ผ้ากาบบัว


ลวดลาย เทคนิคการทอผ้ากาบบัว
ผ้าลายกาบบัว  เอกลักษณ์ผ้าแห่งเมืองอุบลราชธานี

 

              ผ้าลายกาบบัว   เป็นผ้าที่ได้รับการกล่าวถึงในวรรณคดีอีสานหลายเรื่อง     ผ้ากาบบัวเป็นเครื่องบ่งบอกความมีเอกลักษณ์และความเป็นอารายชนชาวอุบลมานานนับร้อยๆปี   คำและความหมายนี้เหมาะสม และสอดคล้องกับชื่อของจังหวัด..เมื่อไม่พบและไม่มีการผลิต จึงทำการทำขึ้นใหม่ และนำชื่อนี้มาเป็นผ้าเอกลักษณ์ของอุบลฯ  โดยประกาศให้ใช้เป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด เมื่อ 25 เมษายน พ.ศ.2543....
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ..พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพประสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ได้นำผ้าทอพื้นเมืองอุบลฯ ทูลถวายซึ่งปรากฏในพระราชหัตถเลขาตอบเมื่อ  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ร.ศ.114 ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ความว่า...
."..ถึง สรรพสิทธิ ด้วยได้รับหนังสือลงวันที่ 13 มกราคม ส่งผ้าเยียรบับลาว นั้นได้รับแล้ว  ผ้านี้ทอดีมากเชียงใหม่สู้ไม่ได้เลย  ถ้าจะยุให้ทำมาขายคงจะมีผู้ซื้อ  ฉันจะรับเป็นนายหน้า  ส่วนที่ส่งมาจะให้ตัดเสื้อ  ถ้ามีเวลาจะถ่ายรูปให้ดู  แต่อย่าตั้งใจคอย  เพราะจะถ่ายเมื่อใดบอกไม่ได้  “                    
                              จุฬาลงกรณ์  ปร.
 
จากการค้นคว้าถึงตำนาน ผ้าเยียรบับ นี้พบว่าเป็นผ้าลายกาบบัวคำ ทอด้วยเทคนิคขิดหรือยกด้วยไหมคำ(ดิ้นทอง) แทรกด้วยไหมมัดหมี่ ใช้เทคนิคการจกหรือเกาะด้วยไหมสีต่างๆ ลงบนผืนผ้า 
                   เวลาอีก 55 ปีต่อมาจากนั้น เมื่อ 28  เมษายน พ.ศ. 2493      ชาวอุบลราชธานีได้ร่วมใจกันทอ   "ผ้าไหมซิ่นเงิน ยกลายดอกพิกุล" ทูลถวาย เนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ หม่อมราชวงค์สิริกิติ์ กิติยากร ถัดจากนั้นอีก 5 ปีต่อมา ในวโรกาสเสด็จเยือนพสกนิกรชาวอุบลราชธานี เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2498 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้ฉลองพระองค์ด้วยไหมซิ่นเงิน ที่ชาวอุบลราชธานี ทูลเกล้าถวาย.และมีรับพระกระแสรับสั่งแก่ผู้เฝ้ารับเสด็จว่า  "ชาวอุบลฯ เขาให้ผ้าซิ่นผืนนี้ เป็นของขวัญวันอภิเษกสมรส เมื่อมาเยี่ยมอุบลราชธานี  จึงนำมานุ่งให้คนอุบลราชธานีเขาดู"   ยังความปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้นของชาวอุบลราชธานีทั้งมวล
ผ้ากาบบัว" ผ้าเอกลักษณ์ของเมืองอุบลราชธานี
 
         โครงการสืบสานผ้าไทยสายใยเมืองอุบลราชธานี ได้เกิดขึ้น เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองอุบลราชธานี โดย นายศิวะ แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (ในสมัยนั้น) ได้มอบหมายให้คณะทำงานพิจารณาฟื้นฟูลายผ้าพื้นเมืองในอดีตที่สวยงาม จนได้ลายผ้ามีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ชื่อว่า ผ้ากาบบัว พร้อมกับมีประกาศจังหวัดให้ผ้ากาบบัวเป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543   ผ้ากาบบัวอาจทอด้วยฝ้าย หรือไหม ประกอบด้วยเส้นยืนย้อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้วตามลักษณะ "ซิ่นทิว" ซึ่งมีความนิยมแพร่หลายแถบอุบลราชธานี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   นอกจากนี้ยังทอพุ่งด้วยไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่ และขิด
           ผ้ากาบบัว (จก) คือผ้าพื้นทิว หรือผ้ากาบบัวเพิ่มการจกลาย เป็นลวดลายกระจุกดาว (บางครั้งเรียก เกาะลายดาว) อาจจกเป็นบางส่วน หรือกระจายทั่วทั้งผืนผ้า เพื่อสืบทอด "ซิ่นหัวจกดาว" อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าซิ่นเมืองอุบล ผ้ากาบบัว (จก) นี้เหมาะที่จะใช้งานในพิธีหรือโอกาสสำคัญ 
          ผ้ากาบบัว (คำ) คือ ผ้าทอยก (บางครั้งเรียก ขิด) ด้วยไหมคำ (ดิ้นทอง) อาจสอดแทรกด้วยไหมเงิน หรือไหมสีต่างๆ อันเป็นผ้าที่ต้องใช้ความประณีตในการทออย่างสูง
 
 
 
 
 
ลักษณะของผ้ากาบบัว                
  ผ้ากาบบัวอาจจะทอด้วยไหมหรือฝ้าย  โดยมีเส้นยืน(Warp ) อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้ว ตามลักษณะ  "ซิ่นทิว" ซึ่งนิยมกันแพร่หลายในแถบเมืองอุบลฯตั้งแต่ในอดีต  เส้นพุ่ง(Weft)    จะเป็นไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก)มัดหมี่และขิด.
     
 
 
 
 
ผ้ากาบบัว เน้นการย้อมสีจากพืชพรรณ หรือทำนองสีธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทอและใช้งานอย่างแพร่หลาย อีกทั้งลดข้อจำกัดเรื่องราคาให้แก่ผู่ใช้ผ้ากาบัวในลักษณะ และโอกาสต่างๆ
ผ้ากาบบัวทิว (เครือทิว)อาจจะใช้ฝ้ายหรือไหมเป็นเส้นยืน(เครือทิว)แล้วพุ่งด้วย ฝ้าย หรือไหม หรือมัดหมี่ฝ้าย,ไหม หรือขิด ฝ้าย,ไหม....ใช้ในโอกาสต่างๆทั่วไป...  
   " ผ้ากาบบัวพื้นทิว"                                                        
 
        ผ้ากาบบัวจก เป็นผ้ากาบบัวเพิ่มการจกลาย เป็นลวดลายกระจุกดาว(เกาะลายดาว)อาจ จกเป็นบางส่วนหรือ จกทั่วทั้งผืน เพื่อสืบทอด "ซิ่นหัวจกดาว" อันเป็นเอกลักษณะเฉพาะผ้าซิ่นเมืองอุบลฯ ผ้าชนิดนี้ใช้ในโอกาสพิธีงานสำคัญ
 
   
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ผ้ากาบบัว(คำ)คือผ้าทอยก(บางครั้งเรียก ขิด)  ด้วยไหมคำ  (ดิ้นทอง)  อาจแทรกด้วยไหมเงินหรือไหมสีต่างๆ เป็นผ้าที่ต้องใช้ความปราณีตในการทออย่างสูงใช้ในโอกาสพิเศษ
 
ลักษณะสีของผ้ากาบบัว
สีสัน ของผ้ากาบบัว กำหนดจากดอกบัวพันธ์ต่างๆที่มีสีเฉพาะตัวตามสายพันธ์..เช่น สี
บานเย็นอมม่วง ได้จาก สีของบัวสาย   สีชมพูอมม่วง ได้จาก สีของบัวหลวง   สีขาวอมเขียว ได้จาก  สีของบัวสัตตบงกต สีฟ้าอมน้ำทะเลและสีส้มอมแดงอ่อน ได้จาก สีของบัวฝรั่ง
 
ผ้ากาบบัว ทำไมไม่เรียก ผ้ากลีบบัว
มีข้อสนับสนุนยืนได้ ดังต่อไปนี้   คือ   กาบบัวมีพื้นผิวเป็นเส้นทางตั้งขึ้นเด่นชัด สามารถนำมาเป็นแบบอย่างได้ดี  กาบบัวมีสีตามธรรมชาติชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับการย้อมสีจากพืชพรรณธรรมชาติ  ในขณะที่ กลีบบัวทั้งลวดลายและสีจะไม่เด่นชัดเท่ากับ กาบบัว  และการใช้ชื่อ ผ้ากาบบัว เป็นการใช้ชื่อตามชื่อผ้า ที่มีมาแต่โบราณ นอกจากเหตุผลตามที่กล่าวมาแล้ว  ยังมีความหมายถึงเชื้อสายบรรพบุรุษที่สืบเนื่องมาจาก "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" อีกด้วย
  
     
 
 
คำสำคัญ (Tags): #หม่อนไหม
หมายเลขบันทึก: 462084เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2011 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท