การวิจัยในงานส่งเสริมการเกษตร


การวิจัยในงานส่งเสริมการเกษตร

     จากการวิจัยด้านการบริหารองค์กร  พบว่า  องค์กรที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยนั้น  ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับบุคลากรในองค์กร จะต้องรู้จักใฝ่หาความรู้  พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา  ความรู้ที่ได้นั้นสามารถนำไปพัฒนางานและถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกับผู้เกี่ยวข้องในวงกว้างได้  การจัดการความรู้ของบุคลากรในองค์กร เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องกำหนดให้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง เช่น มีเวทีให้นักวิชาการ ส่งเสริมการเกษตรทุกระดับแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน ทุกประสบการณ์ควรถูกบันทึกเป็นหมวดหมู่  ประสบการณ์ใดที่มีคุณค่าน่าจะมีรางวัลเป็นแรงจูงใจ และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

     การวิจัยและพัฒนา  เป็นอีกกระบวนการหนึ่งในการค้นหาความรู้ เพื่อพัฒนาองค์กรซึ่งหน่วยงานจะต้องให้การสนับสนุน  การกำหนดทิศทางในการพัฒนาทุกเรื่อง  ทุกโครงการ อย่างน้อยควรมีผลการวิจัยรองรับแนวคิดนั้นๆ โดยหน่วยงานจะต้องจัดสรุปผลงานวิจัยเป็นหมวดหมู่  ง่ายแก่การค้นคว้าอ้างอิง

     ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการวิจัยของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  ได้แก่  รูปแบบ และวิธีการวิจัยที่สามารถจะพัฒนาทั้งความรู้และภารกิจในเวลาเดียวกันได้อย่างไร

     เท่าที่ผ่านมา  งานวิจัยของกรมส่งเสริมการเกษตร  ส่วนมากใช้แนวทางการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์  เชิงศึกษาศาสตร์  เช่น  ศึกษา  สถานการณ์  ปรากฎการณ์  ความคิดเห็น  ทัศนคติ การยอมรับ  เป็นต้น  โดยส่วนใหญ่ใช้แบบสัมภาษณ์ หรือแบบสอบถาม  การวิจัยดังกล่าว   มีจุดอ่อน คือ  ผลการวิจัยจะเป็นจริงชั่วระยะเวลาหนึ่ง  หากเวลาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชนย่อมเปลี่ยนแปลง  ผลงานวิจัยจึงยากที่จะนำสู่การปฏิบัติ  งานวิจัยบางชิ้นอิงไปทางการทดสอบ  ทดลอง  ใช้แนวทางการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์  ซึ่งไปซ้ำซ้อนกับงานวิจัยของ       กรมวิชาการเกษตร

     กล่าวได้ว่า  การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพืช มีกรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ  การวิจัยพัฒนาสัตว์ มีกรมปศุสัตว์ดำเนินการ       การวิจัยพัฒนาประมง มีกรมประมงหาคำตอบ  สำหรับกรมส่งเสริมการเกษตร  การวิจัยอยู่ที่การพัฒนาชุมชนเกษตรกร  เช่น  จะทำอย่างไรให้ชุมชนเกษตรกรเข้มแข็ง  เพิ่มรายได้  มีคุณภาพชีวิต เป็นต้น

     การวิจัยในงานส่งเสริมการเกษตร  จึงมีลักษณะเฉพาะ คือ มีโจทย์ และคำตอบอยู่ที่ชุมชน

     การวิจัยชุมชนที่นักสังคมศาสตร์ยอมรับ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพหมายถึง การแสวงหาความรู้จากปรากฎการณ์ทางสังคมในทุกมิติ     หาความสัมพันธ์ของปรากฎการณ์กับสภาพแวดล้อม  โดยเน้นการศึกษาระยะยาวอย่างเจาะลึก  สำหรับการวิจัยเพื่อพัฒนาชนบท  มักใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ  โดยมีนักวิจัย  นักพัฒนา และชาวบ้าน ร่วมกันวางแผน  ร่วมกันปฏิบัติแก้ไขปัญหา และประสานผลงาน  การวิจัยทำนองดังกล่าว  เรียกว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

     ดังนั้น การวิจ้ยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (ของเกษตรกร) (Participatory  Action  Research หรือ PAR)  จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับกรมส่งเสริมการเกษตร

     การวิจัยดังกล่าว  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล สามารถนำไปดำเนินการพร้อมๆ กับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย  จะทำให้ได้ทั้งความรู้และงานในเวลาเดียวกัน  โดยมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

          ขั้นที่ 1   นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรร่วมกับเกษตรกร  วิเคราะห์ปัญหา  ความต้องการ  ซึ่งมีเทคนิคต่างๆ เช่น  A-I-C  SWOT  เป็นต้น

          ขั้นที่ 2   นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรร่วมกับเกษตรกร  วางแผนแก้ไขปัญหา

          ขั้นที่ 3   นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร กระตุ้นให้เกษตรกร    รวมตัวเป็นองค์กร  เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน

           ขั้นที่ 4   องค์กรเกษตรกรร่วมแก้ไขปัญหา โดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ให้คำปรึกษา  ให้การสนับสนุน  ประสานงานด้านต่างๆ

           ขั้นที่ 5   นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรร่วมกับองค์กรเกษตรกร  ประเมินผลดำเนินงาน และร่วมหาวิธี  ปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น

           ขั้นที่ 6   นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรร่วมกับองค์กรเกษตรกร  ผลักดันให้ชุมชนทำกิจกรรมอื่นๆ  เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร

     ในการดำเนินงานทุกขั้นตอน  นักวิชการส่งเสริมการเกษตร จะต้องสังเกต และเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ทุกกระบวนการ  เพื่อนำปรากฎการณ์ ที่เกิดขึ้นจัดทำเป็นรายงานผลการวิจัย ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 46353เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2006 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ขอบคุณมากนะคะที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องนี้ 
  • เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งคะว่างานวิจัยด้านส่งเสริมการเกษตรมีโจทย์และคำตอบอยู่ที่ชุมชน  เพราะงานวิจัยที่ผ่านๆ มาไม่ได้เน้นจุดนี้เท่าใด ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนทำการวิจัยเองให้มากขึ้นด้วย
  • ขอบพระคุณมากครับที่บันทึกมาแบ่งปัน
  • ชุมชนวิจัย...น่าจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับงานพัฒนานะครับ

ชาวบ้านได้อะไรบ้างจากความเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เขาไม่เล่นด้วยจะว่าอย่างไร เป็นเรื่องที่กำหนดจากกรมทั้งนั้นไม่เคยสอบถามเจ้าหน้าที่ระดับล่างผู้ปฏิบัติว่ายากเย็นขนาดไหนในการทำงาน

ดีมากเลยครับเกี่ยวกับงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่นที่ให้การศึกษาและการทดลองต่างๆในด้านนี้มาก

กำลังศึกษาเตรียมเรียนเทอมสองพอดี งานวิจัยส่งเสริมการเกษตรดี มากค่ะ จะติดตามต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท