คนหาปลา ภูมิปัญญาอนุรักษ์


อาบอกผมว่า พี่หลับจะไม่ใช้เครื่องมือ หรือเครื่องทุ่นแรง ยาเบื่อ ในการหาปลา แต่แกจะใช้ภูมิปัญญาโดยการสังเกตธรรมชาติของปลา ซึ่งแต่ละชนิดก็คนละแบบกัน ซึ่งถ้าทุกคนทำเหมือนพี่หลับ ทรัพยากรน่ายังอุดมสมบูรณ์ไม่เสียหายเหมือนตอนนี้

          การใช้ชีวิตและการดำรงชีพตามวิถีชีวิตในชนบทมีการใช้ความสามารถของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป   ใครที่รู้จักสังเกตธรรมชาติ  เลียนแบบธรรมชาติ(ไม่ใช่ดัดแปลงธรรมชาติ)  จะเป็นการใช้ชีวิตที่ได้เปรียบกว่าคนอื่น ๆ  ใช้ชีวิตที่พอเพียงกับความเป็นจริง   ไม่เอาเปรียบธรรมชาติ  ธรรมชาติก็ไม่เสียหาย 
    
          ผมมีญาติผู้พี่ห่าง ๆ คนหนึ่ง  เป็นคนที่มีความสามารถในเรื่องของการหาปลา   เวลาไปหาปลาด้วยกันหลายๆ คน คนอื่นอาจจะกลับบ้านมือเปล่า  แต่ พี่คนนี้ไม่เป็นอย่างนั้น   ลงน้ำเป็นต้องได้ปลา 

          ผมเรียกแกว่า "พี่หลับ"  หลับคือชื่อแกครับ  แต่ความสามารถในเรื่องการหาปลาไม่หลับดังชื่อ   ช่วงที่ผมเรียนหนังสืออยู่ในอำเภอบ้านเกิดผม(อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีฯ)  ในหมู่ญาติ ๆ ด้วยกันจะพูดถึงความสามารถในการหาปลาของพี่หลับมาก  เพราะแกเก่งจริง ๆ  แกจะมีปลาขังไว้ขายให้คนอื่น ๆ ในหมู่บ้านไม่ขาด  ใครอยากได้ปลามาแกงไปบ้านพี่หลับต้องได้แกงแน่  

          ผมมีโอกาสได้คุยกับอาผู้หญิงตอนกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อกับแม่  เมื่อเดือนเมษายน  ที่ผ่านมานี้   ผมพูดถึง "พี่หลับ"  กับอา  เพราะอารู้เรื่องความสามารถของพี่หลับดี  ผมให้อาเล่าให้ฟัง

         อาผม เล่าว่า  ช่วงผมยังเรียนหนังสือนั้น  ในท้องทุ่งยังพูดได้ว่า  "ในน้ำมีปลาในมีข้าว" ได้อยู่เพราะยังอุดมสมบูรณ์  ช่วงใกล้ฤดูแล้ง   การจับปลาสมัยนั้นไม่ใช้เครื่องทุนแรงที่ทำให้เสียหาย  ในคลองเมื่อน้ำแห้งคลองขาดเป็นตอน ๆ (ในแอ่งน้ำในคลองจะเรียกกันว่า "วัง" ต่อด้วยชื่อ..บ้านที่อยู่ใกล้ลำคลองนั้น)  หนอง  บึง  ที่มีปลาไปรวมกันอยู่  ก็จะร่วมแรงกันวิด (วิดน้ำให้แห้งเพื่อจับปลา)  ใครมีความสามารถจับได้ก็จะจับเอากันไป   แต่ส่วนใหญ่ปลาจะหลบโดยการฝังตัวอยู่ในโคลนจะไม่ได้มาทั้งหมด  ซึ่งส่วนที่ฝังโคลนนี้แหละครับ  ที่พี่หลับซึ่งมีภูมิปัญญาจะย้อนรอยกลับไปเอาตอนกลางคืน  ตอนลงแรงวิดปลาเสร็จพี่หลับจะกลับบ้านเหมือนคนอื่น ๆ  อาบน้ำกินข้าวตามปกติ  แต่ตอนดึก ๆ ก็จะเตรียมตะเกียงแก๊ส  ถังตักน้ำ  อุปกรณ์ใส่ปลา  ย้อนกลับไปสถานที่วิดปลา  และพี่แกจะแอบไปคนเดียว

                 อาบอกว่า  พี่หลับฉลาด  เรียนรู้ธรรมชาติของปลา  เมื่อไปถึงแกจะลงมือ  ทำทางน้ำเล็ก ๆ ให้ไหลลงไปในหนองที่วิดปลาแล้วนั้น  และตกแต่งด้วยโคลนที่เอามาจากหนองอื่น ๆ  ให้ลื่น ๆ ให้ปลาสามารถตะกายขึ้นได้  เมื่อเตรียมทางน้ำเสร็จก็เริ่มเปิดน้ำให้ค่อย ๆ ไหลริน ๆ ย้อนกลับลงไปในหนอง  ซึ่งปลาจะดีใจ (อาว่า)   และได้กลิ่นโคลนที่แตกต่างกันซึ่งพี่หลับเอามาจากหนองอื่น  ปลานึกว่ามีแหล่งน้ำอยู่เหนือขึ้นไปรีบตะกายตามหลังกันขึ้นไปตั้งหน้าตั้งตาตะกายกันออกมาโคลน  และค่อย ๆ ว่ายทวนน้ำที่ไหลอยู่  ซึ่งแน่นอนว่า "พี่หลับ  เสือปลา " ยืนยิ้มรับอยู่แล้ว  ครับ

                อาบอกผมว่า  พี่หลับจะไม่ใช้เครื่องมือ  หรือเครื่องทุ่นแรง  ยาเบื่อ ในการหาปลา  แต่แกจะใช้ภูมิปัญญาโดยการสังเกตธรรมชาติของปลา  ซึ่งแต่ละชนิดก็คนละแบบกัน  ซึ่งถ้าทุกคนทำเหมือนพี่หลับ ทรัพยากรน่ายังอุดมสมบูรณ์ไม่เสียหายเหมือนตอนนี้

หมายเลขบันทึก: 46025เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เป็นภูมิปัญญาที่น่าสนใจมาก ๆ เลยครับ
  • เมื่อก่อนผมเคยไปนั่งตกปลาในบ่อที่เลี้ยงไว้ทานน่ะครับ ตกเกือบสองชั่วโมงได้ปลาเด็กตัวเล็ก ๆ สองสามตัวเองครับ
  • ปกติผมไม่ชอบตกปลาหรอกครับ เพราะกลัวบาป แต่ที่ไปตกปลาเพราะที่บ้านเพื่อนเขาเลี้ยงไว้กินอยู่แล้ว ผมก็เลยกล้าไปตกครับ

เรียน อาจารย์ปภังกร 

         ขอบคุณครับที่มาเยี่ยมเสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท