หนังสือและวิจัยเมืองไทย


นักศึกษาที่มาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เขาจะอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ พอมาเห็นหนังสือไทยเขาก็เลยได้สะท้อนความรู้สึกเล็ก ๆ ออกมา แต่เป็นช่องโหว่ที่ใหญ่มากสำหรับการศึกษาไทย

 

 

 

 

“ทำไมหนังสือเมืองไทยเวลาเขียนไปซักนิดก็มีวงเล็บ แล้วก็อ้างถึงคนนั้น เขียนไปอีกนิดก็อ้างถึงคนนี้ แล้วมีอันไหนที่เขาเขียนเองบ้างเนี่ย”


ก็สี่ห้าบรรทัดสุดท้ายไงครับ

เป็นคำถามของน้องติ๊ก นักศึกษาจาก สปป.ลาว ที่เข้ามาเรียนปริญญาโทสาขาพัฒนบูรณาการศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนี้ครับ
ซึ่งเป็นคำถามที่ผมฟังครั้งแรกแล้วอึ้งครับ แต่พอคิดไปก็จริงอย่างที่น้องเขาพูดแฮะ

อันไหนบ้างที่ผู้เขียนขียนไว้เอง?

และน้องเขายังได้บอกอีกว่า พออ่านไปซักสี่ห้าเล่มแล้ว “เหมือนกันหมดเลย” คนนี้อ้างมาจากคนนั้น คนนั้นมาเสริมตรงนี้ แต่ข้อความส่วนใหญ่ก็เหมือน ๆ กัน ที่จริงอ่านเล่มเดียวก็พอ

ยิ่งทำให้สะท้อนภาพ “หนังสือและตำราไทย” หนักเข้าไปอีกครับ
เพราะบางครั้งเราอยู่ใกล้ ๆ กับหนังสือและตำราไทยมานาน เราอาจจะมองไม่เห็นถึงสิ่งเหล่านี้ก็เป็นได้


นักศึกษาที่มาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เขาจะอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ พอมาเห็นหนังสือไทยเขาก็เลยได้สะท้อนความรู้สึกเล็ก ๆ ออกมา แต่เป็นช่องโหว่ที่ใหญ่มากสำหรับการศึกษาไทย

แล้วเด็กนักศึกษาไทยใช้หนังสือเหล่านี้เรียนกันใช่ไหมเนี่ย

ถูกต้องนะคร้าบ
เรียนกันมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งปริญญาเอกครับ
เรียนกันมาอ่านกันมา
ถ้ามาถึงระดับปริญญา ก็ใช้เขียนบทความ ทำงานวิจัย อ้างกันแล้ว อ้างกันอีก
บทความ งานวิจัย ก็อ้างกันไป อ้างกันมา คนนี้อ้างคนนั้น คนนั้นอ้างคนนี้ บางครั้งอ้างจนไม่รู้ว่าใครเป็นต้นฉบับ


โดยเฉพาะผลงานวิจัย


ก่อนคิดหัวข้อเรื่องต้องไปดูของคนอื่นก่อนนะว่ามีใครเขาทำมาหรือยัง ถ้ามีแล้วห้ามทำซ้ำนะ

 ทำซ้ำกันเถอะครับ ทำซ้ำเรื่องเดิมแต่ทำแบบคิดใหม่ทำใหม่

ทำไมถึงต้องทำซ้ำเหรอครับ
เหตุผลแรก ต้องคิดว่า อันเดิมใช้ได้หรือเปล่า เพราะใช้ได้หรือไม่ได้ ประเทศเราก็อ้างอิงกันเป็นว่าเล่นกันอยู่แล้ว และถ้าเข้าไปอยู่ในมือของผู้บริหารประเทศแล้วล่ะก็ อ้างอิงจนออกมาเป็นนโยบายเลยนะครับ

โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานที่ออกมาจากการเก็บข้อมูลในชุมชนแบบมหภาค วิเคราะห์กันออกมา ดูแนวโน้มความยากจน แนวโน้มการศึกษาของประเทศ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าวิเคราะห์ผิดหรอกครับ ปัญหาอยู่ที่ว่า


คนเก็บกับคนตอบตั้งใจตอบและตั้งใจเก็บมาหรือเปล่า?

หลาย ๆ ครั้งที่เราและท่านได้แบบสอบถาม เราตั้งใจตอบกันหรือไม่
หลาย ๆ ครั้งที่เราเป็นผู้ไปเก็บสอบถามถาม เราตั้งใจเก็บอย่างเต็มที่หรือไม่
หลาย ๆ ครั้งที่เราเป็นผู้สอนและจ้างคนออกไปเก็บแบบสอบถาม เราฝึกอบรมเขาดีหรือไม่
หลาย ๆ ครั้งที่เราคีย์ข้อมูลและจ้างผู้อื่นคีย์ข้อมูล เรามีจริยธรรมและสอนให้คนอื่นมีจริยธรรมในการคีย์ข้อมูลหรือไม่

เพราะเมื่อข้อมูลอยู่ในคอมพิวเตอร์แล้ว 1+1 ก็เป็นสอง วิเคราะห์อย่างไร ใช้คำสั่งอะไรก็ออกมาอย่างนั้น


หลาย ๆ ท่านที่เรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก คงจะต้องเคยปวดหัวกับการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งวิเคราะห์แบบใช้มือ และใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ก็ดี จุดทศนิยม ตัวเลขเพียงตัวเดียวก็ทำให้เราปวดหัวกันแทบตาย


Sig หรือไม่ Sig คิดกันแล้วคิดกันอีก คำนวณหาปัจจัย ความสัมพันธ์กันต่าง ๆ นา ๆ บางครั้งทำมากกว่าฝรั่งทำอีก เก่งกว่าฝรั่งทำอีก คำนวณออกมาแล้วก็นำเอาออกมาพูดมาคุยกันในระดับประเทศ

“คนตอบข้อมูล คนเก็บข้อมูล คนคีย์ข้อมูลนั่งหัวเราะอยู่หน้าทีวี”

นักวิชาการทำกันไปได้

 

ถ้าเราตั้งใจตอบ สิ่งนั้นจะมีประโยชน์
ถ้าเรามีเทคนิคในการให้ผู้ตอบตั้งใจตอบ สิ่งนั้นจะมีประโยชน์มากขึ้น
ถ้าเรามีเทคนิคให้ทั้งผู้ตอบ ผู้เก็บและผู้คีย์ข้อมูล ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ สิ่งนั้นจะมีประโยชน์มากที่สุด


แล้วเรามีเทคนิคอะไรกันบ้าง นำมาแลกเปลี่ยนกันเถอะครับ....

หมายเลขบันทึก: 46023เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ตรงนี้เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ...

โดยเฉพาะงานวิจัยที่ทำๆกันอยู่ก่อนหน้านี้ นัยว่า เป็นงานที่พัฒนาชุมชน ซึ่งก็ใช้ได้ ตอบคำถามชุมชนระดับหนึ่ง แต่ก็เพียงเปลือก ผิวเผิน อาจจะจริงในเรื่องของการพัฒนาการของงานศึกษาที่ค่อยปรับตัวไปเรื่อยๆ

ผมขอมองในส่วน งานวิจัยและพัฒนาชุมชนครับ 

การพัฒนาชุมชนในช่วงหลัง เน้น การวิจัยแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น เน้น PAR. มากขึ้น การวิจัยลักษณะนี้ มีดีตรงเข้าไปสัมผัส พูดคุยใกล้ชิดกับชาวบ้านอย่างจริงจัง ชาวบ้านชุมชน เป็นนักวิจัย ที่เราเรียกนักวิจัยชาวบ้าน

วิทยานิพนธ์ผมตอนนั้นก็ออกในแนวนี้

กว่าจะผ่านมาได้ก็สอบแล้วสอบอีก มิจฉาทิฐิ หนึ่งของนักการศึกษาในสถาบัน คือ ยึดมั่นในหลักทฤษฎีเกินไปจนลืมดูความจริงที่ข้างนอกเขาเปลี่ยนไปทุกวัน อาจารย์บางคนดีกรีนอก มองก็แบบตะวันตก แล้วมาตัดสินตะวันออก ด้วยตะวันตก ...มันไปกันใหญ่

มหาวิทยาลัย ...ก็หาจุดยืนของตัวเองไม่ได้ บางทีการเป็นมหาวิทยาลัยระดับภาค เป็น มหาลัยของท้องถิ่น แต่งานวิชาการไม่ได้เอื้อกับท้องถิ่น...มองยังไงก็ไม่เอื้อ

เขาบอกว่า นักวิชาการบนหอคอย ก็เป็นเรื่องจริง

.......

หากวันหนึ่ง เราเปลี่ยนความคิดว่า หากเราจะพัฒนาประเทศ พัฒนาชุมชนคงต้องให้ ชุมชน เป็นคนคิด เป็นคนวางแผน โดยนักวิชาการ สถาบันเป็นผู้เอื้อกระบวนการ นโยบาย เป็นหลักโดยกว้าง...ซึ่งช่วงหลังก็พอเป็นรูปร่างขึ้น แต่นักวิชาการในระดับสถาบันของท้องถิ่น ไม่ได้ตั้งใจกับงานส่วนนี้จริงจัง

ทำยาก...เห็นผลช้า...ทำกับชุมชนที่หลากหลาย...ต้องอดทน ...และที่สำคัญเงินมันน้อยครับ!!!! ไม่เป็นที่นิยม

การศึกษาพยายามเอื้อท้องถิ่น โดยการจัดการศึกษาให้ถึงที่ ถึงบ้าน สร้า้งวิทยาเขต สร้างสาขาใหม่ ในชุมชน ..นำอาจารย์จาก สถาบันแม่ ลงมาสอนและจัดกระบวนการพัฒนา...ไม่ทราบว่าประสบเหตุการณ์นี้คนเดียวหรือเปล่า

ว่า นั่น!!! เป็นการศึกษาที่ใช้เงินสูง คนจนเรียนไม่ได้  

การศึกษาเชิงรุกแบบนี้ จึง เป็น แหล่งเงิน ทอง ของอาจารย์ผู้เดินผิดวิถี เป็น พาณิชย์ศึกษา เพื่อ ตัวกู

............

ประเด็นที่ผมเขียน เหมือนบ่น แต่จากปรากฏการณ์ บันทึกอาจารย์ ปภังกรทำให้ผมคิดไปไกล...ผมเป็นชาวบ้าน และผมเป็นนักพัฒนา วิจัย...ผมเห็น เรื่องแบบนี้..มันเป็นเป็นมุมมองของผมที่มองจากที่เห็น

ส่วนดีอาจจะมี แต่หาดูยากจัง...!!!!

ก็เป็นมุมมองหนึ่ง ที่สะท้อนการศึกษาเพื่อสร้า้งปัญญาของชาติได้ครับ 

วันนี้ ชาวบ้านหวังพึ่ง "สถาบันการศึกษา" ที่บอกว่า "เพื่อชุมชน" ไม่ได้ครับ เขาต้อง "พึ่งตัวเอง" 

.................

การศึกษาเพื่อชุมชน

อาจารย์ บวกค่าเครื่องบิน บวกค่าเสียเวลา บวกค่าที่พักโรงแรมหรู

สอนนิดๆ ก็พอ...

ค่าเทอมแพงหน่อย ..นะ (ค่าสถาบัน) 

วิจัย งานวิชาการ อาจารย์มีประเด็นหลักแล้วนะ...นศ. ทำประเด็นย่อย ดังนี้ (วิจัยเป็นพวง) อาจารย์ว่าดีนะ..(วิจัยแบบนี้)

อาจารย์รับงานจากXXXมานะ...เธอต้องทำงั้นไม่จบ

ปริญญา สำคัญเหลือเกิน..ฉันต้องจบ...และฉันต้องทำ (นศ.บอกอย่างนั้น) 

.................. 

 

ขออภัยครับอาจารย์...ผมติดลม เลยเขียนความเห็นแบบเบิกบานไปหน่อย
  • ไม่ต้องขออภัยหรอกครับท่านอาจารย์จตุพร เพราะเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ ครับ
  • ที่จริงอาจารย์น่าจะนำข้อคิดเห็นอันนี้ไปตั้งเป็นบันทึกของอาจารย์ด้วยครับ เพราะแต่ละข้อมีประโยชน์มาก ๆ ครับ (แต่ถ้าให้ดีหลังจากอาจารย์ไปสอบก็ดีนะครับ)
  • และอย่าเผลอไปพูดเรื่องพวกนี้ตอนสัมภาษณ์นะครับ เพราะเราไม่รู้คณะกรรมการจะเป็นกบฏทางวิชาการแบบพวกเราหรือเปล่าครับ
  • ถ้าอย่างไรเจอใครที่มีแนวคิด กบฏ ๆ แบบนี้ อาจารย์จตุพรอย่าลืมชวนมาเข้าพรรคของเรานะครับ จะได้มีสมาชิกร่วมกันปฏิวัติการศึกษาไทยมากขึ้นครับ
  • ตามมาเก็บเกี่ยวครับ  ยังไม่มีประสบการณ์ แลกเปลี่ยน เนื่องจากคุ้นเคยอยู่กับ หอคอยเก่า ๆ มานาน
  • ไม่อยากเป็น กบฏ ไม่อยากปฏิวัติ แต่อยากจะคิดว่า เป็น Evolution  มากกว่า ครับ (อาจจะเป็นเพราะใกล้ชิดกับ ชีววิทยา มากไป ขออภัย)
  • ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับคุณ Panda ที่ตามเข้ามาเก็บเกี่ยวครับ
  • เป็นแบบไหนก็ได้ครับ ไม่มีขีดจำกัดหรือข้อห้ามอะไรครับ
  • แต่ขอให้ทำเพื่อประเทศเราให้ดีขึ้น ๆ ๆ ๆ ๆ
  • ให้ส่วนร่วมดีขึ้น ๆ ๆ ๆ ๆ แค่นี้ผมและทุก ๆ คนก็สุขใจแล้วครับ

 

ถูกใจใช่เลย ผมก็มีปัญหาเวลาเขียนแบบไทย ไปให้อาจารย์ฝรั่งตรวจ คะแนนร่วงเลย เพราะถูกถามว่า ไหนละความคิดของเธอ

ของเขากำหนดให้ใช้อ้างอิงคนอื่นได้ไม่เกินสามสิบเปอร์เซนต์ของงานเขียน ที่เหลือจะเป็นความคิดเราเอง  จะเอาโน่นปะนี่ให้ครบหน้าแบบเมืองไทยไม่ได้ครับ

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมงานเขียนเมืองนอกถึงไม่ค่อยเจออ้างอิง เขียนไปเถอะ แม้จะไม่สวยหรู แม้จะไม่เข้าท่า  แต่ถ้าเป็นความคิดของผู้เขียน เขาให้เครดิตแน่นอน

มาให้ความเห็นแล้วคะ...พอสั่งตีพิมพ์หายไปหมดเลยคะ...ข้อความ...(ฮา...)

...

เดี๋ยวตั้งหลักก่อน...นะคะ

  • โดยปกติผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะ Anti ฝรั่งในหลาย ๆ เรื่องครับ แต่ยกเว้นเรื่องความคิดและเทคนิคในการสอนของเขาครับ
  • เพราะฝรั่งเขาเน้นเปิดกว้างทางความคิดมาก ๆ เลยครับ
  • เหมือนอย่างที่คุณคนไกลบอกเลยครับ เขาเน้นให้เราคิด คิดไปเถอะ เขียนไปเถอะ อย่างน้อยก็สร้างความมั่นใจให้เราครับ
  • ดังเช่นใน G2K ครับ สร้างนักวิชาการรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาเยอะมาก ๆ เลยครับ ค่อย ๆ ฝึกคิด ฝึกเขียนทุก ๆ วัน ทุก ๆ คนเก่งกันมากๆ  เลยครับ แต่เสียอยู่อย่างเดียวครับ ประเทศไทยยังไม่ยอมรับวิชาการนอกระบบมหาวิทยาลัยกันสักเท่าไหร่ครับ
  • ยอมรับแต่ภายในระบบเท่านั้น อย่างน้อยต้องมีคำนำหน้านามว่า อ. ครับ ถึงจะใช้อ้างอิงได้
  • ลำบากจริง ๆ ครับระบบวิชาการบ้านเราครับ
  • ตอนตรวจผลงานส่วนใหญ่ก็ตรวจแต่ Format รูปแบบการพิมพ์ การอ้างอิง ตรวจกันเข้าไปครับ
  • ส่วนเนื้อหาตรวจน้อยมากครับ ถ้ารูปแบบถูกมีชัยไปกว่าครึ่งครับ
  • มาเขียนประเด็นนี้แล้วขอแถมครับ
  • ผมเคยส่งโครงร่างงานวิจัยของทุนที่หน่วยงานหนึ่ง
  • ผู้ประสานงานวิจัยบอกไว้เลยครับ สิ่งแรกที่เขาตรวจคือ Format ถ้าเขียนไม่ตรงตามฟอร์แมตที่เขาให้มา โยนทิ้งถังขยะไปเลย
  • แบบนี้ปิดโอกาสคนที่มีไอเดียดี ๆ หมดเลยครับ มีแนวคิดแต่เขียนไม่ถูกรูปแบบโดนคัดทิ้ง
  • แต่คนที่เขียนถูกรูปแบบแต่ความคิดใช้ไม่ได้ เข้ารอบครับ
  • น่าเป็นห่วงบ้านเมืองเราจริง ๆ ครับ
  • ฮา
  • ผมก็เคยฮาแบบกะปุ๋มครับ แต่ตอนหลังนี้ฮาไม่ค่อยออกเลยครับ โดยเฉพาะถ้าเขียนคอมเมนท์ยาว ๆ อย่างเช่นด้านบนครับ
  • เพราะถ้าเขียนใหม่ไม่รู้จะเขียนได้อีกหรือเปล่าครับ
  • หมดรมณ์เขียนเลยครับ บางครั้ง
  • แต่ช่วงนี้ก่อนส่งอย่างน้อยก็ขอ copy ไว้สักนิดนึงครับ ถึงแม้จะไม่ได้เซฟก็อุ่นใจครับ ว่าถ้าหายไปก็ยังเอามาใส่ได้ครับ
  • หรือถ้ายาว ๆ จริง ๆ ต้องพึ่ง Note pad ครับ เซฟไว้หน่อยอุ่นใจ

 

  • ขอบพระคุณคุณคนไกลและกะปุ๋มอีกรอบครับที่เข้ามาให้ความเห็นและเติมเต็มครับ

เรืองของฟอร์เมท

หลายคนอาจมองว่า ฟอร์เมทเป็นเรืองที่ไร้สาระ  เมือเทอมที่แล้วมีเด็กจีนเถียงครูว่า ฟอร์เมทเป็นเรืองไร้สาระ

แต่ก็โดนครูตอกกลับมาว่า "ขอให้คุณทำเรืองไร้สาระให้ดีก่อนแล้วค่อยว่าคุยกันต่อ"

มันก็เลยทำให้ผมต้องคิดใหม่ว่า มันอาจจะเป็นกติกา บางอย่าง ที่เราอาจจะมองข้าม ผมว่าฟอร์เมท คงจะเหมือนสนามมวย นะ ถ้าไม่มีก็คงเป็นมวยวัด ดูแค่สนุกสนานเท่านั้นเอง

ยังไงก็อย่าเพิ่งท้อกับเรืองฟอร์เมทเลยนะ เมื่อวันหนึ่งที่เราได้มีโอกาสดูแลหลายๆงาน หรือเป็นเจ้าของเงินก้อนโต เราก็คงได้กำหนดฟอร์เมทให้เขาเหมือนอย่างที่เขากำหนดให้เรานั่นแหละครับ

 

  • เป็นประเด็นที่น่าคิดมาก ๆ เลยครับคุณคนไกล
  • โดยเฉพาะเรื่องที่ทำเรื่องไร้สาระให้ดีก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน
  • แต่ประเทศเราบางครั้งก็หยุดกันที่เรื่องไร้สาระครับ ก็คือตรวจฟอร์แมทเสร็จก็เข้าเล่มได้เลย พอเข้าเล่มเสร็จก็เรียนจบ หรือไม่ก็ปิดงบปิดโครงการได้ครับ
  • แต่สำหรับขออนุญาตแลกเปลี่ยนอย่างนี้นะครับ ขออภัยก่อนล่วงหน้านะครับที่บางครั้งต้องมีสิ่งต่าง ๆ ขัดแย้งกันบ้าง "ขัดแย้งเพื่อเข้มแข็ง แลกเปลี่ยนเพื่อเติมเต็มครับ
  • ก็คืออย่างที่คุณคนไกลบอกถูกต้องเลยครับ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ว่า ถ้าไม่มีฟอร์แมทก็เหมือนก็มวยวัดครับ ทุก ๆ อย่าง หนังสือทุกเล่ม วิจัยทุกเล่มต้องมีฟอร์แมทและการอ้างอิงที่ถูกต้องครับ
  • แต่การจัดลำกับความสำหรับเนื้อหาและความน่าสนใจของงานชิ้นนั้นหรือแนวคิดน่าจะมาก่อนครับ
  • เหมือนกับผู้บริหารการศึกษายุคใหม่เขาเคยพูดไว้น่าสนใจมาก ๆ เลยครับว่า
  • คุณไปตีกรอบแนวคิด สกัดความรู้ สกัดปัญญาต่าง ๆ ของคุณให้ดีก่อน ผมอยากเห็นอันนั้นมากกว่า
  • ส่วนเรื่องฟอร์แมททำวันเดียวก็เสร็จ ไว้ทีหลัง เดี๋ยวให้เจ้าหน้าที่แถวนั้นทำก็ได้ครับ
  • ส่วนเรื่องขอเสนอโครงการก็ใช่เลยอย่างที่คุณคนไกลพูดครับ ก็คือ เขาให้เหตุผลว่า
  • มีโครงการที่เสนอมาเป็นจำนวนมากคนตรวจอ่านไม่ไหว ไม่รู้จะคัดอย่างไรเป็นลำดับแรกก็เลยต้องคัดที่ฟอร์แมทก่อนครับ
  • ผมก็เลยเสียว ๆ ว่า แล้วคนที่มีความคิดดี ๆ แต่เขียนฟอร์แมทไม่ถูกก็จะขาดโอกาสไปนะครับ
  • ต้องขอขอบพระคุณอีกครั้งครับสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันมีค่ายิ่งนี้ครับ
  • เคารพในความแตกต่างเพื่อการเติมเต็มและต่อยอดในทุก ๆ ความคิดเห็นครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท