ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม


เปิดใจให้กว้างเพื่อรับสิ่งใหม่ ทำใจให้แคบหากสิ่งใหม่ไม่น่าจะใช่สิ่งที่ควรจะเป็น

ณ FOREST UNIVERSITY

ย้อนไปเมื่อ ๒ วันที่แล้ว ณ ห้องเรียนวิชาสังคมและวัฒนธรรม วันนี้เป็นวันที่นักศึกษาต้องนำเสนองานการค้นคว้าที่ผ่านมา ผู้ดูแลกิจกรรมในห้องเรียนคือจิ้งจอก (นักศึกษาเรียกจิ้งจอกตัวนี้ว่า อาจารย์) สิ่งที่จิ้งจอกพบคือ แปลกมากว่า วันนี้นักศึกษาต้องเก็บคะแนนรายงาน ๑๐ คะแนน แต่ทำไมวันนี้กับวันที่ผ่านมาจึงต่างกันนัก จึงสอบถามผู้เรียนว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเราเตรียมตัวมาไม่ทันใช่หรือไม่ จะไปเตรียมกันมาใหม่ไหม เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ที่พึงได้ นักศึกษาแต่ละคนอึกอักๆ แต่ก็มีคนหนึ่งยอมรับว่า เตรียมไม่พร้อมจริงๆ จิ้งจอกจึงถามว่า ทำไมล่ะ ขณะเดียวกันก็มองไปที่นักศึกษาทุกคนในชั้นเรียน ดูเหมือนสายตาของแต่ละคู่กำลังขอความเห็นใจอะไรบางอย่าง สีหน้าที่มองเห็นคือสีหน้าแห่งความอิดโรย สอบถามเรื่องราวทั้งหมดพบว่า เขาทั้งหมดต้องเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยคือการซ้อมเชียร์ เพื่อที่จะเข้าร่วมแข่งขันกีฬาในวันศุกร์คือวันนี้นี่เอง หากใครไม่เข้าร่วมกิจกรรมก็จะถูกตัดกิจกรรมทั้งหมด และคณบดีก็จะไม่ส่งไปฝึกสอน (นักศึกษาหลักสูตร ๕ ปี) ผมเข้าใจว่า สิ่งที่คณะพูดเชิงบังคับให้ร่วมกิจกรรมนั้น น่าจะเป็นเพียงการพูดโดยมีวาระซ่อนเร้น คณะคงไม่ทำร้ายนักศึกษา และทำร้ายไม่ได้ด้วย นี้คือสาเหตุหนึ่งในบรรดาสาเหตุทั้งหลาย ระหว่างคุยกันนั้นเอง ผมก็แว๊ปปิ๊งขึ้นมาว่า อ๋อ นึกออกแล้ว ว่าทำไมเด็กถึงอ่านหนึงสือไม่ออก วิเคราะห์ไม่เป็น คิดไม่เป็นต้องให้คนอื่นสั่งการอยู่ตลอดเวลา และนักศึกษาจำนวนหนึ่งก็ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ มักจะขอความเห็นจากผู้ดูแลกิจกรรมการเรียนภายใต้คำถามว่า ถูกหรือไม่ เสมอๆ และย้อนลึกลงไปเมื่อสมัยที่ผมสอนมัธยม ผมก็พบว่า กิจกรรมแต่ละภาคการศึกษาช่างเยอะเหลือเกิน เอาเป็นว่าบางโรงเรียนเพื่อความมีชื่อเสียงของโรงเรียน นักเรียนไม่มีเวลาอ่านหนังสือกันเลย คำถามที่ตามมาคือ เราทำอะไรให้กับเด็กเหล่านี้ และผมก็ถามตัวผมเองด้วยว่า ผมทำอะไรให้กับเด็กเหล่านี้ สิ่งที่ผมจะตอบคำถามเด็กเหล่านี้ ผมจะพยายามหลีกเลี่ยงคำตอบว่า ถูกหรือผิด เพราะลำพังตัวผมเองผมก็ไม่มั่นใจนักว่า คำว่าถูกหรือผิดที่ว่านี้ มันใช่ความจริงหรือไม่ อย่างเมื่อเช้า ฟังข่าวทางทีวี เกี่ยวกับดาวนพเคราะห์ เหลือเพียงดาวอัฏฐะเคราะห์ (จากเก้าดวงเหลือแปดดวง) อะไรคือความจริง

กิจกรรมไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่ดี คนทุกคนต้องมีกิจกรรม และกิจกรรมนั้นต้องเป็นสิ่งที่เขาเห็นว่าดีต่อตัวเขา ผลของกิจกรรมจึงจะออกมาดี ไม่ใช่เราเห็นว่าดีและให้เขาทำในสิ่งที่เราเห็นว่าดี การอ่านหนังสือก็คือกิจกรรม การเดินก็เป็นกิจกรรม

ที่ผ่านมาหลายวัน ผมเห็นเด็กเหล่านี้ซ่อมเชียร์กันแบบเอาเป็นเอาตาย ผมเข้าใจว่า เขาคงแข่งขันกันเพื่อให้ได้ชัยชนะเพื่อศักดิ์ศรีของคณะ (อาจเข้าใจผิดก็ได้) ยิ่งเมื่อคืน สามทุ่มแล้วที่ผมกลับเข้ามาในมหาวิทยาลัย (ไปส่งญาติที่หมอชิต) นักศึกษาจำนวนหนึ่งก็ยังซ้อมเชียร์กันอยู่ และทราบว่าเขานอนกันที่คณะ (มนุษย์) ผมเดินมากับอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านออกจากบ้านที่หลักสี่มาเพื่อดูแลเด็กเหล่านี้ ระหว่างเดินมาก็คุยกันสัพเพเหระ แต่ทั้งหมดคือสาระ คนที่อยู่อีก ๒ - ๓ ปีก็จะเกษียณ ก็บอกว่า ให้น้องๆ ทำกัน แน่นอนละ เรื่องนอกเวลาที่ไม่เงินค่าตอบแทน ก็ให้น้องๆ ทำกัน Forest บอกว่า เราเพิ่มเงินเดือนให้แล้ว1.2เท่า คือ 11,160 บาท จาก เก้าพันกว่า ต้องทำอะไรบ้าง แต่ละคนแตกต่างกันไป คนที่ทำก็ท้ำทำ สอนไม่ต่ำจาก 18 คาบ (จันทร์-ศุกร์) ภายในสองปี ต้องมีงานวิจัยหนึ่งเล่ม ยัง ยังไม่ใช่เท่านี้ จิ้งจอกมองว่า การเป็นอาจารย์ที่นี้ช่างยอดเยี่ยมกระเทียมเจียวยิ่งนัก 18 คาบนี้ ยังไม่นับภาคพิเศษช่วงเย็นและเสาร์อาทิตย์ เมื่อคิดคร่าว ก็จะเห็นว่า แต่ละคนในฟอเรสท์รับผิดชอบเฉพาะงานสอนเฉลี่ยที่ ๓๐ คาบต่อสัปดาห์ สามปีที่ผ่านมา บางคนสอนมาแล้ว ๑๐ วิชา

เราให้อะไรกับเด็กในฟอเรสท์บ้าง สิ่งที่ให้ไปคือจับฉ่ายหรือเกร็ดความรู้ วัฒนธรรมภายในองค์กรบางเรื่อง เป็นอันตรายต่อการสร้างนิสัยยิ่งนัก มองดูรูปผู้ก่อตั้งฟอเรสท์ให้นึกสะท้อนใจ และวันนี้บรรดาลูกจ้างในคำใหม่ว่าพนักงานมหาวิทยาลัย กำลังกลายเป็นที่ถกเถียงกันในวงในโดยไม่กล้าปริปากต่อผู้มีอำนาจคือเรื่องสัญญาจ้าง ภายในปีการศึกษาเดียวกันมีการสัญญาและยกเลิกมาแล้ว ๓ หน (ถ้าจำไม่ผิด) ผมมีความคิดหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้

๑. อาจารย์ลูกจ้างเหล่านี้ (ที่ผมพบ) มิใช่เป็นผู้เถลไถลในการทำงาน ทุกคนล้วนมีความตั้งใจ ถ้ามีที่ใดที่หนึ่งรับคนที่รักงานนี้ (งานวิชาการ) ไปตั้งคณะใหม่ จัดระบบใหม่ที่ได้มาด้วยการจัดการความรู้ มิใช่เกิดจากอำนาจเผด็จการและมีกฎบัตรเป็นเครื่องมือ ผมคิดว่าน่าจะได้ผู้ทำงานจำนวนหนึ่ง ที่กำลังจะถูกวัฒนธรรมบางอย่างครอบงำ และไฟแห่งการทำงานกลายเป็นไฟความอ่อนล้า อาจส่งผลต่อการละทิ้งอุดมการของตนไปนี้คือการสูญเสียทรัพยากรทางปัญญาไปโดยเปล่าประโยชน์

๒. บางคนต้องการหนีความกดดันจึงออกไปสอบเรียนต่อ ยอมแม้จะต้องเรียนด้วยกำลังเงินที่พยายามสะสมมาทีละเล็กทีละน้อย (ขณะที่ลูกท่านหลานเธอได้ทุนเรียนต่อ ได้บรรจุเป็นข้าราชการที่ทุกคนรู้ดีว่าไม่ใช่ยุติธรรม) โดยหวังว่าอีก ๒-๓ ปีข้างหน้า กลับมาอีกครั้ง สิ่งที่ดูไม่ชอบมาพากลคงจะคลายลงบ้าง

๓. ผู้ที่อยู่ที่ฟอเรสท์แห่งนี้ที่ผ่านมา หากรู้มาก พูดมากในเรื่องอันเป็นสิ่งที่เป็นจริงของปรากฎการณ์ความไม่ชอบมาพากล มีอันต้องออกไป หลายราย ดังนั้นทุกคนจึงได้แต่นิ่งงัน ก้มหน้าก้มตาทำงาน นี่คือความอิสระทางปัญญาอย่างคนสังคมต้องการแล้วหรือ

๔. พ่อของอาจารย์ท่านหนึ่งสอนลูกสาวของตนว่า ไม่ว่าไปที่ไหนเราก็หนีวงจรอุปัทวะเหล่านี้ไม่ได้ เราต้องอดทนต้องใช้ปัญญามาแก้ไขสถานการณ์มิใช่ล้มล้าง เพียงแต่ทำให้ดีขึ้นมาเท่านั้น เท่าที่จะทำได้ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น อย่าทิ้งอุดมการณ์ของตน เรื่องนี้ก็เป็นคติสอนคนอย่างผมซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วย

๕. การบริหารงานในองค์กร ควรจะบริหารแบบชั้นหรือแบบมุม ถ้าเป็นแบบชั้น ประโยชน์อะไรกับความเป็นมหาวิทยาลัย

แบบชั้นคือ ยอดปิรามิด คือผู้บริหาร-----------กลางคืออาจารย์----------- ฐานคือเจ้าหน้าที่

แบบมุมคือ บนพื้นที่ที่เสมอกัน มุมหนึ่งคือ ผู้บริหาร มุมหนึ่งคืออาจาร์ และมุมหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ ภายในสามเหลี่ยมผืนเดียวกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนๆไป

วันนี้เป็นวันกิจกรรมกีฬาของฟอเรสท์ เสียงอึกทึกครึกโครมดังสนั่น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านๆมา ดูเหมือนจะห่างกันนัก ปีนี้ดูจะมีอะไรหลายหลาก สาระรายละเอียดเยอะ ทั้งที่ทราบความจักนักศึกษาว่า ปีนี้ทางฟอเรสท์ตัดงบประมาณ และผมก็มองเห็นภาพนักศึกษาแต่ละกลุ่มที่ไปขอรับบริจาคเงินจากพี่ๆ ที่เรียนภาคเสาร์-อาทิตย์ (กลุ่มผู้ทำงานแล้วมาเรียนเพื่อปรับวุฒิ) เกือบทุกห้องที่ผมเข้าไป เด็กเหล่านี้ก็จะมาขอรับบริจาคเงินเพื่อไปทำกิจกรรม

มาวันนี้ผมรู้สึกผิดอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะเราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราจัดให้กับเด็กเหล่านี้

เงินที่เด็กเหล่านี้เสียไป กับความรู้ที่เด็กเหล่านี้ได้มา ไม่รู้ว่ามันคุ้มค่ากันมากน้อยเพียงใด ทำให้นึกถึงอรหันต์ชาวนาทางคนค้นคนเหลือกำลัง

 

หมายเลขบันทึก: 46266เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2006 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท