ครูต้องไม่เป็นหนี้


ครูต้องไม่เป็นหนี้

ครูต้องไม่เป็นหนี้

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์


วันก่อนมีโอกาสไปเสวนาทางวิชาการเรื่อง "การปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 : คุณภาพครูสู่ผู้เรียน" ผู้จัดคือ สถาบันพัฒนาครูและทรัพยากรมนุษย์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับหนังสือพิมพ์มติชน

การจัดเสวนาทางวิชาการครั้งนี้มีวัตถุ ประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและนักบริหารการศึกษานำมากำหนดทิศทาง วิเคราะห์ทัศนะ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะมากำหนดเป็นแนวทาง และแผนในการผลิตครูและพัฒนาคุณภาพครูในระยะ 3 ปี ของจังหวัดภาคใต้ตอนบน ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

การเสวนาครั้งนี้เริ่มตั้งแต่เช้า มีอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน เปิดงานและบรรยายพิเศษ จากนั้นเป็นปาฐกถาของรองศาสตราจารย์วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคมไทย

ภาคบ่าย เสวนาเรื่องการปฏิรูปการศึกษา : คุณภาพครูสู่คุณภาพผู้เรียน ผู้ร่วมเสวนาหลักคือ

ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ กรรมการสำนัก งานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ดร.ปัญญา แก้วกียูร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และรองอธิการบดี คณบดี มหา วิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรี ธรรมราช ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2 ผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์ ธานี นักศึกษาระดับปริญญาโท และนักศึกษาระดับปริญญาตรี

ศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ ดำเนินรายการ

ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาครั้งนี้ นอกจากครูอาจารย์แล้ว บุคคลสำคัญหรืออนาคตครูในจังหวัดภาคใต้คือนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษามุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับทุนการศึกษา รวบรัดตัดความ การเสวนาในครั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า คุณภาพของครูจะทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพอย่างแท้จริง และผู้ที่จะมามีอาชีพครูได้ ไม่ใช่เพียงแต่เข้ามาเรียนวิชาครูเท่านั้น ต้องมีองค์ประกอบอีกหลายส่วน อาทิ จิตวิญญาณครู ต้องเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง รวมไปถึงการคัดเลือกผู้เข้าเรียนครู ต้องเป็นผู้มีทั้งความรู้และความดี ดังที่ ดร.ณรงค์ประกาศไว้ในจดหมาย ข่าว ขุนทะเล ว่า "ความรู้เป็นสิ่งที่สอนกันได้ แต่ความดีนั้น เป็นต้นทุนเดิมของแต่ละคนโดยแท้ และต้นทุนแห่งความดีนั้น ยิ่งขัดเกลาก็ยิ่งทอประกาย ยิ่งเติมความรู้เพิ่มลงไป ก็ยิ่งงดงามและยังคุณค่าแก่สังคม โดยเหตุนี้ มหาวิทยาลัย ราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงคัดคนเข้าเรียนโดยพิจารณาทั้งจากความรู้และไม่ละเลยทุนความดีงามที่เขามี"
อีกวัน มีโอกาสรับฟัง ดร.วรากรณŒ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ บรรยายให้ผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง รุ่นที่ 3 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า คุณภาพครูเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในหลายประเทศ อาทิ ประเทศฟินแลนด์ ให้ค่าตอบแทนครูสูงที่สุดในโลก ครูอนุบาลในบางประเทศไม่ต้องสำเร็จวิชาครุศาสตร์ แต่ต้องเป็นคนดีคนเก่ง และมีจิตวิทยาเด็ก เพราะผู้จะเติบโตเป็นพลเมืองดีของชาติได้ ต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก
วันนี้ประเทศไทยเริ่มเห็นความสำคัญของวิชาชีพครู แต่ยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นครู นอกจากวิชาความรู้ และคุณงามความดีแล้ว ต้องมีรายได้เพียงพอกับการครองชีพ มีเกียรติและศักดิ์ศรีในสังคม ไม่ใช่ยังเป็นหนี้เป็นสินล้นพ้นตัวเช่นในขณะนี้
เพราะผู้ที่เป็นหนี้เป็นสินเขานั้นจะมีใจคอที่ไหนทำงาน โดยเฉพาะผู้เป็นครู จริงไหมท่านรัฐมนตรี

 ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2554

หมายเลขบันทึก: 459771เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2011 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท