ศาสตร์ คืออะไร


“ศาสตร์“ หรือ “วิทยาศาสตร์” นั้น เป็นได้ทั้งส่วนที่เป็นความรู้หรือสาขาวิชา

ศาสตร์ คืออะไร

  “ศาสตร์” หรือ “วิทยาศาสตร์” (Science) มีความหมาย 3 ลักษณะ คือ

                1. ศาสตร์ หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและกฎที่จัดไว้อย่างเป็นระบบ (Thorndike and Branhart, 1965:595)

                2. ศาสตร์ หมายถึง สาขาวิชาหรือสาขาความรู้ต่าง ๆ อาทิ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ ซึ่งจัดเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เศรษฐศาสตร์ และสังคมวิทยา จัดเป็นสังคมศาสตร์ เกษตรและวิศวกรรมจัดเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Thorndike and Branhart, 1965:595)

                3. ศาสตร์ หมายถึง กระบวนการที่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ได้ความรู้ที่สามารถทดสอบได้ ซึ่งกระบวนการที่กล่าวก็ประกอบไปด้วย 1) การสังเกตปรากฏการณ์ในธรรมชาติแล้วกำหนดปัญหา 2) การตั้งสมมุติฐาน 3) การเก็บรวบรวมข้อมูล 4) การวิเคราะห์ และ 5) การสรุปผล (ไสว เลี่ยมแก้ว, 2526:37-38 อ้างจาก Fairchild, 1970)

                “ศาสตร์“ หรือ “วิทยาศาสตร์” นั้น เป็นได้ทั้งส่วนที่เป็นความรู้หรือสาขาวิชา (รัตนะ  บัวสนธิ์, 2552, หน้า 24)

 ลักษณะสำคัญของศาสตร์

                1. มีองค์ความรู้ (Body of knowledge) เป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งองค์ความรู้ก็หมายถึง มวลเนื้อหาสาระที่จัดไว้อย่างเป็นระบบ เป็นหมวดหมู่ จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม จากง่าย ๆ ไปสู่ซับซ้อน เรียงตามลำดับ ซึ่งประกอบไปด้วย ส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง (fact)  มโนทัศน์ (concept) ข้อเสนอ (proposition) สัจพจน์ (Axiom or Postulate) ทฤษฎี (Theory) และ กฎ (Law) มวลสาระต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าทุกศาสตร์จะมีครบถ้วน ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าและการสั่งสมองค์ความรู้หรือการทดลองทดสอบข้อค้นพบของศาสตร์นั้น ๆ ในศาสตร์ที่มีความก้าวหน้ามากจะมีมวลสาระความรู้ใน  ระดับสูง ๆ มาก

            2. มีศัพท์เฉพาะตัว (Technical term) คำศัพท์เฉพาะในแต่ละศาสตร์เป็นสิ่งที่มีลักษณะเด่นและจำแนกศาสตร์ออกจากกันคำศัพท์เฉพาะมีประโยชน์ทั้งในแง่การใช้สื่อความในหมู่วิชาการกลุ่มคนวิชาชีพเดียวกัน ให้มีความเข้าใจตรงกัน ยิ่งศาสตร์ใดมีการคิดค้นบัญญัติศัพท์เฉพาะของตนมากเท่าใด ก็ยิ่งแสดงถึงความก้าวหน้าของศาสตร์ดังกล่าวมาก      ตามไปด้วย

                3. มีวิธีการค้นคว้าความรู้เฉพาะตัว (Method of inquiry knowledge) ศาสตร์แต่ละศาสตร์ต้องมีวิธีการที่จะนำมาใช้เพื่อสั่งสมความรู้ในศาสตร์ของตนให้พอกพูนก้าวหน้าอยู่เสมอบางวิธีการที่นำมาใช้ก็อาจก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของความรู้ที่ค้นคว้ามาได้แตกต่างกัน วิธีการที่ศาสตร์ต่าง  ๆ ใช้ค้นคว้า สั่งสมความรู้ อาจได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์  การตรวจสอบเอกสาร ซาก หลักฐาน การทดลอง เป็นต้น

                เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาลักษณะของศาสตร์ที่ว่าด้วยการมีองค์ความรู้เป็นของตนเองนั้น ก็จะพบว่า  ส่วนที่ประกอบกันเป็นองค์ความรู้นั้นล้วนได้มาจากวิธีการสั่งสมวิธีใหญ่ๆ คือ วิธีการเชิงประจักษ์และเชิงวิตรรก ซึ่งวิธีการที่กล่าว แท้จริงแล้วก็คือพื้นฐานที่ก่อเกิดระเบียบวิธีวิจัยเชิงประจักษ์และเชิงวิตรรกนั่นเอง  จึงกล่าวได้ว่า ระเบียบวิธีวิจัย นำมาซึ่งองค์ความรู้ของศาสตร์หรือศาสตร์เป็นผลผลิตของการวิจัย

 ประเภทของศาสตร์

            ถ้าจัดกลุ่มขอศาสตร์โดยพิจารณาจากลักษณะของปรากฏการณ์ที่ศาสตร์นั้น ๆ มุ่งเน้นทำการศึกษาก็จำแนกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

                กลุ่มที่ 1 วิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือธรรมชาติศาสตร์ (Natural science) มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติในส่วนที่เกี่ยวกับสรรพสิ่งต่าง ๆ ยกเว้นเรื่องปรากฏการณ์ที่เป็นพฤติกรรมของมนุษย์ ตัวอย่างศาสตร์ในกลุ่มนี้ ได้แก่  ชีวิวิทยา เคมี  ฟิสิกส์  และดาราศาสตร์ เป็นต้น

                กลุ่มที่ 2 สังคมศาสตร์ (Social science) มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือศึกษาปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ตัวอย่างศาสตร์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ สังคมวิทยา  รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ เป็นต้น

                กลุ่มที่ 3 มนุษยศาสตร์ (Humanities science) มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ของมนุษย์ในส่วนที่เป็นปัจเจกบุคคล ได้แก่ เรื่อง คุณค่า ความงาม ความสุนทรี การใช้เหตุผล ตัวอย่างของศาสตร์นี้ ได้แก่ ภาษาและวรรณกรรม ศิลปะ และดนตรี

                บางครั้งพบว่ามีการแบ่งศาสตร์ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure science) และศาสตร์ประยุกต์ (Applied science) โดยที่ศาสตร์บริสุทธิ์นั้นมุ่งศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ในธรรมชาติเพื่อให้เกิดความรู้เป็นหลัก ในขณะที่ศาสตร์ประยุกต์นั้นมุ่งศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ในธรรมชาติ และนำความรู้ที่ได้รับมาใช้สนองตอบประโยชน์สุขของมวลมนุษย์เป็นสำคัญ

 เป้าหมายของศาสตร์

            ศาสตร์มีเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ เรียงลำดับจากเป้าหมายในระดับต่ำจนถึงระดับสูง ได้แก่ เพื่อ 1) บรรยาย 2) อธิบาย 3) ทำนาย และ 4) ควบคุมปรากฏการณ์ในธรรมชาติ หรือปรากฏการณ์ที่มุ่งศึกษา

                เป้าหมายของศาสตร์ทั้ง 4 ประการนี้ ชี้ให้เห็นความก้าวหน้าของศาสตร์แต่ละสาขาได้อย่างเด่นชัด กล่าวคือ ศาสตร์ใดมีความก้าวหน้ามากก็จะสามารถมีองค์ความรู้ที่บรรลุเป้าหมายสูง ๆ (ได้แก่ การทำนายและการควบคุม) ได้มาก ในทำนองกลับกัน ถ้าศาสตร์ใดมีองค์ความรู้เพียงแค่การพรรณนาและอธิบาย หรือได้เฉพาะการพรรณนาปรากฏการณ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายในระดับแรก ๆ ของศาสตร์ก็แสดงว่า ศาสตร์นั้นยังมีความก้าวหน้าไม่มากนัก

 

เอกสารอ้างอิง

รัตนะ  บัวสนธ์. (2552). ปรัชญาวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิพ์แห่งจุฬาลงกรณ์  มหาวิทยาลัย.

ห้องเรียนระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย รศ.ดร.อรุณี  อ่อนสวัสดิ์ 

หมายเลขบันทึก: 461639เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2011 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท