When The Golden Boy meets Master Zen (เมื่อหนุ่มน้อยเข้าพบอาจารย์เซ็น)


หากใช้เพียงสมองซีกขวานั้น อาจเข้าใจจิตใจอันละเอียดอ่อนได้ดียิ่ง แต่เมื่อใช้จนเกินเลยไปอาจกลายเป็นการละเลยความจริงและความมีเหตุผล ขณะเดียวกันสมองซีกซ้ายก็เถรตรงเกินไป โดยละเลยความไม่เป็นเส้นตรงของชีวิต ซึ่งบางครั้งยากจะอธิบายได้อย่างแจ้งชัด
โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

(www.siamintelligence.com)

 

“ทุกสิ่งรอบตัว ล้วนเป็นครูของเรา”

ความรักอันอบอุ่นของเดือนกุมภาพันธ์นั้น ช่างร้อนอบอ้าวเสียนี่กระไร
ท่ามกลางข่าววิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้าย ทำให้อารมณ์ของผมตกต่ำลงอย่างยิ่ง
ผมยังเชื่อมั่นว่าบริษัทของผมจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างสวยงาม
แต่การฟังเรื่องเลวร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น แม้ว่าผู้ฟังจะไม่เชื่อเลย
แต่มันก็ดึงดูดพลังด้านลบเข้ามามากพอดู

 

ในที่สุด ผมและเพื่อนจึงต้องแปลงกายเป็น “เจไดหนุ่ม” มาเรียนรู้เคล็ดวิชาจาก “ปรมาจารย์โยดา” เพื่อขจัดด้านมืดแห่งพลัง ออกไปจากจิตเดิมแท้อันบริสุทธิ์

ผมกำลังนั่งสงบจิตใจเพื่อดื่มด่ำกับประวัติชีวิตของท่านโอโช่ (Osho)
นักปราชญ์ผู้ทำให้การฝึกฝนขัดเกลาจิตใจตนเองกลายเป็นเรื่องสนุก
ผู้ทำให้ธรรมะที่ล้าสมัย มีชีวิตชีวาขึ้นมาในบริบทของปัจจุบัน
ผมพึ่งได้เห็นเรื่องราวชีวิตของท่านโอโช่เป็นครั้งแรก ผ่านเทคโนโลยีล้ำยุค
โดยมีท่านอาจารย์ Zen ได้ค่อยๆ
บรรยายประกอบให้ผมสัมผัสประสบการณ์ล้ำลึกยิ่งขึ้น
ผมประทับใจศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ท่านโอโช่ได้ก่อตั้งขึ้นยิ่งนัก
สถานที่นี้ได้บูรณาการความงดงามเข้ากับธรรมะ
บูรณาการอดีตอันไกลโพ้นเข้ากับปัจจุบันอันเร่งรีบ
ผมตั้งใจว่าต้องหาทางไปเยือนให้ได้สักครั้งหนึ่งของชีวิต

ผมเต็มไปด้วยคำถามมากมายที่จะสนทนากับอาจารย์เซ็น
แต่ในเวลาที่เขียนบันทึกนี้ ผมแทบจะจำคำถามเหล่านั้นไม่ได้แล้ว
แต่สิ่งเดียวที่ยังคงติดตรึงในห้วงคำนึง และนับว่าสำคัญที่สุด คือ วิถีแห่งการเข้าถึงสัจจะ (Truth)

อาจารย์ Zen ได้อธิบายว่า เราต้องแยกความแตกต่างระหว่าง Reality และ
Truth เสียก่อน คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน
คนที่ประสบความสำเร็จในทางโลกนั้น คือ คนที่เข้าถึง Reality
แต่ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าจะเข้าถึง Truth
ผมฟังอาจารย์อธิบายถึงการเข้าถึง Reality อย่างตื่นเต้นเร้าใจ
และกำลังนิ่งสงบเพื่อรอฟังวิธีการเข้าถึง Truth ซึ่งก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

แล้วความฝันสวยงามก็ได้ถูกทำลายลง อาจารย์ Zen สารภาพว่า
ไม่มีวิธีการเข้าถึง Truth ที่ชัดเจนแบบ Reality
เราเพียงแต่ปฏิบัติตามคำของปรมาจารย์โบราณ คือ สติ เมตตา สมาธิ
แล้วหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะบรรลุถึงสัจจะ อาจารย์ Zen
ได้ทำมือประกอบให้ผมเห็นว่า การเข้าถึง Truth อาจมีอยู่หลายทาง แต่ Truth
นั้นมีเพียงหนึ่งเดียว

ฉับพลันนั้น ผมพลันสว่างวาบ
และรู้สึกว่าตนเองสงบล้ำอย่างประหลาด
สามารถมองเห็นช่องว่างระหว่างมือซ้ายและมือขวา นั่นคือ “ความว่าง”
เส้นทางระหว่าง Reality และ Truth
ไม่มีบันไดที่มั่นคงให้ก้าวเดินอย่างมั่นใจ แต่คือความไร้ตัวตนอันยิ่งใหญ่
เส้นทางเข้าสู่ Truth จึงต้องใช้วิธีการที่แตกต่างออกไป
ซึ่งจะว่าง่ายก็คงง่าย จะว่ายากก็คงยาก แต่ในขณะนั้น
ผมลืมเลือนความอยากอันล้นเหลือที่จะค้นหาเส้นทางสู่สัจจะไปหมดสิ้น
รู้สึกเพียงความว่างและความเป็นหนึ่งเดียวเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง
ผมสัมผัสได้ด้วยปัญญาญาณ (Intuition) ไม่ใช่ด้วยปัญญาเหตุผล (Intellect)
ความรู้สึกนี้ช่างปิติเปี่ยมล้นยิ่ง

พวกเราเหมือนหลุดพ้นจากโลกภายนอกอันร้อนรน
เข้าสู่ความสงบเงียบของอาณาจักรแห่งปัญญา
ผมสร้างโมเดลการเข้าถึงสัจจะด้วยความกระตือรือร้นยิ่ง
อาจารย์เซ็นได้ร่วมสนุกต่อเติมกับพวกเราด้วย
อาจารย์บอกว่าจากประสบการณ์ของท่านนั้น
คนจำนวนมากไม่ได้ต้องการไปนิพพานหรือแสวงหาสัจจะสูงสุดอันใด
ผมเห็นด้วยทันที แต่เสริมว่า คนเราก็ไม่พอใจเพียง Reality
ที่เป็นแค่ทรัพย์สินเงินทอง ผมจึงเสนอว่า Reality อาจมีหลายขั้น
หากเราสร้างเส้นทางสู่ Reality ให้สูงขึ้น
มนุุษย์ชาติก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้น และเมื่อถึง Reality ขั้นสูงแล้ว
พวกเขาย่อมรู้เองว่าจะเดินทางไปสู่สัจจะ Truth ดีหรือไม่
เมื่อถึงจุดนั้นความสามารถทางปัญญาญาณของพวกเขาย่อมถึงพร้อมแล้ว

ก่อนจะลาจากสำนัก “เซ็นพิสุทธิ์” ท่านอาจารย์ Zen ได้กระตุ้นเตือนว่า “โมเดลที่เราสร้างมาทั้งหมดนั้น มันก็ดูเป็นไปได้ แต่ก็อาจจะผิดทั้งหมดเลยก็ได้”
ผมรู้สึกเหมือนโดนไม้เรียวตีเข้ากลางแสกหน้า
แต่ก็รู้สึกถึงความล้ำค่าของถ้อยคำนี้
มันไม่ได้ถูกกล่าวมาจากปัญญาชนที่มองโลกในแง่ร้าย
นักคิดชั้นนำที่ชอบมองสิ่งต่างๆแบบสงสัยไว้ก่อน (skepticism) หรือพวกทำลายล้างแบบสุญญนิยม (Nihilism) หากทว่าถ้อยคำของท่านอาจารย์ Zen คือ เสียงที่เปล่งออกมาจากปัญญาญาณ คือ ความรู้แจ้งท่ามกลางการปฏิบัติ

ผมพลันเข้าใจทันทีว่า หลังจากการช่วงปิติแห่งการมองเห็น “ที่ว่าง” ท่าม
กลางปางมือของท่านอาจารย์เซ็นนั้น ผมได้ละทิ้งปัญญาญาณนั้น
แล้วกลับมาใช้ปัญญาเหตุผลเพื่อสร้างโมเดล
ซึ่งสุดท้ายท่านอาจารย์ได้เตือนให้เรากลับมาที่ปัญญาญาณอีกครั้งหนึ่ง

ตลอดเย็นวันนั้น ผมนำทุกสิ่งที่ได้รับจากท่านอาจารย์ ทั้งความคิด
ความรู้สึก และจิตวิญญาณ มาไตร่ตรองอีกรอบหนึ่ง
ผมพลันเข้าใจสิ่งที่ท่านอาจารย์บอกว่า
มนุษย์ในปัจจุบันใช้สมองซีกซ้ายมากเกินไป
เราต้องสร้างสมดุลด้วยการฝึกสมองซีกขวาให้มากขึ้น

ความเข้าใจเรื่องสมองซีกซ้ายและขวาของคนในปัจจุบันอาจมีความบกพร่อง
คนจำนวนมากคิดว่า “ศาสนา” เป็นเรื่องของการใช้สมองซีกขวา แต่แท้จริงแล้ว
“ศาสนา” คือ การประสานสมองซีกขวาและซ้ายให้สมดุลลงตัว

“พระพุทธเจ้า” นับเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมาก
ผมเคยอ่านหนังสือของผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธท่านหนึ่ง ได้วิเคราะห์ไว้ว่า
ในสมัยพุทธกาลนั้น สังคมอินเดีย กำลังร้อนระอุด้านการเมือง ดังนั้น
พระพุทธองค์จึงต้องพลิกแพลงแนวคิดและการเผยแพร่ศาสนาให้สอดคล้องกับการเมือง
หลายครั้งท่านต้องไปพบมหาราชาตามเมืองต่างๆ
และบริหารความขัดแย้งท่ามกลางไฟสงครามที่พร้อมจะคุกรุ่นขึ้นมาทุกเมื่อ

ชาวพุทธจำนวนมากอาจรับแนวคิดนี้ไม่ได้ แต่ผมกลับตีความว่า
การเกี่ยวข้องกับการเมืองของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อเล่นการเมือง
หรือแสวงหาลาภยศ
เพียงแต่กิจการทางศาสนานั้นจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม
จะแยกสอนอย่างโดดเดี่ยวจากความเป็นจริงของสังคมไม่ได้เลย

ยิ่งกว่านั้น อาจารย์ที่นับถือของผมคนหนึ่ง ได้เคยกล่าวไว้ว่า
“พระพุทธองค์บอกว่า การสั่งสอนธรรมะให้แก่ผู้หิวโหยนั้นไม่มีประโยชน์
จะต้องให้กินข้าวเสียก่อน แล้วค่อยๆนั่งลงพูดเรื่องธรรมะ”

นี่คือ การผสานอย่างลงตัวทั้งสมองซีกซ้ายและขวา
หากใช้เพียงสมองซีกขวานั้น อาจเข้าใจจิตใจอันละเอียดอ่อนได้ดียิ่ง
แต่เมื่อใช้จนเกินเลยไปอาจกลายเป็นการละเลยความจริงและความมีเหตุผล
ขณะเดียวกันสมองซีกซ้ายก็เถรตรงเกินไป โดยละเลยความไม่เป็นเส้นตรงของชีวิต
ซึ่งบางครั้งยากจะอธิบายได้อย่างแจ้งชัด

การมาเยือนอาจารย์เซ็นครั้งนี้ ได้ช่วยสร้างสมดุลให้ชีวิตผมมากขึ้น
หลายเรื่องราวที่ผมคิดว่าท่านอาจารย์เซ็นไม่น่าจะเห็นด้วย เช่น
กรณีพระพุทธเจ้าพลิกแพลงนโยบายการสอนให้สอดคล้องกับบริบทและการเมือง
ท่านอาจารย์กลับเห็นด้วย จึงยิ่งทำให้ผมเห็นว่า
ธรรมะไม่ใช่เรื่องแห่งความเคร่งครัด เคร่งเครียด
แต่เป็นเรื่องราวที่มีชีวิตเลือดเนื้อ

ผมยังสรุปเกินเลยไปกว่านั้นว่า ธุรกิจ ย่อมเป็นเช่นเดียวกัน
เราไม่อาจได้รับความสำเร็จได้ หากใช้แต่สมองซีกซ้ายหรือซีกขวามากเกินไป
และยิ่งไม่ใช่การใช้สมองสองซีกประกอบกัน ซึ่งไม่เกิดมูลค่าเพิ่มอันใด
แต่ต้องสังเคราะห์การทำงานของทั้งสองซีกให้เสริมประสานกัน (Synergy)


สุดท้ายแล้ว ทุกเรื่องในชีวิตล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน
และมีโยงใยที่สลับซับซ้อนไม่เป็นเส้นตรง ผมจึงสรุปตรงกับท่านอาจารย์เซ็นว่า
หากเราบรรลุสัจจะแล้ว
การทำงานของเราในทุกเรื่องจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างมหาศาล

วิกฤตเศรษฐกิจอันเลวร้ายครั้งนี้
จึงไม่อาจแก้ไขได้โดยสมองซีกซ้ายหรือซีกขวาเพียงอย่างเดียว
แต่ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์จะต้องพิจารณาสรรพสิ่งอย่างองค์รวม
พัฒนาสมองทั้งสองซีกเพื่อให้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้น จนเกิดการผุดบังเกิด
(emergence) ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ (Creativity)
เพื่อให้มนุษยชาติผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปร่วมกัน

แท้จริงแล้ว “อาจารย์ Zen” ไม่ได้มีอยู่จริง
ผมเพียงแต่ใช้อุปมาและจินตนาการเพื่อบรรยายถึงบุคลิกภาพ (Character)
ของบุคคลที่ผมได้ไปขอรับความรู้ แต่แท้จริงแล้วอาจไม่มีทั้งผู้ให้และผู้รับ
หากเป็นเพียงกระบวนการสนทนาที่รื่นรมย์ (Dialogue)
ประสบการณ์ครั้งนี้นับว่าพิเศษสุดและน่าจดจำ
แต่ก็เรียบง่ายและสงบนิ่งยิ่งนัก

การเดินทางค้นหาสัจจะครั้งนี้ ได้ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง
(Becoming) อีกครั้งหนึ่ง
แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยทำให้ผมค้นพบด้านที่เคยละเลยไป นั่นคือ การดำรงอยู่
(Being) บางทีคนเราอาจต้องการแสวงหาสัจจะมากเกินไป
จนละเลยวิถีแห่งการดำรงอยู่ (Being)
โดยเฉพาะการซาบซึ้งตื่นรู้ในปัจจุบันขณะ ที่ทำให้วิญญาณของเราสัมผัสว่า “ความจริงสูงสุดดำรงอยู่แล้วรอบตัวเรา”



หมายเลขบันทึก: 462274เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2011 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นบทความที่มีชีวิตชีวา สามารถ "connect" กับผู้อ่าน ได้ด้วยเรื่องราวคนๆ หนึ่ง ที่ต้องการค้นหาสัจจะ ขมวดท้ายได้ประทับใจด้วย

บางทีคนเราอาจต้องการแสวงหาสัจจะมากเกินไป 
จนละเลยวิถีแห่งการดำรงอยู่ 

ขณะที่เรามองหาทางแห่งความจริง คงไม่ลืมมองเพื่อนร่วมทาง (แม้เขาไม่ได้เป็นปราชญ์ ราชบัณฑิตย์ ) 

เป็นกำลังใจให้คะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท