต  รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข

หมายเลขบันทึก: 465235เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2011 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท