เม่นทะเล จักรพงษ์


what is sea urchin

เม่นทะเล



เม่นทะเล หรือ Sea urchin เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง อาศัยอยู่ในทะเล จัดอยู่ใน Phylum Echinodermata แต่คนทั่วไปเรียกว่าหอยเม่น ลักษณะโดยทั่วไปมีรูปร่างทรงกลม หรือรูปไข่ อวัยวะภายในห่อหุ้มด้วยเปลือก เป็นสารประกอบจำพวกแคลเซียม (calcareous skeleton) เป็นแผ่นแข็งขนาดเล็กหลาย ๆ แผ่นเรียงต่อกันทำให้ตัวหนาขึ้น บนตัวเม่นทะเลปกคลุมไปด้วยหนามแหลม สั้นบ้าง ยาวบ้าง มีตะขอแหลม (spicule) หรือต่อมน้ำพิษ ที่เรียกว่า pedicellariae อยู่ตรงระหว่างหนาม ปรกติเม่นทะเลเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวช้า ไม่ดุร้าย อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามพื้นทราย ตามซอกหิน และแนวหินประการัง และใต้ท้องทะเลระดับลึก ๆ ในพื้นที่บริเวณอ่าวไทยพบเม่นทะเลกระจายอยู่ทั่วไป รวมทั้งบริเวณทะเลฝั่งตะวันตก เม่นทะเลมักออกหากินในเวลากลางคืน กลางวันอาจพบได้เช่นเดียวกัน นักประดาน้ำ นักว่ายน้ำ และนักเดินเที่ยวตามริมชายหาด มีโอกาสเสี่ยงจากการได้รับบาดเจ็บจากหนามแหลมของเม่นทะเลทิ่มตำ โดยอาจเหยียบบนตัวเม่นทะเล หรือจากการจับต้องโดยมิได้ระมัดระวัง เม่นทะเลมีต่อมน้ำพิษ (venom apparatus) อยู่สองชนิด คือ ต่อมน้ำพิษที่อยู่ที่ปลายหนามแหลม (spine) และต่อมน้ำพิษอยู่ในปุ่ม (pedicellariae) หนามแหลมเหล่านี้มีฐานเป็นรูปถ้วยยึดติดอยู่กับปมบนแผ่นเปลือก ทำให้หนามแหลมเคลื่อนไหวไปมาได้ทุกทิศทาง หนามแหลมด้านบนของตัวเม่นทะเลมีขนาดยาวกว่าหนามด้านล่างหลายเท่า ส่วนหนามที่อยู่ด้านล่างของลำตัวจะสั้นกว่า ทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนที่ เม่นทะเลส่วนใหญ่มีหนามแหลมที่ตัน (solid) ปลายมนกลม น้ำพิษของเม่นทะเลประกอบด้วยสารหลายชนิด ได้แก่ steroid glycosides, hemolysins, proteases, serotonin และ cholinergic มีเพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ยกเว้นเม่นทะเลบางชนิด เช่นเม่นทะเลดำหนามแหลม หรือ Diadema setosum เป็นเม่นทะเลชนิดที่มีหนามแหลมยาวรอบตัว หนามข้างในกลวง ผิวหนามโดยรอบขรุขระ ปลายคม หนามนี้อาจมีขนาดยาวถึง 30 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ฟุต หรือยาวกว่านั้น และอีกชนิดหนึ่ง ชื่อ Toxopneustes pileotus มีต่อมพิษที่มีพิษรุนแรง เม่นทะเลชนิดนี้มีลักษณะคล้ายดอกไม้ มีปุ่มพิษ pedicellariae ขนาดใหญ่ กว่าเม่นทะเลชนิดอื่น ๆมาก ปุ่มพิษมีลักษณะเป็นก้านยาวยื่นออกไปจากลำตัว ตรงปลายเป็นกระเปาะ รูปร่างคล้ายดอกบัวตูม สามารถเปิด ปิดได้ เวลาเปิดจะเห็นเป็น 3 แฉก คล้ายคีม ปลายแฉกจะคม เป็นอาวุธใช้ต่อยและจับเหยื่อ (seizing organ) ถ้าถูกหนามของเม่นทะเลดำ ชนิด Diadema setosum ทิ่มตำจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างมาก ( burning pain) เนื่องจากหนามมีคุณสมบัติเปราะ แตกง่าย จึงหักคาอยู่ใต้ผิวหนัง หรือกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวดเป็นเวลาหลายวัน เมื่อหนามหักคาอยู่ในกล้ามเนื้อซึ่งยากแก่การบ่งเอาหนามออกเนื่องจากพื้นผิวบริเวณรอบหนามขรุขระ จึงปวดทรมาน แต่อาการจะค่อยทุเลาลงภายใน 20-30 นาที และจะชาตรงบริเวณที่ถูกตำ หากได้รับบาดเจ็บจากเม่นทะเลชนิด Toxopneustes pileolus ต่อย จะมีการปวดอย่างรุนแรง อาการจะทุเลาหลังจาก 15 นาที และจะมีอาการชาขึ้น ไปถึงบริเวณใบหน้า ลิ้น และหนังตา แม้ว่าอาการปวดจะหายไปหลังจาก 1 ชั่วโมง อาการชาตามใบหน้าก็ยังปรากฏต่อไปเป็นเวลาอีกหลายชั่วโมง หากได้รับพิษจำนวนมากจะปวดอย่างรุนแรง ปวดร้าวสูงขึ้นไป หน้ามืดเป็นลม ชาตามตัว มีอัมพาตของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆของร่างกาย ไม่มีเสียง หายใจลำบาก หายใจขัด และถึงแก่ความตาย ในการป้องกันการได้รับพิษจากเม่นทะเล กล่าวคือไม่ควรเดินเล่นน้ำ เดินลุยน้ำ หรือดำน้ำเล่น บริเวณที่มีเม่นทะเลชุกชุม เช่นตามแนวหินปะการัง เวลาเล่นน้ำ ดำน้ำ คลื่นอาจซัดไปมาทำให้ไม่สามารถประคับประคองตัวเอง เท้าอาจก้าวไปเหยียบ หรือนั่งทับบนตัวเม่นทะเลได้ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และไม่ควรไปจับหรือแตะต้องเม่นทะเลที่มีหนามแหลมคม แม้จะใส่ถุงมืออย่างหนาก็ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากหนามแหลมของเม่นทะเลคมมาก สามารถแทงทะลุผ่านถุงมือเข้าเนื้อคนได้.
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4613เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2005 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท