คนกรุงเก่าบอกกล่าว: เกาะเมืองอยุธยา เป้านิ่งรับน้ำ


คนข้างกายของผู้เขียนเป็น ชาวกรุงเก่า เกิดที่อำเภอเสนา บ้านอยู่ริมคลอง ท้องทุ่ง ท้องนา เห็นเรื่องน้ำหลากมาตั้งแต่เด็กๆ อายุเขาตอนนี้เข้าห้าสิบเจ็ด เขาบอกว่าจำความชีวิตวัยเด็กราวสามถึงเจ็ดขวบได้ดี ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนการพัฒนาแบบสมัยใหม่และ เติบโตได้เห็นจุดเริ่มการพัฒนาแบบสมัยใหม่ที่เข้าไปยังหมู่บ้าน คือตั้งแต่มีแผนพัฒนาฯประเทศฉบับแรกนั่นเอง จนกระทั่งบัดนี้ที่เวลากว่าห้าสิบปีได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนวิธีคิดของผู้คน ส่งผลต่อการดำรงชีวิตที่นำพาคนไทยมาสู่ปัจจุบันยุค

ชวนชมภาพสลับฉาก คลายเครียดค่ะ

ผู้เขียนเคยทั้งอ่านหนังสือและฟังเรื่องราวที่กล่าวถึงฤดูน้ำหลากในสมัยก่อนและความสุข ความอุดมสมบูรณ์ที่มากับสายน้ำ วิกฤตน้ำท่วมแบบกรุงแตกเช่นนี้จึงมีเรื่องสงสัยใคร่รู้ไถ่ถามเขามากมาย เช่น สมัยก่อนเคยมีน้ำหลากแรงอย่างนี้หรือเปล่า น้ำหลากมาแล้วคนทำอย่างไร ผู้คนแก้ปัญหากันอย่างไร ฯลฯ ????

เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคมที่น้ำกำลังทะลักเข้าท่วมเกาะเมืองแล้วเขาจำเป็นต้องฝ่าน้ำ นั่งรถ พายเรือ เข้าไปในเกาะเมือง โดยเข้าทางจุดตัดถนนสายเอเชียกับ ถนนโรจนะ เขาเล่าว่าการพายเรือบนถนนโรจนะ ซึ่งเป็นถนนเข้าเมืองสายหลัก เป็นการฝ่าฟันที่ทำเอาแทบขาดใจ

ผู้เขียนอยู่บ้านกับเจ้าหมาน้ำ วันนี้ ๑๒ ตุลาคม น้ำลงเห็นพื้นกระดานแล้ว

 

ให้นึกภาพน้ำหลาก น้ำมาจาก แม่น้ำใหญ่สามสายดังที่ได้อธิบายไปตอนก่อนหน้า น้ำทุกสายพุ่งเข้าเกาะเมืองจากทิศเหนือลงทิศใต้ กระแสน้ำแรงมาก เขาพายเรือเข้าเกาะเมือง จากจุดตัดถนนสายเอเชีย เข้าถนนโรจนะ คือพายตัดจาก ทิศตะวันตก ไปทาง ทิศตะวันออก เป็นการพายตัดกระแสน้ำจากฝั่งซ้ายไปฝั่งขวานั่นเอง

เขาบอกว่า ช่วงหนึ่งกระแสน้ำพุ่งใส่ด้านข้างเรือ แรงเหมือนกระสุน ส่งเรือกระเด็นเข้าไปในทางแยก เข้าไปไกลจากทางหลัก แต่เขาก็ยังพยายามฝ่าออกไปให้อยู่ในเส้นทางเดิม ทุกครั้งที่ผ่านช่วงที่เป็นซอย เป็นซอกตึก น้ำก็พุ่งใส่แรงมากราวกระสุนที่พุ่งรัวเข้าใส่เรือ ต้องประคองเรือสุดฤทธิ์จนแขนล้าไปหมด ระยะทางที่จะต้องเดินทางแค่ไม่กี่กิโลเมตร ใช้เวลาราว ๔ ชั่วโมงจึงถึงที่หมาย

หากไม่ใช่คนอยุธยาที่โตมากับการพายเรือจนชำนาญคล่องแคล่ว คงถูกซัดหายไปกับสายน้ำ

มองลงมาจากชั้นสามของเรือนที่ต่อใหม่

ลองฟังคนที่มีประสบการณ์ชีวิต เกิด เติบโต และเป็นคนที่รักอยุธยามากเพราะเป็นบ้านเกิด แถมภูมิใจมรดกศิลปวัฒนธรรมของราชอาณาจักรแห่งนี้จนมุ่งมั่นในการค้นหา เรียนรู้ พยายามถอดรหัส มหาสมบัติที่บรรพบุรุษทิ้งร่องรอยไว้ให้ เขาตอบคำถามที่สงสัยให้กับผู้เขียน ผู้เขียนก็พยายามเก็บความมาเรียบเรียงเท่าที่จะทำได้ค่ะ

  • สมัยก่อนหน้าน้ำหลาก ปกติน้ำที่มาถึงอยุธยาแรงอย่างที่เห็นในภาพข่าวหรือเปล่า? 

สมัยก่อน หน้าน้ำหลาก น้ำไม่ได้พุ่งแรงเช่นนี้ ปีนี้น้ำทั้งมาก ทั้งแรง ด้วยเหตุผลหลายอย่าง

น้ำมาก เพราะฝนตกมากทางเหนือ ห้ามกันไม่ได้ ผลจากโลกร้อน เอล นิญโญ่/ลา นิญญ่า กระมัง แต่ที่ร้ายแรงก็คือ ป่าไม้ที่ถูกทำลายไปมหาศาลทำให้ภูเขาไม่สามารถเป็นแหล่งซับน้ำฝนได้ กลายเป็นน้ำป่าถั่งโถมไหลบ่าเข้าทำลายสิ่งที่อยู่ใกล้ และทำให้เกิดดินโคลนถล่มด้วย

ซ้ำร้ายทางตอนเหนือที่เป็นต้นน้ำฝนตกมากทุกแห่ง แม่น้ำทุกสายส่งน้ำเข้าเขื่อนที่มีๆหลายเขื่อน จนเขื่อนรับไม่ไหว จึงปล่อยน้ำทุกเขื่อนแทบจะพร้อมๆกัน น้ำที่มาถึงอยุธยาจึงมากเหลือคณา

น้ำแรง สมัยก่อนแม่น้ำแต่ละสายที่ไหลมาถึงที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำมากมายก็จะไหลผ่านเข้าไปตามสายน้ำย่อยๆเป็นสายน้ำสาขามากมายตามทางที่เรียกว่า แพรก แล้วก็เอ่อล้น หลากเข้าตามท้องทุ่ง ท้องนา สมัยก่อนหน้าน้ำจึงเห็นน้ำท่วมทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา น้ำจะค่อยๆมา ไม่เทโครมดุเดือด ดุดันเช่นปัจจุบัน

สมัยนี้ผู้คนอยู่อาศัยตามฝั่งแม่น้ำ เกิดเป็นเมืองใหญ่ๆ หรือชุมชนใหญ่ๆมากมาย มีถนน ตึกราม บ้านช่อง กั้นไม่ให้แม่น้ำล้นเข้าไปในทุ่งนาอย่างเคย น้ำที่ถูกกักในเขื่อนก็มีพลังสะสมอยู่แล้ว พอเขื่อนปล่อยน้ำ ทางน้ำก็ยังถูกบีบด้วยถนน สิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย และพนังกั้นน้ำหลายๆจุดไม่ให้น้ำไหล เข้าแพรก เข้านา อย่างแต่ก่อน น้ำจึงมีความแรงเพิ่มขึ้น และไหลล่องลงไปราวติดเทอร์โบ

น้ำที่พากรุงแตกปี ๒๕๕๔ ด้วยเหตุผลทั้ง น้ำมาก และ น้ำแรง ข้างต้น แม่น้ำสามสาย ที่ไหลมาจากทางเหนือทั้ง เจ้าพระยา ลพบุรี ป่าสัก จึงละลิ่ว เล็งเป้า เกาะเมือง อยุธยา ด้วยความเร็ว และ แรง

คูคลองที่ตายซาก ใน เกาะเมือง ที่เคยมี คู คลองมากมาย ทั้งเพื่อสัญจร และระบายน้ำที่หลากมาให้ออกไปจากเกาะเมือง บัดนี้ไม่สามารถทำหน้าที่ดังว่าได้อีกต่อไป เพราะคนยุคนี้ ลืม หรือ ไร้ปัญญา ที่จะตระหนักรู้ว่า เส้นสายเครือข่ายคูคลองเหล่านี้มีบทบาทอย่างไร เอาแต่กั้นกระสอบทราย ทำคันดินกันน้ำ

 

  • ยุคปัจจุบันน้ำก็หลากมาทุกปี เรื่องน้ำเข้าถล่มเกาะเมืองปี ๒๕๕๔ ที่อธิบายมานี่ก็พอเข้าใจ แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมน้ำถึงล้นข้ามถนนสายเอเชียไปท่วม นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ทั้งเฟส ๑ และ ๒ เสียหายหลายหมื่นล้านบาท ทั้งๆที่อยู่ห่างจากแม่น้ำตั้งไกล ?

ขอตอบสั้นๆว่า บริเวณที่น้ำหลากเข้าท่วมทุกที่ที่ปรากฏในข่าว เป็นเรื่องปกติของสมัยก่อน ที่นาในแถบอยุธยาจะมีน้ำท่วมทุ่งสุดลูกหูลูกตาในฤดูน้ำหลาก ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งในอยุธยา เดิมคือพื้นที่นาทั้งนั้น

คนยุคนี้เชื่อทฤษฎีวิชาการ สร้างโรงงานทันสมัยใช้เทคโนโลยีสูงๆ เชื่อว่ามี เขื่อน แล้วจะไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมไปได้ตลอดกาล ไม่มีอะไรหยุดยั้งธรรมชาติได้ สัจธรรมคือ อะไรที่ถูกปิดกั้น กักกัน ย่อมอยากแผลงฤทธิ์

คนข้างกายผู้เขียนกำลังทำโครงการออกแบบและก่อสร้าง ศูนย์วิปัสสนาเกษมธรรมทัต อยู่ที่แถวตำบลบ้านชุ้ง อำเภอนครหลวง ไม่ไกลจากบ้านผู้เขียนนัก พื้นที่มีทุ่งนาล้อมรอบทุกด้าน เดิมก็เป็นที่นา

ก่อนน้ำท่วม ทุ่งนาเขียวขจี

จากคำบอกเล่าของชาวนาเขตบ้านชุ้ง น้ำจากแม่น้ำป่าสักไม่เคยล้นข้ามฟากเข้ามาท่วม นับตั้งแต่มี ถนนสายนครหลวง-ท่าเรือกั้นน้ำ เป็นเวลาติดต่อกันกว่า๕๐ปี

แต่ปีนี้น้ำที่เข้าท่วม เกาะเมือง แล้วลามออกทางถนนสายเอเชียก็ทะลักเข้าท่วม เป็นน้ำชุดเดียวกับที่ทะลักเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ แล้วดันย้อนเข้าไปทางอำเภออุทัย ซึ่งอยู่ติด อำเภอนครหลวง

 

น้ำเข้าท่วมทุ่งนา มองเห็นกุฏิปฏิบัติธรรมเรียงราย

น้ำท่วมทุ่งข้าวรอบๆทั้งหมดอย่างรวดเร็ว ศูนย์วิปัสสนาฯ ที่ถมสูงและมีคันดินล้อมรอบกลายเป็นเกาะอยู่ได้แค่ค่อนคืน แล้วน้ำก็ไหลเข้าท่วมเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม เหมือนกัน โชคดีวันนี้ ๑๒ ตุลาคม น้ำเริ่มลด

ทางเข้าศูนย์ฯ

ความเสียหาย เดือดร้อน มีกันถ้วนหน้า ทั่วแผ่นดิน ดังนั้นจึงต้องมีสัมมาทิฐิหรือความเห็นที่ถูกต้องในการวินิจฉัยปัญหาและทางแก้ มิฉะนั้นก็จะพากันแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีและใช้เงินมหาศาลหาทางเอาชนะธรรมชาติอยู่ร่ำไป

ตอนหน้าจะเล่าต่อว่าเขาตอบคำถามใหญ่สองข้อนี้อย่างไร และขอเชิญมาช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์และให้ความคิดเห็นด้วยนะคะ

  • สมัยก่อนเมื่อน้ำหลากมา คนอยุธยาทำอย่างไร?
  • หากเหตุปัจจัยที่น้ำหลากพากรุงแตก ปี ๒๕๕๔ ที่อธิบายเช่นนี้ เป็นจริง แล้วเกาะเมืองจะดำรงอยู่อย่างไร จะล่อเป้ากันทุกปีไปเรื่อยๆอย่างนี้หรือ แล้วคนทั้งนอกและในเกาะเมืองล่ะ  เพราะ ภาวะโลกร้อนมีแต่จะทำให้แถบเอเชียฝนตกมาก มีพายุมาก พาฝนมาถล่มบ่อยขึ้นทุกปีๆ ยิ่งพูดถึงเขื่อน น้ำท่วมหนักๆอย่างนี้ คนกลัวน้ำท่วมยิ่งอยากสร้างเขื่อนมากั้นน้ำ ชะลอน้ำ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 464532เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2011 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)
  • น้ำทุกสายตรงเข้าอยุธยา
  • แบบน่ากลัว ต่างจากสมัยก่อนมากจริงๆ
  • สมัยก่อนไมมีเขื่อน
  • ผลกระทบคงน้อยกว่านี้นะครับ
  • ดีใจที่น้ำบ้านพี่นุชลดแล้ว
  • เย้ๆๆๆ

บันทึกของอาจารย์น่าอ่านและมีเนื้อหาสาระครบครัน เรียงร้อยอย่างประณีตดีจังคะ ขอชื่นชม..

น่าจะรื้อฟื้นบรรดาคู คลอง แม่น้ำ ที่ตายซากให้กลับมาไหลระบายสะดวก

อาจให้ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงแหล่งน้ำ ช่วยกันดูแล เพราะได้บทเรียนแล้วว่าเวลาตื่นเขินขึ้นมา สร้างความเดือดร้อนคะ

เป็นกำลังใจให้ผ่านพ้นวิกฤตไปโดยเร็ววันนะครับผม

*ดีใจด้วยค่ะที่บ้านน้องนุช น้ำเริ่มลดลงแล้ว..

*ขอบคุณสาระดีๆมีประโยชน์ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติ ที่สร้างความสมดุลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนมายาวนาน..

*ที่บ้านของพี่ใหญ่ในกทม. ปลูกมากว่า ๓๐ ปี ไม่เคยประสบภาวะน้ำท่วมมาก่อน แม้แต่ปี ๒๕๒๖ ที่มีวิกฤตน้ำท่วม เพราะมี คูคลอง รอบบริเวณ..

* ขณะนี้ ภึงจะมีอาคารสูงๆปลูกสร้างเพิ่มเติมมากมาย แต่ไม่ได้ถมคูคลอง น้ำจึงขึ้นลงตามปกติ..พี่กำลังเฝ้าดูอยู่ว่า น้ำท่วมครั้งนี้ จะรอดไหม ??..ลุ้นอยู่ทุกวัน

...ปัญหาส่วนใหญ่..ถ้าเป็นธรรมชาติ...มันมักจะแก้ได้ด้วยตัวเอง..เพราะมวลในธรรมชาติอยู่ครบองค์ประกอบ..และหมอตัวสำคัญคือ"เวลา"...คนสมัยใหม่ถูกสอนให้ทำตัวแข่งกับเวลา..และเรียนรู้อยู่กับคำว่า..ไม่มีเวลา..เอาชนะธรรมชาติด้วยเงินที่เหมือนเหยื่อล่อ..หยอกล้อ"ความอยาก"อยู่กับความรวดเร็วที่สร้างขึ้นมา...เห็นได้จากรถติด"บนทางด่วน"..แก้ได้แค่.."รอเวลา"..อ้ะ...(ยายธีรอเวลาได้กลับเมืองไทย..อ้ะ..แล้วเราคงได้พบกันอีก..ด้วย รัก จาก ยายธี..เจ้าค่ะ)....

สวัสดีค่ะพี่นุช

อ่านเรื่องราวจากพี่นุชแล้วทำให้เข้าใจอะไรๆที่หลากหลายมากขึ้น ขอขอบคุณค่ะ

ปล.ขอส่งกำลังใจไปน่ะค่ะ ด้วยห่วงใยค่ะพี่:)

ผมส่งกำลังใจให้ด้วยคนนะครับ

อ่านแล้วได้คิดถึง วัดมเหยงคณ์ เคยไปที่นั่นมาเมื่อสองปีก่อน

น้ำท่วมวัดหรือเปล่าครับ

ไม่มีใครชนะธรรมชาติได้หลอกครับ

ได้เคยดูสารคดีเกี่ยวกับเขื่อนฮูเวอร์แดม ที่อเมริกา

คนบรรยายบอกว่า ถึงแม้เขื่อนจะแข็งแรงขนาดไหน 

ก็รอวันที่จะพังทลาย ด้วยกระแสน้ำ เพียงแต่ว่าจะเป็นวันไหนเท่านั้นเอง

คนที่เกิดที่อยุธยาจริงๆ ท่านรู้ปัญหาได้ดี
แต่ก็คงต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงไม่ไหว

บ้านริมน้ำคงลำบากมากนะคะ สู้ต่อค่ะ

  • สวัสดีค่ะอาจารย์  ขอบพระคุณมากนะคะสำหรับกำลังใจที่มอบให้
  • ผู้เขียน เกิดและเติบโต ที่ พระนครศรีอยุธยา  น้ำท่วมครั้งนี้ ถือว่า มหาศาลมากเลยค่ะ  เกิดมา ก็เคยเจอกับน้ำท่วมมากๆ  ก็หลายครั้งแล้วค่ะ 
  • ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านวิกฤตให้ครั้งนี้ได้วยดีนะคะ
  • น้ำเลิกท่วมก็จะตามมาด้วยลมหนาว....เตรียมตัวเตรียมใจกันไว้ค่ะ

สวัสดีค่ะ

ช่วงน้ำท่วม คิดถึงทุกวัน แต่มาที่บันทึกช้ามากเลยค่ะ ไม่ได้แวะไปหาใครเลยนานมากๆ   ตอนนี้น้ำมากขึ้นหรือลดลงกว่าในภาพค่ะ  ส่งกำลังใจให้มากๆนะคะ

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับกำลังใจและข้อคิด ความเห็นทุกประการค่ะ

ได้ลงนั่งตอบทุกท่านเขียนแบบยาวๆซะด้วย พอกดบันทึกข้อมูล ระบบบอกว่ามีรหัสสแปมไม่ถูกต้อง ที่ตอบไว้หายไปหมดเลย จึงขออนุญาตขอบคุณทุกท่านแบบนี้อีกแล้วค่ะ ที่จริงพยายามจะไม่ทำอย่างนี้ อยากตอบรายบุคคลค่ะเพราะการที่ท่านมามอบดอกไม้ มาให้กำลังใจ มาพูดคุยเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับความรู้สึกของผู้เขียนค่ะ

ขอโทษด้วยค่ะพี่นุช จะรีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วนค่ะ

พี่นุชครับ...

เป็นยังไงบ้าง..
ตอนนี้ผมกับน้องๆ ก็รับและรุกอยู่กับเรื่องน้ำท่วมทุกวัน
สัปดาห์เห็นว่าฝนฟ้าทางอีสานจะโถมมาอีกระลอก
มหาสารคาม สุ่มเสี่ยงการท่วม...
แต่ทั้งนี้ก็ยังมีพลังครับ..

วิกฤต คือภาพสะท้อนของความรักของผู้คน...

รักษาสุขภาพ และขอให้เราทุกคนผ่านพ้นสภาวะนี้ในเร็ววันร่วมกันนะครับ

 

สวัสดีค่ะพี่นุช

ขณะนี้...พี่นุชก็มีความสุขกับชีวิตกลางท้องน้ำ....ไปล่วงหน้าแล้วค่ะ

เหมือนพี่สอบผ่านไปแล้วค่ะ

แต่คนรอเข้าห้องสอบรายต่อไป ใจระทึกน่าดูชม

คง...ต้องสะสมบุญมากกว่าสมบัติภาพนอกกาย กันบ้างแล้ว

ขนห้องสมุด...ขึ้นชั้นสองได้ก็ ^________^ สู้แล้ว

น้องนุชคะ ที่ไปฝากถาม :

"ที่ทางSCB เตรียมจะไปทอดกฐินที่วัดสุนันทวนาราม ตามแผนในวันสองวันนี้ยังจะไปอยู่หรือเปล่าคะ ทีแรกนุชวางแผนว่าจะไปร่วมงาน นอนเมืองกาญจน์หรือแถวสังขละสักวันสองวันและได้นำเงินไปทำบุญด้วย มีคนฝากซองไว้หลายซอง แต่ต้องเปลี่ยนแผนเพราะเรื่องน้ำท่วมนี่แหละค่ะ เลยว่าค่อยนำเงิน นำซองไปสมทบทีหลัง อยากหาเรื่องไปวัดอีกน่ะค่ะ"

พี่ใหญ่ขอแจ้งว่า :

เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดขณะนี้ ด้วยความห่วงใยและตระหนักถึงความยากลำบากของผู้ที่ประสบภัย ธนาคารจึงขอยกเลิกคณะเดินทางร่วมงานทอดกฐินธนาคาร ประจำปี 2554 ทั้งในวันที่ 15-16 ตุลาคม 2554 (ร่วมปฏิบัติธรรม) และในวันที่ 16 ตุลาคม 2554(ร่วมทอดกฐิน)

สวัสดีค่ะ

หนูประทับใจจริง ๆ เลยค่ะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อาจารย์ ก็ยังสมารถแก้ไขได้และก็ยังนำความรู้และเรื่องราวต่าง ๆ มาให้ได้อ่านเสมอ

ขอขอบคุณด้วยใจจริงค่ะเป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ปัญหา สามารถนำไปปรับใช้ในเรื่องอื่น ๆได้อีกด้วย ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

พี่นุชจ๋า ดีใจที่น้ำลดบ้างแล้วนะคะ

เห็นภาพพี่นุชใช้ความนิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว นั่งพิจารณาใจ บนระเบียงมองน้ำ ด้วยความเข้าใจ ส่งกำลังใจพี่น้องริมน้ำต่อไปค่ะ

ดูข่าวแล้วเศร้าใจ และเห็นว่า นิคมฯ ต่างๆ เริ่มความจริงบางอย่างปรากฏขึ้น หากไม่มีวิกฤตินี้ เค้าก็คงจะยังนิ่ง มิป้องกัน เก็บงำกันต่อไปไหม

มองอีกแง่ดีที่ว่า ครานี้รัฐก็ต้องได้ทบทวน มีงานนี้เข้ามาเป็นอันดับหนึ่งให้จัดการอย่างเร่งด่วน ก่อนสิ่งอื่นใดมาแทรกเวลาไป ...

ภาวนาให้พี่น้องประชาชี ยังมีกำลังใจกันต่อไป และให้อยุธยา ฟ้าหลังฝน ต้องงดงามค่ะ

เป็นห่วงนะครับคุณนายฯ

ความสุขของ "หมาน้ำ" ;)...

ยินดีที่น้ำที่บ้านอาจารย์ค่อยๆ ลดลง ตอนนี้ที่บ้านผมแถวรามอินทรา (ใกล้สายไหมและมีนบุรี กำลังเฝ้าระวังครับ) ส่วนบ้านพ่อแม่ยายที่เสนาตอนนี้ขายให้กับคนอื่นก่อนน้ำท่วมครับ แต่ก็สงสารบ้านไทยจมน้ำจริงๆ

ขอบคุณทุกท่านค่ะที่มาติดตามอ่านและเยี่ยมเยียน

ได้ตามไปขอบคุณและเยี่ยมเยียนกลับแต่ละท่านไว้เป็นเบื้องต้นก่อนนะคะ

ระยะนี้กำลังพยายามจะลงบันทึกเกี่ยวกับน้ำท่วมให้ต่อเนื่องค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท