"ฮืมม์" ตัดก่อนอารมณ์เดือด


เคยไหมคะ เมื่อใครสักคนพูดแทงใจดำ แล้วเราก็ "เดือด" แสดงอาการบางอย่าง ที่.

หลังจากผ่านไปหนึ่งชั่วโมง ได้ "cool down"แล้วมาเสียใจทีหลัง
...
สมัยเด็ก ข้าพเจ้าได้ชื่อว่า เป็นแชมป์เอาแต่ใจ จุดเดือดต่ำ
แม้ตอนไม่เด็กแล้ว คนใกล้ตัว ก็ยังบอกว่าเป็น ภูเขาไฟหิมะ (อาจปะทุโดยไม่รู้ตัว)
วิธีหนึ่งที่ข้าพเจ้าใช้ เมื่อใกล้ถึงจุดเดือด คือ อุทานยาวๆ "ฮืมมม์.."
.
เบื้องหลังกลไกที่เพิ่งอ่านพบมาเล่าสู่กันฟัง
เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างแรง  
สมองส่วนที่หน้าตาคล้ายถั่วอัลมอนด์ ( Amygdala = Almond)
ซึ่งต่อกับสมองหน้าตาคล้ายงู  Hippocampus
เพิ่มการทำงาน มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ร้อนขึ้นๆ  
เมื่อถึงถึงจุดเดือด ก็จะสบคบกับงู Hippocampus 
ลุกขึ้นมาปล้นตำแหน่งกัปตัน จากสมองส่วนบนผู้รู้ภาษาแและมีเหตุผล 
.."Amydala hijack" ( Daniel Goleman , Emotional intelligence, 1996)
เมื่อปล่อยให้งู มาคุมแผงบังคับ อะไรจะเกิดขึ้น
มือและเท้า ก็จะนำเราไปก่อนรู้ตัว..
.

สองวิธีป้องกัน การ Hijack ของ Amygdala คือ
.
หนึ่ง...เตือนให้ตัวกัปตันตื่นตัว ด้วยการ ใช้ภาษาบอกกับตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร
ที่ข้าพเจ้านึกออก  
กลัว ( นึกถึงอันตรายที่อยู่ตรงหน้า) 
กังวล ( นึกถึงอันตรายในสิ่งที่ยังไม่เห็น)
โกรธ ( มักเกิดจากอีโก้ถูกกระทบ)
กลุ้ม (อึดอัด สับสน)
การนับหนึ่งถึงสิบ ก็อาจผ่านกลไกนี้ 
.
สอง..ระบายลมความร้อน ของ Amygdala
จึงมีคำแนะนำว่าให้หายใจเข้าออกลึกๆ
[ "สมมติฐาน" กลไกสรีรวิทยา อ่านได้ที่นี่คะ ]
.
เมื่อเผชิญหน้าบุคคลที่ทำให้โมโห หรืออยู่หน้าชั้นเรียน
ไม่สามารถพูดออกไปว่า "ฉันกำลังโกรธเธอนะ" 
จึงทำได้แต่ "ฮิมมม์.." เป็นการผ่อนลมไปด้วย (แล้วบอกตัวเองในใจ.."ฉันกำลังโกรธ")
ก็ผ่อนลง แล้วรอสักพักสติกลับมา พร้อมถามตัวเองว่า
"ถ้าต่อว่าออกไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?"
....
.
#########
.
ฝากนิทานย่อ จากหนังสือ  "Tao of success:The five ancient rings of destiny" ของ Derek Lin  เช่นเคย
...
ครั้งหนึ่งในอดีต มีการรบอย่างดุเดือด 
มีทหารสามนาย พลัดหลงจากกองทัพ
ทั้งสามโดนลูกศรอาบยาพิษของศัตรู แต่โดนจุดไม่สำคัญ จึงรู้ตัวดี
นายทหาร ก. โดนเข้าที่แขนขวา
นายทหาร ข. โดนเข้าที่ขาซ้าย
นายทหาร ค. โดนเข้าที่ขาขวา
นายทหาร ก. : ข. นายรู้ไหม ว่ายาพิษที่อาบธนู ทำมาจากอะไร
นายทหาร ข : แน่นอน ฉันเคยเรียนทำธนูอาบยาพิษมาก่อน  ต้องทำจากพิษงูแน่นอน
นายทหาร ก : logic นายใช้ไม่ได้เลย  ดูสิ ลูกธนูเป็นพันเป็นหมื่น ในพื้นที่โล่งแบบนี้ จะเอางูที่ไหนมาทำพิษได้พอ
นายทหาร ข : (เริ่มโกรธ) นายจะไปรู้อะไร นายเคยเรียนทำธนูอาบยาหรือเปล่า
นายทหาร ก : (เริ่มเลือดขึ้นหน้า.) อะไรกัน นายมองไม่เห็นหรือไง กองธนูพวกนี้..
ทั้งสองนั่งลง ถกเถียงกันอยู่เป็นเวลานาน
จนกระทั้ง ทั้งสองค่อยๆ สลึมสลือและฟุบหมดสติ..พิษซึมซาบเข้าหัวใจ และเสียชีวิตในที่สุด
ส่วนนายทหาร ค. เดินกะเผลก ๆ จนไปเจอที่ตั้งกองทัพตนเอง  แพทย์หลวงได้ผ่าตัดดึงเอาลูกธนู
และนำพิษมาตรวจวิเคราะห์ พบว่า เป็นพิษงู จึงให้เซรุ่ม นายทหาร ค. จนปลอดภัย
...
อะไรทำให้นายทหาร ค. รอดตาย ?
ข้าพเจ้าอ่านแล้ว มีหลายอย่างผุดขึ้นในใจ 
#####
.
Update 29 ก.ย.
นิทานเรื่องนี้ ทำให้ข้าพเจ้าคิดได้ถึงงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ มีประเด็นที่มองไปคนละทาง กับนักชีวสถิติ จะมามัวเป็น ก. กับ ข. ถกกันอยู่ใย ประคองตัวกันทำให้เสร็จ แล้วส่งไปสำนักพิมพ์ ให้ "แพทย์หลวง- editor" ตัดสินก็สิ้นเรื่อง..
หมายเลขบันทึก: 463085เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2011 01:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (68)

อ.แต้ว่าเจ้าของทฤษฎีเก่งไหมคะ...ที่นำเรื่องราวของสมองมาให้เราได้เรียนรู้...

หากเรารับรู้ว่า...หลักการดังกล่าวช่างอธิบายให้เราเข้าใจได้ดีจังเลยในเรื่องสมองกับอารมณ์ และพฤติกรรม...

แต่นั่นก็ไม่เท่ากับปรีชาญาณของพระพุทธองค์ว่าทำไมท่านจึงได้เข้าใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างทะลุแจ่มแจ้ง และเชื่อมโยง ซึ่ง ณ ตอนนี้กำลังเรียนรู้ตามรอยหลังท่าน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ...เท่านั้นเอง

Large_zen_pics_007 

"...สอง..ระบายลมความร้อน ของ Amygdala

จึงมีคำแนะนำว่าให้หายใจเข้าออกลึกๆ..."

Ummmh, I have been wondering about this for some time.

We and dogs "pant" (breathe quickly but shallowly) when we are "hot" -- to "cool" down(?) or to get more oxygen(?)

More oxygen c/would mean more 'oxidization' leading to more heat generation -- getting hotter!

By deep breathing (slow and long inhaling and exhaling), we slow down the oxygen input and carbon dioxide output -- we lower heat generation by limiting fuel (O2) and keeping high level of retarder (CO2).

Is this a physiological/metabolic valid description of what happens?

Is this "ancient knowledge" (Yoga, Buddhist, Qi) of controlled breathing really "advanced wellness practice"?

ดีจังค่ะที่เชื่อมโยงกายภาพกับมโนธรรมแห่งการมีขันติ .. โกรธไปใย ..เกลียดทำไม..ใจไร้สุข..ขอบคุณค่ะ :)

สงสัยงูในหัวพี่ชอบกินถั่ว เลยร้อนบ่อยๆ ร้อนเร็ว  ต่อไปจะขัดขวางการเจริญเติบโตของถั่ว โดยการเอาสติมาอุดรูน้ำและปุ๋ย ไม่ให้ไปเลี้ยงถั่วมาก

ยิ่งอานตอนสุดท้าย ยิ่งกลัวเหมือนทหารสองคนนั่น

กลัว ( นึกถึงอันตรายที่อยู่ตรงหน้า) 
กังวล ( นึกถึงอันตรายในสิ่งที่ยังไม่เห็น)
โกรธ ( มักเกิดจากอีโก้ถูกกระทบ)
กลุ้ม (อึดอัด สับสน)
การนับหนึ่งถึงสิบ ก็อาจผ่านกลไกนี้ 
กลยุทธในการไม่ให้งูทำงานของคุณหมอ ก็น่าสนใจนะ 
  สำหรับพี่หลังจาก     การนับหนึ่งถึงสิบแล้ว ก็คงมีการ
    กลับหลังหัน....ด้วย  เพื่อไม่ให้เห็นชั่วคราว
                    
  • เขียนอธิบายความโกรธและการทำงานของสมองได้สนุกมากค่ะ
  • ถ้าเอาไปเล่าแบบนี้กับนศ.ต้องชอบแน่ๆค่ะ ^^

ให้ดอกไม้ไว้ก่อนนะครับ.................

สุขสันต์....ฟ้าโปร่ง....ดอกไม้บาน....ผ่านหมอกเคลื่อน.....

เช้าวันพฤหัสบดีครับ อาจารย์.

  • ดีจังเลยครับ เป็นการเรียนรู้ ทั้งได้ขยายพรมแดนโลกทัศน์ชีวทัศน์ และได้ความรู้ความเข้าใจเพื่อเดินเข้าเชื่อมโยงกันจากความแตกต่าง ให้ได้พื้นที่ 'ความร่วมกัน' ที่กว้างขวางมากยิ่งๆขึ้น ความเป็นตัวของตัวเองก็แข็งแรงมากขึ้น ความเป็นส่วนรวมก็กว้างขวางและสะท้อนความแตกต่างหลากหลายได้มากขึ้น
  • ขอแบ่งปันประสบการณ์กันด้วยนะครับ ...มองอีกแง่หนึ่ง การที่ ค ไม่หันเหความสนใจไปยังความกลัวและเจ็บ จนยอมผ่อนการใช้ความพยายามเดินกลับไปกองทัพของตนลง และอีกทางหนึ่ง ก็ไม่กระโจนลงไปเสียเวลาไปกับการทะเลาะหาเหตุผลที่ผิดกาลเทศะต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจำเพาะหน้าของตน กระทั่งไฟแห่งความโกรธเผาตนเองและช่วยเร่งให้พิษจากลูกธนูเข้าไปมีผลต่อชีวิตตนเองในที่สุดนี่ เป็นตัวอย่างของทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา....ความไม่สุดขั้วไปในทางผ่อนตนเองลงหรือกระทำต่อตนเองเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสองทาง ล้วนทำให้หันเหไปสู่หนทางที่ไม่นำไปสู่จุดหมายที่ดีที่ถูกต้อง อย่างแท้จริงเลยนะครับ
  • และในอีกแง่หนึ่ง มองอย่างหนังจีนไปสักหน่อยนะครับ ค นั้น ตอนที่ไปถึงและก่อนนอนสลบไปให้หมอทหารรักษาให้ได้นั้น น่าจะพูดออกมาสักสองสามคำว่า "...ป ปะ ปะ ปะ ปะ ไป ช่วยยยย ก กับ ข ด้ววววยยยยยย...." ซึ่งแพทย์ทหารและหมู่เพื่อนๆทหารด้วยกัน ก็น่าจะส่งคนไปหามทั้งสองคนนั้นไปรักษาได้ทันน่ะครับ ฮ่าาา
  • ในเรื่องการทำงานชุมชน การทำงานที่ต้องเกิดขึ้นโดยการทำงานร่วมกัน การมีปฏิสัมพันธ์กันบนโครงสร้างที่ลดการใช้อำนาจและสถานการณ์ที่จะทำให้บุคคลเกิดการปะทะกัน กระทั่งนำไปสู่การเผชิญหน้าและบ้างก็พัฒนาการไปเป็นการกระทำรุนแรงต่อกัน ส่งผลต่อความอ่อนแอต่อส่วนรวม รวมทั้งทำให้ชุมชนต่างๆ ทั้งในวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนการทำงานในองค์กรสมัยใหม่ ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบระดมพลังความร่วมมือกันได้ เหล่านี้ ก็เลยต้องมีวิธีออกแบบกระบวนการและพัฒนาเครื่องมือสำหรับช่วยให้คนทำงาน ได้ร่วมคิดแก้ปัญหาและร่วมสร้างวัฒนธรรมการทำงานด้วยกันในแนวทางใหม่ๆได้
  • เครื่องมือและวิธีการพัฒนาทักษะการจัดการด้านใน เพื่อสร้างพลังการเรียนรู้และสร้างตัวตนส่วนรวมร่วมกับคนอื่น :  การเจริญสติภาวนา การมีกระบวนการเรียนรู้เดินเข้าสู่ด้านในอย่างลึกซึ้งก่อนด้วยศิลปะ การฟังเพลงและดนตรีที่กล่อมเกลาให้จิตใจสงบนิ่ง ได้การคิดและจิตละเอียด อิ่มปีติ คลายความกดดัน ปลอดภัยในตนเอง เสียก่อน ก่อนที่จะใช้การมีส่วนร่วมของตนเองทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน จึงจำเป็นต้องจัดให้มีสลับกับการทำงานหนักๆในเวทีชุมชน และในกระบวนการทำงานที่ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันของผู้คน
  • เครื่องมือการจัดการภายนอก ที่ทำให้โครงสร้างการปฏิสัมพันธ์กันของผู้คน และโครงสร้างการเผชิญกับสถานการณ์โดยตรง มีความหมายและเกิดคุณค่าที่เปลี่ยนไป : เหตุผลเบื้องหลังของการนำเอาการบันทึกและวาดภาพความคิดเห็น เป็นเครื่องมือคั่นกลางการระดมความคิดของกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย เช่น Mind Mapping, S้hared Vision - Building up Shared Values Drawing และอื่นๆ ที่ทำให้ปัจเจกแต่ละคนไม่เกิดการปะทะกันโดยตรง ก็อยู่ตรงสิ่งที่คุณหมอบันทึกเล่าแบ่งปันนี้เหมือนกันครับ
  • ทั้งสองส่วนนี้ ยิ่งเรียนรู้ พัฒนาสะสม ก็เลยจะยิ่งดีทั้งต่อการบริหารจัดการตนเอง และการเป็นผู้นำกระบวนการ เพื่อเคลื่อนไหวความเป็นส่วนรวมตามที่ต้องการในโอกาสต่างๆ

ขอบคุณคะพี่ ดร.kapoom
เลยนึกขึ้นได้ว่าน่าจะให้เกียรติใส่ชื่อเข้าของทฤษฎีไว้ด้วยคะ

----

ดังที่พี่ว่าคะ นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง ค่อยๆ แกะรอยสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบไว้

โดยเฉพาะการเจริญสติ เพียงแต่เรียกขาน แตกต่างออกไป :-)

  • ชีวิตที่ไม่พอเพียง
  • "คิดฟุ้งซ่าน"
  • "พิษเลย ซาบซ่าน สู่ หัวใจ"

ขอบคุณคะ คุณ Sr สำหรับคำถามชวนขบคิด

By deep breathing (slow and long inhaling and exhaling), we slow down the oxygen input and carbon dioxide output -- we lower heat generation by limiting fuel (O2) and keeping high level of retarder (CO2).

ตรงนี้ เยี่ยมมากคะ..ตัวเองก็เคยเข้าใจว่า การหายใจเข้าออกลึกๆ เพิ่มออกซิเจนเข้าร่างกายมากขึ้น  ซึ่งพอไปค้นคว้าจาก เอกสารนี้ กลับเป็นว่า ทั้งการหายใจลึกๆ ช้าๆ แบบโยคะ (pranayamic) กับการหายใจตื้นๆ เร็วๆ ( nostril breath) ระดับออกซิเจนในเลือดไม่ต่างกัน -- หรือออกซิเจนจากการหายใจเข้าลึก อาจลดลงด้วยซ้ำ จากคำอธิบายตามที่อ่านในเอกสาร ต่อไปนี้คะ

....

เมื่อหายใจเข้าลึกๆ เนื้อเยื่อส่วนปอดขยาย ส่งสัญญาณทางเคมี และประสาท ไปที่สมองกระตุุ้นระบบประสาทผ่อนคลาย (parasympathetic) -> ลดการทำงานของ amygdala ลง --> ลด metabolism "cooling down"  พร้อมกับ หลั่งสาร melatonin ซึ่งช่วยให้สดชื่น ผ่อนคลาย

....

เท่าที่จับใจความได้คะ ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ เดี๋ยวรอท่านใดมีความรู้มาเติมเต็มอีกที :-)
......

 

 

ขอบคุณคะ พี่ใหญ่ คนไม่โกรธ ไม่เกลียดใคร จึงเย็นน่าเข้าใกล้เสมอ 

สวัสดีค่ะIco48

  • คุณยายแวะมารับอาหารสมองตอนเช้า ได้เพิ่มพูนความรู้มากมายค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ
  • สุขสันต์วันทำงานค่ะ

 

  "กลับหลังหัน"  เป็นอีก tactic ที่น่าจะดีคะ

           ปิดตา เพื่อจะได้เปิดใจ 

เวลาอารมณ์เดือด ก็ไปหาที่เงียบๆ  ตัดทุกสิ่งทุกอย่างออกไปให้หมด

เมื่อมีสติ ทำใจได้ ค่อยกลับมาเผชิญเรื่องเดิมอีกครั้งค่ะพี่หมอ

สว้สดีคะ คุณครูพิชชา

แอบไปอ่าน 21st century skill ของคุณครูมา

ความฉลาดทางอารมณ์ น่าจะช่วยเรื่อง life and career skill ด้วยคะ :-)

  • มีหลากหลายวิธี ในการจัดการกับอารมณ์และความรู้สึก ณ.ขณะนั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การฝึกฝน..
  • ตัวเองก็พยายามไม่ให้เหมือนทหารสองคนแรกอยู่ค่ะ
  • ขอบคุณข้อมูล แนวคิดนี้ มากค่ะคุณหมอ

สวัสดียามเช้าวันพฤหัส (แต่คืนวันพุธที่นี่คะ)

คุณแม่ฝากขอบคุณที่ให้กำลังใจมาด้วยคะ :-)

สวัสดีค่ะอาจารย์หมอ

ส่วนตัวบางทีก็เป็นค่ะ อาจเกิดจากการมีทางลัดจากทาลามัสถึงอมิกดาลา ทำให้แสดงอารมณ์อิสระออกมา สมองไม่ทันตั้งตัวค่ะ แสดงออกไปเร็วมาก บ่อยครั้งที่รู้สึกผิดทีหลังค่ะ

เวลาผ่านไป พออายุมากขึ้นก็รู้สึกเย็นลงมากค่ะ บางทีจนเฉื่อย ได้ทบทวนประสบการณ์ชีวิตก็ช่วยเราพัฒนาอีคิวตนเองได้ระดับหนึ่งค่ะ

ในชั่วโมงการอบรมทางจิตเวชชั่วโมงหนึ่ง อาจารย์จิตแพทย์ท่านหนึ่งสอนให้โป้งค่ะ โป้งอารมณ์ เช่นโป้ง ฉันรู้สึกโกรธแล้วนะ ให้เราจับอารมณ์เราได้ รู้เท่าทันและก็ปล่อยให้มันผ่านไปค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆนี้ค่ะ

ขอบคุณคะอาจารย์วิรัตน์ เป็นบุคคลสำคัญทำให้บล็อกเล็กๆ นี้ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ อย่างมีชีวิตชีวา..ได้เรียนรู้ว่า ความคิดเห็น หลากหลายเป็นสิ่งมีค่า แข็งแรงไปพร้อมๆ กันนะคะ :-)
  • เห็นด้วยคะ นายทหาร ค. หากพิจารณาในแง่ปัจเจก..ไม่ย่อหย่อนผ่อนให้ความเจ็บปวด  ไม่กระทำต่อตัวตนเพิ่มขึ้น คือ ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา..นับว่าเป็นผู้รู้เลือกทางที่เหมาะสม
  • แต่ในแง่ความเป็น "คน" ก็น่าคิดคะ เราต้องช่วยตัวเองก่อน (เหมือนเครื่องบิน โปรดใส่ mask ตนเองก่อนใส่ให้เด็ก) แต่ไม่น่าลืมช่วยคนอื่นเลย อดเป็นพระเอกไป อิๆ 
  • ได้เรียนรู้เทคนิคการทำงานชุมชนอีก ดีจังคะ เป็นโจทย์ท้าทายว่าจะพัฒนา  เครื่องมือสำหรับช่วยให้คนทำงานร่วมกัน ได้อย่างไร ขอสรุปตามความเข้าใจดังนี้คะ
  • ความสงบมาจากภายใน -  การเจริญสติภาวนา การมีกระบวนการเรียนรู้เดินเข้าสู่ด้านในอย่างลึกซึ้งก่อนด้วยศิลปะ การฟังเพลงและดนตรีที่กล่อมเกลาให้จิตใจสงบนิ่ง --> ได้ insight เพิ่มขึ้นคะ ว่าสิ่งนี้สำคัญอย่างไรต่อองค์กร  เห็นตัวอย่างในโรงพยาบาลที่ศึกษาอยู่นี้ เขาติดภาพวาด ภาพถ่าย ในวอร์ดผู้ป่วย 
  • เครื่องมือการจัดการภายนอก - เครื่องมือคั่นกลางการระดมความคิดของกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย เช่น Mind Mapping, S้hared Vision - Building up Shared Values Drawing  --> น่าสนใจมากคะ แทนที่ต่างคนต่างขว้างบอลใส่กัน 
  • เคยได้ยินคำว่า "co-intelligence" ไม่แน่ใจว่าคือสิ่งเดียวกันหรือเปล่าคะ

 

 ขอบคุณมากคะ ท่านอาจารย์ JJ

ชีวิตไม่พอเพียง ไม่เดินทางสายกลาง

แถมคิดฟุ้งซ่าน ไม่ถูกกาละเทศะ

แม่นเลยคะ ท่านอาจารย์ :-)

สวัสดีคะ สุขสันต์วันทำงาน 

พี่มนัสดา ฝึกโยคะเป็นประจำ สุขภาพกาย สุขภาพใจ แช่มชื่น

สวัสดีค่ะIco48แวะมาอ่าน Emotional intelligence และนิทาน...โชคดีที่เป็นคนโกรธง่ายหายเร็ว เลือดจึงยังไม่ขึ้นหน้าค่ะ...ถ้าถูกพิษงูก็คงพอจะรักษาทันอยู่ค่ะ...เป็นคนที่ถ้าไม่ชอบอะไรก็จะลบออกจากความทรงจำ...ไม่ครุ่นคิดให้เสียเวลา...ในโลกนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างมากมายทั้งผู้คนที่ดี... สัตว์ต่างๆที่น่ารักและธรรมชาติที่สวยงามรอเราอยู่

เป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์

1.ปัญหา-ทุกข์

2.สาเหตุแห่งปัญหา-สมุทัย

3.การแก้ปัญหา-นิโรธ

4.ทางเข้าถึงการแก้ปัญหา-มรรค

เป็นบันทึกที่ปรบมือให้ครับคุณหมอ

Ico48

อ่านอิ่ม จุใจ ได้อะไรมากกว่าที่คิดเลยนะครับ

ÄÄÄ..ขอบคุณกับ..ความรู้..ที่ว่า..เจ้าตัว..ความโกธร..มีหน้าตาเหมือน..งู..แถม..อยู่ในสมอง..มิน่า..เล่า...เอาไม่ออก..ตายก่อน..แน่..อ้ะๆๆ...สวัสดี..เจ้าค่ะ..ยายธี

เทคนิคหนึ่งที่ดีคะ อยู่เงียบๆ สักพัก ไม่ต้องคุยกับใคร แล้วตั้งหลักได้ใหม่ :-)

เห็นด้วยคะคุณครู ขึ้นกับสถานการณ์ 
ข้อดีของการรับฟังความขัดแย้งบ้าง ก็เป็นการฝึก ยิ่งฝึกก็ยิ่งเรียกสติกลับมาได้เร็ว

เย้ จิตเวชตัวจริงเสียงจริงมาแล้วคะ ขอบคุณมากที่แบ่งปันเคล็ดลับดีๆ

การออกเสียง "โป้ง" น่าจะกระตุ้นสติกลับมาได้รวดเร็ว จะลองดูคะ

โป้ง..ง่วงแล้ว  :-D

ภาพสื่อความหมายได้ดี IQ EQ ประกอบกันและกันคะ

ขอบคุณคะอาจารย์ 

มีคนกล่าวว่า การจำนั้นไม่ยาก สิ่งที่ยากคือจำไม่ให้จำ

ฝึกเลือกลบสิ่งที่ไม่ต้องการจำได้ แล้วอยู่กับสิ่งสวยงามรอบตัว กันนะคะ :-)

ยิ่งอ่าน ยิ่งดูชีวิต ยิ่งเห็นจริงตามที่อาจารย์ว่าคะ

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ปรัชญาวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้ ทำซ้ำได้

สวัสดีค่ะ

  • อ่านชื่อเรื่องแล้วสนใจเปิดมาอ่านไม่ผิดหวังเลย
  • อ่านเรื่องที่อธิบายได้ยาก..เล่าแล้วเข้าใจได้ง่ายขึ้น
  • แค่เข้าใจค่ะ แต่จะหยุดเจ้างูได้ไหม  ไม่แน่ใจ
  • มันขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ที่แน่นอนเจ้าอารมณ์ มันเอาแต่ใจยากที่จะเยียวยา
  • ก็รู้อย่างนี้แล้วจะพยายามเป็นทหาร ค. ค่ะ
  • ขอบคุณมากๆที่มอบความรู้และนิทานเตือนสติ   เยี่ยมจริงๆๆ

ขอบคุณคะ ภาพวิวมองไกลๆ แบบนี้มองแล้วปลอดโปร่งดีจังคะ

 55 สวัสดีคะ คุณยายธี น่ารักอีกแล้ว
ตามทฤษฎีเขาว่า สมองคน ก็มาตามวิวัฒนาการ ยังมีสมองงู สมองหนู แต่โดนสมองมนุษย์ควบคุมโปะไว้คะ :-)

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณนะคะที่ไปเยี่ยม

ชอบ เป็นแชมป์เอาแต่ใจ จุดเดือดต่ำ

เหมือนกันคะ เข้าใจ แต่ตามการรู้ให้ทันเจ้างูก็ไม่ง่ายเลย :-)

ขอบคุณคะ เชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมาต่างเอาแต่ใจ เป็นธรรมชาติ

โลกค่อยๆ กล่อมเกลา เรียนรู้ว่าโกรธมักให้โทษมากกว่าคุณ คะ :-)

มาตามเฉลย ครับ นำรูปหมอฮัวโต๋ มาฝาก ครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอบางเวลา ป.

เจ๋งอีกแล้ว ขอบคุณค่ะ

 ขอบคุณคะอาจารย์ "หมอฮัวโต๋ผู้รักษาทั้งอำมาตย์ และ ไพร่" :-D

สวัสดีคะคุณ poo  คอมช้า แต่ยังมีน้ำใจส่งข้อความสั้นๆ 

วันหนึ่งคิดได้ว่าน่าจะลดนามแฝงให้สั้น เรียกง่ายๆ เหมือนในมาลัยเสี่ยงรัก :-D

จะมีเวลางูออกฤทธิ์ งอแงบ้าง เวลาเหนื่อยล้า ปวดไหล่-บั้นเอว

(จากท่าทำฟันและสะสมมาจากเล่นคอมพ์)

จึงต้องหยุดพัก บริหารเป็นระยะ หากกล้ามเนื้อเริ่มตึง

คืนนี้ก็...ราตรีสวัสดิ์

ลาไปพักผ่อนก่อนนะคะ

(ตกลงว่ามีที่กด Like ให้ Comment หรือยังคะ ฝากกดให้ อ.วิรัตน์ 1 ครั้งค่ะ)

เป็นแบบเดียวกันเลยคะ ปวดไหล่ปวดเอว
เพิ่งตัดสินใจเปลี่ยนเก้าอี้แบบปรับขึ้นลง เอนหน้าเอนหลังได้เยอะๆ ก็ค่อยยังชั่วหน่อย

ความเห็น ท่าน อ.วิรัตน์ ทุกท่านต่างช่วย เติมเต็มแล้วยังต่อยอดความคิด

ราตรีสวัสดิ์คะ :-)

หนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำคือ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สภาวะกดดัน

ผู้นำเก่งๆมักไม่โกรธง่าย ไม่หุนหันพลันแล่น และไม่มัวเสียเวลาทำอะไรที่ไม่ใช่เป้าหมายครับ

บ่อยครั้งพี่ชอบ ปล่อยเฉย ๆ แบบสักพักค่อยมาว่ากันใหม่ หรือลอยตัว ต่อเรื่องที่เรารู้สึกว่ายากต่อการตัดสินใจ

อ่านเรื่องนี้แล้่วรู้สึกว่า ทำไม่ถูกแฮะ แม้นว่าไม่ค่อยโกรธใคร แต่การปล่อยเฉย หรือ ลอยตัวเหนือปัญหา มันไม่ใช่วิืธีแก้ปัญหา

 

ฮืมมม

ต้องคิดวิธีแก้ปัญหาโดยหาหมอหลวง-หาทาง หาทีม หาคนช่วยคิด

บ้างแล้ว

ขอบคุณค่ะ

การทำงานอย่างประสิทธิภาพภายใต้ภาวะกดดัน คือ ตัวชี้วัดภาวะผู้นำ
ขอบคุณคะ

ขอบคุณคะอาจารย์ เห็นด้วยคะ การวางเฉย มิใช่การอยู่เฉย

แม้บางครั้ง หมอหลวง ก็คือคนใกล้ๆ ตัวที่เราเคยมองผ่านคะ :-)

หมอเวลาเจอไฟต้องเอานํ้ามาดับครับยกเว้นนํ้ามัน เพราะนํ้ามันเย็นหรือไม่ก็เอาดินหรือขี้เถ่า

ดับไฟด้วยนำมันคงไปกันใหญ่

แต่อย่าดับด้วยน้ำอัดลมเมาเทนดิว ละกัน ;-)

ขอบคุณ อ. หมอ ที่แวะไปให้กำลังใจ

ผมเหนื่อยเพลียกับอาการที่มันไม่แน่นอนของเจ้าโรคนี้จริงๆ (ไวรัสตับอักเสบ-ซี)แต่ผมก็จะสู้และเรียนรู้อยุูไปกับมันครับ

ผมจะเป็นย่างนายทหาร ค. ให้จงได้

เป็นกำลังใจให้คะ การต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่ดีที่สุดคือ ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากกำลังใจเราเองคะ

 

สวัสดีค่ะ ครูป. อาจารญ์หมอ (ชอบครูป.อะ)

ขอบคุณมากๆๆๆ นะคะ ที่แวะไปเยี่ยมพร้อมดอกไม้ เช้าค่ำ ชื่นใจๆ ชื่นใจจังนิ มีแฮงหลายเน้อ ตะกี้ แกะรอยคุณมะปรางเปรี้ยวไปแบบ "ฮงๆ" ไปเจอดงกลอยอีกแว้วววอิอิ (ฮงมากเลยนิ ครูเม้งเค้าเขียนประวัติได้หนุกหนานจริง เฮาเขียนบ่ออกเด้เนาะ) ขอบคุณหลายเด้อค่า ที่ไปเยี่ยมไปหากัน

ขอบคุณคะ ที่แบ่งปันภาพการทำน้ำหมักชีวภาพ

และมาเยี่ยมแบบ "ฮงๆ" (หรือเปล่า :-) 

 

"ฮืมมม์.."............ลอง"ฮืมมม์.."ดูอย่างที่คุณหมอบอก ด้วยการ"ฮืมมม์.." ออก ยาวๆ แล้วก็ "ฮืมมม์.." เข้า ยาวๆ มันได้ผลเหมือนที่หญิงเล็กกับหลวงปู่ท่านบอกเอาไว้เลยครับ หัวใจฉ่ำ สติมา(แม้จะเพียงนิด) ใจเย็นขึ้นแล้วล่ะ ลุยน้ำไปซื้อมาม่าก่อนดีกว่า :)

ขอบคุณคะ ผู้ใหญ่ที่หวังดีกับเรา มักมีคำแนะนำดีๆ เสมอ
ปล. กินอะไรก็อร่อยหากไม่เหงาคะ..
เคยเห็นหนังสือเล่มหนึ่งเขียนหน้าปกไว้ว่า "อย่ากินข้าวคนเดียว" (บ่อยๆ :-) 

 

 

ถ้าอยู่เหนือหรือไกล้กว่านี้อีกหน่อย ผมจะรับคำแนะของคุณหมอ ขอไปกินข้าวเย็นที่บ้านคุณหมอด้วยคนล่ะครับ....จริงๆก็ไม่ได้เดียวดายก่ายกองอะไรนักหรอกครับคุณหมอ เมื่อวานยังมีเพื่อนเก่า เขาชื่อปีเตอร์(แมงสาบใต้ตู้) แวะมานั่งทานมื้อค่ำเป็นเพื่อน ใหนจะเจ้ากระป๋อง(จิ้งจกที่หัวเตียง) แวะมาทักตอนสายๆหลังมื้อเช้าเกือบทุกวัน ก็พอให้ได้อร่อยพ้นวันอยู่นะครับ :)

  • อ่านบันทึกของอาจารย์หมอครั้งนี้ ได้ความรู้เกี่ยวกับ "บทบาทของสมองด้านการแสดงออกทางอารมณ์" ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ที่มีคุณค่ามาก และได้ทบทวนเทคนิคการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง ขออนุญาตนำไปขยายผลกับนักศึกษาและครูอาจารย์ในการเรียนรู้เรื่อง "การพัฒนา EQ : การจัดการกับอารมณ์ของตนเอง" ด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ
  • 
  • "วิธีป้องกันการ Hijack ของ Amygdala" ด้วย "เทคนิกการนับ 1 ถึง 10" มีโจ๊กอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งดัดแปลงได้ดังนี้ค่ะ

          วันหนึ่ง ลูกชายวัยซนกลับบ้านด้วยหน้าตาบวมปูด และบอกสาเหตุกับแม่ว่า ถูกเพื่อนล้อเลียนจึงทะเลาะกับเพื่อนและถูกเพื่อนต่อย

          "แม่บอกแล้วไม่ใช่เหรอว่า เวลาถูกยั่วโมโหให้นับ 1 ถึง 10 ถ้าเชื่อแม่ซักหน่อย ก็จะไม่เจ็บตัวอย่างนี้" แม่ดุด้วยความหัวเสีย

          "ก็เพราะเชื่อแม่นะสิ หนุ่ยจึงมัวแต่นับ 1 ถึง 10 ให้ไอ้จ้อนมันชกหน้าอยู่ฝ่ายเดียวจนตาปิดอย่างที่แม่เห็น" ลูกครวญ  

  • สำหรับเรื่องจริง ได้ปฏิบัติกับพ่อใหญ่สอ ด้วยการบอกไปตามลำดับว่า ตอนนี้เริ่มไม่พอใจแล้วนะ...ถ้าพูดแบบนี้อีกจะโกรธนะ...ถ้ายังพูดต่อไปจะทนไม่ได้แล้วนะ พบว่า ไม่สามารถยับยั้งอีกฝ่ายได้ จึงต้องจบลงด้วยการเอาตัวเองออกจากสถานการณ์ทุกครั้ง ค่ะ
  • นักวิจัยค่ายที่ยึด "วิธีวิทยาการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research Methodology)" และค่ายที่ยึด "วิธีวิทยาการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research Methodology)" มักจะขัดแย้งและไม่ยอมรับซึ่งกันและกันเวลาแปลผล/สรุปผลการวิจัย ตัวเองจะเป็นพวกที่ใช้ "วิธีวิทยาการวิจัยแบบผสม (Mixed Quantitative and Qualitative   Research Methodology)" เพื่อขจัดจุดอ่อนของทั้งสองวิธีและให้ได้ข้อดีของทั้งสองวิธี แต่ก็กลับไม่ได้รับจาการยอมรับจากอาจารย์ในเมืองไทย โดยบอกว่า มันอยู่คนละขั้วไม่สามารถนำมาผสมกันได้ ทั้งที่ต่างประเทศเขาใช้กันมานานแล้ว ซึ่งก็ตรงกับหลักปฏิบัติการยึด "ทางสายกลาง" ตามวิถีพุทธ นั่นเอง
  • ต้องขอโทษจริงๆ ค่ะที่ทำตัวเหมือน "กบว.ด้านภาษา" (ใช้คำถูกหรือเปล่าคะนี่) แต่ก็ทำก็ด้วยเจตนาบริสุทธิ์จริงๆ ค่ะ มีบ่อยๆ ที่เราจะเผลอเขียนสะกดการันต์คลาดเคลื่อนไป เช่น คำว่า "สรีระ" มีสระ "ะ" แต่พอสมาสเป็น "สรีรวิทยา" จะตัดสระ "ะ" ออก ทำนองเดียวกับ สาธารณะ-สาธารณสุข, ภาระ-ภารกิจ, และ พละ-พลศึกษา ค่ะ     

 

ฝากทักทาย ปีเตอร์ กับ กระป๋องด้วยนะคะ :-D

ขอบคุณที่ให้เกียรติคะอาจารย์ ทุกครั้งที่อาจารย์มาเยือน ได้เติมเต็ม ทั้งสาระและอารมณ์ดีไปด้วยคะ

อ่านเรื่องสั้นอาจารย์แล้วนึก..สงสัยต้องยอมให้ hijack วิ่งหนีไปก่อน แล้วค่อยนับ 1 ถึง 10 ทีหลังคะ :-)

อาจารย์จุดประเด็น เชื่อมโยงทางสายกลาง กับ Qualitative / Quatitative research ได้อย่างน่าสนใจยิ่งคะ ทั้งสองวิธี มีจุดแข็ง จุดอ่อน ที่น่าจะเสริมกันมากกว่าแข่งขันกัน คล้าย ชาย กับ หญิง / หยิน กับ หยาง...สถานศึกษาน่านำไปพิจารณามากๆ คะ

เรื่องแก้ไขการเขียน หนูต้องขอบคุณอาจารย์ถึงจะถูกคะ เสน่ห์ของ gotoknow อยู่ที่ตรงนี้แหละคะ :-D

เคยลองใช้วิธีผ่าตัดอารมณ์ของอจ.หมอวิธาน

ตอนนี้มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับหมอ ป.ก็ดีอีกแบบ

เอาว่าทั้งชีวิตถ้าเกิดปี๊ดแตกเมื่อไหร่เลือกใช้....

ได้หลายวิธี...

ฟังดูน่าสนใจจังคะ "ผ่าตัดอารมณ์" อยู่ในหนังสือของ อ.หมอวิธานหรือเปล่าคะ

พี่อรพรรณมีปี๊ดด้วยหรือคะ หรือเป็นภูเขาไฟหิมะ :-)

ขอบคุณคะ เป็นกำลังใจให้รับมือกับน้ำท่วมด้วยนะคะ 

เห็นด้วยค่ะ

มัวแต่ถกเถียงกันเลยไม่ทันการณ์ (รู้มาก  ปัญหามาก ไม่ลงตัวมัวแต่คิดแต่ไม่ทำ)

แม้จะโดนพิษแบบ ค แต่เมื่อพยายามก็สำเร็จ

เป็นข้อคิดที่ดีคะ รู้มาก ไม่สำคัญเท่ากับ ใช้ความรู้ให้ถูกกาละเทศะ

เคยเป็นคนปรอทขึ้นเร็วมากและไม่ค่อยกลัวใคร หรือ กลัวอะไรค่ะจึงพาให้คนขยาดและคงไม่อยากยุ่งด้วย อดีตจึงทำร้ายตัวเองและผู้คนรอบๆโดยไม่รู้ตัว พบวิชาธรรมะ ได้ข้อคิด วิธีปฏิบัติที่ฝึกบ่อยๆจนดีขึ้นมากๆ แม้จะยังโกรธง่ายอยู่ แต่จะรู้ตัวเร็วมากและ "เห็น" อารมณ์โกรธ เห็นมันมา จนเห็นมันจางไป เลยไม่ใส่ใจสิ่งที่ทำให้โกรธ

การเรียนรู้กลไกของร่างกายเช่นนี้จะช่วยได้เยอะนะคะสำหรับการนำไปช่วยฝึกเด็กๆในเบื้องต้นให้จัดการกับอารมณ์โกรธ

ตอนนี้ใช้แนวทางท่านอาจารย์มิตซูโอะค่ะ เวลากิเลสทั้งหลายมาเยือน รับรู้...ยิ้มน้อยๆในใจ หายใจเข้าลึกๆ ...หายใจออกยาวๆ  

ขอบคุณคะอาจารย์ มีอารมณ์เป็นเรื่องปกติ ขึ้นกับว่าใคร รู้ตัว และ "เห็น" อารมณ์ของตนเองได้ทันท่วงทีหรือไม่

ได้ยินชื่อท่านอาจารย์มิตซูโอะ บ่อยครั้ง คงต้องขอคำแนะนำหากมีหนังสือดีๆ ของท่านนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท