“สุขุม” แนะ 5 ออปชันหลักสูตร สพฐ.ควรให้ผู้ปกครองและเด็กเลือกเหมาะสมที่สุด


“สุขุม” แนะ 5 ออปชันหลักสูตร สพฐ.ควรให้ผู้ปกครองและเด็กเลือกเหมาะสมที่สุด

  “สุขุม” แนะ 5 ออปชันหลักสูตร สพฐ.ควรให้ผู้ปกครองและเด็กเลือกเหมาะสมที่สุด เหตุเป้าหมายต่างกัน บางคนต้องการพื้นฐานที่แน่น เพื่อเรียนให้ได้ปริญญา ขณะที่บางคนต้องการรู้เพื่อมีอาชีพ เตือนการสอนวิชาการ ร้อยละ 30 ต้องระวังและเอาจริงเอาจัง หากปล่อยไม่คุมจะส่งผลให้เด็กที่จบมากลายเป็นแรงงานที่ไร้คุณภาพ

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมปรับโครงสร้างเวลาเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โดยทำเป็น 5 รูปแบบ (ออปชัน) มีสัดส่วนเวลาเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียน และภาคปฏิบัตินอกห้องเรียนลดหลั่นกันไป เริ่มตั้งแต่สัดส่วน ร้อยละ 70:30, 60:40, 50:50 และจะทยอยลงจนเหลือ 30-70 ในออปชันสุดท้าย เพราะต้องการลดการเรียนวิชาการลงเพิ่มการฝึกปฏิบัตินอกห้องโดยให้โรงเรียนเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ออปชันที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่ ว่า ขณะนี้จุดมุ่งหมายคือต้องการให้เด็กจบแล้วมีงานทำ ซึ่งวิธีการจะคล้ายกับการจัดสหกิจศึกษาของการเรียนอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา หรือตามทฤษฎี Learning by doing ที่ต้องการให้การเรียนรู้ไปพร้อมกับการปฏิบัติ ขณะที่ในแง่ของนักการศึกษามักมองว่าการจะทำให้คนได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพต้องเริ่มจากการมีความรู้ทางทฤษฎีที่เข้มแข็ง เพื่อไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ

เพราะฉะนั้น ตนมองว่า หาก สพฐ.จะทำออปชันให้เลือกนั้น ควรให้พ่อแม่และนักเรียนเป็นผู้เลือกจะเหมาะสมกว่า นั่นเพราะพ่อแม่แต่ละคนมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน บางคนต้องการให้ลูกมีพี้นฐานความรู้ทางวิชาการมากเพื่อต่อยอดในการศึกษาต่อในระดับปริญญา ขณะที่บางคนก็ไม่ได้มุ่งเน้นวิชาการแต่อยากเน้นเรื่องการนำความรู้ไปสู่การมีงานทำได้เลย แต่หาก สพฐ.จะให้โรงเรียนเป็นผู้เลือกออปชันที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ตนเห็นว่า โรงเรียนก็ควรจะต้องทำหลายออปชั่นเพื่อให้เด็กได้เลือกตามที่ต้องการมากกว่าจะเลือกให้เอง และ สพฐ.ต้องไม่ลืมว่าโรงเรียนมีจำนวนมากและในแต่ละพื้นที่ก็มีหลายโรงเรียนเช่นเดียวกันดังนั้นควรจะกำหนดทิศทางให้ชัดเจน

“ในแง่ของการลดวิชาการในออปชั่นสุดท้ายเหลือเพียงร้อยละ 30 นั้น สพฐ.ต้องให้ความระมัดระวัง ต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องวิชาการในส่วนนี้อะไรที่เป็นวิชาการที่สำคัญเด็กจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ติดตัวเพื่อนำไปใช้ต่อยอดการประกอบอาชีพก็ต้องทำอย่างเข้มข้น ไม่ใช่กำหนดแนวทางไปแล้วก็ปล่อยให้ลื่นไหลไปคนละทางไม่เช่นนั้นเด็กที่จบออกไปจะกลายเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือ การต้องสร้างความเข้าใจต่อครูผู้สอน และพ่อแม่ของนักเรียนให้ดีด้วยถึงแนวทางดังกล่าว” รศ.ดร.สุขุม กล่าว

รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าวที่จะวิชาภาคปฏิบัติมีสัดส่วนถึงร้อยละ70 และเหลือวิชาภาคทฤษฎีร้อยละ 30 เพราะเด็กในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานควรจะได้เรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาเป็นหลัก เพื่อจะได้รู้ศักยภาพของตัวเองในการเลือกเรียนในระดับที่สูงกว่าและทำงานต่อไป อีกทั้งการสอนภาคปฏิบัติของไทยจากเดิมกำหนดร้อยละ 30 ครูก็ยังทำไม่เป็นเลย ทั้งนี้ หากจะมีการรื้อปรับหลักสูตรเพื่อให้มีงานทำควรจะเริ่มที่ระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาจะดีกว่า ทั้งนี้ ตนก็มีข้อเสนอการกำหนดอัตราส่วนหลักสูตรกลับไปให้ สพฐ.ด้วย โดยให้แบ่งเป็น 30:40:30 ได้แก่ เรียนจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่มีเนื้อหาเรื่องอาเซียน สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ทันยุคทันสมัยในร้อยละ30 เรียนรู้จากภาคทฤษฎีตาม 8 กลุ่มสาระเหมือนเดิมร้อยละ 40 และเรียนรู้จากภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้นร้อยละ 30 เหมือนเดิม

“สพฐ.จะต้องไม่บ้าจี้ไปกับ นักการเมืองที่ต้องการจะให้ปฏิรูปการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานอย่างเดียว เพราะการศึกษายังมีเรื่องของความเป็นมนุษย์ คุณลักษณะของพลเมืองที่ดีด้วย ดังนั้น ควรจะกลับไปดูว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กควรจะได้เรียนในทุกกลุ่มสาระ ทั้งนี้ ผมก็เห็นด้วยหาก รมว.ศึกษาธิการ ต้องการจะปฏิรูปหลักสูตร เพราะมันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว แต่ไม่ใช่มาเปลี่ยนอย่างนี้” รศ.สมพงษ์ กล่าว

 ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 กันยายน 2554

หมายเลขบันทึก: 461183เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2011 06:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท